w©rld

ภูเขาไฟฟูจิ คือหนึ่งในสัญลักษณ์ของประเทศญี่ปุ่น ที่ว่ากันว่าถ้าไปเที่ยวญี่ปุ่นแล้วไม่ไปดู ‘ฟูจิซัง’ ก็ดูเหมือนจะไปไม่ถึง

นอกจากเป็นภูเขาที่สวยงามและสูงที่สุดในญี่ปุ่น เรารู้อะไรเกี่ยวกับภูเขาไฟแห่งนี้บ้าง?

นี่คือคำถามที่ common ถามตัวเอง ในวันที่เราได้ไปเยือนฟูจิซัง

คำตอบคือไม่รู้อะไรมากกว่านี้แล้ว

เราจึงลองค้นข้อมูลของภูเขาไฟฟูจิ เรื่องราวของฟูจิมีมากมายเกินกว่าจะนำเสนอได้หมดในบทความเดียว

common จึงเลือกมาบางส่วน ที่เรามองว่าน่าสนใจ และอยากแบ่งปัน

ก่อนจะเป็นภูเขาศักดิ์สิทธิ์ ฟูจิเคยเป็นแลนด์มาร์กของเอโดะ

ย้อนไปราวๆ ค.ศ.600 – 700 ในช่วงที่นาราและเกียวโตคือเมืองหลวงของญี่ปุ่น

ในตอนนั้นญี่ปุ่นไม่มีสิ่งก่อสร้างที่แบ่งเขตแดนอย่างจีนหรือประเทศตะวันตก ที่มักจะมีกำแพงหรือประตูเมือง แต่จะใช้ภูเขาเป็นตัวแบ่งเขต

หลายคนที่ต้องเดินทางมาเอโดะ (หรือโตเกียวในปัจจุบัน) จะไม่รู้เลยว่าตัวเองเข้าเขตเอโดะหรือยัง

ต้องอาศัยภูเขาเป็นตัวสังเกต หากมาทางเหนือต้องเห็นภูเขาสึกุบะ แต่ถ้าเข้ามาทางตะวันตก (เส้นทางยอดนิยม) ต้องเห็นภูเขาไฟฟูจิ นั่นแหละ แสดงว่าคุณมาถึงเอโดะแล้ว

นอกจากจะเป็นแลนด์มาร์กบอกเขตแดนของเอโดะ ผลงานภาพพิมพ์แกะไม้ของ ‘คะสึชิกะ โฮะกุไซ’ ศิลปินชั้นครูในสมัยเอโดะ ยังแสดงให้เห็นถึงความผูกพันของชาวเอโดะกับภูเขาไฟฟูจิ ที่ปรากฎอยู่ในทุกกิจกรรม ทั้งเป็นส่วนหนึ่งของงานเทศกาล งานศิลปะ รวมถึงเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในเวลาเดียวกัน

ผลงานจิตรกรรมของ คะสึชิกะ โฮะกุไซ ที่วาดวิถีชีวิตของชาวเอโดะ กำลังช่วยกันเก็บหอย โดยมีฟูจิซังเป็นฉากหลัง (Osaka Municipal Museum of Art)
ผลงานจิตรกรรมของ คะสึชิกะ โฮะกุไซ ที่วาดวิถีชีวิตของชาวเอโดะ กำลังช่วยกันเก็บหอย โดยมีฟูจิซังเป็นฉากหลัง (Osaka Municipal Museum of Art)
ผลงานของ คะสึชิกะ โฮะกุไซ ที่ถ่ายทอดกิจกรรมชมฟูจิ ที่สะพานนิฮอนบาชิสมัยเอโดะ
ผลงานของ คะสึชิกะ โฮะกุไซ ที่ถ่ายทอดกิจกรรมชมฟูจิ ที่สะพานนิฮอนบาชิสมัยเอโดะ (nippon.com)

‘ฟูจิโค’ (Fuji kō) คนกลุ่มแรกที่ทำทริปเทรคกิ้งฟูจิ  

ฟูจิกลายเป็นสัญลักษณ์ทางศาสนาและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หลังจากศตวรรษที่ 7 ที่มีพระของศาสนาชินโตเดินขึ้นภูเขาไฟฟูจิได้เป็นคนแรก และสร้างศาลเจ้าชินโตไว้บนนั้น

ทำให้ต่อมามีนักพรตเริ่มขึ้นไปอาศัยอยู่บนฟูจิ

เพราะเชื่อว่าเป็นที่ของเทพเจ้าและมีวิญญาณของบรรพบุรุษสถิตย์อยู่ เพื่อทำหน้าที่เป็นตัวเชื่อมระหว่างคนที่อยู่ด้านล่างและเทพเจ้าที่อยู่ด้านบน

ต่อมา กลุ่มทางศาสนาที่เรียกว่า ‘ฟูจิโค’ (Fuji kō) ในสมัยเอโดะ ได้ริเริ่มกิจกรรมการเดินขึ้นฟูจิ ในฐานะการออกกำลังกายทางศาสนา

สมาชิกของ ‘ฟูจิโค’ จะรวมตัวกันไปเทรคกิ้ง โดยเริ่มจากการเคารพศาลเจ้าบริเวณเชิงเขา เปลี่ยนเสื้อผ้าเป็นชุดคลุมสีขาว แล้วเดินขึ้นไปเป็นกลุ่มเพื่อสักการะศาลเจ้าชินโตที่อยู่ด้านบน

ก่อนจะแบ่งกลุ่ม กลุ่มละประมาณ 20-30 คน แยกย้ายกันเดินลงในเส้นทางที่ต่างกัน แล้วไปค้างคืน รวมถึงพักกินอาหารและเครื่องดื่ม ณ หมู่บ้านที่อยู่ด้านล่าง

ทริปเดินขึ้นฟูจิของ ‘ฟูจิโค’ (Fuji kō) ในสมัยเอโดะ
ทริปเดินขึ้นฟูจิของ ‘ฟูจิโค’ (Fuji kō) ในสมัยเอโดะ (nippon.com)

ทริปดังกล่าวจัดเป็นแพ็คเกจรวมอาหาร ที่พัก และไกด์นำทาง

ซึ่งเส้นทางที่กลุ่มฟูจิโคบุกเบิกไว้ ต่อมาได้กลายเป็นเส้นทางเทรคกิ้งภูเขาไฟฟูจิที่ใช้อยู่จนถึงปัจจุบัน

ผู้หญิงห้ามขึ้น

จากภูเขาที่มีสถานะเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และการเดินขึ้นฟูจิเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ทางศาสนาที่มีแต่ผู้ชายเหยียบย่างได้เท่านั้น 

สถานะของฟูจิก็เดินมาถึงจุดเปลี่ยนในปี 1872

เมื่อทางการญี่ปุ่นประกาศให้ทุกคนมีสิทธิ์เท่าเทียมกันในการเดินขึ้นฟูจิ ไม่เพียงแต่ผู้หญิงเท่านั้น แต่ยังรวมถึงชาวต่างชาติที่ได้รับอนุญาตให้ปีนภูเขา

ตอนนั้นกลุ่มเคร่งครัดศาสนาไม่พอใจ และออกมาต่อต้าน

จนกระทั่งกลางศตวรรษที่ 19 จึงเป็นที่ยอมรับกันได้ว่า ฟูจิไม่ใช่สิ่งต้องห้ามแล้ว แต่เป็นแหล่งท่องเที่ยวและรายได้ที่มั่นคงสำหรับประชาชนชาวญี่ปุ่น

ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ฟูจิก็กลายเป็นแลนด์มาร์ก ที่ญี่ปุ่นใช้เพื่อโปรโมทการท่องเที่ยว

และสร้างรายได้ให้กับประเทศอย่างมหาศาลจนถึงปัจจุบัน

ยอดเขาฟูจิ ไม่ได้เป็นของจังหวัดใด เพราะเป็นพื้นที่ของเทพเจ้า

เป็นที่ทราบกันดีว่า ภูเขาไฟฟูจิมีขนาดใหญ่มาก ครอบคลุมพื้นที่ 2 จังหวัดคือ ชิซุโอกะ และ ยามานาชิ โดยมีเส้นแบ่งของทั้ง 2 จังหวัดลากผ่ากลางยอดเขาพอดี

คำถามคือ แล้วยอดภูเขาไฟฟูจิอันสวยงามนั้นอยู่ในพื้นที่จังหวัดใด

ประเด็นนี้เป็นที่ถกเถียงกันมานาน กระทั่งปี 1974 ศาลต้องเข้ามาพิจารณาตัดสิน

ซึ่งคำตัดสินนั้นเรียกว่า งง แต่จบด้วยดี ไม่มีใครกล้าเถียง

เพราะศาลตัดสินให้พื้นที่สูงเกินกว่า 400 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล เป็นพื้นที่ของเทพเจ้า ไม่สามารถมีใครเป็นเจ้าของได้

สรุป ไม่มีจังหวัดใดเป็นเจ้าของยอดเขา เพราะยอดเขาฟูจิเป็นของเทพเจ้า จบ!

เกือบจะมีเคเบิ้ลขึ้นภูเขาไฟฟูจิ

หลังจากภูเขาไฟฟูจิกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเต็มรูปแบบ รัฐบาลก็พยายามคิดหาวิธีให้คนได้มาสัมผัสฟูจิกันอย่างกว้างขวางมากขึ้น

ช่วงปี 1960 ญี่ปุ่นเคยมีแผนจะสร้างอุโมงค์ทำเคเบิ้ลขึ้นฟูจิทางฝั่งตะวันตกเฉียงใต้ของภูเขา ซึ่งจะสามารถพานักท่องเที่ยวสู่ยอดเขาได้ภายในเวลา 13 นาทีเท่านั้น แต่โครงการนี้ถูกคัดค้านโดยกลุ่มอนุรักษ์นิยมในญี่ปุ่น จนต้องยกเลิกไป

ในช่วงนั้นมีการออกสโลแกนรณรงค์ที่โด่งดังมากๆ คือ “To the summit of Mt. Fuji and back in heels”

ปีใหม่นี้ หากเลือกความฝันได้ คนญี่ปุ่นขอฝันเห็นฟูจิ

คนญี่ปุ่นมีความเชื่อเรื่องฝันแรกของปี เรียกว่า ‘ฮัตสึยูเมะ’ (初夢)

ถ้าคืนวันที่ 31 ธันวาคม ใครฝันเห็น “ภูเขาไฟฟูจิ นกเหยี่ยว หรือมะเขือม่วง” อย่างใดอย่างหนึ่งใน 3 สิ่งนี้ จะทำให้โชคดีตลอดทั้งปี

ทำไม?

สำหรับ “ฟูจิ” ออกเสียงพ้องกับ “บูจิ” (無事) ที่แปลว่า ปลอดภัย มีสุขภาพดี
เหยี่ยว ภาษาญี่ปุ่นคือ ทากะ (鷹) มีเสียงพ้องกับ “ทาไก้” (高い) ที่แปลว่า สูง เปรียบได้กับโชคลาภที่จะมีมากและสูงขึ้นเรื่อยๆ

มะเขือม่วง ภาษาญี่ปุ่นคือ นาซุ (茄子) มีเสียงพ้องกับ “นาซุ” (成す) ที่แปลว่า บรรลุผล  

ฉะนั้น หากใครไปเที่ยวญี่ปุ่นช่วงปีใหม่ แล้วฝันเห็นฟูจิ ปีนั้นคุณจะมีสุขภาพดีทั้งปีเลยทีเดียว

 

อ้างอิง :