w©rld

ต้นโพธิ์ เดิมชื่อว่า ‘อัสสัตถะ’

จนกระทั่งพระพุทธเจ้าตรัสรู้ใต้ต้นไม้ชนิดนี้ อัสสัตถะจึงถูกเรียกใหม่ว่า “โพธิ์”

ส่วนคำว่า “ต้นพระศรีมหาโพธิ์” ใช้เรียกต้นโพธิ์ต้นที่เจ้าชายสิทธัตถะใช้นั่งบำเพ็ญเพียรเพื่อตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า

ตามบันทึก ต้นพระศรีมหาโพธิ์ต้นนั้นอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ในตำบลอุรุเวลาเสนานิคม เมืองพุทธคยา ซึ่งอยู่ห่างจากประเทศไทยราว 3,000 กิโลเมตร

แต่ในเมืองไทย หลายแห่งมีการอ้างถึงต้นโพธิ์ที่เป็นต้นพระศรีมหาโพธิ

ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ข้างปราสาทพระเทพบิดร วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) ปลูกเมื่อ พ.ศ.2407 สมัยรัชกาลที่ 4

ต้นโพธิ์ที่พระพุทธเจ้านั่งตรัสรู้เมื่อราวสองพันห้าร้อยปีก่อน เข้ามาในเมืองไทยจริงหรือแค่อุปโลกน์

ถ้าจริง ต้นโพธิ์ต้นนั้นเดินทางมาที่เมืองไทยได้อย่างไร?

หรือคำถามที่ควรต้องถามก่อน คือต้นพระศรีมหาโพธิ์มีอยู่จริงหรือไม่?

การตายและเกิดของต้นพระศรีมหาโพธิ์

กล่าวอย่างรวบรัด ตามหลักฐานที่ปรากฏ ต้นพระศรีมหาโพธิ์ได้ผ่านบาดแผลของวันเวลาเช่นเดียวกับสิ่งต่างๆ เคยถูกตัดโค่นมาแล้ว 2 ครั้ง ล้มตายเองเพราะขาดการดูแล 1 ครั้ง ส่วนต้นที่เห็นในปัจจุบันที่พุทธคยา นับเป็นต้นที่ 4 ที่เพาะจากหน่อของต้นก่อนหน้า

หากเล่าตามลำดับ ต้นพระศรีมหาโพธิ์ต้นแรก (อายุ 272 ปี) คือต้นที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ ซึ่งอยู่มานานจนถึงรัชสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช แล้วถูกทำลายลงโดยพระมเหสีองค์ที่ 4 (พระนางติสสเทวี หรือ ติศยรักษิต) เพราะนึกโกรธแค้นที่พระเจ้าอโศกให้ความสนใจในพุทธศาสนา จนไม่สนพระทัยในความสุขส่วนตัวเหมือนก่อน

จิตรกรรมผนังวัดพระธาตุดอยสุเทพ เจ้าชายสิทธัตถะผจญกับมาร ก่อนจะตรัสรู้ใต้ต้นอัตสัตถะที่ต่อมาเรียกกันว่า ‘ต้นพระศรีมหาโพธิ์’

ต้นพระศรีมหาโพธิ์ต้นที่สอง (อายุ 871-891 ปี) คือต้นที่แตกหน่อจากต้นเดิม หลังพระเจ้าอโศกทรงรับสั่งให้นำนมวัว 100 หม้อไปรดที่รากต้นโพธิ์ และนอนคว่ำหน้าลงกับพื้น (เหมือนการกราบของพระทิเบต) โดยมีพระราชปรารภว่า ถ้าต้นโพธิ์ไม่แตกหน่อจะไม่ทรงลุกขึ้นเด็ดขาด หลังต้นโพธิ์แตกหน่อ ก็ได้มีการนำเมล็ดและกิ่งไปทำพันธุ์และปลูกกันอย่างกว้างขวาง

ต่อมาต้นโพธิ์ก็ถูกทำลายอีกครั้ง โดยกษัตริย์สาสังกะแห่งแคว้นเบงกอลที่นับถือฮินดู เพราะไม่พอใจที่พุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองในแถบนี้

ต้นโพธิ์ที่ถูกตัด ขุดราก ใช้ฟางอ้อยสุม น้ำมันราด จุดไฟเผาได้แตกหน่อขึ้นอีกครั้งเป็น ต้นพระศรีมหาโพธิ์ต้นที่สาม (อายุ 1,258 – 1,278 ปี) หลังจากพระเจ้าปรณวรมา (กษัตริย์ชาวพุทธแคว้นมคธองค์สุดท้าย เชื้อสายของพระเจ้าอโศก) ให้ชาวบ้านรีดนมวัว 1,000 ตัว รดที่บริเวณต้นโพธิ์ แล้วทรงนอนคว่ำหน้าเช่นเดียวกับที่พระเจ้าอโศกทรงทำเมื่อกาลก่อน

สายลมแห่งความเปลี่ยนแปลงพัดผ่านมาที่ต้นโพธิ์อีกครั้ง เมื่อกษัตริย์มุสลิมเข้ารุกทำลายพื้นที่โดยรอบจนราบคาบ แม้ต้นโพธิ์จะไม่ถูกทำลาย แต่พื้นที่อันรกร้างและไร้การดูแล โพธิ์ที่อายุราวพันกว่าปีก็ถึงคราวล้มครืน

ใบต้นพระศรีมหาโพธิ์ต้นที่ 4 ณ พุทธคยา (photo: Wikimedia Commons)

ส่วน ต้นพระศรีมหาโพธิ์ต้นที่สี่ (พ.ศ.2423 – ปัจจุบัน) ที่ยืนต้นอยู่ที่พุทธคยาวันนี้ คือหน่อที่แตกขึ้นมาจากต้นเดิม เซอร์คันนิ่งแฮม (Sir Alexander Cunningham) ผู้บัญชาการผู้สำรวจและวิศวกรในกองทัพอังกฤษที่สนใจด้านโบราณคดี ได้ขุดหน่อมาปลูก โดยปลูกห่างจากพื้นที่เดิมบริเวณชายฝั่งแม่น้ำเนรัญชราราว 100 เมตร

เซอร์คันนิ่งแฮม

นี่คือเรื่องราวของต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่มีการบันทึกไว้ และเป็นหลักฐานว่าต้นไม้ต้นนี้มีอยู่จริง

คำถามต่อมาคือ ต้นพระศรีมหาโพธิ์มาอยู่ในประเทศไทยได้อย่างไร?

โพธิ์ต้นแรกในสยามจากจารึกหลักที่ 2 และมหาเถรไหล่ลาย

“…ต้นโพธิ์ต้นนี้จะมาจากลังกาหรืออินเดียไม่ทราบ แต่การเอาหน่อพระศรีมหาโพธิ์เกิดขึ้นจริง อย่างน้อยมีศิลาจารึกยืนยัน คือจารึกสุโขทัยหลักที่ 2”

ระเบียงไม้คด รอบต้นพระศรีมหาโพธิ์ ณ วัดพระศรีมหาโพธิ์ จ.ปราจีนบุรี (ถ่ายเมื่อ พ.ศ.2511)
(photo: มติชนออนไลน์)

สุจิตต์ วงษ์เทศ นักประวัติศาสตร์อิสระ ยืนเล่าที่มาของต้นศรีมหาโพธิ์ในวัดพระศรีมหาโพธิ์ ตำบลโคกปีบ จังหวัดปราจีนบุรี

สุจิตต์ วงษ์เทศ (photo: อนุชิต นิ่มตลุง)

สาเหตุที่เขาบอกว่าไม่ทราบว่ามาจากลังกาหรืออินเดีย เพราะตามคำบอกเล่าของชาวบ้านเชื่อว่าเป็นโพธิ์ต้นนี้มาจากโพธิ์ต้นแรกที่พระพุทธเจ้าประทับตรัสรู้ในพุทธคยา โดยนำเข้ามาสมัยทวารวดี (ราว พ.ศ.1001-1600) แต่ถ้าอ้างตามพงศาวดารและหลักฐานทางประวัติศาสตร์ตามศิลาจารึกหลักที่ 2 จะพบว่ามาจากลังกา

“นิทานต้นโพธิ์ต้นนี้ (ตามจารึกหลักที่ 2) ก็อ้างถึง ‘พระมหาเถรไหล่ลาย’ มหาเถรคนนี้บวชเป็นพระแต่ตอนที่เป็นหนุ่มเป็นวัยรุ่น ไปเป็นชู้กับนางสนมในราชสำนัก เลยถูกจับสักตรงไหล่ให้ไปเป็นขี้ข้า ตอนหลังท่านไปเป็นใหญ่ในราชวงศ์สุโขทัย เพราะท่านมีเชื้อสายพ่อขุนผาเมือง…”

มณฑปวัดศรีชุม จ.สุโขทัย สถานที่ค้นพบศิลาจารึกหลักที่ 2 (photo: Wikipedia)

จากบันทึกพบว่า หลังจากนั้นนายไหล่ลายได้หนีไปบวชเณร อาศัยเรือสำเภาเดินทางไปศรีลังกา และได้บวชเป็พระสงฆ์ที่นั่น (มีข้อสันนิษฐานว่า ‘มหาเถรไหล่ลาย’ คือ พระมหาเถรศรีสรัทธาราชจุลามุนี ที่ปรากฏในจารึกหลักที่ 2 เนื่องจากจารึกตอนหนึ่งระบุ

‘…มีหลานพ่อขุนผาเมืองผู้หนึ่ง ชื่อสมเด็จมหาเถรผู้ชื่อศรีสรัทธาราชจุลามุนีศรีรัตนลังกาทีปมหาสามิเป็นเจ้า…)

และ

‘…ปลูกพระศรีมหาโพธิ์กระทำพุทธปฏิมาทุกแห่งทุกภาย เลิกศาสนาพระมหา…อันตรธานบ่ให้ฉิบ บ่ให้หายสักแห่ง พระมหาเถรศรีสรัทธาราชจุลามุนีนั้นผู้เชื่อ…’

ส่วนต้นพระศรีมหาโพธิ์ในลังกาที่มหาเถรไหล่ลายนำเมล็ดกลับมานั้น สันนิษฐานว่าเป็นโพธิ์ที่มาจาก ต้นพระศรีมหาโพธิ์ต้นแรก ที่พระเจ้าอโศกมหาราชนำกิ่งถวายพระสังฆมิตตาเถรี (พระราชธิดา) ไปปลูกที่เมืองอนุราธปุระ ประเทศศรีลังกา ตั้งแต่ พ.ศ.255

จิตรกรรมฝาผนังวัด Kelaniya Temple กรุงโคลัมโบ ศรีลังกา พระสังฆมิตตาเถรีเชิญกิ่งพระศรีมหาโพธิ์ เดินทางโดยเรือไปเกาะลังกา ขณะที่พระเจ้าเทวานัมปิยติสสะเสด็จลงไปรอรับถึงในน้ำ

พระศรีมหาโพธิ์ เมืองอนุราธปุระ ศรีลังกา ปลูกเมื่อ พ.ศ.255 ถือเป็นต้นโพธิ์ที่เก่าแก่ที่สุดในโลก สืบพันธุ์จากโพธิ์ต้นที่พระพุทธเจ้าประทับตรัสรู้ และกลายเป็นต้นที่แพร่เมล็ดและหน่อทั่วสุวรรณภูมิ (photo: http://serendib.btoptions.lk/, Wikimedia Commons)

นี่คือเรื่องราวต้นโพธิ์ต้นแรกที่มีที่มาตั้งแต่สมัยก่อนสุโขทัย ก่อนจะนำไปปลูกในบริเวณภาคกลางลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาในเวลาต่อมา

“มีศิลาจารึกและยังมีนิทานตำนานยืนยัน เรียกว่านิทานพระมหาเถรไหล่ลาย” สุจิตต์ วงษ์เทศ กล่าวใต้ต้นศรีมหาโพธิ์ในจังหวัดปราจีนบุรี

ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ณ วัดพระศรีมหาโพธิ์ จ.ปราจีนบุรี (ถ่ายเมื่อ พ.ศ.2561)

โพธิ์จากอดีตถึงวันนี้ ยังคงอยู่และไม่ตาย

จากพระศรีมหาโพธิ์ของพระมหาเถรไหล่ลาย หลังจากนั้นนับจากกรุงศรีอยุธยาจนถึงรัตนโกสินทร์ ก็มีพระศรีมหาโพธิ์อีกหลายต้นเดินทางเข้ามาในดินแดนแห่งนี้

เรื่องราวต่างๆ มีบันทึกในจารึก พระราชพงศาวดาร เอกสารต่างๆ เช่น ตำนานพระพุทธเจดีย์ ที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงพระนิพนธ์ใน พ.ศ.2469 ระบุว่าในสมัยอยุธยา…

‘พระบริโภคเจดีย์ คงนับถือพระศรีมหาโพธิพันธุ์ลังกามาอย่างสมัยสุโขทัยมาในชั้นหลังทีเดียว เห็นจะเป็นในรัชกาลของพระเจ้าบรมโกศก็ทรงได้พันธุ์ พระศรีมหาโพธิ์ มาจากลังกา’

และพระเจ้าบรมโกศโปรดฯ ให้ปลูกไว้ที่วัดระฆัง ซึ่งอยู่ต่อเขตพระราชวังแล้วเปลี่ยนชื่อวัดเป็นวัดวรโพธิ์

พระพุทธรูป วัดวรโพธิ์ จ.อยุธยา (photo: Wikimedia Commons)

หรือใน ตำนานพระพุทธเจดีย์ เล่มเดียวกันนี้ได้เล่าถึงต้นพระศรีมหาโพธิ์ต้นแรกของกรุงรัตนโกสินทร์ว่า

‘ถึงปีขาล พ.ศ.2361 พระอาจารย์ดี พระอาจารย์เทพกับพระสงฆ์ซึ่งเป็นสมณฑูตออกไปสืบประวัติพระศาสนาในลังกาทวีป แต่เมื่อปีจอ พ.ศ.2375 กลับมาถึงได้โพธิ์พันธุ์ พระศรีมหาโพธิ์ที่เมืองลังกาเข้ามาในกรุงรัตนโกสินทร์ พระราชทานให้ไปปลูกไว้วัดมหาธาตุ อันเป็นที่สถิตย์สมเด็จพระวันรัตน (อาจ) ต้น 1 ให้ไปปลูกไว้วัดสุทัศน์เวลานั้นยังเรียกวัดพระโต ทรงสถาปนาต่อมา แต่สิ้นรัชกาลที่ 1 แต่ยังไม่มีพระสงฆ์อยู่ต้น 1 พระศรีมหาโพธิ์ ที่พระราชทานวัดมหาธาตุ ปลูกไว้ข้างเหนือพระระเบียงฝ่ายตะวันออก ยังปรากฏอยู่จนทุกวันนี้’

ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ต้นแรกของกรุงรัตนโกสินทร์ วัดมหาธาตุ ท่าพระจันทร์ ปลูกในสมัยรัชกาลที่ 2

นอกจากได้พันธุ์พระศรีมหาโพธิ์มาจากลังกา ต่อมาในยุคหลัง โพธิ์ในไทยส่วนหนึ่งก็มีที่ได้มาจากพุทธคยาในอินเดีย

เช่นเนื้อความที่ระบุในหนังสือ ตำนานวัดบวรนิเวศวิหาร (เล่ม 1) ‘ตอนที่ 3 ครั้งสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ทรงครองวัดในรัชกาลที่ 4’ ที่ว่า

‘ด้านหลังแห่งพระวิหาร (พระศาสดา) หรือทางห้องพระพุทธไสยา (พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) ทรงสร้างฐานโพธิ์มีทับเกษตรล้อม เป็นโพธิฆระเพื่อทรงปลูกโพธิ์ที่ได้พันธุ์มาจากพุทธคยาประเทศอินเดีย…’

ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ภายในโพธิอาคาร หลังวิหารพระศาสดา วัดบวรนิเวศวิหาร

จากเรื่องราวและหลักฐานต่างๆ จะได้เห็นว่าต้นโพธิ์ในไทยเป็นพันธุ์ที่มาจากลังกาและพุทธคยาในอินเดีย

โดยได้หน่อ กิ่ง หรือเมล็ดมาจากต้นพระศรีมหาโพธิ์อีกที

ด้วยเหตุนี้ ต้นโพธิ์ในเมืองไทยที่เรียกกันว่า ‘ต้นพระศรีมหาโพธิ์’ จึงเป็นเรื่องจริงไม่ใช่อุปโลกน์

และมีหลักฐานให้เห็นอยู่มากมายจนถึงทุกวันนี้.

ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ข้างปราสาทพระเทพบิดร วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) ปลูกเมื่อ พ.ศ.2407 สมัยรัชกาลที่ 4
ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ข้างวิหารพระนอน วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์)
ต้นพระศรีมหาโพธิ์ บริเวณสัตตมหาสถาน วัดสุทัศน์เทพวราราม
ต้นพระศรีมหาโพธิ์ วัดสระเกศ ปลูกในสมัยรัชกาลที่ 2
ต้นพระศรีมหาโพธิ์ หลังอุโบสถ วัดเบญจมบพิตรดุสิตวราราม
(photo: วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ราชวรวิหาร)

ต้นพระศรีมหาโพธิ์ วัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน มี 2 ต้น สันนิษฐานว่าปลูกในสมัยนายกรัฐมนตรี จอมพล ป.พิบูลสงคราม และอีกต้นโดย ฯพณฯ อูนุ นายกรัฐมนตรีพม่า ในปี พ.ศ.2498

ปล.ต้นพระศรีมหาโพธิ์แต่ละต้นในประเทศไทยล้วนมีเรื่องราวเบื้องหลัง ผู้อ่านที่สนใจสามารถหาอ่านเพิ่มเติมได้ในหนังสือ พระศรีมหาโพธิ์: จากชมพูทวีปสู่สุวรรณภูมิ หรือจะนึกสนุกศึกษาเพิ่มเติมจากแหล่งอื่นเพื่อต่อยอดข้อมูลและเรื่องราวที่หล่นหายของต้นโพธิ์ต้นอื่นๆ ก็ได้

REFERENCE: