w©rld

ถ้าจะมีดินแดนใดที่เล่าขานประวัติศาสตร์และอารยธรรมของมนุษยชาติได้อย่างสมบูรณ์ เชื่อว่าหนึ่งในนั้นคือ ‘เปอร์เซีย’ หรือประเทศอิหร่านในปัจจุบัน  

จักรวรรดิเปอร์เซียก่อร่างสร้างอารยธรรมมาอย่างยิ่งใหญ่ตั้งแต่เมื่อประมาณ 500 ปีก่อนคริสตกาล 

เมื่อครั้งอดีต นี่คืออาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ของโลกไม่แพ้กรีก โรมัน หรืออียิปต์ 

เป็นต้นกำเนิดของศิลปวิทยาการหลายด้าน ที่ส่งผลต่อคนทั่วโลกมาจนถึงปัจจุบัน

ความงามที่สั่งสมมาตั้งแต่อดีตยังคงตระหง่านรอให้ผู้คนทั่วโลกได้ไปสัมผัส การันตีด้วยจำนวนมรดกโลก ที่มากถึง 21 แห่ง   

แต่ดูเหมือนว่าสิ่งเหล่านั้นไม่มีพลังมากพอ เท่ากับข่าวด้านลบที่ได้รับรู้จากสื่อตะวันตก และนี่เองได้กลายมาเป็นตัวปิดกั้นอิหร่านจากสายตาชาวโลก

ตลอดการเดินทาง 11 วันในอิหร่านของทีม common เราไม่พบเจอกับความยากลำบากเลยแม้แต่วันเดียว 

ผู้คนเป็นมิตร เต็มใจช่วยเหลือ การเดินทางและที่พักทุกแห่งสะดวกสบายกว่าที่เคยจินตนาการไว้มาก

ภาพชุดนี้ common อยากให้ทุกคนได้เห็นความงามบางส่วนของประเทศอิหร่าน นับตั้งแต่จักรวรรดิเปอร์เซียเริ่มก่อตั้ง มาจนถึงปัจจุบัน พร้อมเกร็ดความรู้เล็กๆ น้อยๆ 

เพื่อเป็นอีกหนึ่งเสียง ที่ยืนยันว่านี่คือแหล่งอารยธรรมที่งดงาม น่าค้นหา และควรค่ากับการเดินทางมาเห็นด้วยตาสักครั้ง หาใช่ดินแดนลึกลับน่ากลัวอย่างที่หลายคนเคยเข้าใจ 

(Photo : Vava Akewanon)

“ทำไมพื้นที่แห้งแล้งกลางทะเลทรายแบบนี้ ถึงเป็นแหล่งกำเนิดอารยธรรมของโลกหลายต่อหลายแห่ง” 

นี่คือคำถามแรกที่ผุดขึ้นมาทันทีหลังจากมีโอกาสเห็นผืนดินของอิหร่านจากหน้าต่างเครื่องบิน 

เมื่อหาคำตอบจากนักประวัติศาสตร์ พบว่าในพื้นที่แห้งแล้งแบบนี้แหละ ที่เอื้อต่อการสร้างอาณาจักร เพราะเกิดโรคระบาดได้ยาก และพื้นที่ของอาณาจักรอย่างเปอร์เซีย เมโสโปเตเมีย หรืออิยิปต์ ก็ไม่ได้แห้งแล้งเสียทีเดียว เพราะมีแม่น้ำ และทะเลสาน้ำจืดอยู่โดยรอบ สามารถทำการเกษตรและเลี้ยงสัตว์ได้ ไม่ต่างจากคนลุ่มแม่น้ำในเขตร้อนชื้นอย่างเรา

ในพื้นที่เขตร้อนชื้น ที่เรามองว่าอุดมสมบูรณ์นี้ต่างหาก ที่ไม่สามารถสร้างเป็นนครรัฐขนาดใหญ่ได้เลย เพราะะเสี่ยงต่อโรคภัย จนทำให้อารยธรรมไม่เกิดความต่อเนื่อง

(Photo : Pear Preeyanij)

จุดเริ่มต้นของอารยธรรมเปอร์เซีย เกิดขึ้นเมื่อ 2,500 ปี ในจักรวรรดิอาคิเมนิด (หรือจักรวรรดิเปอร์เซียแรก) โดยมีแพร์ซโพลิส (Persepolis) เป็นเมืองหลวง 

(Photo : Ice Tanagorn)

โดยพระเจ้าไซรัสมหาราช คือปฐมกษัตริย์แห่งจักรวรรดิเปอร์เซีย ได้รวมชาวอารยันจนเป็นปึกแผ่น ก่อตั้งเป็นอาณาจักร แต่แพร์ซโพลิส (Persepolis) ได้กลายมาเป็นเมืองหลวงของเปอร์เซียในสมัยพระเจ้าดาริอุสมหาราช ที่สร้างพระราชวังอย่างยิ่งใหญ่ ด้วยการระดมยอดฝีมือ และวัสดุชั้นเลิศจากทุกดินแดนที่เปอร์เซียครอบครอง

(Photo : Ice Tanagorn)

ถือเป็นช่วงที่จักรวรรดิเปอร์เซียเรืองอำนาจมากที่สุด สามารถขยายดินแดนไปจนถึงอินเดีย ปาเลสไตน์ ตุรกี และอียิปต์

(Photo : Ice Tanagorn)

ก่อนจะถูกเผาทำลายโดยทัพมาสิโดเนียและกรีกของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช ช่วง 330 ปีก่อนคริสตกาล ปัจจุบันแพร์ซโพลิสได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกในปี ค.ศ. 1979 

หลุมฝังศพของกษัตริย์ในราชวงศ์อาคิเมนิด ตั้งอยู่ไม่ไกลจากแพร์ซโพลิส 

Agha Bozorg Mosque แห่งเมืองคาชาน (Photo : Vava Akewanon)

อาณาจักรในแถบนี้เกิดและดับ เปลี่ยนถ่ายการปกครองกันมาหลายราชวงศ์ จนกระทั่งการเข้ามาของศาสนาอิสลาม ก็ได้สร้างสถาปัตยกรรมใหม่ และศิลปะที่สวยงามน่าสนใจ ให้กับเปอร์เซีย 

ศรัทธาอันแข็งแกร่งต่อศาสนาอิสลาม ก่อให้เกิดสถานที่สำคัญอันสวยงามมากมาย เช่น มัสยิดสีชมพู หรือ Nasir-Ol Molk สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญแห่งเมืองชีราซ ที่ตกแต่งด้วยกระจกสีและกระเบื้องสีชมพู เพื่อแสดงความอ่อนน้อมถ่อมตนต่อพระเจ้า 

มัสยิดสีชมพู แห่งเมืองชีราซ ที่งดงามที่สุดในยามเช้า เมื่อแสงอาทิตย์สาดส่องทะลุกระจกสีเข้ามาภายใน 

ตัวอาคารคุมโทนด้วยกระเบื้องสีชมพู ที่ทุกสัดส่วนผ่านการคำนวอย่างแม่นยำ

ศิลปะแบบรวงผึ้งหรือมูการานาจ ที่ชาวเปอร์เซียรู้วิธีทำมาตั้งแต่ 1,700 ปีที่แล้ว ผสานกับศิลปะกระเบื้องเคลือบในยุคราชวงศ์กาจาร์ ช่วงศตวรรษที่ 18 จะใช้ประดับตกแต่งหน้าซุ้มประตูมัสยิดและสถานที่สำคัญต่างๆ

ซุ้มโค้งในตัวอาคาร ที่งดงามอลังการแบบนี้มีอยู่ทุกหนทุกแห่งในอิหร่าน 

บัลลังก์หินอ่อนในมุมโปรดของกษัตริย์ NasserAl-Din Shah แห่งราชวงศ์กาจาร์ (Qajars) ในพระราชวังโกเลสถาน หรือพระราชวังสวนกุหลาบ กรุงเตหะราน ที่สร้างขึ้นในศตวรรตที่ 19 แสดงถึงความรุ่มรวยทางศิลปะ ที่ไม่เคยเสื่อมคลายของชาวเปอร์เซีย

ตำหนักเก่าของผู้ปกครองเมืองชีราซ สมัยราชวงศ์กาจาร์(Qajars) ตั้งอยู่ท่ามกลางสวนสวยสไตล์เปอร์เซีย หรือที่เรียกกันว่า Eram Garden ในเมืองชีราซ

นอกจากมัสยิดและพระราชวังอันโอ่อ่าแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่สะท้อนถึงความเจริญรุ่งเรืองทางการค้าของเปอร์เซียคือ บรรดาบ้านของเศรษฐีเปอร์เซียในอดีต ที่ส่วนใหญ่มักจะเป็นพ่อค้าที่มาค้าขายในแถบนี้จนร่ำรวย อย่างเช่น Tabatabai House ของพ่อค้าพรมผู้ร่ำรวยในเมืองคาชาน ศูนย์กลางการค้าขายสำคัญอีกเมืองหนึ่งของอิหร่าน ที่ใหญ่โตโอ่อ่าราวกับพระราชวัง

(Photo : Vava Akewanon)

บ้านหลังนี้เป็นฝีมือการออกแบบของ Ustad Ali Maryam หนึ่งในสถาปนิกผู้ยิ่งใหญ่ของอิหร่าน 

Tabatabai House เมืองคาชาน
Tabatabai House เมืองคาชาน
Tabatabai House เมืองคาชาน
โถงห้องรับแขกของพ่อค้าชาวเปอร์เซีย

ภายในของ Boroujerdi’s house ของเศรษฐีพ่อค้าพรม หากเป็นเมืองไทยก็เรียกได้ว่า รวยระดับเจ้าสัว

Bazaar of Kashan (Photo : Namwaan Siranee)

ตลาดหรือบาซาร์ มีให้เห็นทุกเมืองของอิหร่าน จะเห็นได้ว่านี่คือดินแดนแห่งการค้าจริงๆ

(Photo : Ice Tanagorn)

เมื่อกล่าวถึงเรื่องการค้า เราจะข้ามความรุ่งเรืองของเปอร์เซียในช่วงเส้นทางสายไหมไปไม่ได้เลย และเมืองยาซ์ดคือเมืองโอเอซิสกลางทะเลทรายที่มีบทบาทสำคัญมาก โดยมาร์โค โปโล เคยบันทึกถึงเมืองกลางทะเลทรายแห่งนี้ไว้ เมื่อครั้งที่เขาเดินทางค้าขายบนเส้นทางสายไหมในปี 1272 

(Photo : Ice Tanagorn)

บรรดาพ่อค้ากองคาราวาน ก็มักจะแวะพักที่นี่ ยาซ์ดจึงมีคาราวานซารายหรือที่พักของนักเดินทางมากมาย หลายๆ แห่งได้รับการปรับปรุงให้เป็นที่พักของนักท่องเที่ยวในปัจจุบัน เนื่องจากเป็นเมืองกลางทะเลทราย บ้านเรือนในยาซ์ดจึงสร้างจากอิฐและดิน  

ซึ่งหากใครอยากสัมผัสบรรยากาศของการเที่ยวทะเลทราย ในอิหร่านมีทัวร์ทะเลทรายอยู่หลายเมือง ทั้งยาซ์ด อิสฟาฮาน และคาชาน ให้ได้เลือกไปสัมผัส

(Photo : Vava Akewanon)

ทะเลทรายมารานจาบ (Maranjab Desert) อยู่ระหว่างเมืองคาชานและอิสฟาฮาน ซึ่งอยู่ห่างจากตัวเมืองคาชานเพียง 60 กม. เท่านั้น

(Photo : Ice Tanagorn)

ข้อดีของการที่เมืองอยู่ใกล้ทะเลทรายคือ เราสามารถอยู่ชมบรรยากาศยามพระอาทิตย์ตกในทะเลทรายได้ โดยไม่ต้องค้างคืนหรือรีบเร่งออกมา เพราะใช้เวลาขับรถออกมาเพียงไม่กี่นาทีเท่านั้น

(Photo : Vava Akewanon)

นอกจากเป็นที่ท่องเที่ยว ที่นี่ยังเป็นซาฟารี ให้ผู้ที่สนใจได้ลองมาศึกษาสัตว์ที่อาศัยอยู่ในแถบทะเลทราย

ใกล้กับพื้นที่ทะเลทราย คือ Salt Lake ขนาดใหญ่ ที่เมื่อน้ำแห้ง จะเกิดเป็นแผ่นเกลือเกาะพื้นดินเป็นบริเวณกว้าง สร้างความสวยงามไปอีกแบบ

ในอิหร่านมี Salt Lake อยู่หลายแห่ง หากเกลือมีความเข้มข้นสูง เช่นในเมืองชีราซ จะมีแบคทีเรียบางชนิดมาอาศัยอยู่แล้วทำปฏิกิริยาจนเกิดเป็นทะเลสาสีชมพู 

Salt Lake ในเมืองชีราซ
Naghsh-e Jahan Square เมืองอิสฟาฮาน (Photo : Namwaan Siranee)

ปัจจุบัน หากจะมองอิหร่านในฐานะเมืองท่องเที่ยว ก็ต้องบอกว่านี่คือประเทศที่มีคุณสมบัติครบถ้วน จนเกือบจะสมบูรณ์แบบ 

ผู้คนเป็นมิตรและพร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยว ในส่วนของสถานที่ยิ่งเต็มไปด้วยคุณค่าทางประวัติศาสตร์และสวยงามอย่างไม่มีที่ไหนเหมือน

การเดินทางสะดวกสบาย และถูกแสนถูก เพราะน้ำมันที่อิหร่านลิตรละ 3 บาทเท่านั้น ฉะนั้นไม่ต้องตกใจ หากคุณต้องจ่ายค่าแท็กซี่ด้วยเงินแค่ 12 บาท

Naghsh-e Jahan Square เมืองอิสฟาฮาน
ลวดลายบนผนังและเพดานของ Music Hall ในพระราชวัง Ali Qapu เมืองอิสฟาฮาน
สะพาน Si-o-se-pol เมืองอิสฟาฮาน
แผงขายหนังสือเล็กๆ บริเวณป้อมการิมข่าน ในเมืองชีราซ (Photo : Vava Akewanon)

สถาปัตยกรรมของ Bathhouse ในเมืองคาชาน

สุดท้ายนี้ หากคุณยอมเปิดใจ เปอร์เซียจะเป็นอีกหนึ่งทริปการเดินทางแสนพิเศษ ที่รับรองว่าต้องสร้างความประทับใจให้คุณได้อย่างแน่นอน