w©rld

“เมื่อคุณตาย คุณจะไม่ได้เห็นแสงอัสดงอีก” ฮายาโอะ มิยาซากิ (Hayao Miyazaki) ผู้ก่อตั้งสตูดิโออนิเมชันชื่อดังอย่าง จิบลิ (Ghibli) เคยกล่าวไว้แบบนั้น

ชีวิตอาจเป็นสิ่งน่าเบื่อหน่าย เมื่อบางอย่างไม่เป็นดั่งใจ ท้อแท้หมดหวังไร้พลังงานจะไปต่อ เมื่อเจอกับอุปสรรคนานัปการที่ถาโถมเข้ามา โดยเฉพาะในรอบปีที่ผ่านมา หรืออาจยาวนานไปอีกนับเป็นปีๆ กับสถานการณ์ของโรคระบาดโควิด-19 ที่ทำให้หลายชีวิตหมองเศร้าหมดแรง

“เมื่อคุณตาย คุณจะไม่ได้เห็นแสงอัสดงอีก” แต่นั่นล่ะ แค่เหตุผลง่ายๆ เพียงอยากตื่นเช้ามาเห็นพระอาทิตย์ขึ้น หรือปล่อยให้ลมหายใจผ่านพ้นห้วงยามอันหนักอึ้งของกลางวัน เพื่อจะได้เฝ้ามองอาทิตย์อัสดงยามเย็นย่ำ ก่อนจะตื่นเช้าขึ้นมาอีกวัน หิวแสงกันอีกสักครั้ง ใช้ชีวิตไปวันต่อวันเพื่อเห็นแสงกันอีกสักรอบ ก็อาจเพียงพอแล้วสำหรับการมีชีวิตอยู่

เราอาศัยอยู่ในระบบสุริยะจักรวาล รับพลังงานและหมุนวนไปตามความอัศจรรย์ของแสงอาทิตย์ ไม่ว่าจะอยู่มุมไหนของโลก กำลังเผชิญความยากลำบากแบบใด เงยหน้ามองฟ้า เราก็ต่างมีพระอาทิตย์ดวงเดียวกัน ดังนั้นในตอนที่ยังเดินทางไปไหนไกลๆ ไม่ได้ becommon ขออาสา พาไปชมแสงอาทิตย์จากทั่วโลกแบบ Virtual Travel ผ่านภาพแบบ 360 องศา บน Google Street View ด้วยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าแสงสวยสดเหล่านั้น จะช่วยส่งพลังงาน ให้คุณมีแรงลุกขึ้นมา ใช้ชีวิตเพื่อจะได้เฝ้ามองดวงอาทิตย์ที่มีสีสันแตกต่างกันออกไปในแต่ละวัน

มองบลังค์

ภาพแสงอาทิตย์ที่ตกกระทบผนังน้ำแข็งของยอดเขามองบลังค์ (Mont Blanc) ในเทือกเขาแอลป์ช่างงดงาม นี่คือภูเขาที่สูงที่สุดในยุโรปตะวันตก ที่ระดับ 15,771 ฟุตเหนือน้ำทะเล และไม่ใช่เรื่องง่ายที่เราจะไปเฝ้ามองพระอาทิตย์บนนั้นได้ เพราะมองบลังค์คือหนึ่งในยอดเขาซึ่งมีเส้นทางอันตรายที่สุด พายุและหิมะถล่มเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ยังไม่นับความทรหดของสภาพอากาศอันย่ำแย่ ที่ถ้าไม่ผ่านการฝึกฝนมาเป็นอย่างดี และมีร่างกายแข็งแรงพอ เราคงไม่มีวันพาตัวเองไปเยือนที่แห่งนั้นได้ในชีวิตนี้


ชมแสงอาทิตย์บนมองบลังค์ผ่าน Google Street View ได้ที่ https://goo.gl/maps/xtowguTLE6XPN2by9

 

เกาะวิลสัน

เกาะวิลสัน (Wilson Island) คือสถานที่อันงดงามในเกรตแบร์ริเออร์รีฟ (Great Barrier Reef) แนวหินปะการังที่ยาวที่สุดในโลก (กว่า 2,000 กิโลเมตร) ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศออสเตรเลีย ซึ่งเป็นจุดหมายที่นักดำน้ำทั่วโลกต่างใฝ่ฝัน

ภาพถ่ายของพระอาทิตย์อัสดงอันตระการตาภาพนี้ ถูกถายโดยช่างภาพกลุ่ม UNDERWATER EARTH องค์กรไม่แสวงผลกำไรที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2010 โดยเหล่าอดีตนักโฆษณาผู้คลั่งไคล้ความงามใต้ผืนน้ำ และต้องการเผยแพร่มันผ่านเรื่องเล่าและภาพถ่ายอันงดงามให้โลกได้เห็นโดยใช้เทคโนโลยีมาช่วย


ชมแสงอาทิตย์ที่เกาะวิลสันผ่าน Google Street View ได้ที่ https://goo.gl/maps/suyLDuiZMptrko1u9

 

แหลมรอยด์ส

ฝูงเพนกวินอาเดลีกำลังเฝ้ามองพระอาทิตย์บนแหลมรอยด์ส (Cape Royds) ซึ่งตั้งอยู่บนทวีปแอนตาร์กติกา สถานที่ซึ่งเดินทางไปด้วยตัวเองได้อย่างลำบากอีกแห่งหนึ่ง แถมมันยังถูกปกป้องและสงวนไว้เพื่อเป็นพื้นที่ผสมพันธุ์ของเหล่าฝูงเพนกวินที่เราไม่ควรย่ำกรายเข้าไปวุ่นวายความเป็นส่วนตัวของพวกมัน

ชมแสงอาทิตย์ที่แหลมรอยด์สผ่าน Google Street View ได้ที่ https://goo.gl/maps/VwJxTtWfcP63YZPu5

 

แหลมโทอิ 

ภาพพระอาทิตย์สวยๆ ที่แหลมโทอิ (Cape Toi) ในเมืองคุชิมะ จังหวัดมิยะซะกิ ซึ่งตั้งอยู่ตอนใต้ของเกาะคิวชู ประเทศญี่ปุ่นภาพนี้ เป็นฝีมือการถ่ายของผู้ที่ใช้ชื่อว่า Norio Sakiyama

บนที่แห่งนั้นหากมีโอกาสขึ้นไป จะมีจุดชมวิวที่สามารถนั่งลงมองทั้งผืนฟ้ากว้างใหญ่และทะเลไพศาลไร้ที่สิ้นสุด แถมอาจมีโอกาสได้เจอกับฝูงม้าป่าพื้นเมืองอย่างม้ามิซากิ ที่มักออกมาเล็มหญ้ารอบบริเวณอยู่เนืองๆ

ชมแสงอาทิตย์บนแหลมโทอิผ่าน Google Street View ได้ที่ https://goo.gl/maps/bQXo4A5n93eekXVP8

 

อาโกรุญญา

อาโกรุญญา (A Coruña) เป็นเมืองท่าสำคัญของแคว้นปกครองตนเองกาลิเซียทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศสเปน และมีชื่อเสียงอย่างมากจากจุดเช็กอินสำคัญนั่นคือประภาคารจากยุคโรมันที่ชื่อ หอยคอยเฮอร์คิวลิส (Tower of Hercules) ทว่าแสงอาทิตย์ที่ตกกระทบ ณ ดินแดนอันเป็นที่ตั้งของประภาคารแห่งนั้นก็งดงามอย่างยิ่งไม่แพ้กัน


ชมแสงอาทิตย์ในอาโกรุญญาผ่าน Google Street View ได้ที่ https://goo.gl/maps/AV7ZreEf3AGJyQ11A

 

เกาะซาน แอนเดรส

ภาพวานิลลาสกายภาพนี้ ถูกถ่ายขึ้นนอกชายฝั่งของเกาะซาน แอนเดรส (San Andrés) ในประเทศโคลอมเบีย บนผืนน้ำกว้างใหญ่ของทะเลทะเลแคริบเบียน (Caribbean Sea) ที่มีชื่อเสียงในเรื่องของปะการังอันงดงาม และเพลงเรกเก้ โดย Air Photo Colombia บริษัทผู้เชี่ยวชาญด้านกล้องและการถ่ายภาพในโคลอมเบีย จึงไม่น่าแปลกใจ ที่ภาพที่ท่านได้เห็นจะงดงามอย่างมืออาชีพเช่นนี้


ชมแสงอาทิตย์นอกชายฝั่งของเกาะซาน แอนเดรสได้ที่  https://goo.gl/maps/EBn6JLtSmRouZpPJ6