w©rld

“ไม่มีใครถ่ายให้ก็ไม่เป็นไร ถ่ายเองก็ได้!”

เชื่อว่าหลายคนคงเคยคิดแบบนี้ ก่อนจะยกโทรศัพท์มือถือขึ้นมา เปิดกล้องหน้า แล้วถ่ายรูปตัวเองอย่างรู้มุม 

หรือเก๋ากว่านั้นอีกหน่อยก็เป็นยุคที่โทรศัพท์มีแต่กล้องหลัง ต้องถ่ายโดยไม่เห็นตัวเองในจอ กะเอาด้วยกระแสจิต แล้วค่อยมานั่งลบรูปที่หน้าหลุดเฟรมทีหลัง 

แต่เคยสงสัยหรือเปล่า ว่าใครเป็นคนแรกที่เกิดความคิดนี้ แล้วตัดสินใจถ่ายรูปตัวเอง ด้วยตัวเอง

(photo: img.buzzfeed.com)

ก่อนจะย้อนไปในอดีต เราขอเล่าความเป็นมาของคำว่า Selfie ที่อาจทำให้หลายคนแปลกใจ

คำว่า Selfie ได้ถูกบัญญัติให้เป็น ‘Word of the Year’ โดย Oxford English Dictionary ในปี 2013 

ดูเป็นคำที่ใหม่มากเลยใช่ไหมล่ะ 

ทว่าความจริงคำนี้ถูกใช้ครั้งแรกในเดือนกันยายน ปี 2002 โดยหนุ่มออสเตรเลียที่เพิ่งเมามาจากปาร์ตี้วันเกิดเพื่อน เขาถ่ายรูปแผลปากแตกที่เย็บไหมอยู่ และตั้งกระทู้ขอคำแนะนำว่าจะทำอย่างไรกับแผลนี่ดี โดยเขาเขียนอธิบายว่า “I had a hole about 1cm long right through my bottom lip. And sorry about the focus, it was a selfie.”

แม้ตัวตนที่แท้จริงของชายคนนี้ยังคงเป็นปริศนา แต่นับได้ว่าเขาเป็นคนแรกที่เริ่มใช้คำนี้ นักภาษาศาสตร์ตั้งข้อสังเกตว่าเป็นเพราะภาษาอังกฤษแบบออสเตรเลียมักมีการย่อคำแล้วใส่ ‘ie’ ด้านหลัง เช่น Barbecue กลายเป็น Barbie จึงสันนิษฐานว่า คำว่า Selfie ก็มีที่มาจากการย่อคำเช่นนี้

แต่นั่นไม่ใช่ครั้งแรกที่มีคนถ่าย Selfie หรอก เพราะการถ่ายภาพตัวเองมีมาตั้งแต่คำนี้ยังไม่เกิดขึ้นด้วยซ้ำ

เราขอพาย้อนไปในสมัยที่ยังมีแต่ Self-Portrait (ซึ่งสมัยนี้ก็ยังใช้คำนี้กันอยู่ เพราะมันต่างจาก Selfie ไงล่ะ แต่ต่างอย่างไรเดี๋ยวจะอธิบายให้ฟัง)

หากลองหาคำว่า Self-Portrait ในกูเกิล คุณจะเจอรูปหลากหลายตั้งแต่ภาพวาดไปยันภาพถ่าย เพราะความหมายของมัน คือ ภาพเหมือนตนเองที่ศิลปินสร้างขึ้นด้วยเทคนิคต่างๆ สำหรับศิลปะภาพถ่าย Self-Portrait จึงหมายถึงภาพของคนคนหนึ่งที่ถ่ายด้วยตัวเอง 

ซึ่งเชื่อกันว่าภาพถ่าย Self-Portrait ภาพแรกเกิดขึ้นในปี 1839 โดย Robert Cornelius และถ่ายด้วยกระบวนการ ‘ดาแกร์โรไทป์’ (Daguerreotype)

ภาพถ่าย Self-Portrait โดย Robert Cornelius ในปี 1839

ต่อมาการถ่ายภาพตัวเองก็ค่อยๆ เป็นที่นิยมในยุคที่มีกล้องฟิล์ม และกล้องโพลารอยด์ ที่พกพาสะดวกมากขึ้น

แต่ภาพพวกนั้นไม่ถูกเรียกว่า Selfie หรอก เพราะคอนเซ็ปต์ของ Selfie เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมในยุคที่มีอินเทอร์เน็ต และสิ่งสำคัญที่ทำให้เรียกได้ว่า Selfie คือการเผยแพร่ลงบนสังคมออนไลน์ ดังนั้นภาพ Selfie จึงต้องเป็นภาพถ่ายดิจิทัลนั่นเอง (ในที่นี้ขอไม่นับการสแกนภาพฟิล์มเป็นไฟล์ดิจิทัลนะ)

ถ้าอย่างนั้น กล้องดิจิทัลตัวแรกเกิดขึ้นเมื่อไร?

กล้องดิจิทัลตัวแรกของโลก คิดค้นโดย Steven Sasson บริษัท Kodak (photo: www.fotovoyage.com)

และนี่คือโฉมหน้ากล้องดิจิทัลตัวแรกของโลก ดูทรงแล้วต่างจากกล้องที่มีอยู่ลิบลับเลยใช่ไหม เพราะกล้องตัวนี้ผลิตขึ้นในปี 1975 โดยวิศวกรหนุ่มชื่อ Steven Sasson ขณะที่ทำงานให้บริษัท Kodak โดยกล้องตัวนี้จะบันทึกข้อมูลภาพลงบนเทปคาสเซ็ท แล้วใช้กระบวนการเฉพาะในการฉายภาพเข้าเครื่องคอมพิวเตอร์

the Motorola computer, “EXORciser” (photo: www.petapixel.com)

ด้วยขั้นตอนที่ฟังดู (โคตร) ยุ่งยาก แต่ละบริษัทจึงต้องพยายามพัฒนาระบบให้ดีกว่าเดิม จนในปี 1988 Fujifilm ได้เคลมว่าเขาต่างหาก ที่เป็นผู้ผลิต FUJIX DS-1P กล้องดิจิทัล ‘เต็มรูปแบบ’ ตัวแรก ซึ่งมาพร้อมเมมโมรีการ์ดที่เก็บภาพได้สูงสุด 10 ภาพ (น่าเสียดาย คนสมัยนั้นถ่ายรัวแล้วมาเลือกรูปทีหลังไม่ได้)

กล้อง FUJIX DS-1P โดยบริษัท Fujifilm (photo: www.petapixel.com)

สำหรับรูป Self-Portrait ที่ถ่ายด้วยกล้องดิจิทัลรูปแรก ต้องขอโทษจริงๆ ที่เราหาไม่เจอ อาจเพราะคนเริ่มคุ้นชินกับการถ่ายภาพตัวเองตั้งแต่ยุคก่อนดิจิทัล พอเริ่มมีกล้องดิจิทัลจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่คนจะถ่าย Self-Portrait กัน

ปี 1991 กำเนิดกล้อง Webcam จากความขี้เกียจ

รู้หรือเปล่า ว่ากล้อง Webcam ตัวแรกของโลกไม่ได้สร้างมาเพื่อถ่ายภาพมนุษย์ แต่เป็นเครื่องทำกาแฟ!

ภาพถ้วยกาแฟจากกล้อง Webcam ตัวแรกของโลก

เรื่องราวเริ่มต้นที่มหาวิทยาลัยเก่าแก่เมืองผู้ดีอังกฤษ University of Cambridge โดยมีแรงบันดาลใจมาจากความขี้เกียจเดินไปดูว่ามีกาแฟเหลืออยู่เท่าไร 

ช่วงปั่นงานตอนดึกๆ คงไม่มีใครอยากเสียเวลาเดินไปเอากาแฟอีกห้องแล้วพบว่ามันหมดเกลี้ยง นักศึกษาและอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยนั้นก็เช่นกัน Dr.Quentin Stafford-Fraser และ Paul Jardetzky จึงได้ติดตั้งกล้องไว้หน้าครื่องทำกาแฟ (Trojan Room coffee pot) เพื่อแสดงภาพขาวดำ ความละเอียด 129×129 พิกเซล บนหน้าจอคอมพิวเตอร์ของผู้ใช้งาน 

(photo: Wikipedia)

หลังจากนั้นไม่กี่ปีก็มี ‘เวิลด์ไวด์เว็บ’ (WWW) เกิดขึ้น การใช้กล้อง Webcam นี้จึงถูกเชื่อมต่อกับโลกอินเทอร์เน็ต และมีการใช้อย่างแพร่หลายในเวลาต่อมา

โทรศัพท์มือถือถ่ายรูปได้เครื่องแรก มีขายที่ญี่ปุ่นเท่านั้น!

ใช่แล้ว เพราะโทรศัพท์มือถือที่มีกล้องเครื่องแรกคือ Sharp J-SH04 โดยบริษัท Sharp ผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าสัญชาติญี่ปุ่น โดยมีการเปิดตัวในปี 2000 หลังกล้องดิจิทัลตัวแรกเกือบ 25 ปี 

จากโฆษณาจะเห็นว่าแม้จะเป็นกล้องหลัง แต่การถ่าย Selfie ก็สามารถทำได้ไม่ยากนัก

กล้องถ่ายรูปถูกดัดแปลงให้ติดเข้ากับหน้าอกของนักบินอวกาศได้ (photo: www.mentalfloss.com)

มีกล้องบนโลกแล้ว อย่าลืมพกไปอวกาศด้วย

มนุษย์คงไม่ได้ส่งคนขึ้นไปบนดวงจันทร์เพื่อเดินเล่นแล้วกลับมายังโลกหรอกจริงไหม สิ่งหนึ่งที่สำคัญในการเดินทางไปอวกาศแต่ละครั้งจึงเป็นการเก็บข้อมูล และภาพถ่ายก็เป็นหลักฐานที่ดีทีเดียว 

อันที่จริงการถ่ายรูปในอวกาศมีมานานมากแล้ว ไม่ว่าจะโดยหุ่นยนต์ กล้องโทรทรรศน์อวกาศ หรือนักบินอวกาศเอง โดยคนแรกที่เคลมว่าถ่าย Selfie ในอวกาศ (Space Selfie) ภาพแรกในปี 1966 คือ Buzz Aldrin (ต่อมาในปี 1969 เขาได้ขึ้นไปเหยียบดวงจันทร์เป็นคนที่สอง โดยมี Neil Armstrong เป็นคนแรก ซึ่งภาพ Neil Armstrong ปักธงชาติสหรัฐที่เราเห็นว่อนอินเทอร์เน็ตก็ถ่ายโดย Buzz Aldrin นี่แหละ)

ภาพที่ Buzz Aldrin ถ่ายขณะทำภารกิจ Gemini 12 ปี 1966 (photo: Buzz Aldrin)

แต่ลืมอะไรไปหรือเปล่า ปี 1966 มันยังไม่มีกล้องดิจิทัลเลยนี่!

หลายคนเลยออกมาโต้ว่า ขอโทษนะ รูปที่ถ่ายด้วยกล้องฟิล์ม Hasselblad อันใหญ่บะลักกักแบบนั้นไม่นับเป็น Selfie หรอก อย่าลืมนิยามสิ ดิจิทัลน่ะ ดิจิทัล!

ถึงคราวที่ชาวอวกาศต้องเปลี่ยนมาใช้ดิจิทัลจริงๆ

ผ่านมาเนิ่นนานกับการถ่ายภาพในอวกาศด้วยกล้องฟิล์ม และแล้วจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญก็มาถึง

โศกนาฏกรรมกระสวยอวกาศโคลัมเบียระเบิดเหนือรัฐเท็กซัส (photo: Scott Lieberman)

ในปี 2003 ได้เกิดโศกนาฏกรรมที่คร่าชีวิตนักบินอวกาศถึง 7 คน นั่นก็คือเหตุการณ์กระสวยอวกาศโคลัมเบียระเบิดเหนือรัฐเท็กซัสขณะกลับสู่โลก 

ความพยายามทั้งหมดของนักบินอวกาศทั้ง 7 ในการบันทึกรูปถ่ายลงบนแผ่นฟิล์มจากอวกาศสู่โลก มลายหายไปพร้อมกับเหตุร้ายครั้งนั้น ความเสียหายที่ประเมินค่าไม่ได้นี้ จึงเป็นตัวกระตุ้นเตือนให้เปลี่ยนเทคโนโลยีถ่ายภาพในอวกาศเป็นดิจิทัล เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเรื่องแบบนี้ซ้ำสอง

และนี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นหลังการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว

 

 

เรื่องราวคร่าวๆ ภายในระยะเวลา 180 ปีแห่งการถ่ายภาพตัวเองก็มีประมาณนี้ ยังมีประวัติศาสตร์ยาวเฟื้อยอยู่อีกมาก จนไม่รู้จะขอบคุณใครก่อนดี

เอาเป็นว่าขอขอบคุณทุกคนที่เกี่ยวข้องมา ณ ที่นี้แล้วกัน (กราบ)

 

อ้างอิง: