w©rld

‘คลองเตย’ ได้ยินคำนี้ หลายคนนึกถึงสลัม

แต่น่าจะเป็นการนึกถึง โดยจินตนาการจากเสียงร่ำลือหรือเรื่องเล่า มากกว่าเคยไปเห็นกับตา

เพราะสำหรับคนทั่วไป ถ้าไม่ได้อาศัยอยู่ในสลัม คงไม่มีเหตุผลอะไรให้ตัดสินใจเดินเข้าไปในที่แห่งนั้น

ที่ที่คนส่วนใหญ่เข้าใจว่าเป็นนรกมากกว่าสวรรค์

ที่ที่เรารับรู้ว่ามีอยู่ แต่ไม่เคยรู้จักหรือสบตา

แล้วสลัมคลองเตยจริงๆ เป็นอย่างไร?

คลองเตย สลัม ชุมชนแออัด neon dream Sam Gregg
(Photo: Sam Gregg)

ภาพถ่ายของ แซม เกร็ก (Sam Gregg) ช่างภาพชาวอังกฤษที่ใช้เวลากว่าสองปีในช่วงวันหยุดไปกับการสำรวจและถ่ายภาพชีวิตผู้คนในชุมชนแห่งนี้

และบันทึก ประวัติศาสตร์ชุมชนคลองเตย ที่เขียนโดยเจ้าหน้าที่รัฐคนหนึ่งที่เติบโตในชุมชน อาจบอกเราได้…

คลองเตย สลัม ชุมชนแออัด neon dream Sam Gregg
(Photo: Sam Gregg)

“เรื่องเหลือเชื่อเกี่ยวกับสลัมคือ มันอยู่ใจกลางกรุงเทพฯ แต่ไม่มีใครรู้ว่ามันอยู่ที่นั่น” แซมพูดถึงคลองเตย

“คุณสามารถเดินสิบนาทีเพื่อไปห้างสรรพสินค้า และซื้อแบรนด์ดีไซเนอร์ชื่อดัง แต่ขณะเดียวกัน สิบนาทีที่อยู่ห่างออกไป ก็มีผู้คนที่กำลังมีชีวิตอย่างยากจนข้นแค้น”

แซมสำรวจสลัมคลองเตยโดยเดินเตร่ไปตามทางรถไฟที่ตัดผ่าน และคลุกคลีดื่มกินกับผู้คนในพื้นที่

“จากนั้นผมก็เริ่มถ่ายภาพพวกเขา”

คลองเตย สลัม ชุมชนแออัด neon dream Sam Gregg
(Photo: Sam Gregg)

ชีวิตผู้คนในคลองเตยเป็นอย่างไร?

“ทุกคนอาศัยอยู่ในเพิงเล็กๆ ทุกที่เต็มไปด้วยขยะ ความรุนแรง และคนที่เป็นโรคเอดส์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนขายบริการทางเพศ”

แซมบอกว่า สลัมคลองเตยดูน่ากลัวเมื่อมองอย่างผิวเผิน แต่พอได้สัมผัสอย่างใกล้ชิด เขากลับพบความจริงอีกด้าน นั่นคือความเป็นมิตรของผู้คนที่นี่

คลองเตย สลัม ชุมชนแออัด neon dream Sam Gregg
(Photo: Sam Gregg)

“ผมสนิทกับคนหนึ่ง เขาชื่อ ‘แย็บ’ คนที่มีรอยสักเต็มตัวที่คุณเห็นจากรูปถ่ายนี่แหละ ผมเจอเขาและนั่งดื่มสาโทด้วยกันทุกวันเสาร์ไม่ก็อาทิตย์ ผมพูดไทยได้นิดหน่อย เหมือนที่เขาพูดอังกฤษได้นิดหน่อย แต่ส่วนใหญ่เราสื่อสารกันด้วยท่าทาง

“เขาเคยติดคุก 30 ปีนะ” แซมพูดถึงแย็บ “เพราะพยายามหาเลี้ยงครอบครัวด้วยการค้ายาไอซ์”

แม้แย็บจะมียาในครอบครองไม่เท่าไหร่ แต่สำหรับประเทศไทย คดียาเสพติดไม่ว่าเล็กน้อยแค่ไหนก็นับว่าร้ายแรง

“ตอนเดินเข้าคุกตัวเขายังเปล่าเปลือย ก่อนจะเดินออกมาพร้อมรอยสักอย่างที่เห็น”

คลองเตย สลัม ชุมชนแออัด neon dream Sam Gregg
(Photo: Sam Gregg)

สำหรับแซม แย็บเป็นเหมือนสัญลักษณ์ของคนจำนวนมากในที่แห่งนี้ ที่ถูกสังคมขับไล่และกีดกันให้ออกไปอยู่ชายขอบ ทั้งๆ ที่บางคนอาจไม่ได้ชั่วร้าย แต่สังคมกลับไม่ไว้ใจคนที่นี่

เช่นเดียวกัน คนที่นี่ก็อาจไม่ไว้ใจคนนอกอย่างแซมที่เดินเข้ามาพร้อมกล้องถ่ายรูป เพื่อจะถ่ายภาพพวกเขา

ทำไมคนในชุมชนแห่งนี้ถึงยอมให้แซมเข้าไปในพื้นที่ส่วนตัว

คลองเตย สลัม ชุมชนแออัด neon dream Sam Gregg
(Photo: Sam Gregg)

แซมเผยว่า เขาไม่เคยเข้าหาใครตรงๆ แต่จะเดินไปพร้อมกับป้ายที่เขียนเป็นภาษาไทยว่า ‘โพสท์ท่าในแบบที่เป็นคุณ’

แล้วเมื่อกลับมาครั้งต่อไป แซมจะปริ้นภาพถ่ายมาให้คนที่เป็นแบบของเขาดู

แซมคิดว่าการถ่ายภาพเหมือนการไปเอาบางสิ่งจากคนๆ นั้น ดังนั้นสิ่งที่ควรทำคือการให้กลับคืน และ “การเคารพคนที่คุณถ่าย คือหน้าที่ของช่างภาพ”

คลองเตย สลัม ชุมชนแออัด neon dream Sam Gregg
(Photo: Sam Gregg)

ตลอดสองปีที่เดินเข้าออกชุมชนคลองเตย แซมบอกว่าคนที่นี่ต่างกังวลเรื่องการถูกขับไล่ออกจากพื้นที่

‘ย้ายชุมชนครั้งใหญ่สุดในประเทศ!’ เว็บไซต์ NationTV พาดหัวข่าวเมื่อ 4 มีนาคมที่ผ่านมา

เนื้อหาระบุว่า การท่าเรือแห่งประเทศไทยจะนำที่ดินบริเวณนี้พัฒนาเป็น Smart Community ตามโมเดลซิตี้พอร์ทของเมืองปูซาน เพื่อยกระดับให้คลองเตยเป็นเมืองท่าระดับโลก และเพิ่มรายได้เชิงพาณิชย์ปีละ 3,500 ล้านบาท

คลองเตย สลัม ชุมชนแออัด neon dream Sam Gregg
(Photo: Sam Gregg)

โดยการท่าเรือฯ ยื่นทางเลือกให้กับชาวชุมชนคลองเตยนับแสนคน ว่ามีทางเลือกอยู่ 3 ทาง

1. อยู่ต่อ จะอยู่ในคอนโดขนาด 33 ตารางเมตรที่จัดสร้างขึ้น

2. ย้ายออก จะอยู่ในที่ดินแปลงใหม่ที่หนองจอก โดยจะจัดหาให้ครอบครัวละ 1 แปลง

3. รับเงินค่ารื้อถอน แล้วกลับไปอยู่ภูมิลำเนา

และมีกำหนดการเสนอแผนย้ายชุมชนเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในปีหน้าหรือพ.ศ.2563

“แม้ในทางทฤษฎีจะฟังดูเป็นความคิดที่ดี แต่โอกาสที่พวกเขาจะได้อยู่ต่อคงเป็นไปได้ยาก” แซมบอกสิ่งที่เขาคิด “ด้วยตำแหน่งของคอนโดที่มองเห็นแม่น้ำเจ้าพระยา น่าจะทำให้ค่าเช่าสูงเกินกว่าคนส่วนใหญ่จะรับไหว”

คลองเตย สลัม ชุมชนแออัด neon dream Sam Gregg
(Photo: Sam Gregg)
คลองเตย สลัม ชุมชนแออัด neon dream Sam Gregg
(Photo: Sam Gregg)

เมื่อย้อนกลับไปดูข้อมูลในบันทึก ประวัติศาสตร์ชุมชนคลองเตย  จะพบว่า การพยายามย้ายชุมชนแห่งนี้ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นครั้งแรก แต่เกิดมาแล้วหลายครั้ง โดยเริ่มตั้งแต่ พ.ศ.2510 หลังจากแรงงานที่อพยพมาจากต่างจังหวัด และคนจากสลัมอื่นๆ ถูกรัฐไล่รื้อ ย้ายมาอยู่ที่นี่จนแออัด

แล้วแรงงานในคลองเตยมาจากไหน และเข้ามาเมื่อไหร่?

จากข้อมูลใน ประวัติศาสตร์ชุมชนคลองเตย อาจแบ่งได้ 3 ช่วง คือ

คลองเตย สลัม ชุมชนแออัด
บริเวณท่าเรือคลองเตย พ.ศ.2499
  • พ.ศ.2481-2490 ช่วงที่การท่าเรือแห่งประเทศไทยก่อสร้างท่าเรือกรุงเทพ ทำให้มีความต้องการแรงงานจำนวนมาก จึงดึงแรงงานมาจากต่างจังหวัด และสร้างแคมป์ให้คนงานพัก
คลองเตย สลัม ชุมชนแออัด
ท่าเรือคลองเตย พ.ศ.2517
  • พ.ศ.2503 สหรัฐอเมริกาตั้งฐานทัพในประเทศไทย เพื่อใช้เป็นฐานที่มั่นในการทำสงครามเวียดนาม โดยมีท่าเรือกรุงเทพเป็นที่รับส่งยุทโธปกรณ์ รวมทั้งรับศพทหารจีไอมาชำแหละต้ม เพื่อลอกเอากระดูกส่งกลับบ้าน กองทัพสหรัฐจึงต้องการแรงงานมาจัดตั้งและทำงานต่างๆ ในฐานทัพ ตอนนั้นคนที่รู้ข่าวจึงพากันมาหางานทำ เพราะเชื่อว่ากองทัพอเมริกันจะจ่ายค่าแรงไม่อั้น
คลองเตย สลัม ชุมชนแออัด
ทางด่วนเฉลิมมหานคร บริเวณคลองเตย พ.ศ.2524
  • หลัง พ.ศ.2503 เป็นต้นมา คลองเตยกลายเป็นเป้าหมายของแรงงานต่างจังหวัด เมื่อแรงงานบางส่วนที่มาก่อสร้างท่าเรือไม่ยอมกลับ ใช้แคมป์พักคนงานเป็นที่อยู่อาศัย แม้การท่าเรือจะพยายามแก้ปัญหาด้วยการรับคนบางส่วนเป็นพนักงาน แต่แรงงานจากต่างจังหวัดก็ยังคงหลั่งไหลมาที่นี่ เพราะคำชวนของคนใน บวกกับการรื้อชุมชนแออัดที่อื่นๆ ในกรุงเทพฯ ก็ทำให้ชุมชนคลองเตยกลายเป็นที่พักพิงอาศัย จนขยายเป็นสลัมขนาดใหญ่

“ผมคิดว่านี่เป็นเพียงสิวเม็ดหนึ่งที่พวกเขาต้องการปกปิด แต่จริงๆ แล้วพวกเขาไม่ได้สนใจความเป็นอยู่ของผู้คนที่นี่เท่าไหร่หรอก” แซมพูดถึงความพยายามของภาครัฐที่จะย้ายชุมชนคลองเตย

คำพูดของแซมฟังดูเป็นการป้ายสีให้ประเทศไทย แต่ในมุมหนึ่งก็น่าคิด ว่าเราเป็นเช่นนั้นจริงหรือไม่

คลองเตย สลัม ชุมชนแออัด neon dream Sam Gregg
(Photo: Sam Gregg)

“สำหรับหลายๆ คน ที่นี่เป็นมากกว่าบ้าน พวกเขารู้สึกดีและเป็นตัวของตัวเอง เพราะคนจำนวนมากถูกสังคมปฏิเสธ แต่ที่นี่ไม่มีใครคิดอย่างนั้นกับพวกเขา”

สังคมคิดอะไรกับคนคลองเตย?

บันทึก ประวัติศาสตร์ชุมชนคลองเตย  ตอนหนึ่ง ซึ่งเขียนโดยเจ้าหน้าที่รัฐที่เติบโตในชุมชนแห่งนี้ เล่าว่า

ครั้งหนึ่ง ผู้ใหญ่ในระดับสูงได้มาตรวจงานที่ผมได้รับมอบหมายให้ทำ และผู้ใหญ่ท่านนั้นมีความพอใจมาก เอ่ยปากถามผมว่า “น้องมาจากไหน?”

ผมก็ตอบท่านว่า ผมมาจากชุมชนคลองเตยครับ

“ไม่น่าเชื่อนะว่าจะมาจากคลองเตย” ผู้ใหญ่ท่านนั้นเปรยขึ้น

ผมจึงสวนออกไปอย่างลืมตัวว่า

“ทำไมครับ คนชุมชนคลองเตยเก่งๆ กว่าผมมีเยอะแยะ คนชุมชนคลองเตยจบปริญญามีมากมาย ผมว่าไม่แปลกตรงไหนนี่ครับ ที่ผมจะทำงานอย่างนี้ได้”

คลองเตย สลัม ชุมชนแออัด neon dream Sam Gregg
(Photo: Sam Gregg)

แม้จะไม่พอใจ แต่ผู้บันทึกก็ตั้งข้อสังเกตต่อชุมชนคลองเตยของเขาด้วยความเข้าใจ

ความเลวของคลองเตยก็มี ในขณะที่ความดีก็มากมาย คลองเตยเป็นแหล่งทรัพยากรบุคคลที่น่าทึ่ง ช่างเก่ง พ่อครัวฝีมือดี แรงงานที่ขันแข็ง

…คนคลองเตยจบวิศวะ จบหมอเยอะแยะ แต่ก็อายเกินกว่าจะยอมรับว่าเป็นคนคลองเตย เพราะกลัวจะถูกประนามจากสังคม

คลองเตย สลัม ชุมชนแออัด neon dream Sam Gregg
(Photo: Sam Gregg)

ภาพถ่ายของแซมและบันทึกประวัติศาสตร์ชุมชนคลองเตย อาจไม่ได้บอกเล่าความเป็นคลองเตยได้ทั้งหมด

แต่อย่างน้อยก็น่าจะทำให้เราได้เห็นคลองเตยในมิติที่กว้างกว่าที่เคยจินตนาการ ว่าชุมชนที่อยู่คู่กรุงเทพมหานครมาเนิ่นนานแห่งนี้ มีชีวิตและเรื่องราวอย่างไร

เพื่อที่เราจะได้เข้าใจมากขึ้น และพิพากษาพวกเขาน้อยลง.

จำน้องคนนี้ได้ไหม คนคลองเตย..สังกัดคลองเตยแลนด์…😎😎

Posted by Aek LadubTeb on Saturday, 28 July 2018

เยาวชนคลองเตย ร้องแร็พเพลง ‘สลัมคลองเตย’ เพื่อถ่ายทอดชีวิตและผู้คนในชุมชนแห่งนี้ผ่านมุมมองของตัวเอง

 

อ้างอิง:

  • Sam Gregg. Neon Dream. http://www.sam-gregg.com/neon-dreams
  • Lexi Manatakis. Documenting the beauty of life inside Bangkok’s biggest slum. https://bit.ly/2J5PMOl
  • Manon. Meet the people of Klong Toey through Sam Gregg’s lens. https://bit.ly/2F4HSzN
  • ศูนย์กลางข้อมูลชุมชนคลองเตยเพื่อการเรียนรู้. ประวัติศาสตร์ชุมชนคลองเตย. https://bit.ly/2TDcsdB
  • Nation TV. ย้ายชุมชนครั้งใหญ่สุดในประเทศ! การท่าเรือฯ ทุ่มแสนล้านผุดซิตี้พอร์ท เล็งโละ “สลัมคลองเตย” ขึ้นตึก. http://www.nationtv.tv/main/content/378694460/