ดอกไม้กับความงามเป็นของคู่กัน
และบางครั้งความสวยงามนั้นอาจซ่อนเร้นกว่าที่เรามองเห็น
ภาพถ่ายดอกไม้และเหล่าพฤกษาจากงานประกวด International Garden Photographer of the Year ครั้งที่ 12 ได้เผยความงามเหล่านั้น
จิลล์ เวลแฮม (Jill Welham) ช่างภาพมือสมัครเล่นวัย 52 ปี จากประเทศอังกฤษ คือผู้ชนะการประกวดครั้งนี้ แม้ว่าเธอจะเพิ่งหันมาจับกล้องเพียงไม่กี่ปี
จิลล์หลงใหลการถ่ายภาพ โดยเฉพาะการถ่ายภาพ Macro (ภาพวัตถุขนาดเล็ก) เธอจึงตัดสินใจส่งภาพเข้าประกวดในประเภท Abstract Views และได้รางวัลชนะเลิศกลับมา
ภาพ Fireworks ของจิลล์ดูสวยประหลาดตา แต่สิ่งที่น่าสนใจมากกว่าคือเธอไม่ได้สร้างมันขึ้นมาด้วยกล้องถ่ายรูป
Fireworks เป็นภาพดอกอัลเลียม (Allium) 3 กลีบ ที่จิลล์ใช้น้ำส้มสายชู น้ำยาล้างจาน และเทคนิคการพิมพ์ภาพบนกระดาษ Wet Cyanotype* สร้างสรรค์งานชิ้นนี้
ถ้าก่อนหน้านี้จิลล์ไม่ได้เป็นศิลปินทำงานพิมพ์ด้วยเทคนิคดั้งเดิม (Traditional Printmaking Technique) การพิมพ์แบบกัดกรด (Etching) และภาพพิมพ์วัสดุปะติด (Collagraph) มาก่อน จิลล์คงไม่สามารถสร้างภาพถ่ายที่เหนือจินตนาการนี้ได้
“ภาพของจิลล์ทำให้เห็นว่า แม้แต่เทคนิคเก่าๆ ยังคงนำมาสร้างสรรค์งานที่มีความลงตัวระหว่างความคิดริเริ่มและความงดงาม”
ไทรอน แมคกรินเชย์ (Tyrone McGlinchey) กรรมการผู้จัดการ IGPOTY กล่าวชมความหลักแหลมของจิลล์ในการสร้างสรรค์งานชิ้นนี้
งานที่เกิดจากความสนุกของจิลล์ เมื่อเธอจับดอกไม้ในสวนของตัวเองมาทดลอง แล้วเอาวิทยาศาสตร์มาสร้างงานศิลปะ โดยนำของใช้ในบ้าน ตั้งแต่กาแฟ น้ำยาล้างจาน ผงฟู ฯลฯ มาพลิกแพลง เพิ่มลดตัวแปรต่างๆ จนได้สูตรเฉพาะตัว ที่สร้างปฏิกิริยาเคมีที่สามารถวาดภาพได้อย่างไร้รูปแบบ (fluid images)
นอกจากภาพถ่ายของจิลล์ ภาพถ่ายของผู้เข้าประกวดในประเภท Abstract Views คนอื่นๆ ก็เผยให้เห็นความงามที่ซ้อนเร้นของเหล่าดอกไม้และพฤกษานานาพันธุ์ อันเกิดจากความคิดสร้างสรรค์ของเหล่าช่างภาพ
FACTBOX
- International Garden Photographer of The Year หรือ IGPOTY คืองานประกวดภาพถ่ายและนิทรรศการภาพเกี่ยวกับสวน พืชพรรณไม้ ดอกไม้ รวมถึงภาพถ่ายแนวพฤกษศาสตร์ จัดโดย Garden World Images Ltd. ห้องสมุดภาพพฤกศาสตร์และพันธ์ุไม้ที่เก่าแก่แห่งหนึ่งของโลก งานนี้เปิดรับผลงานช่างภาพจากทั่วโลก โดยไม่แบ่งหมวดมือสมัครเล่นและมืออาชีพ แต่จะแยกตามประเภทของภาพถ่าย เช่น Abstract Views, Wildlife in the Garden, Greening the City ฯลฯ ซึ่งแต่ละครั้งจะปิดรับผลงานวันที่ 31 ตุลาคม และประกาศผลผู้ชนะในเดือนกุมภาพันธ์ของปีถัดไป ก่อนจะปิดท้ายด้วยการจัดนิทรรศการภาพถ่ายผลงานที่ได้รับคัดเลือก
- Wet Cyanotype เป็นเทคนิคที่ดัดแปลงมาจากการพิมพ์ภาพแบบเก่า คือ Cyanotype Process เนื่องจากมีขั้นตอนน้อย จึงนิยมใช้ในการคัดลอกแปลนบ้าน งานวิศวกร และเป็นที่รู้จักกันในชื่อพิมพ์เขียว (Blueprint) โดยการวางวัตถุที่มีลักษณะแบนลงบนกระดาษเคลือบสารไวแสง ทับด้วยกระจกและนำไปตากแดด ซึ่ง Wet Cyanotype เป็นการพลิกแพลงจากหลักการเดิมโดยการเพิ่มความชื้นบนกระดาษเคลือบสารไวแสง ก่อนคัดลอกภาพ
- #wetcyan เทคนิค Wet Cyanotype ได้รับความนิยมอย่างมากจากเหล่าศิลปินงานพิมพ์คราฟต์ จนเกิดแฮชแท็กนี้ขึ้นเพื่ออัพเดตงานผลงานใน Instagram