w©rld

เดือนมิถุนายนของทุกปีคือเดือนแห่งความภาคภูมิใจของกลุ่มคนผู้มีความหลากหลายทางเพศ

แต่กว่าพวกเขาจะมีวันนี้ได้ต้องแลกมาด้วยการต่อสู้เพื่อทวงคืนความเป็นมนุษย์จากสังคมบิดเบี้ยวที่พยายามทำทุกวิถีทางเพื่อกดดันและผลักไสให้ทุกคนที่ไม่ใช่ชายจริงและหญิงแท้กลายเป็นส่วนเกินรอวันกำจัดทิ้งอย่างเงียบเชียบ

เบื้องหน้าของความสนุกสนาน รอยยิ้ม เสียงหัวเราะที่เคล้าคลอไปกับเสียงดนตรีในงานเดินขบวนเฉลิมฉลองเดือนแห่งความภาคภูมิใจของกลุ่มคนผู้มีความหลากหลายทางเพศ จึงเคลือบแฝงด้วยเบื้องหลังที่มีคราบน้ำตาและหยาดเหงื่อจากความเหน็ดเนื่อยต่อสู้เพื่อกำจัดอคติเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกันไปให้หมดสิ้น

Photo: Sam Yeh / AFP

ทั้งหมดนี้คือเรื่องราวความเป็นมาและข้อควรรู้พื้นฐานฉบับกระชับที่ becommon สรุปรวมไว้สำหรับทำความเข้าใจ Pride Month และสัญลักษณ์ที่เกี่ยวข้องกันอย่าง ธงรุ้ง และอักษรย่อ LGBTQIA+ เพื่อร่วมส่งต่อความภาคภูมิใจของกลุ่มคนผู้มีความหลากหลายทางเพศ และย้ำเตือนว่าพวกเขาต้องผ่านอะไรมาบ้างเพื่อให้ได้มาซึ่งความภาคภูมิใจ

 

เหตุจลาจลจากที่เปลี่ยนแปลงสังคมไปตลอดกาล

แต่ไหนแต่ไรมา คนรักเพศเดียวกันถูกสังคมเขี่ยให้กลายเป็นคนชายขอบที่ไม่มีใครต้องการและไม่ได้รับการยอมรับใดๆ แม้กระทั่งคนในครอบครัว หากรู้ว่าลูกหลานมีพฤติกรรมเบี่ยงเบนทางเพศ พวกเขาก็พร้อมขับไล่ไปให้พ้นจากหลังคาบ้านทันที

ขนาดกฎหมายที่ควรเป็นหลักยุติธรรมให้ทุกคนยึดเหนี่ยว ก็ยังเลือกปฏิบัติโดยเพ่งเล็งกลุ่มคนรักร่วมเพศมากเป็นพิเศษ และกำหนดข้อห้ามไว้ชัดเจนด้วยว่า การรักร่วมเพศเป็นเรื่องผิดกฎหมายและขัดต่อศีลธรรมอันดีงามของสังคม ส่วนการแพทย์ก็ตีตราหาว่าเป็นความผิดปกติทางจิต

Photo: Courtesy of CNN via https://edition.cnn.com/2019/06/28/us/1969-stonewall-riots-history/index.html

คนที่มีความหลากหลายทางเพศจึงต้องอยู่อย่างเจียมเนื้อเจียมตัว ไม่แสดงตัวตนโจ่งแจ้งในที่สาธารณะ ส่วนหนึ่งเลือกใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่ม หากต้องการพบปะสังสรรค์หรือทำกิจกรรมตามความสนใจก็จะนัดแนะและรวมตัวกันตามสถานที่อโคจรในเวลากลางคืน ซึ่งเปิดโอกาสให้พวกเขาเผยตัวตนได้อย่างสบายใจว่าจะไม่ถูกตัดสินว่าเป็นส่วนเกินหรือตัวประหลาดในสังคม เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาอื่นๆ ที่อาจตามมาได้

แต่แล้วก็เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้นในช่วงกลางดึกของวันที่ 28 มิถุนายน 1969 ตำรวจและเจ้าหน้าที่ด้านกฏหมายรวม 5 คน บุกจับกุมผู้ใช้บริการใน Stonewall Inn ซึ่งเป็นบาร์เกย์ย่านกรีนวิชวิลเลจของมหานครนิวยอร์ก โดยยัดข้อหาว่าบาร์ขายแอลกอฮอล์โดยไม่ได้รับอนุญาต และใช้กำลังทำร้ายคนที่อยู่ในร้าน นั่นคือฝางเส้นสุดท้ายที่ทำให้ทุกคนไม่ยอมตกเป็นเพียงผู้ถูกกระทำอีกต่อไป พวกเขาลุกขึ้นประท้วงและต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิของตัวเอง

Photo: Courtesy of New York Daily News archive via https://www.nationalgeographic.com/history/article/stonewall-uprising-ignited-modern-lgbtq-rights-movement

สถานการณ์บานปลายจนกลายเป็นเหตุจลาจล ซึ่งผลักดันให้กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศรวมตัวกันเดินขบวนในปีต่อมาที่มหานครนิวยอร์ก และหลายเมืองใหญ่ งาน Pride ครั้งแรกในประวัติศาสตร์จึงถือกำเนิดขึ้นนับตั้งแต่ปี 1970 เป็นต้นมา เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ความรุนแรงใน Stonewall Inn และการเรียกร้องสิทธิความเสมอภาคในสังคมให้ผู้มีความหลากหลายทางเพศ นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงมุมมองและการแก้ไขกฎหมายหวังกำจัดความเกลียดชังที่เกิดจากอคติเหยียดเพศ

ผู้คนรวมตัวกันเดินขบวนเพื่อเรียกร้องสิทธิให้เกย์และเลสเบี้ยน ที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา ในปี 1979
Photo: AFP

ผ่านไป 30 ปี บิล คลินตัน (Bill Clinton) ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาในขณะนั้นเห็นความสำคัญของเหตุจลาจลและการต่อสู้ของผู้มีความหลากหลายทางเพศ จึงประกาศให้เดือนมิถุนายนเป็น Gay & Lesbian Pride Month หรือ เดือนแห่งความภูมิใจของชาวเกย์และเลสเบี้ยน จากเคยถูกกีดกันจึงกลายเป็นการยอมรับอย่างให้เกียรติ ลบภาพความแตกต่างและความเป็นอื่นทิ้งไป เพราะทั้งหมดคือความปกติธรรมดาของชีวิต

9 ปีต่อมา บารัค โอบามา (Barack Obama) ประธานาธิบดีผิวสีคนแรกของสหรัฐอเมริกา ต้องการเพิ่มการตระหนักรู้ถึงเรื่องนี้อีกครั้ง จึงประกาศให้เดือนมิถุนายนเป็น Lesbian, Gay, Bisexual, and Transgender Pride Month หรือ เดือนแห่งความภูมิใจของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ เพื่อสนับสนุนให้ทุกคนเคารพกันและกันในฐานะมนุษย์เท่ากัน

Photo: Molly Riley / AFP

ตลอดเดือนมิถุนายนของทุกปี จึงเป็นช่วงเวลาสำคัญของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศทั่วโลกที่พวกเขาจะได้ประกาศความเป็นตัวเองผ่านกิจกรรมสร้างสรรค์ เพื่อส่งเสียงที่ภาคภูมิใจไปถึงทุกคนที่เชื่อว่ามนุษย์มีเกียรติและมีศักดิ์ศรีเสมอกัน

 

จากความหลากหลายรวมเป็นหนึ่งธงรุ้ง

รุ้งกินน้ำที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติหลังฝนหยุดตกและมีแดดออก ประกอบด้วยสีทั้ง 7 คือ ม่วง คราม น้ำเงิน เขียว เหลือง แสด และ แดง แต่ LGBT Pride Flag หรือ ธงรุ้ง ที่ใช้เป็นสัญลักษณ์ในขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมเพื่อรณรงค์และเรียกร้องสิทธิความเท่าเทียมกันของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศในปัจจุบัน ประกอบด้วย 6 สี คือ แดง ส้ม เหลือง เขียว น้ำเงินเข้ม และ ม่วง

ย้อนกลับไปในปี 1978 ระหว่างนับถอยหลังก่อนถึง Gay Freedom Day หรือวันแห่งการเฉลิมฉลองของผู้มีความหลากหลายทางเพศที่ซานฟรานซิสโก (ต่อมากลายเป็นต้นแบบงาน Pride หรือ Pride Parade ที่จัดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก) กิลเบิร์ต เบเคอร์ (Gilbert Baker) หนึ่งในนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิของเกย์ผู้ถูกกองทัพสหรัฐฯ ปลดประจำการเพราะเปิดเผยตัวว่าเป็นเกย์ที่เข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองมาโดยตลอด ต้องการมีส่วนร่วมในงานสำคัญครั้งนี้

Photo: Courtesy of Jerry Telfer / The Chronicle

ขณะนั้นเบเคอร์มีอาชีพเป็นศิลปินและช่างประดิษฐ์ธง จึงแสดงฝีมือจากความสามารถที่ถนัดและทำได้ดีที่สุด เขาออกแบบ ย้อมสี และตัดเย็บผ้าด้วยมือจนสำเร็จเป็นธงผืนใหญ่ขนาดยาว 18 เมตร กว้าง 9 เมตร จำนวน 2 ผืน สำหรับใช้ถือเดินขบวนก่อนนำไปชักขึ้นเสาธงบริเวณจตุรัสสหประชาชาติ ใกล้กับศาลาวาการประจำเมืองซานฟรานซิสโกในวันที่ 27 มิถุนายน โดยมีเพื่อนศิลปินอีก 2 คน คือ ลินน์ เซกเกอร์บลอม (Lynn Segerblom) และ เจมส์ แม็กนามาร่า (James McNamara) เป็นผู้ช่วย

Photo: Mark Rennie (1987) / Courtesy of the Gilbert Baker Foundation via https://www.glbthistory.org/rainbow-flag

เบเคอร์แบ่งหน้าธงออกเป็นแถบ 8 สี ตามแรงบันดาลใจที่ได้มาจากธงชาติสหรัฐฯ ในวาระครบรอบ 200 ปีแห่งการปฏิวัติอเมริกา และรุ้งกินน้ำ โดยจัดเรียงสีใหม่พร้อมกำหนดความหมายให้แต่ละสี เพื่อสื่อถึงความงามจากความหลากหลายที่อยู่ร่วมกันได้อย่างกลมกลืน

ชมพูเข้ม แทน เพศวิถี (sex)
แดง แทน ชีวิต
ส้ม แทน การเยียวยา
เหลือง แทน แสงอาทิตย์
เขียว แทน ธรรมชาติ
เทอร์ควอยซ์ (น้ำเงินอมเขียว) แทน ความวิเศษและศิลปะ
คราม แทน ความสงบสุข
ม่วง แทน จิตวิญญาณ

Photo: Mark Rennie (1987) / Courtesy of the Gilbert Baker Foundation via https://www.glbthistory.org/rainbow-flag
Photo: https://www.worthpoint.com/worthopedia/vintage-13-star-bicentennial-76-1903015137

กระทั่งธงรุ้งได้รับความนิยม จากของทำมือด้วยวิธีการง่ายๆ จึงกลายเป็นของที่ต้องผลิตโดยเครื่องจักรเพื่อให้ได้จำนวนมากพอกับความต้องการ แต่ไม่นานก็เกิดปัญหาขึ้น เพราะความหายากและราคาแพงของสีพิเศษที่ต้องผสมขึ้นใหม่ทั้งชมพูเข้ม เทอร์ควอยซ์ และคราม จะทำให้ต้นทุนการผลิตสูงเกินจำเป็น

อีกอย่างสีชมพูเคยมีประวัติด่างพร้อยในเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว เพราะนาซีใช้ Pink Triangle หรือ รูปสามเหลี่ยมสีชมพู เป็นสัญลักษณ์ระบุตัวชาวยิวที่รักเพศเดียวกัน แถบชมพูเข้มจึงถูกตัดออกไป

Photo: Marina Amaral / Courtesy of Auschwitz Memorial and Museum via https://facesofauschwitz.com/gallery/walter-degen/

ส่วน เทอร์ควอยซ์ และ คราม ถูกยุบรวมกันเป็น สีน้ำเงินเข้ม แทน กลายเป็นธงรุ้ง 6 สีที่เห็นได้ในปัจจุบัน

ทุกครั้งที่ธงรุ้งโบกสบัดหรือปรากฏอยู่บนที่ไหนก็ตาม จึงเท่ากับการมองเห็นความหลากหลายในความเป็นมนุษย์ และเป็นสิ่งย้ำเตือนว่าทุกคนล้วนเป็นเฉดสีที่ช่วยแต่งแต้มและเติมเต็มสังคมให้สวยงามและน่าอยู่ขึ้นได้

 

ตัวตนในอักษรย่อของ LGBTQIA+

จุดเริ่มต้นของการใช้อักษรย่อเรียกแทนกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศเกิดขึ้นราวคริสต์ทศวรรษ 1980 ในสหรัฐอเมริกา ช่วงแรกมีอักษรย่อเพียง 3 ตัว คือ LGB จากนั้นจึงเพิ่มเติมตัวอักษรอื่นๆ เข้ามาภายหลัง ให้สอดคล้องกับความคิด มุมมองของผู้คน วิถีชีวิต และสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย เช่น GLBT, LGBTI, LGBTIQ , LGBT+, LGBTQ+

แม้ว่าคนทั่วไปจะเข้าใจตรงกันว่า LGBT หมายถึงกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ เพราะเป็นอักษรย่อ 4 ตัวที่คนส่วนใหญ่คุ้นชินมากที่สุด แต่ยังมีชุดตัวอักษรขนาดยาวอย่าง LGBTQIA+ ที่รวบรวมกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศอื่นๆ เข้าไว้ด้วยกัน การมีอยู่ของตัวอักษรเหล่านี้จึงสื่อแสดงเชิงสัญลักษณ์ถึงการดำรงอยู่ของตัวตนที่ได้รับการยอมรับ ซึ่งอักษรย่อแต่ละตัวคือตัวแทนคนแต่ละกลุ่ม

Progress Pride Flag หรือธงรุ้งที่ออกแบบใหม่เพื่อให้ครอบคลุมกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศตามอักษรย่อ LGBTQIA+

Photo: Daniel Quasar via https://designmuseumfoundation.org/pride-design-celebrating-lgbtqia-designers/

L ย่อมาจาก Lesbian หรือ เลสเบี้ยน หมายถึง ผู้หญิงที่ชอบผู้หญิงด้วยกัน

G ย่อมาจาก Gay หรือ เกย์ หมายถึง ผู้ชายที่ชอบผู้ชายด้วยกัน และใช้สื่อความหมายครอบคลุมถึงผู้รักร่วมเพศทุกคน

B ย่อมาจาก Bisexual หรือ ไบเซ็กชวล หมายถึง คนที่ชอบได้ทั้งหญิงและชาย รู้สึกดึงดูดทางเพศกับเพศตรงข้าม หรือเพศเดียวกันก็ได้

T ย่อมาจาก Trans หรือ Transgender หมายถึง คนที่รู้สึกพอใจกับอัตลักษณ์ทางเพศ ซึ่งตรงข้ามกับเพศกำเนิดของตน โดยทั่วไปสื่อความหมายถึงคนข้ามเพศ คือผ่านการผ่าตัดเปลี่ยนแปลงเพศมาแล้ว ระบุให้แคบลงได้ว่า transwoman หรือ male to female transgender (MtF) คือ ผู้ชายที่แปลงเพศไปเป็นผู้หญิง ส่วน transman หรือ female to male transgender (FtM) คือ ผู้หญิงที่แปลงเพศไปเป็นผู้ชาย

Photo: Josh Edelson / AFP

Q ย่อมาจาก Queer หรือ เควียร์ หมายถึง คนที่ไม่ได้จำกัดตัวเองว่าต้องชอบเพศตรงกันข้าม (heterosexual) เท่านั้น หรือต้องคงเพศสภาพตรงกับเพศกำเนิด (cisgender) ตลอดชีวิต แต่เป็นคนที่มีความไหลลื่นทางเพศ ไม่ยึดติดกับเพศใดๆ ขณะเดียวกัน Q ยังใช้แทนคำว่า Questioning ด้วย หมายถึง การตั้งคำถามต่อตัวเอง สำหรับคนที่ยังไม่แน่ใจในรสนิยมทางเพศหรืออัตลักษณ์ทางเพศของตัวเอง

I ย่อมาจาก Intersex หรือ เพศกำกวม หมายถึง ผู้ที่เกิดมาพร้อมกับโครโมโซมเพศและมีลักษณะทางกายภาพของเพศ เช่น ระบบสืบพันธุ์ อวัยวะเพศ ต่างจากเพศหญิงและเพศชาย เป็นไปได้ว่าร่างกายอาจปรากฏให้เห็นลักษณะทางเพศทั้งเพศหญิงหรือเพศชาย

A ย่อมาจาก Asexual หรือ ไม่ฝักใจทางเพศ หมายถึง คนที่รู้สึกได้ถึงความรัก แต่ไม่มีแรงดึงดูดทางเพศและไม่ต้องการมีเพศสัมพันธ์กับใครเลย ไม่ว่าจะเพศใดก็ตาม

+ หรือ plus คือ เครื่องหมายบวกซึ่งใช้เป็นสัญลักษณ์แทนกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศอื่นๆ นอกเหนือจากตัวอักษรย่อ LGBTQIA ทั้ง 7 กลุ่ม และสื่อความหมายถึงการเปิดกว้างรับความหลากหลายทางเพศใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นได้ในอนาคต

 

อ้างอิง