w©rld

สถานีรถไฟยังคงคึกคัก ผู้คนเบียดเสียดกันแน่นขนัดทุกโบกี้ เป้าหมายของพวกเขาคือที่ทำงาน นี่เป็นภาพของมหานครโตเกียวยามเช้าที่พบเห็นได้ปกติ แม้ในวันที่ไวรัสระบาด จนทำให้ญี่ปุ่นต้องประกาศเลื่อนจัดกีฬาโอลิมปิกครั้งที่ 32

แม้จะเป็นประเทศแรกๆ ที่เผชิญกับไวรัส COVID-19 แต่นายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ เพิ่งประกาศภาวะฉุกเฉินอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 7 เมษายน ที่ผ่านมา

ก่อนหน้านี้ ประชาชนชาวญี่ปุ่นยังคงเดินทางไปทำงานกันอย่างปกติเหมือนอย่างทุกวัน ไม่ใช่ว่าพวกเกรงกลัวการระบาดของไวรัส แต่ทว่า ‘งาน’ นั้นสำคัญกว่า 

Social Distancing หรือเว้นระยะห่างทางสังคม เอื้อให้พนักงานทั่วโลกสามารถ ‘ทำงานที่บ้าน’ เพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัส

แต่นโยบายนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับชาวญี่ปุ่น

เพราะไม่มีอะไรที่สามารถเปลี่ยนวิถีการทำงานที่มั่นคงฉบับญี่ปุ่นได้เลย นั่นจึงเป็นเหตุผลที่พวกเขายังคงตื่นเช้าไปทำงาน แม้ว่าไวรัสยังคงระบาดอย่างหนักก็ตาม

(Photo : CHARLY TRIBALLEAU / AFP)

วิถีอะนาล็อก

บริษัททั่วโลกต่างอนุญาตให้พนักงานกลับไปทำงานที่บ้าน และเลือกที่จะติดต่อสื่อสารกันผ่านช่องทางออนไลน์ แต่นั่นไม่ใช่สำหรับญี่ปุ่น

เพราะแม้จะเป็นประเทศผู้นำด้านเทคโนโลยีและสิ่งประดิษฐ์อันทันสมัย แต่หลายบริษัทยังคงทำงานแบบอะนาล็อก

โรเชลล์ ค็อปป์ ที่ปรึกษาบริษัท Japan Intercultural Consulting ผู้ต้องเดินทางไปกลับระหว่างญี่ปุ่น-อเมริกาเป็นประจำ เผยว่าบริษัทในญี่ปุ่นไม่ได้ลงทุนด้านอุปกรณ์ไอทีเท่าที่ควร เธอสังเกตเห็นได้จากพนักงานหลายคนในบริษัทที่ไม่มีแม้แต่แล็ปท็อปส่วนตัวไว้ใช้ทำงาน และไม่มีระบบที่จะเอื้อให้พนักงานทำงานที่บ้านได้อย่างสะดวกสบาย 

(Photo : Philip FONG / AFP)

ไม่ได้มีแค่โรเชลล์ พนักงานคนอื่นๆ เองต่างก็รู้ดีว่าความพร้อมสำหรับทำงานทางไกลนั้นยังไม่เพียงพอ เพียงแต่ยังไม่ถือว่าเป็นสิ่งที่ต้องเร่งแก้ไข จนกระทั่งไวรัสระบาด จึงทำให้เรื่องนี้ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นหัวข้อแรกๆ ที่ต้องเร่งมือเข้าช่วยเหลือ 

 หลังจากเกิดวิกฤติ COVID-19กระทรวงแรงงานของญี่ปุ่นได้สนับสนุนงบประมาณจำนวน 77,000 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณสองล้านห้าแสนบาท สำหรับบริษัทขนาดเล็กและกลาง เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการทำงานที่บ้าน

ความเหลื่อมล้ำด้านเทคโนโลยี

แม้อุปกรณ์ทั้งหลายแหล่จะเพรียบพร้อม แต่กำแพงด้านอายุก็ยังคงเป็นอุปสรรคใหญ่ที่ทำให้การทำงานที่บ้านในญี่ปุ่นเป็นไปได้ยาก 

ปี 2018 รัฐมนตรีประจำกระทรวงความปลอดภัยไซเบอร์ (Cybersecurity) ของญี่ปุ่น วัย 68 ปียอมรับว่าเขาไม่เคยใช้คอมพิวเตอร์เลยสักครั้งตลอดชีวิตการทำงาน

(Photo : CHARLY TRIBALLEAU / AFP)

1 ใน 4 ของประชากรญี่ปุ่นคือ ‘ผู้สูงอายุ’ หลายคนยังคงทำงาน บ้างยังดำรงตำแหน่งสูงอยู่ในบริษัทยักษ์ใหญ่ และแน่นอนว่าพวกเขาเติบโตในโลกอะนาล็อกและคุ้นเคยกับการทำงานแบบออฟไลน์ นี่เป็นเหตุสุดวิสัยที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำด้าน ‘เทคโนโลยี’ ระหว่างคนหนุ่มกับคนแก่

คนรุ่นใหม่อาจไม่เคยคิดมาก่อนว่าการทำงานที่บ้านจะเป็นปัญหา เพราะพวกเขาใช้สื่อออนไลน์ได้อย่างคล่องแคล่ว แต่สำหรับผู้สูงอายุนั้นอาจกล่าวได้ว่าพวกเขายังไม่พร้อมสำหรับวิถีการทำงานที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วเช่นนี้

เพราะทำงานที่บ้านไม่ได้ 

สำหรับบางคน เพียงมีแล็ปท็อปคู่ใจอยู่กับตัวก็สามารถเนรมิตรงานออกมาได้ทุกที่ทุกเวลา แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะทำเช่นนั้นได้

เรากำลังพูดถึง ‘งานบริการ’ ซึ่งเป็นงานที่ต้องอาศัยสถานที่ เวลา และผู้คน

70% ของแรงงานในประเทศญี่ปุ่น ทำงานด้านการบริการ ทำให้การทำงานที่บ้านเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายเลยสำหรับพวกเขา

ฮารุ พนักงานในร้านนวดกลางกรุงโตเกียว ยังคงโดยสารรถประจำทางไปทำงานเป็นปกติ แม้ว่าลูกค้าจะยกเลิกจองคิวนวดไปเยอะมาก เธอเผยว่าค่อนข้างเป็นกังวลกับตัวเลขผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้เธอรู้สึกสับสนระหว่างการออกมาทำงาน กับอยู่บ้านเพื่อเก็บตัว 

(Photo by CHARLY TRIBALLEAU / AFP)

เช่นเดียวกับ เบเบ้ อิชิคาวา เจ้าของธุรกิจผลไม้สดที่ส่งตรงให้โรงแรมและงานเลี้ยง เธอยังคงทำงานท่ามกลางวิกฤติโรคระบาด โดยพยายามปรับให้พนักงานในบริษัทสลับกันมาทำงาน และเปลี่ยนเวลาเข้างานเพื่อให้พวกเขาไม่ต้องเจอความแออัดบนรถไฟฟ้า 

เธอเล่าว่า งานที่ทำอยู่นั้นไม่สามารถหยุดได้ เพราะหากเลิกส่งวัตถุดิบก็จะทำให้ธุรกิจอื่นๆ พลอยได้รับผลกระทบไปด้วย และนั่นจะเป็นชนวนที่ทำให้เกิดปัญหาเศรษฐกิจอื่นๆ ตามมา 

ชมรมคนรักงาน

นอกจากกำแพงแห่งช่วงวัยที่กั้นผู้สูงอายุออกจากเทคโนโลยี และประเภทงานไม่เอื้อให้ทำที่บ้านแล้ว อีกหนึ่งเหตุผลคือ ‘วิถีการทำงานฉบับญี่ปุ่น’ คลื่นใต้น้ำอานุภาพมหาศาลที่ชาวออฟฟิศกำลังเผชิญ 

ความจงรักภักดีต่อบริษัทที่ทำให้คนทุ่มเททำงาน เป็นวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นในญี่ปุ่นมานับตั้งแต่ปี 1970 การทำงานหนักของพนักงานทำให้ญี่ปุ่นก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำด้านเศรษฐกิจอันดับ 3 ของโลกได้อย่างรวดเร็ว 

เบื้องหลังของความเจริญรุ่งเรืองนั้นเต็มไปด้วยความเจ็บปวด เพราะงานกำลังทำร้ายผู้คนอย่างไม่ทันได้รู้ตัว บางคนเริ่มล้มป่วยจากการทำงานหนัก มีโรคแทรกซ้อนเพราะอดนอน และถึงขั้นเสียชีวิตจากอาการหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน นั่นทำให้เกิดคำว่า ‘Karoshi’ ซึ่งหมายถึงการทำงานหนักเกินควรของชาวญี่ปุ่น

(Photo : CHARLY TRIBALLEAU / AFP)

แม้จะมีการปฏิรูปเรื่องชั่วโมงการทำงานไปเมื่อปี 2019 อย่างไรก็ตามวิถีนี้ยังคงฝังรากลึกอยู่ในสังคมญี่ปุ่นอย่างยากจะถอดถอนให้หมดไป

เจสเปอร์ โคลล์ นักเศรษฐศาสตร์และนักวางแผนการเงินในญี่ปุ่น เล่าว่า “แม้จะเลิกงานแล้ว แต่ผู้คนยังไม่กล้ากลับบ้าน เพราะเกรงว่าเจ้านายอาจกลับเข้ามาอีกครั้งหลังจากที่ทานมื้อเย็นอิ่มแล้ว นั่นเป็นวัฒนธรรมองค์กรที่เกิดขึ้นจริงในญี่ปุ่น” 

นอกจากนี้สไตล์การทำงานที่มีความเกรงใจเป็นที่ตั้ง และให้ความสำคัญกับเพื่อนร่วมงานและหัวหน้ามาเป็นอันดับหนึ่ง ทั้งยังต้องตัดสินใจร่วมกันเป็นทีม การทำงานที่บ้านของชาวญี่ปุ่นจึงเป็นไปได้ยากยิ่งในสถานการณ์เช่นนี้ 

“ฉันมักกังวลเสมอว่า เราจะไม่สามารถช่วยเหลือเพื่อนๆ และทำงานได้อย่างถูกต้องได้ ถ้าทำงานจากที่บ้าน” นากาเนะ ซึโยชิ เจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคลของกระทรวงสาธารณสุขเล่าถึงอุปสรรคในการทำงานที่บ้านของเธอ 

(Photo : Philip FONG / AFP)

ความหวังหลังประกาศภาวะฉุกเฉิน

ตั้งแต่ที่เริ่มมีการระบาดในญี่ปุ่น ก็มีผู้เสียชีวิตและติดเชื้อเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เมื่อ 7 เมษายน วันเดียวกับที่นายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ ประกาศภาวะฉุกเฉินในเขตเมืองใหญ่ ซึ่งมีผู้อาศัยอยู่ราว 14 ล้านคน มีผู้ติดเชื้อแล้ว 1,116 ราย ยอดรวมทั่วประเทศญี่ปุ่น 3,906 ราย รวมถึงคนบนเรือสำราญโยโกฮาม่าอีก 712 ราย

ในบรรดาผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นเป็นวัยหนุ่มสาวมากเป็นพิเศษ นี่คงถึงคราวที่เหล่าพนักงานต้องกลับมาให้ความสำคัญกับการ ‘ทำงานที่บ้าน’ เพื่อป้องกันการติดเชื้ออย่างจริงจังอีกครั้ง 

แม้ภาวะฉุกเฉินจะไม่ใช่กฎหมาย และเป็นเพียงการขอความร่วมมือ แต่การประกาศของรัฐบาลญี่ปุ่นในครั้งนี้ อาจช่วยคลายความสับสนให้กับพนักงานที่ยังออกไปทำงานในทุกๆ เช้าได้ไม่น้อย

รวมถึงยังช่วยให้บริษัทหลายแห่งในญี่ปุ่น ตระหนักถึงความรุนแรงของ COVID-19 มากขึ้น

 

อ้างอิง