โลกทั้งโลกถูกย้ายเข้าไปในสมาร์ทโฟนและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อย่างเต็มรูปแบบ ยิ่งไปกว่านั้นเรากำลังก้าวเข้าสู่โลกของเมตาเวิร์ส ไม่ใช่เรื่องแปลกที่มนุษย์จะมีโทรศัพท์เป็นอวัยวะที่ 33
แต่เมื่อต้องละจากหน้าจอ หลายคนพบว่าตัวเองกำลัง ‘เสพติดสมาร์ทโฟน’
เราอาจพบว่า TikTok คือแอปก่อนนอนที่ทำให้ไม่ได้นอน เพราะดูเพลินเกินห้ามใจจนรู้ตัวอีกทีก็ตี 4 เข้าไปแล้ว ละสายตาจากหน้าจอไม่ได้ และท้ายที่สุดเมื่อจำเป็นต้องใช้ชีวิตแบบออฟไลน์ จึงเกิดอาการ ‘เสพติด’ หากจะกล่าวว่าเสพติดสมาร์ทโฟนคงไม่ถูกต้องเท่าไหร่นัก เพราะผู้คนเสพติดสิ่งที่อยู่ในหน้าจอเล็กๆ นั่นเสียมากกว่า
โนโมโฟเบีย (Nomophobia) เป็นชื่อเรียกอาการเสพติดสมาร์ทโฟน ไม่ใช่โรคอย่างเป็นทางการ แต่เป็นเพียงกลุ่มอาการที่ทำให้พฤติกรรมของคนคนหนึ่งเปลี่ยนไป แม้ไม่ได้ทำให้เสียสติเหมือนเสพยา แต่อาการนี้จะค่อยๆ บั่นทอนสุขภาพและส่งผลกับร่างกายอย่างเห็นได้ชัดในท้ายที่สุด
เอ็มมา ยูน (Emma Yoon) (นามสมมุติ) นักเรียนหญิงชาวเกาหลีวัย 19 ปี พบว่าเธอรู้สึกใจสั่น มือสั่นจนเหงื่อออก เมื่อรู้ว่ามือถือไม่ได้อยู่กับตัว ราวกับว่าความสามารถในการทำสิ่งต่างๆ จะลดลงจนเกิดเป็นความกลัวว่าจะใช้ชีวิตไม่ได้หากไร้มือถือ ยิ่งไปกว่านั้น แม่ของเอ็มม่ายังเผยว่าเธอเริ่มไม่ทำกิจกรรมกับเพื่อนๆ และปลีกวิเวก
หลายคนเล่นแล้วหยุดได้ก็ดีไป แต่มีผู้คนมากมายที่เผชิญกับอาการเสพติดที่ว่าจนส่งผลกับชีวิตประจำวัน นั่นทำให้มีบริการมากมายที่ออกแบบมาสำหรับบำบัดผู้ที่มีอาการเสพติดสมาร์ทโฟน
ธุรกิจประเภทนี้เริ่มบูมตั้งแต่ปี 2018 ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดกว่า 10 แห่ง ในย่านซิลิคอนวัลเลย์ รัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งเป็นที่ตั้งของบริษัทสมาร์ทโฟนยักษ์ใหญ่มากมาย
หนึ่งในบริการบำบัดอาการติดสมาร์ทโฟนในย่านนั้น คือ พาราไดม์ (Paradigm) คลินิกหรูที่ตั้งอยู่บนภูเขา ออกแบบมาเพื่อบำบัดคนติดมือถือโดยเฉพาะ ในบ้านออกแบบอย่างหรูหรา ราวกับรีสอร์ทดีๆ พักผ่อนได้เต็มที่ แต่มีกฎเหล็กว่า ‘ห้ามใช้มือถือ’ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทุกชนิด
ตลอด 45 วันของการบำบัด (หรืออาจมากว่านั้นขึ้นอยู่กับอาการ) ผู้เข้ารับการบำบัดห้ามใช้สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต แล็บท็อป ห้ามเช็คโซเชียลมีเดียเพื่อความเพลิดเพลิน จะใช้อินเทอร์เน็ตได้แค่ในการศึกษาเท่านั้น โดยเป้าหมายของการมาอยู่ที่นี่ ไม่ได้ให้เลิกใช้สมาร์ทโฟน แต่เป็นการฝึกสร้างนิสัยใหม่ๆ ให้ใช้สมาร์ทโฟนแบบพอดี
นอกจากในซิลิคอนวัลเลย์แล้ว ธุรกิจเกี่ยวกับการ ลด ละ เลิก จ้องจอสมาร์ทโฟนยังบูมในประเทศจีนเช่นเดียวกัน
หลิว หยาง (Liu Yang) ชาวจีนวัย 36 ปี เชื่อว่าตอนนี้แอพต่างๆ บนสมาร์ทโฟน พยายามดึงเราให้ติดอยู่กับหน้าจอจนยากจะแกะออก เขาจึงออกแบบ ชิกวงบ็อกซ์ (Shiguang Box) หรือ ‘กล่องห่างมือถือ’ ที่จะทำให้เราห่างจากจอมือถือได้สักพัก
กล่องใบนี้ทำงานง่ายๆ เพียง 4 ขั้นตอนคือ เปิดกล่อง เอามือถือใส่ข้างใน ปิด และตั้งเวลาเอาไว้ จะเอาออกมาได้ก็ต่อเมื่อถึงเวลาที่กำหนดแล้วเท่านั้น
ยังไม่มีงานวิจัยรองรับว่า ในระยะยาวกล่องใบนี้จะสามารถช่วยให้เลิกนิสัยติดจอได้ไหม แต่ทว่ากล่องนี้ได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม มียอดขายบนเว็บ Taobao มากถึง 2,000 กล่องในแต่ละเดือน โดยลูกค้ามีหลายช่วงวัย ตั้งแต่นักเรียนที่พยายามใช้สมาธิกับการอ่านหนังสือสอบไปจนถึงคนวัยทำงาน
นอกจากอุปกรณ์เหล่านี้แล้ว ปัจจุบันการให้บริการในคลินิกรักษาก็เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน ในสหราชอาณาจักร มีคลินิกเพิ่มขึ้นเป็น 50 แห่ง ตั้งแต่ปี 2017 ถึง 2020
โดยวิธีการบำบัดทำได้หลายวิธี เช่น Dialectical Behavior Therapy (DBT) เป็นจิตบำบัดที่ออกแบบเพื่อช่วยให้เปลี่ยนรูปแบบพฤติกรรมที่ไร้ประโยชน์ เช่น การทำร้ายตัวเอง การคิดถึงการฆ่าตัวตาย และการติดสารเสพติด วิธีนี้ช่วยให้ควบคุมอารมณ์และความคิดของตนได้มากขึ้น
Cognitive Behavioral Therapy (CBT) การทำจิตบำบัดด้วยการปรับความคิดและพฤติกรรม รวมถึงการบำบัดแบบ Inpatient treatment คือการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลเพื่อให้แพทย์วางแผนการรักษาตามอาการ
ย้อนกลับไปเมื่อ 4 ปีที่แล้ว ตอนที่บริษัทบำบัดอาการเสพติดสมาร์ทโฟนอย่างพาราไดม์ถือกำเนิดขึ้น คงคงไม่น่าแปลกใจเท่าไหร่นักที่ผู้คนจะอยากห่างจากมือถือ แต่หลังจากที่โควิด-19 มาเยือนแล้วทำให้เราโยกย้ายเข้าไปยังโลกออนไลน์มากขึ้น เส้นแบ่งระหว่าง ‘เสพติด’ กับ ‘จำเป็น’ ค่อยๆ บางลงอย่างเห็นได้ชัด เพราะใครๆ ก็จำเป็นต้องจ้องหน้าจอ แม้พยายามจะห่างแค่ไหนก็ตาม
สำหรับใครที่ลองสำรวจตัวเองดูแล้วพบว่าเอนเอียงไปทางเสพติดมากกว่าจำเป็นต้องใช้ เราขอชวนมาลองลด ละ เลิกโดยใช้วิธีโซเชียลดีท็อกซ์แบบง่ายๆ ด้วยตัวเองก่อน ก็ได้ผลเหมือนกัน (ดูวิธีโซเชียลดีท็อกซ์ได้ในบทความ : https://becommon.co/life/digital-detox/)
แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่มือถือกระทบกับการใช้ชีวิตประจำวันมากเกินไป การพบผู้เชี่ยวชาญคงเป็นทางออกที่ดีที่สุด และคงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร ในวันที่ในคลินิกมีการบำบัดผู้เสพติดมือถือมากกมายเช่นในวันนี้
อ้างอิง
- Matt Glowiak. Social Media Addiction: Signs, Symptoms & Treatments. https://bit.ly/3kJlj8X
- Yingjie Wang. ‘It’s an illness’: China sees boom in businesses offering to end smartphone addiction. https://bit.ly/3yz2BZV
- เรกาโด เซงฮา. พักคืนละ 5 หมื่น คลินิกหรูบำบัด “ติดโซเชียล”. https://bbc.in/3kJ7OpG