w©rld

ต้อนรับเปิดเทอมด้วยการตามไปส่องชุดนักเรียนของหลายพื้นที่ในโลก ว่าเด็กๆ ต่างถิ่นเขาสวมใส่เครื่องแบบหน้าตาอย่างไรไปเรียนหนังสือ

เพราะถึงจะไม่ใช่ทั้งหมด แต่หลายประเทศในโลกก็มีการกำหนดให้เด็กนักเรียนต้องสวมเครื่องแบบด้วยแนวคิดที่แตกต่างกันออกไป  

และก็ใช่ว่าเครื่องแบบนักเรียนของทุกประเทศจะมีแต่เสื้อสีขาวเข้าชุดกับกระโปรงหรือกางเกงสีพื้นเหมือนกันไปหมด 

เพราะหลายโรงเรียนในแต่ละประเทศได้พยายามใส่อัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมตามบริบทของพื้นที่ของตนเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของชุดเหล่านี้ ซึ่งบางไอเดียก็ทำให้เกิดดีไซน์เป็นเอกลักษณ์ซ่อนนัยอะไรบางอย่าง และบางไอเดียก็มีประโยชน์ใช้สอยที่อาจส่งผลให้ชุดนักเรียนเป็นมากกว่าเครื่องแบบธรรมดา

เหตุผลใต้ ‘ผ้ากันเปื้อน’ ของชุดนักเรียนหญิงแห่งโซเวียต

school uniform
นักเรียนหญิงสวมเครื่องแบบเป็นครั้งสุดท้ายในวันฉลองพิธีจบการศึกษาระดับมัธยมปลาย ณ จัตุรัสแดง กรุงมอสโก ประเทศรัสเซีย 
Photo: NATALIA KOLESNIKOVA / AFP

รัสเซียมีทั้งโรงเรียนที่ไม่กำหนดให้นักเรียนสวมเครื่องแบบ และโรงเรียนที่ยังคงเอกลักษณ์ของชุดนักเรียนดั้งเดิมตั้งแต่ครั้งยังเป็นสหภาพโซเวียต โดยเฉพาะชุดนักเรียนหญิงสีดำ สวมผ้ากันเปื้อนสีขาวทับ ประดับโบว์หรือตาข่ายรูปดอกไม้บนศีรษะ ซึ่งเคยเป็นเครื่องแบบเฉพาะของสตรีในชนชั้นศักดินาเท่านั้น 

เหตุผลที่เด็กนักเรียนหญิงแห่งโซเวียตในยุคแรกๆ ต้องสวมผ้ากันเปื้อน เพียงเพื่อป้องกันไม่ให้เครื่องแบบสกปรกเลอะเทอะก็เท่านั้น แต่นานวันเข้า ผ้ากันเปื้อนจึงถูกบรรจุให้กลายเป็นเครื่องแบบอย่างเป็นทางการไปโดยปริยาย

school uniform
Photo: NATALIA KOLESNIKOVA / AFP

และเช่นเดียวกับประเทศคอมมิวนิสต์อื่นๆ ผ้าพันคอสีแดงเป็นเครื่องหมายที่ขาดไม่ได้ของนักเรียนทุกคนในยุคนั้น 

ล่าสุดเมื่อปลายปี 2020 รัสเซียประกาศว่าจะมีการปฏิรูปเครื่องแบบนักเรียนใหม่ โดยมีเสื้อแจ็คเก็ตแบบมีฮู้ดเป็นหนึ่งในตัวเลือกของเครื่องแบบลำลองที่สวมใส่ได้ง่ายขึ้น และอาจจะถือเป็นอวสานของชุดผ้ากันเปื้อนสุดคลาสสิคในที่สุด 

ค่านิยมที่ถูกฝังอยู่ในผ้าพันคอสีแดง

school uniform
เครื่องแบบนักเรียนประถมโรงเรียน Yang Dezhi ประดับดาวแดงและผ้าพันคอสีแดงเต็มยศตามแบบฉบับโรงเรียนในเครือข่ายกองทัพแดง
Photo: Fred DUFOUR / AFP

นับตั้งแต่เดือนกันยายน 2017 เป็นต้นมา พรรคคอมมิวนิสต์จีน (Communist Party of China: CPC) กำหนดให้หลักสูตรการเรียนการสอนในโรงเรียนประถมและมัธยมจีนกว่า 283,000 แห่ง จำเป็นต้องมีวิชาว่าด้วยเรื่องคุณค่าสังคมนิยม (socialist) เพื่อให้เยาวชนเข้าใจและสนับสนุนแนวทางของผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์ รวมถึงรู้จักระเบียบ หน้าที่ และต้องมีใจรักประเทศชาติ 

นอกจากจะจงใจบรรจุเลือดรักชาติไว้ในหลักสูตรแล้ว นักเรียนในโรงเรียนสังกัดกองทัพแดงยังต้องสวมเครื่องแบบทหารและผ้าพันคอสีแดง ทำให้ผู้ปกครองชาวจีนรุ่นใหม่ และแม้แต่ผู้ปกครองที่เข้าใจแนวทางคอมมิวนิสต์ ต่างก็ออกมาคัดค้านเป็นจำนวนมาก 

เพราะการออกแบบชุดนักเรียนซึ่งถอดแบบมาจากเครื่องแบบทหารแห่งกองทัพแดงที่มีมาตั้งแต่ปี 1932 นั้น เป็นแนวคิดที่แสนจะล้าหลังและควรถูกยกเลิกได้แล้ว

school uniform
เด็กนักเรียนในโรงเรียนประถมแห่งหนึ่งในเมืองเสฉวน ประเทศจีน
Photo: Fred DUFOUR / AFP

อีกทั้งแนวคิดที่บรรดาครูในโรงเรียนแห่งกองทัพแดงเน้นย้ำแก่ลูกศิษย์เสมอ มักเป็นประโยคในทำนองว่า “ขณะที่ประเทศอื่นทุกข์ทรมานจากสงคราม ผู้คนยากจนและหิวโหย เพราะฉะนั้น จงอย่าลืมความเสียสละที่ทหารในกองทัพแดงได้เสียสละเพื่อพวกเรา 

จึงไม่แปลกที่เด็กๆ ที่สวมชุดยุวชนทหารดาวแดง จะตอบเจื้อยแจ้วราวกับนกแก้วนกขุนทองเป็นเสียงเดียวกัน เมื่อต้องตอบคำถามว่า ทุกวันนี้ชีวิตเรามีความสุข แต่ความสุขนี้มาจากไหน ใครมอบให้แก่เรา 

ความสุขเหล่านี้มาจากเลือดเนื้อของนักปฏิวัติผู้สละชีวิตเพื่อชาติ จากทหารในกองทัพแดง!” 

หรือจะถึงเวลาสังคายนาชุดนักเรียนสีขาวบริสุทธิ์แห่งศรีลังกา

school uniform
นักเรียนหญิงมุสลิมจากเมืองกัลมุนัย ยืนเรียงแถวหน้ากระดานชมท่าเรือแห่งเมืองโคลอมโบ ตามโปรแกรมทัศนศึกษาเมืองหลวงของศรีลังกา
Photo: LAKRUWAN WANNIARACHCHI / AFP

เอกลักษณ์ของชุดนักเรียนศรีลังกาคือ เป็นสีขาวล้วนทั้งชุด ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนพุทธหรือมุสลิมที่ต่อให้ต้องสวมฮิญาบ ก็ยังคงเอกลักษณ์แห่งสีขาวบริสุทธิ์เอาไว้ตั้งแต่ศีรษะจรดปลายเท้า อาจจะแตกต่างตรงสีของโบว์หรือไทตามอัตลักษณ์ของแต่ละโรงเรียน 

เครื่องแบบนักเรียนของศรีลังกานั้นแทบไม่เปลี่ยนไปจากยุคดั้งเดิม เมื่อครั้งเจ้าอาณานิคมอย่างอังกฤษฝังรากลึกของวัฒนธรรมการสวมเครื่องแบบไว้ตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 19

school uniform
Photo: Ishara S.KODIKARA / AFP

ปัญหาเดียวของชุดสีขาว ก็คือ เปื้อนง่าย ดูแลรักษายาก ทำให้เมื่อปี 2017 นายอกิลา วิราช กริยาวสัม (Akila Viraj Kariyavasam) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการของศรีลังกา ประกาศว่าอาจจะต้องมีการออกแบบชุดนักเรียนใหม่ โดยให้สิทธิแต่ละโรงเรียนเลือกสีของชุด จากจำนวนทั้งหมด 4-5 สี เพื่อความสะดวกในการทำความสะอาดชุดนักเรียน 

แต่จนแล้วจนรอด ชุดนักเรียนของเด็กศรีลังกาส่วนใหญ่ก็ยังไว้ซึ่งสีขาวบริสุทธิ์เหมือนเดิม 

ทูตวัฒนธรรมในคราบชุดนักเรียนผ้าพิมพ์สีคราม

school uniform
ชุดนักเรียนหญิงโรงเรียนราชกุมารี รัตนวตี เมืองจัยแซลแมร์ ประเทศอินเดีย
Photo: https://www.vogue.in/fashion/content/rajkumari-ratnavati-girls-school-jaisalmer-sabyasachi-mukherjee-school-uniforms

หนึ่งในของดีประจำรัฐราชสถาน ซึ่งเป็นรัฐขนาดใหญ่ทางตะวันตกของอินเดียที่รุ่มรวยด้วยวัฒนธรรมเก่าแก่ ก็คือ งานหัตถกรรมต่างๆ โดยเฉพาะผ้าพิมพ์และผ้ามัดย้อม ซึ่งเป็นภูมิปัญญาที่ตกทอดกันมารุ่นสู่รุ่นนานหลายร้อยปี 

โดยเฉพาะอัจรักห์ (Ajrakh) ผ้าพิมพ์จากบล็อกไม้และย้อมสีธรรมชาติ ซึ่งชาวบ้านท้องถิ่นนิยมใช้เป็นผ้าคาดเอวหรือผ้าคลุมไหล่ โดยกว่าจะได้อัจรักห์แต่ละผืนต้องผ่านกระบวนการตั้งแต่ 9 ไปจนถึง 21 ขั้นตอน ขึ้นอยู่กับเทคนิคการพิมพ์และย้อมผ้าของแต่ละหมู่บ้าน 

ในเมื่อมีวัตถุดิบท้องถิ่นอย่างผ้าที่นอกจากจะสวยแล้ว ยังเหมาะกับสภาพอากาศของทะเลทราย สไบซาชิ มุขราจี (Sabyasachi Mukherjee) ดีไซเนอร์ชาวอินเดีย จึงอาสาออกแบบชุดนักเรียนหญิงสวยๆ ให้เหมาะกับโรงเรียนที่โมเดิร์นที่สุดแห่งทะเลทรายธาร์อย่างโรงเรียนราชกุมารี รัตนวตี 

ชุดนักเรียนดังกล่าวเป็นเดรสผ้าครามอัจรักห์ แขนยาวสามส่วน ปลายแขนและชายกระโปรงเป็นลวดลายภาพพิมพ์เอกลักษณ์ประจำถิ่น สวมกางเกงขายาวสีแดงเลือดหมูไว้ด้านใน ตามแบบฉบับการแต่งกายของสตรีอินเดีย

school uniform
Photo: https://vinaypanjwani.smugmug.com/

เด็กนักเรียนหญิง 400 คนที่สวมชุดนักเรียนออกแบบโดยดีไซเนอร์มืออาชีพ จึงไม่ต่างอะไรกับพรีเซ็นเตอร์โปรโมตผ้าท้องถิ่นไปในตัว ซึ่งแต่ละชิ้นก็ถูกถักทอ ย้อมสี และพิมพ์ลวดลายโดยบรรดาแม่ ป้า ย่า ยาย ของพวกเธอนั่นเอง 

ชุดนักเรียนผ้าพิมพ์สีครามแห่งทะเลทรายจึงไม่ได้เป็นเพียงเครื่องแบบ แต่ทำหน้าที่ราวกับทูตวัฒนธรรม ที่กำลังกวักมือเรียกให้นักท่องเที่ยวอยากเดินทางไปทำความรู้จักของดีแห่งทะเลทรายธาร์ด้วยตนเอง 

ดีไซเนอร์ยังหวังอีกว่า ถ้าโรงเรียนทั่วประเทศอินเดียนำผ้าท้องถิ่นมาตัดเย็บเครื่องแบบนักเรียน จะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมที่เห็นผลเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน และส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนไปในตัว 

ชุดนักเรียนเพื่อสันติภาพแห่งซีเรีย

school uniform
เด็กนักเรียนชาวซีเรียในเครื่องแบบสีฟ้าสดใส
Photo: DELIL SOULEIMAN / AFP

แม้สถานการณ์สงครามกลางเมืองในประเทศซีเรียที่ดำเนินมานานกว่าสิบปียังไม่มีทีท่าจะสงบลงง่ายๆ แต่เยาวชนซีเรียก็ยังคงต้องไปโรงเรียนไม่ต่างจากเด็กๆ ในประเทศอื่น 

และแม้ตลอดทศวรรษที่ผ่านมา จะมีโรงเรียนกว่า 7,000 แห่ง ถูกทำลายจนพังพินาศด้วยไฟสงครามก็ตามที ครูและนักเรียนก็ยังคงต้องปฏิบัติหน้าที่ของตนอย่างแข็งขันต่อไป 

หนึ่งในสัญลักษณ์ที่สื่อถึงความหวังต่อสันติภาพในดินแดนแห่งนี้ ถูกสื่อผ่านสีสันบนเครื่องแบบนักเรียนมาตั้งแต่ปี 2003 

เดิมชุดนักเรียนของซีเรียมีสีกากีแบบเดียวกับทหาร แต่ปัจจุบัน สีฟ้าอ่อน สีเทา และสีชมพู กลายมาเป็นสีสันแห่งความหวังสู่สันติสุข บนเครื่องแบบไปโรงเรียนของเยาวชนในชาติ 

ชุดที่จุของได้ไม่อั้นของเด็กภูฏาน

school uniform
นักเรียนหญิงในชุดวอร์มกับนักเรียนชายในชุดประจำชาติภูฏานสวดมนต์ก่อนเริ่มเรียนหนังสือ
Photo: ROBERTO SCHMIDT / AFP

ภูฏานเป็นหนึ่งในประเทศที่ชาวโลกต้องยกนิ้วให้ในการอนุรักษ์อัตลักษณ์ประจำชาติไม่ให้ถูกลัทธิบริโภคนิยมกลืนกิน เห็นได้ชัดเจนที่สุดจากการแต่งกายที่ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ต่างก็นิยมสวมชุดพื้นเมืองในชีวิตประจำวัน 

ดังนั้น แม้ชุดนักเรียนของเด็กๆ ชาวภูฏานจะมีสีสันแตกต่างกันออกไป แต่รูปแบบจะคล้ายกันหมด นั่นคือ เด็กผู้ชายสวมโกห์ (gho) และเด็กผู้หญิงใส่ชุด คีรา (kira) ที่มีลักษณะคล้ายกันคือ เป็นชุดคลุมแบบป้ายนำมาทบกันด้านหน้าแล้วคาดเชือกผูกเอว 

นอกจากจะเป็นเครื่องแบบที่สื่อถึงความเป็นชาติได้ดีที่สุดแล้ว ช่องด้านหน้ายังมีฟังก์ชันใช้งานแทนกระเป๋านักเรียนได้ดี เด็กภูฏานส่วนใหญ่จึงนิยมสอดสมุดและหนังสือเรียนไว้ในเสื้อด้านหน้า และใส่ข้าวของอื่นๆ ไว้ในกระเป๋า ทำให้ไม่ต้องแบกกระเป๋าใส่หนังสือจนหลังแอ่นเหมือนเด็กนักเรียนในบางประเทศ

school uniform
Photo: Mark Dozier/ Shutterstock

ทั้งนี้ ประชากรเกือบครึ่งในประเทศภูฏานมีอายุต่ำกว่า 25 ปี จึงกล่าวได้ว่าที่นี่คือดินแดนแห่งคนหนุ่มสาว ซึ่งสามารถเข้าถึงการศึกษาอย่างเท่าเทียม ทำให้ประชากรมีภาวะการอ่านออกเขียนได้ในอัตราสูง 

อนาคตของประเทศที่ส่งออก ความสุข แทนสินค้าหลักแห่งนี้ จึงน่าจับตามองอย่างยิ่ง 

อ้างอิง