ลึกเข้าไปในป่าแห่งรัฐเมฆาลัย (Meghalaya) รัฐที่ได้ชื่อว่าชุ่มชื้นที่สุดในประเทศอินเดีย อุดมไปด้วย ‘สะพานมีชีวิต’ มรดกตกทอดจากบรรพบุรุษที่ช่วยกันถักทอเถาวัลย์และรากไม้ ให้ลูกหลานได้ใช้สัญจรข้ามลำน้ำอย่างปลอดภัย
และยิ่งนานวัน สะพานต้นไม้เหล่านี้ยิ่งแข็งแรงขึ้นเรื่อยๆ ชนิดที่สะพานคอนกรีตไม่มีวันทาบติด
เมฆาลัยเป็นรัฐที่อยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย ติดกับประเทศบังคลาเทศ และมีฝนตกหนักตลอดทั้งปี (สมความหมายของชื่อที่แปลว่า ที่พำนักของหมู่เมฆ) ทำให้โครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอาคาร บ้านเรือน และสะพาน ถูกกัดเซาะและพังทลายได้ง่าย
บรรพบุรุษประจำท้องถิ่นอย่างชาวกาสี (Khasi) และชาวเจนเตีย (Jaintia) มองหาวิธีสร้างสะพานข้ามลำน้ำที่ไหลเชี่ยวในช่วงฤดูน้ำหลากมาตั้งแต่หลายพันปีก่อน
ทำอย่างไรจึงจะสร้างสะพานที่ทนทานต่อกระแสน้ำเชี่ยวกราก และฝนที่ตกหนักแบบไม่เลือกเดือน
มองซ้ายมองขวาเห็นแต่รากและเถาวัลย์พันเกี่ยวที่เลี้ยวลดของต้นยางอินเดีย (Ficus elastica) ไม้ประจำถิ่นที่มีรากยึดเกาะเหนียวแน่น แข็งแรง และทนทาน ใครสักคนจึงปิ๊งไอเดียขึ้นมาว่า เราน่าจะลองถักรากไม้เป็นสะพานกันดู
ไม่มีบันทึกปรากฏว่าเขาคนนั้นคือใคร รู้ตัวอีกที ชาวกาสีและเจนเตียรุ่นสู่รุ่นก็ช่วยกันดัดรากอากาศของต้นยางอินเดีย เพื่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำของพวกเขาขึ้นด้วยมือของตนเอง
วิธีสร้างสะพานรากไม้เริ่มจากมองหาทำเลเหมาะๆ แล้วลงมือปลูกยางอินเดียขึ้นที่ริมฝั่งน้ำ ผ่านไปสิบปีหลังจากรอให้ไม้หยั่งรากแข็งแรงได้ที่ ชาวบ้านจึงจะเริ่มกระบวนการดัดถักรากอากาศ โดยใช้ไม้ไผ่หรือต้นหมากในการทำนั่งร้าน เพื่อให้รากค่อยๆ พันเกี่ยวเลี้ยวลดไปตามโครง จนข้ามไปหยั่งรากยังอีกฟากฝั่ง แล้วค่อยๆ เติบโตเป็นยางต้นใหญ่ หลักยึดสำคัญให้สะพานรากไม้เชื่อมทั้งสองฟากลำน้ำอย่างแข็งแกร่งในที่สุด
‘ในที่สุด’ ที่ว่า หมายถึงการใช้เวลาร่วมร้อยปีกว่าจะได้สะพานที่ใช้งานได้ บางแห่งสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยที่รัฐเมฆาลัยตกอยู่ใต้การปกครองของอาณาจักรอาหม หรือเมื่อ 500 ปีที่แล้ว
ดังนั้น สะพานต้นไม้แห่งเมฆาลัยจึงเป็นสะพานที่คนสร้างไม่มีโอกาสได้ใช้ แต่พวกเขาก็มั่นใจว่านี่คือของขวัญที่ดีที่สุดที่จะมอบให้ลูกหลานได้สัญจรอย่างปลอดภัย
เพราะในขณะที่สะพานคอนกรีตสมัยใหม่ถูกสร้างขึ้นอย่างแน่นหนา แต่ก็ไม่สามารถต้านทานมวลน้ำในฤดูน้ำหลากได้ ต่างจากสะพานรากไม้ที่บางแห่งยืนหยัดนานข้ามศตวรรษ
สะพานรากไม้เหล่านี้อาศัยความยืดหยุ่นตามธรรมชาติช่วยทอนแรงของน้ำที่ไหลบ่า ทั้งยังรองรับน้ำหนักได้ดี (สะพานบางแห่งรับน้ำหนักคน 50 คนได้สบายๆ) และยิ่งผ่านการใช้งานมายาวนานก็ยิ่งแข็งแรง ถือเป็นงานวิศวกรรมอันเป็นผลผลิตจากภูมิปัญญาของชาวกาสีและเจนเตีย ที่มีวิถีชีวิตเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติจึงสอดแทรกทักษะเชิงช่างไว้ในธรรมชาติอย่างยั่งยืน
ส่วนอีกหนึ่งผลพลอยได้ที่คนรุ่นทวดปู่อาจไม่ได้นึกถึง ก็คือ สะพานรากไม้ที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วผืนป่าได้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวสร้างชื่อให้รัฐเมฆาลัยในปัจจุบัน
เพราะนอกจากสะพานรากไม้แต่ละแห่งจะมีความงามเฉพาะตัวที่ไม่ซ้ำกันแล้ว การจะเดินทางเข้าไปชมสะพานรากไม้แต่ละแห่งก็ไม่ง่าย เพราะพิกัดตั้งอยู่กลางป่า จึงจำเป็นต้องใช้กำลังขาในการเดินขึ้นและลงเขานานหลายชั่วโมง กว่าจะได้สัมผัสจิตวิญญาณของสะพานอายุเกินศตวรรษ
เสน่ห์ของเรื่องราวแต่หนหลังในการถักทอรากไม้ให้เป็นสะพานที่ใช้เวลาหลายชั่วอายุคน บวกกับความท้าทายในการบุกป่าฝ่าดงไปเยือน จึงกลายเป็นแม่เหล็กดึงดูดนักท่องเที่ยวขาลุยให้พากันดั้นด้นมายังเมฆาลัย
หนึ่งในสะพานต้นไม้ที่โด่งดังและมีคนไปเยือนมากที่สุด ได้แก่ สะพานรากไม้สองชั้นอุมเชียง (Umshiang Double Decker Living Root Bridge) หรือชื่อท้องถิ่นว่า Jing Kieng Jri ตั้งอยู่ในหมู่บ้านน็องเกรียต (Nongriat) เมืองเชอร์ราปัญจี (Cherrapunji)
การไปเยือนสะพานอุมเชียงเริ่มต้นด้วยการเดินเท้าออกจากหมู่บ้านไทร์นา (Tyrena) ผ่านป่าเขาไปตามเส้นทางเทรลแบบขั้นบันไดที่เดินไม่ยาก แต่ก็ไม่ง่าย แถมยังหลอกให้ตายใจด้วยระยะทางช่วงแรกเป็นทางลงเขา ก่อนจะกลายเป็นเส้นทางเดินขึ้นเขาอีกลูก จึงจะถึงจุดหมายปลายทาง โดยใช้เวลา 1 ชั่วโมงครึ่ง – 2 ชั่วโมง หรือ 3,000 ก้าวโดยประมาณ
ก่อนถึงสะพานอุมเชียง สามารถแวะชมสะพานรากไม้ที่ยาวที่สุดได้ที่หมู่บ้านน็องทิมไม (Nongthymmai) ซึ่งตั้งอยู่กลางทาง สะพานรากไม้ชั้นเดียวความยาวกว่า 100 ฟุต (ประมาณ 30 เมตรครึ่ง) แห่งนี้มีชื่อว่า ริทิมเมน (Ritymmen) เป็นสะพานที่แคบ เดินได้ทีละคน และค่อนข้างสั่นไหวง่ายขณะเดินอยู่บนสะพาน ถือเป็นการทดสอบจิตใจขณะก้าวแต่ละย่างได้เป็นอย่างดี
การผจญภัยกว่าจะไปถึงสะพานรากไม้สองชั้นยังต้องข้ามผ่านสะพานแขวนทำจากเหล็กอีก 2 แห่ง ท่ามกลางแมกไม้เขียวครึ้มตลอดเส้นทาง และสายน้ำสีเทอร์ควอยซ์เบื้องล่าง ที่ต่อให้หวาดเสียวต่อความสูงแค่ไหน เชื่อว่าทุกคนที่พาตัวเองมาถึงจุดนี้ย่อมอยากที่จะก้าวเดินต่อไป เพื่อให้ทริปบุกป่าตามหาสะพานมีชีวิตในเมฆาลัยจบแบบแฮปปี้เอ็นดิ้งด้วยการไปเจอนางเอกที่ปลายทาง
ที่จริงแล้ว สะพานมรดกเหล่านี้เกือบไม่เหลือไว้ให้คนรุ่นหลังได้เห็น เพราะหลายๆ หมู่บ้านเริ่มสร้างสะพานเหล็กหรือสะพานคอนกรีตขึ้นแทนที่ จนกระทั่ง สะพานรากไม้กลายเป็นที่รู้จักในโลกโซเชียลเมื่อปี 2004
นับแต่นั้นเป็นต้นมา ได้เกิดกระแสอนุรักษ์สะพานรากไม้อย่างจริงจัง เพื่อเป็นการสนับสนุนการท่องเที่ยวท้องถิ่นไปในตัว ทำให้ปัจจุบันเริ่มมีการปลูกต้นยางอินเดียริมแม่น้ำมากขึ้น เพื่อเพิ่มจำนวนสะพานรากไม้ให้เพิ่มขึ้นในอนาคต
รวมถึงสะพานรากไม้สองชั้นอุมเชียง ที่ในอีกไม่กี่ทศวรรษ (หรืออาจจะศตวรรษหน้า) จะมีหน้าตาที่เปลี่ยนไป โดยกลายเป็นสะพานรากไม้สามชั้น เพราะกระบวนการปลูกและดัดรากไม้ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว
อ้างอิง
- Bertieinindia. The Root Bridges of Cherrapunji. https://bit.ly/3zBUyrX
- MadAboutBirdingandTravel. Unforgettable Double Decker Living Root Bridge. https://bit.ly/3o0jMOo