w©rld

ทุกๆ ปี ผลงานสร้างสรรค์มีลิขสิทธิ์จะถึงคราวหมดอายุ และตกเป็นสาธารณสมบัติให้ใครก็ตามนำไปใช้งานได้โดยไม่ผิดกฎหมาย

อย่างในปี 2022 นี้ ‘หมีพูห์’ ตัวละครเอกจากวรรณกรรมเยาวชนเรื่อง Winnie-the-Pooh ผลงานเขียนของ เอ.เอ. มิลน์ (A. A. Milne) นักประพันธ์ชาวอังกฤษ ซึ่งเคยตีพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกในปี 1926 ได้กลายเป็นสาธารณสมบัติโดยสมบูรณ์ (อาจเรียกว่า สมบัติสาธารณะ ก็ได้เหมือนกัน)

Photo: MILNE, A. A.. Winnie-The-Pooh. (1926)

แล้วทำไมถึงเป็นเช่นนั้น?

เพื่อความเข้าใจเกี่ยวกับ ‘ลิขสิทธิ์’ (copyright) และ ‘สาธารณสมบัติ’ (public domain) อาจเริ่มต้นด้วยคำถามชวนคิดว่า

หากเปรียบเทียบกันแล้ว อะไรคือความเหมือนและความต่างระหว่าง ‘ลิขสิทธิ์’ กับ ‘ขนมปังแถว’?

Photo: MILNE, A. A. and SHEPARD, E.H.. Winnie-The-Pooh. (1926)

เฉลย ทั้งคู่มีวันหมดอายุเหมือนกัน แต่ต่างตรงที่ วันหมดอายุของขนมปังแถวนับจากวันผลิต ส่วนลิขสิทธิ์นับจาก ‘วันที่เสียชีวิต’ ของผู้สร้างสรรค์

Photo: MILNE, A. A. and SHEPARD, E.H.. Winnie-The-Pooh. (1926)

เพราะกฎหมายลิขสิทธิ์ของสหรัฐอเมริกา (1976) และความตกลงร่วมกันด้านลิขสิทธิ์ระหว่างสหรัฐอเมริกาและประเทศไทย พ.ศ. 2464 ได้กำหนดไว้ชัดเจนว่า

งานสร้างสรรค์ที่สำเร็จเป็นผลงานจะได้รับความคุ้มครองทันที ถือเป็นงานลิขสิทธิ์ของผู้สร้างสรรค์ ห้ามใครก็ตาม ทำซ้ำ คัดลอก ดัดแปลง แก้ไข นำไปเผยแพร่และหาผลประโยชน์ ไม่ว่าบางส่วนหรือทั้งหมดของผลงาน จนกว่าได้รับความยินยอมและอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจากเจ้าของหรือผู้ถือครองลิขสิทธิ์

หมายความว่า ลิขสิทธิ์ผลงานเป็นของผู้สร้างสรรค์ตลอดเวลาขณะยังมีชีวิตอยู่ จนกระทั่งเสียชีวิตลง อายุความคุ้มครองผลงานจะเปลี่ยนแปลงทันที โดยแบ่งเป็น 2 กรณี

  • (1) ผลงานที่สร้างสรรค์หลัง 1 มกราคม 1978 กฎหมายจะให้ความคุ้มครองต่อไปอีก 70 ปี นับจากวันที่ผู้สร้างสรรค์เสียชีวิต
  • (2) ผลงานที่สร้างสรรค์ก่อน 1 มกราคม 1978 รวมถึงผลงานที่ไม่ปรากฏผู้สร้างสรรค์ กฎหมายจะให้ความคุ้มครองต่อไปอีก 95 ปี นับจากวันที่ผู้สร้างสรรค์เสียชีวิตหรือวันที่ผลงานนี้โฆษณาเป็นครั้งแรก

เมื่อครบกำหนดวันที่คุ้มครอง กฎหมายลิขสิทธิ์ของสหรัฐอเมริกาจะยืดเวลาคุ้มครองออกไปจนถึงวันสุดท้ายของปีปฏิทิน ผลงานที่สร้างสรรค์ทุกชิ้นจึงถูกกำหนดให้หมดอายุในวันที่ 31 ธันวาคมของปีนั้นๆ

เท่ากับว่า ในวันถัดไป หรือ วันที่ 1 มกราคมของทุกปี จึงไม่ใช่แค่วันขึ้นปีใหม่ แต่ยังเป็น Public Domain Day หรือ วันสาธารณสมบัติ ของผลงานสร้างสรรค์ที่เพิ่งหมดอายุ ซึ่งเปิดกว้างและเปิดโอกาสให้ทุกคนนำไปใช้งานได้อย่างอิสระตามที่ตนต้องการ โดยไม่ต้องขออนุญาตใคร และไม่นับเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ใดๆ

สัญลักษณ์ Public Domain
อาจใช้อักษรย่อ PD หรือ dp กำกับแทน

อย่างกรณี หมีพูห์ เป็นผลงานสร้างสรรค์ก่อนปี 1978 กฎหมายลิขสิทธิ์จึงคุ้มครองเป็นเวลา 95 ปี นับจากวันเผยแพร่เป็นครั้งแรก คือ 14 ตุลาคม 1926 ลิขสิทธิ์ตัวละครหมีพูห์จึงหมดอายุวันที่ 31 ธันวาคม 2021 เพราะกฎหมายต่ออายุให้อัตโนมัติจนถึงวันสุดท้ายของปี 2021 จากวันครบกำหนด คือ วันที่ 14 ตุลาคม 2021 ก่อนตกเป็นสาธารณสมบัติตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2022 เป็นต้นไป

นอกเหนือจากหมีพูห์แล้ว ที่ผ่านมาทุกปีจึงมีตัวละครและผลงานสร้างสรรค์อื่นๆ จำนวนมากที่ตกเป็นสาธารณสมบัติ เช่น The Wonderful Wizard of Oz (1900), Alice in Wonderland (1865), Dracula (1897), Frankenstein; or, The Modern Prometheus (1818), Sherlock Holmes (1887) The Hunchback of Notre-Dame (1833)

ถึงอย่างนั้น การนำผลงานสาธารณสมบัติมาใช้ก็มีข้อควรระวังอยู่ด้วย เพราะต้องแน่ใจว่าเป็นผลงานต้นฉบับ (ภาพซ้าย) ไม่ใช่ผลงานจากผู้สร้างสรรค์อื่นๆ ที่เคยซื้อลิขสิทธิ์มาดัดแปลงเป็นเวอร์ชันตัวเอง

Photo: MILNE, A. A. and SHEPARD, E.H.. Winnie-The-Pooh. (1926)
Photo: Walt Disney. Winnie the Pooh and his Honey Pot. (c.1990)

โดยเฉพาะกรณีเวอร์ชันดิสนีย์ (ภาพขวา) ตัวละครหมีพูห์ของดิสนีย์ ถือเป็นผลงานมีลิขสิทธิ์อยู่ จึงนำมาใช้งานโดยพลการไม่ได้

 

อ้างอิง

FYI

  • งานสร้างสรรค์ที่พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ให้ความคุ้มครองนั้น ครอบคลุมงาน 9 ประเภท ดังนี้ (1) งานวรรณกรรม (2) นาฏกรรม (3) ศิลปกรรม (4) ดนตรีกรรม (5) โสตทัศนวัสดุ (6) ภาพยนตร์ (7) สิ่งบันทึกเสียง (8) งานแพร่เสียงแพร่ภาพ และ (9) งานอื่นใดในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือศิลปะ
  • ขณะที่กฎหมายลิขสิทธิ์ของสหรัฐอเมริกา ให้ความคุ้มครองครอบคลุมงาน 10 ประเภท ดังนี้ (1) Literary (2) Musical (3) Dramatic (4) Pantomimes and choreographic works (5) Pictorial, graphic, and sculptural works (6) Audio-visual works (7) Sound recordings (8) Derivative works (9) Compilations และ (10) Architectural works