w©rld

นอกเหนือจากวิธีการใช้งาน ‘ทางม้าลาย’ ที่เราต่างรู้กันดีว่าเป็นจุดตัดระหว่างทางข้ามกับถนน ซึ่งรถทุกคันที่สัญจรผ่านต้องหยุดให้ทางคนเดินเท้าก่อนเสมอ

ทางม้าลายยังมีประวัติน่าสนใจ เพราะเป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงความพยายามของมนุษย์ว่าไม่ต้องการให้เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน จึงคิดหาทางออกที่ง่ายที่สุดเพื่อจัดระเบียบสังคม พร้อมกับเพิ่มความปลอดภัยให้กับคนเดินเท้า

แล้วเคยสงสัยไหมว่า ทำไมทางม้าลายต่างเมืองต่างถิ่นถึงมีหน้าตาและลายเส้นคล้ายคลึงกันหมด

บทความนี้ของ becommon ไม่ได้แค่ค้นข้อมูลมาตอบ แต่จะพาไปทำความเข้าใจตั้งแต่จุดเริ่มต้นของแนวคิดสร้างทางข้ามถนน จนถึงจุดพลิกผันที่ทำให้ทางม้าลายกลายเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก เพราะวงดนตรีในตำนานอย่างเดอะบีเทิลส์

 

ทางคนข้ามเกิดจากความสูญเสีย

รถยนต์คันแรกที่ถือกำเนิดขึ้นในปี 1886 โดย คาร์ล ฟรีดริช เบนซ์ (Karl Friedrich Benz) วิศวกรยานยนต์ชาวเยอรมัน ได้เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตและวิธีเดินทางในเวลาต่อมา เพราะรถยนต์ต้องการถนนราบเรียบที่แบ่งช่องทางสัญจรอย่างเป็นระเบียบ เมื่อถนนแต่ละสายตัดผ่านพื้นที่อยู่อาศัย จึงจำเป็นต้องสร้างทางให้คนเดินขนาบข้างและเดินข้ามถนนให้เป็นกิจจะลักษณะด้วย

คาร์ล ฟรีดริช เบนซ์ (ขวา) กำลังขับรถยนต์ที่เขาประดิษฐ์ขึ้นเพื่อถ่ายภาพโฆษณา ในปี 1887
Photo: courtesy of Daimler AG via https://dyler.com/posts/195/the-story-of-the-person-who-created-the-world-s-first-car

แต่กว่าทางม้าลาย (แบบที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน) แห่งแรกของโลกจะถือกำเนิดขึ้นก็ล่วงเลยเข้าสู่ต้นทศวรรษ 1930 สาเหตุหลักที่ผลักดันให้สังคมหันมาสนใจเรื่องนี้จริงจัง คือความตายของการเดินเท้าก่อนหน้า ที่นับวันมีแต่จะเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะบนถนนหนทางยังไม่มีสัญลักษณ์เตือนให้รถหยุด คนในยุคนั้นจึงเดินข้ามถนนกันแบบตามมีตามเกิด

ย้อนกลับไปก่อนหน้า บริดเจต ดริสคอลล์ (Bridget Driscoll) หญิงชาวอังกฤษวัย 44 ปี คือผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถชนรายแรกในประวัติศาสตร์ ขณะที่เธอกำลังจะเดินพ้นถนนและก้าวขึ้นทางเท้าพอดี เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นวันที่ 17 สิงหาคม 1896 ในกรุงลอนดอน กลายเป็นข่าวลงหน้าหนังสือพิมพ์ และสร้างความแตกตื่นให้ทั้งผู้ใช้รถและคนเดินเท้าอยู่พักใหญ่

ภาพถ่ายบริดเจต ดริสคอลล์ (นั่งกุมมือ) พร้อมสมาชิกในครอบครัวของเธอ
Photo: https://www.roadpeace.org/2021/08/17/125th-anniversary-bridget-driscoll/

จนกระทั่งสหราชอาณาจักรประกาศบังคับใช้กฎหมายจราจรปี 1934 ซึ่งระบุไว้ชัดเจนว่า รถต้องจอดให้คนเดินข้ามถนนก่อน พร้อมประดิษฐ์เสาไฟใหม่เพื่อใช้เป็นเครื่องหมายขึ้นมา โดยเรียกว่า Belisha Beacons ตามชื่อ เลสลี่ ฮอร์-เบลิชา (Leslie Hore-Belisha) รัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมของสหราชอาณาจักรผู้ริเริ่มแนวคิดนี้

Photo: courtesy of James Gray (2006)

ทุกจุดที่ถูกกำหนดให้เป็นทางข้ามถนนจึงต้องมีเสาไฟนี้ยืนต้นประกบสองฝั่ง หวังให้คนขับรถมองเห็นได้แต่ไกล เพราะบนหัวเสามีโคมไฟ สีเหลืองอมส้ม เป็นจุดสังเกต

 

สีขาว-ดำ และคำเรียก ‘ทางม้าลาย’

หลังจากเปิดใช้งานจริง ปรากฏว่าแค่สีของโคมไฟอย่างเดียวกลับไม่โดดเด่นอย่างที่ควรจะเป็น และคนขับรถส่วนใหญ่ก็ยังเผอเรอไม่ทันเห็นเสาไฟเหล่านี้ ในปี 1949 จอร์จ ชาร์ลส์เวิร์ธ (George Charlesworth) นักฟิสิกส์และวิศวกรจราจร จึงเสนอให้ทาสีเพิ่มที่ตัวเสา เขาทดลองจับคู่สีทั้ง แดง-ขาว ตามเครื่องหมายกาชาด และคู่สีตรงข้ามอย่าง น้ำเงินเหลือง และ ขาว-ดำ

สองปีผ่านไป ชาร์ลส์เวิร์ธพบว่า คู่สีขาว-ดำ ให้ผลลัพธ์ชัดเจนที่สุด เพราะดึงสายตาของผู้ใช้รถใช้ถนนให้มองเห็นได้ง่ายกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับสีอื่นๆ แต่เพื่อความรัดกุม ทั้งลดความสุ่มเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุและป้องกันไม่ให้คนขับรถใช้เป็นข้ออ้างว่ามองไม่เห็น จึงทาสีขาว-ดำ ลงบนพื้นถนนตรงจุดที่ใช้เป็นทางข้ามด้วยเลย

ภาพถ่ายขณะทาสีทางม้าลาย และวันเปิดให้คนใช้งานจริง Photo: courtesy of Mary Treen, The Transport Research Foundation (TRF)

ทางข้ามถนนแห่งแรกจึงเปิดใช้งานอย่างเป็นทางการในวันที่ 31 ตุลาคม 1951 บนถนนสายหลักของเมืองสลาวห์ (Slough) เพราะเป็นย่านการค้าและมีผู้คนพลุกพล่านและรถยนต์สัญจรตลอดเวลา

ส่วนชื่อเรียกเฉพาะว่า ทางม้าลาย เกิดขึ้นจาก เจมส์ คัลลาฮาน (James Callaghan) นายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักรในสมัยนั้น เห็นสีขาว-ดำที่ใช้ทาสลับบนถนนแล้วทำให้เขาอดคิดถึงสีขนของตัวม้าลายไม่ได้ ในภาษาอังกฤษแบบบริติชจึงบัญญัติคำเรียกทางข้ามถนนว่า Zebra Crossing นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

 

ทางม้าลายกลายเป็นแลนด์มาร์ก

เมื่อทางม้าลายต้นแบบแห่งแรกที่เมืองสลาวห์ประสบความสำเร็จด้วยดี ทางการจึงเร่งสร้างทางม้าลายเพิ่มตามถนนเส้นอื่นๆ จนครอบคลุมทั่วประเทศ เพราะต้องการจัดระเบียบการจราจรและเพิ่มความปลอดภัยให้คนเดินเท้า ถึงอย่างนั้นทางม้าลายก็ยังจำกัดอยู่แต่ภายในสหราชอาณาจักร ยังไม่ได้แพร่หลายไปยังต่างประเทศ

ภาพถ่ายผู้คนกำลังเดินทางข้ามถนนบรอดเวย์ (Broadway) หนึ่งในถนนสายหลักใจกลางเกาะแมนฮัตตันของมหานครนิวยอร์ก ปี 1947
Photo: Eric Schwab / AFP

ในเวลาเดียวกัน ด้านสหรัฐอเมริกาเลือกใช้ป้ายเขียนข้อความ STOP เป็นสัญลักษณ์บอกให้คนขับหยุดรถหากมีคนกำลังจะข้ามถนน ส่วนบนพื้นถนนใช้สีขาวตีเส้นตรงหรือเส้นประเป็นช่องทางสำหรับเดินข้ามอยู่แล้ว จึงไม่ได้สนใจทาสีสลับขาวดำแบบทางม้าลายของสหราชอาณาจักร

แต่สิ่งสำคัญกว่านั้นคือ กฎหมายจราจรของสหรัฐอเมริกายังค่อนข้างล้าหลังพอสมควร กว่าทางการจะบังคับใช้กฎหมายให้รถทุกประเภทต้องหยุดให้ทางคนเดินเท้าก่อนเสมอก็เข้าสู่ปลายทศวรรษ 1970 ส่วนหนึ่งเป็นเพราะอิทธิพลความโด่งดังของ The Beatles (เดอะบีเทิลส์) วงดนตรีร็อกแอนด์โรลจากเกาะอังกฤษ

Photo: Abbey Road (1969), The Beatles

กระแสความนิยมชมชอบที่แฟนเพลงทั่วโลกมีต่อวงเดอะบีเทิลส์ ทำให้ปกอัลบั้มที่ 11 ได้รับความสนใจทันทีตั้งแต่เริ่มวางจำหน่ายวันแรกในวันที่ 26 กันยายน 1969 นอกเหนือจากความไพเราะของเพลง จุดเด่นอีกอย่างของอัลบั้มคือภาพหน้าปกที่สมาชิกทั้งสี่คนกำลังเดินเรียงแถวข้าม ถนนแอบบีย์ (Abbey Road) ของกรุงลอนดอน ซึ่งพวกเขานำชื่อถนนมาตั้งเป็นชื่ออัลบั้มนี้ด้วย

สาเหตุที่เลือกทางม้าลายบนถนนแอบบีย์ เพราะว่าอยู่ใกล้ EMT Studios (ปัจจุบันชื่อ Abbey Studios) สถานที่ที่วงเดอะบีเทิลส์ใช้บันทึกเสียงมากที่สุด ซึ่งพวกเขามีเวลาไม่มากนัก ขนาดเวลาที่ใช้ถ่ายรูปทั้งหมดก็มีเพียง 15 นาทีเท่านั้น

ภาพถ่ายเบื้องหลัง วงเดอะ บีเทิลส์ เตรียมข้ามทางม้าลาย เวลาประมาณ 11.30 น. ของวันที่ 8 สิงหาคม 1969
Photo: Abbey Road (1969), The Beatles

ภาพทางม้าลายของสหราชอาณาจักรแพร่หลายไปทั่วโลกพร้อมกับอัลบั้มใหม่ของวงเดอะบีเทิลส์ ประเทศต่างๆ รวมถึงสหรัฐอเมริกาจึงเริ่มศึกษารูปแบบทางม้าลายของสหราชอาณาจักร แล้วนำมาปรับใช้ในประเทศของตัวเอง

ทางม้าลายในกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ปี 1972
Photo: AFP

ส่วนถนนแอบบีย์ก็กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวและแลนด์มาร์กให้แฟนเพลงของวงเดอะบีเทิลส์มาเดินข้ามทางม้าลายแล้วถ่ายรูปเป็นที่ระลึก วงเดอะบีเทิลส์จึงเป็นเสมือนทูตวัฒนธรรมของทางม้าลายอย่างที่พวกเขาเองก็ไม่ได้ตั้งใจและไม่เคยนึกฝัน

เมื่อทางการเห็นความสำคัญของถนนแอบบีย์ที่เปลี่ยนโลกทั้งใบให้รู้จักทางม้าลาย ในปี 2010 จึงขึ้นทะเบียนยกย่องให้ทางม้าลายบนถนนแอบบีย์เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของประเทศ

 

สรรพสัตว์บนทางข้ามถนน

ม้าลายไม่ใช้สัตว์ชนิดเดียวที่ถูกนำมาใช้เรียกขานเป็นชื่อทางข้ามถนน หลายประเทศพยายามสร้างสรรค์ลวดลายบนทางเท้าเป็นของตัวเอง ถึงอย่างนั้นก็เป็นแต่ลายที่ใช้ในพื้นที่จำกัดหรือเมืองใดเมืองหนึ่ง

อย่างลาโกรุญญา (La Coruña) ประเทศสเปน ทาสีทางข้ามถนนเลียนแบบลายของวัว แล้วตั้งชื่อทางข้ามถนนใหม่ว่า Cow crossing เพราะวัวเป็นสัตว์เพื่อการเกษตรกรรมของเมือง

Photo: https://www.theolivepress.es/spain-news/2019/09/10/initiative-launched-to-replace-zebra-crossings-in-spain-with-cow-spots/

ออสเตรเลีย คิดค้นลายของตัวเองโดยเพิ่มเส้นคล้ายหน่วยวัดมิลลิเมตรบนไม้บรรทัดขบาบกับทางม้าลายอีกที แล้วตั้งชื่อใหม่ตามตัววอมแบต ซึ่งเป็นสัตว์ประจำถิ่นว่า Wombat crossing

Photo: http://www.victoriapark.wa.gov.au/

สหรัฐอเมริกาคิดการใหญ่ เพราะไม่ได้แค่ปรับลายบนถนนอย่างเดียว แต่ติดตั้งเสาสัญญาณไฟเหนือทางข้ามถนนด้วย ซึ่งมีชื่อเรียกเฉพาะว่า Hawk crossing ตามนกอินทรีที่เป็นสัญลักษณ์ของประเทศ

Photo: https://www.rasmith.com/projects/wis-11-pike-river-pathway-hawk-signal-design/

แม้แต่สหราชอาณาจักรเองก็เคยออกแบบลายใหม่เรียกว่า Panda crossing เพราะได้รับแรงบันดาลใจมาจากแพนด้า แต่ทดลองใช้แค่ 5 ปี ระหว่างปี 1962-1967 ก็ยกเลิกไป ส่วนที่ยังใช้อยู่จนถึงปัจจุบัน คือ Tiger crossing คงลวดลายเหมือนทางม้าลายทุกประการต่างกันแค่สีที่ทา เพราะใช้สีเหลืองสลับสีดำตามสีขนของเสือ

Photo: https://www.telegraph.co.uk/only-in-britain/panda-crossing/
Photo: Anthony Wallace / AFP

แต่ถึงอย่างนั้น ก็ไม่มีลายของสัตว์ตัวไหนเลยที่ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางเท่าม้าลาย

 

อ้างอิง