w©rld

“การศึกษาไม่ควรจะเป็นเสื้อไซส์เดียวที่ใส่ได้สำหรับทุกคน”

เลนี ลิเบอร์ตี (Lainie Liberti) ประสบภาวะกังวลอย่างหนักเกี่ยวกับธุรกิจของเธอ เมื่อรัฐแคลิฟอร์เนียที่เธออาศัยอยู่กำลังเผชิญภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในปี 2008 แต่ที่เธอกังวลไปมากกว่านั้นคือชีวิตของลูกวัย 9 ขวบ “แม่ไม่เคยมีเวลาให้ผมเลย แม่เอาแต่ทำงาน” ลูกชายของเธอ มิโร ซีเกล (Miro Siegel) บอกเธอเช่นนั้น

เลนีไม่อยากให้ลูกต้องมาเครียดกับสิ่งที่ตัวเองกำลังเจอนี้ไปด้วยกัน คิดได้ดังนั้น เธอจึงตัดสินใจปิดกิจการของตน ขายทรัพย์สมบัติทุกอย่างทิ้ง และออกเดินทางไปบนท้องถนนอย่างถาวรกลางปี 2009 เริ่มต้นจากสหรัฐฯ สู่เม็กซิโก และมากกว่า 40 ประเทศทั่วโลกในระยะเวลา 12 ปี

นี่ไม่ใช่พล็อตหนัง แต่การเดินทางของสองแม่ลูกคู่นี้ คือจุดเริ่มต้นสำคัญส่วนหนึ่ง จากหลายๆ ครอบครัวในช่วงระยะเวลาไล่เลี่ยกัน ที่ก่อกำเนิดเป็นความเคลื่อนไหวของการศึกษาทางเลือกที่ถูกเรียกว่า Worldschooling แนวคิดซึ่งได้เปลี่ยนโลกทั้งใบให้กลายมาเป็นห้องเรียนที่ไม่จำเป็นต้องเข้าคลาส เคารพธงชาติ หรือเช็กชื่อ

เลนี ลิเบอร์ตี และ มิโร ซีเกล / Photo: tedxamsterdamed.nl

“โลกคือโรงเรียนที่ไม่มีวันสิ้นสุดของเรา

ดาวดวงนี้คือบ้าน

การเดินทางคือความปรารถนา

การเรียนรู้คือภารกิจ

การค้นพบคือของขวัญ

เราคือนักเรียนรู้ของโลก”

ข้อความนี้ปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ raisingmiro.com ของ เลนี และ มิโร ผู้ที่เติบโตจากเด็ก 9 ขวบคนนั้นจนปัจจุบันมีอายุ 21 ปี และกำลังขะมักเขม้นกับการสร้างพื้นที่ในการแบ่งปันและทำให้ชุมชนของ Worldschooling เติบโตอย่างมั่นคงและแข็งแรง

อาจดูเป็นเรื่องเพ้อฝันสำหรับผู้คนที่ยังอาศัยอยู่ในสังคมที่เต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำ เอาแค่เฉพาะเรื่องสกุลเงินของประเทศยากจนที่อาจถูกทำให้มีค่าน้อยลงไปอีกเมื่อนำไปแลกเป็นสกุลเงินอื่น หรือกระทั่งเรื่องอภิสิทธิ์ในการข้ามพรมแดนสู่ประเทศต่างๆ ที่มาพร้อมเงื่อนไขของความยากง่ายจากอิทธิพลของพาสปอร์ตที่แตกต่างกันไป ก็น่าจะทำให้การเดินทางและพาลูกของตนไปปะทะสังสรรค์ เรียนรู้จากโลกและวัฒนธรรมอันหลากหลายเป็นไปได้ยาก

แต่ถ้าตัดเรื่องเงื่อนไขที่ไม่เท่าเทียมกันในชีวิตออกไปก่อน ขณะที่ทุกวันนี้ เราต่างพูดถึงเรื่องการเป็น ‘พลเมืองโลก’ (Globle citizen) ที่บอกว่าเราไม่ใช่คนของพื้นที่ใดที่หนึ่งเท่านั้น แต่ยังเป็นพลเมืองของโลกทั้งใบด้วยเช่นกัน มองมันอย่างฝันๆ การทำความเข้าใจการศึกษาทางเลือกอีกแนวทาง โดยเฉพาะแนวทางที่พาผู้เรียนออกนอกห้องเรียน และเรียนรู้เอาจากโลกที่พวกเขาได้พบเจอระหว่างการเดินทางนั้นก็ถือว่าน่าสนใจอยู่ไม่น้อย

“เราต้องเปลี่ยนบทสนทนาของเราจากการพูดเรื่อง ‘การศึกษา’ เป็นการพูดเรื่อง ‘การเรียนรู้’” มิโร ซีเกลพูดในเวที TEDxAmsterdamED เมื่อเขาอายุ 16 ปี “ในทุกๆ การผจญภัย ในทุกๆ ที่ที่เราไป มันคือประสบการณ์ใหม่ เรามีโอกาสจะเรียนรู้จากทุกสิ่ง สำหรับเราการเรียนรู้จึงเป็นเรื่องของการลงมือทำ (active) มากว่าการเป็นผู้รอรับ (passvie)” เลนี ลิเบอร์ตีผู้เป็นแม่เสริม

มิโร ซีเกลเล่าว่าเขาเริ่มต้นเรียนภาษาสเปนจากการเตะฟุตบอลข้างถนนกับเด็กๆ ที่พูดสเปนได้ ซึ่งนั่นแตกต่างจากการเรียนรู้ภาษาสเปนที่มีหลักสูตรตายตัวในห้องเรียนอย่างสิ้นเชิง 

ด้วยการเรียนรู้แบบ Worldschooling ที่มอบโอกาสในการซึมซับวัฒนธรรมอันหลากหลายนี้เอง ที่ทำให้มิโรในวัย 16 ปี มีเรื่องราวมากมายสั่งสมอัดแน่นอยู่ภายใน จนเกิดเป็นความอินและลงมือเริ่มเขียนรวมเรื่องสั้นเป็นตัวเอง 

นอกจากนั้น เขายังสนใจเรื่องพฤกษศาสตร์ที่คงไม่มีโรงเรียนไหนสอน สืบค้นเรื่องราวเทวตำนานจากประเทศต่างๆ โดยไม่ต้องรอให้มันถูกกำหนดเป็น ‘หนังสืออ่านนอกเวลา’ เพื่อนำมาสอบวัดคะแนนกับใคร

แม้จะยอมรับว่าไม่เคยรู้จักคำว่า Unschooling ที่มาจากนักการศึกษาอย่าง จอห์น โฮลต์ (John Holt) ตั้งแต่ทศวรรษที่ 1970 มาก่อน แต่เลนี ลิเบอร์ตีก็บอกว่าวิธีการที่เธอและหลายครอบครัวใช้กับ Worldschooling ตั้งต้นด้วยแนวคิดในทำนองเดียวกัน 

Unschooling ถูกอธิบายว่าคือ การอนุญาตให้เด็กๆ มีอิสระในการเรียนรู้เกี่ยวกับโลกตราบเท่ามีพ่อแม่ของพวกเขาจะแบกรับได้อย่างไม่เดือดร้อนมากนัก มันคือกระบวนการเรียนรู้ผ่านชีวิต โดยปราศจากแบบแผนและระบบที่ก่อขึ้นมาจากห้องเรียนและโรงเรียน

จอห์น โฮลต์

ทั้ง Unschooling, Worldschooling, หรือ Homeschooling ที่ผู้คนคุ้นเคยกันดี จึงมาจากฐานรากเดียวกัน นั่นคือการมอบการศึกษาจากโลกแห่งความจริง จากประสบการณ์ สถานที่ และผู้คน จะต่างกันแค่ Worldschooling อาจมุ่งเน้นไปที่การเรียนรู้ที่เกิดระหว่าง ‘การเดินทาง’ ผ่านพื้นที่ วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ ปรัชญา ฯลฯ ที่มีความแตกต่าง เพื่อทำให้เด็กๆ ก่อสร้างมุมมองการมองโลกที่กว้างขึ้น โดยหวังว่าการเห็นตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของโลกใบใหญ่ จะนำมาซึ่งการกระทำที่ส่งผลดีต่อโลกที่พวกเขาอาศัยอยู่ในอนาคต

อลิสัน (Alyson) บล็อกเกอร์และนักเขียนแนวท่องเที่ยว ผู้เริ่มใช้ Worldschooling กับลูกๆ ของเธอในปี 2012 โดยปัจจุบันเธอเดินทางและทำให้โลกเป็นห้องเรียนแห่งการเรียนรู้ขนาดใหญ่ของลูกๆ มาแล้วมากกว่า 50 ประเทศบอกว่า “Worldschooling เอาครู ห้องเรียน โรงเรียน และหลักสูตรต่างๆ ออกไป มันเปิดประตูของโอกาสและความไปได้มากมาย มันมอบเสรีภาพในการศึกษาและชีวิต”

อย่างไรก็ตาม รูปแบบของ Worldschooling นั้นย่อมแตกต่างออกไปตามปัจจัยที่หลากหลายของทั้งเด็กและผู้ปกครอง ผ่านกระบวนการออกแบบร่วมกัน มีพ่อแม่เป็นผู้อำนวยความสะดวก และใช้ความสนใจของเด็กเป็นสารตั้งต้นในการกำหนดหัวข้อ Worldschooling จึงมอบความเชื่อใจให้แก่เด็กๆ เพื่อจะได้เรียนรู้ในเรื่องที่พวกเขาสงสัยใคร่รู้จริงๆ ในกรอบระยะเวลาการเรียนรู้ที่แตกต่างออกไปตามธรรมชาติและความสามารถของเด็กแต่ละคน

อลิสัน และครอบครัว / photo: worldtravelfamily.com

“การศึกษาไม่ควรจะเป็นเสื้อไซส์เดียวที่ใส่ได้สำหรับทุกคน”

อลิสันเขียนไว้ในบล็อกของเธอ

 ทว่าเธอก็ไม่ได้คิดว่า Worldschooling คือการหันหลังให้กับระบบการศึกษาไปเสียทั้งหมด

“สัปดาห์นี้พวกเราไม่ได้เดินทาง เรานั่งนิ่งอยู่ในโรมาเนียเฝ้ามองหิมะของฤดูหนาว ดังนั้นนอกจากการเรียนรู้เรื่องวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของยุโรป, การทำเกษตรกรรมเพื่อยังชีพ, สภาพอากาศ, อุตุนิยมวิทยา, เรียนการเล่นสกี, เรียนการตัดฝืนก่อไฟ และการบวกลบตัวเลข พวกเรายังเปิดหนังสือ ดูเรื่องราวของธารน้ำแข็ง เพื่อหาข้อมูลเพิ่มเติมในการเดินทางไปสก็อตแลนด์ เหล่านี้บางส่วนมาจากความรู้ในหัวของแม่ อีกส่วนมาจากยูทูบ และอีกส่วนมาจากหลักสูตร GCSE (General Certificates of Secondary Education การสอบที่นักเรียนชั้นมัธยมต้นของสหราชอาณาจักรต้องสอบเพื่อจบการศึกษา)”

ปัจจุบันการเรียนรู้แบบ Worldschooling ได้รับการยอมรับกว้างขวาง มีกระทรวงศึกษาธิการจากหลากหลายประเทศให้การรับรองเป็นทางการ กลายเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับพ่อแม่ผู้มีความพร้อม และปรารถนาจะใช้ชีวิตแบบ nomad เคลื่อนย้ายตัวเองไปเรื่อยๆ เพื่อทำงานและเลี้ยงลูกจากทั่วทุกมุมโลก โดยไม่ต้องกังวลว่าลูกๆ ของตนจะขาดโอกาสทางการศึกษาที่ต่อเนื่อง

มีการคาดการณ์ว่าการเรียนรู้แบบ Worldschooling จะเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดดหลังวิกฤติโรคระบาดคลี่คลาย ด้วยพ่อแม่เห็นความไปได้ใหม่ๆ ของการทำงานทางไกลของตัวเอง และการเรียนแบบทางเลือกนี้ก็ดูจะตอบโจทย์พ่อแม่ยุคใหม่หลายคน เมื่อไม่ใช่แค่ตัวเด็กเท่านั้นที่จะได้เรียนรู้จาก Worldschooling แต่พ่อแม่ก็จะได้เรียนรู้จากการเดินทางไปพร้อมๆ กัน 

เพราะโลกไม่ควรถูกกักขังอยู่แค่ในรั้วโรงเรียน แต่โลกทั้งใบคือโรงเรียนอันกว้างใหญ่ไร้ที่สิ้นสุดของเรา 

 

อ้างอิง