w©rld

ทันทีที่ญี่ปุ่นประกาศชื่อรัชศกหรือ “เก็งโง” (Gengo) และชื่อยุคใหม่ จาก ‘เฮเซ’ (Heisei) เป็น ‘เรวะ’ (Reiwa)

เพื่อขานรับการขึ้นครองราชย์ของสมเด็จจักรพรรดิองค์ใหม่คือ มกุฏราชกุมารนารุฮิโตะ ในวันที่ 1 พ.ค. นี้

สื่อทั่วโลกก็พร้อมใจกันนำเสนอข่าว

ใครที่ไม่เคยรู้ว่า ญี่ปุ่นมีการเปลี่ยนชื่อรัชศกและชื่อยุค ตามรัชสมัยของสมเด็จจักรพรรดิ เชื่อว่าคงรู้ได้แบบทันทีว่านี่คือ “เหตุการณ์สำคัญระดับชาติ”

(Photo : JIJI PRESS / AFP)

แล้วชื่อนั้นสำคัญไฉน?

ชื่อยุคคือการขีดเส้นอนาคตของญี่ปุ่น

ไม่เพียงแค่ ‘เรวะ’ จะถูกใช้ในปฏิทิน หนังสือพิมพ์ และเอกสารสำคัญต่างๆ ทางราชการ

แต่การเปลี่ยนชื่อยุคยังมีความสำคัญทั้งในแง่การเมือง ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และจิตวิทยา

เพราะนี่ไม่ใช่แค่ชื่อ แต่คือการจับอารมณ์ร่วมของคนในชาติ

เนื่องจากการเปลี่ยนชื่อยุค คือการขีดเส้นแบ่งประวัติศาสตร์ไปในคราเดียวกัน

การนับปีแบบเก็งโง จึงสื่อความหมายมากกว่าแค่วัน เวลา ที่หมุนผ่านไป

(Photo : CHARLY TRIBALLEAU / AFP)

ย้อนไปดูช่วง ยุคเฮเซ (1989 – 2019) ซึ่งมีความหมายว่า “สันติสุขทุกแห่งหน”

ตอนเริ่มต้นของยุคในปี 1989 ตัวอักษรคันจิ 2 ตัว 平成 ได้รับการคัดเลือกมาอย่างพิถีพิถัน

พร้อมกับความคาดหวังที่ญี่ปุ่นต้องก้าวขึ้นมามีบทบาทสำคัญต่อเวทีเศรษฐกิจโลก

แต่หลังจากนั้นไม่นาน ญี่ปุ่นกลับต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจฟองสบู่ การเงินฝืดเคืองเป็นเวลานาน

ขณะเดียวกัน จีนและเกาหลีใต้ก็เติบโตขึ้น

ความหวังของญี่ปุ่นจึงริบหรี่ลงเรื่อยๆ

ประกอบกับเหตุการณ์แผ่นดินไหวในโกเบ ในปี 1995 วิกฤตการณ์นิวเคลียร์และเหตุการณ์สึนามิ ในปี 2011 ก็ยิ่งตอกย้ำภาพลักษณ์ที่ไม่ค่อยดีของยุคเฮเซ

แต่ถ้าย้อนไปยุคก่อนหน้า สมัยโชวะ (1926 – 1989)

ตลอด 64 ปีของโชวะ เปรียบได้กับความรุ่งเรือง

ที่พูดได้เลยว่าคือยุคทองของญี่ปุ่นอย่างแท้จริง โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ

จึงไม่แปลกที่พอถึงยุคเฮเซ คนญี่ปุ่นจะเกิดความคาดหวังที่มากยิ่งขึ้น

และเมื่อไม่เป็นดั่งหวัง ก็มักจะมีคำพูดทำนองว่า “คิดถึงช่วงเวลาสมัยนั้น (โชวะ)”

การประกาศชื่อรัชศกในครั้งนี้ จึงเป็นเหมือนความหวังใหม่ เพื่อกระตุ้นและปลุกใจคนญี่ปุ่น

ที่จะก้าวไปสู่ “เรวะ” (令和) ซึ่งมีความหมายว่า “การเริ่มต้นความสงบสุขอันดีงาม”

เพื่อสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ที่ดีกว่าเดิม

(Photo : Karyn NISHIMURA-POUPEE / AFP)

ปฏิทินแห่งยุคสมัยกำลังตกยุค?

ขณะที่คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่ กำลังตื่นเต้นกับรัชศกใหม่ที่กำลังจะมาถึง

แต่ก็มีอีกจำนวนไม่น้อย ที่เริ่มตั้งคำถามกับ ‘ชื่อยุค’ ว่ายังจำเป็นอยู่หรือ ในยุคสมัยปัจจุบัน

เพราะการนับปีตามเก็งโงได้รับความนิยมน้อยลงเรื่อยๆ

มีคนญี่ปุ่นเพียง 34% เท่านั้นที่ยังใช้วิธีนับปีแบบนี้ ในขณะที่มีจำนวนถึง 25% เปลี่ยนมานับปีปฏิทินแบบตะวันตก (ข้อมูลจาก หนังสือพิมพ์ Mainichi Shimbun)

ซึ่งสอดคล้องกับโพลของ Kyodo News

ที่บอกว่ามีเพียง 24.3% เท่านั้้นที่ยังใช้ปฏิทินแบบเก็งโง 39.8% ใช้ทั้งแบบเก็งโงและตะวันตกควบคู่กันไป และมีถึง 34.6% ที่ใช้เฉพาะแบบตะวันตก

“สังคมญี่ปุ่นไม่ได้ถูกควบคุมโดยจักรพรรดิอีกต่อไปแล้ว” ฮิโรชิ โกเซน (Hiroshi Kozen) ศาสตราจารย์กิตติคุณแห่งมหาวิทยาลัยเกียวโต เคยให้ความเห็นไว้ว่า ระบบของยุคสมัย ควรสะท้อนความต้องการของผู้คน หากเรายังอยากใช้ระบบนี้ต่อไปก็ได้ แต่ต้องมาอภิปรายกันก่อนว่า

“ทำไมเราจึงต้องการมัน”

(Photo : JIJI PRESS / AFP)

ปฏิทินที่เปลี่ยนยุคคือการทำลายความรู้สึกเรื่องเวลา

ข้อคิดเห็นของศาสตราจารย์โกเซนดูจะชัดเจนขึ้นไปอีก เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

ก่อนการประกาศชื่อรัชศกใหม่เพียง 5 วัน

มีตัวแทนทนายความจากนากาโนะ สื่อมวลชนจากโตเกียว และผู้บริหารบริษัทแห่งหนึ่ง ได้รวมตัวกันเพื่อยื่นฟ้องต่อศาลแขวงโตเกียวให้ระงับการเปลี่ยนชื่อยุค

โดยให้เหตุผลว่า การเปลี่ยนชื่อยุคทุกครั้งที่เปลี่ยนรัชสมัย เป็นการทำลายความรู้สึกเรื่องเวลา (sense of time) ของคนญี่ปุ่นในระดับปัจเจก ซึ่งถือเป็นการละเมิดมาตรา 13 ของรัฐธรรมนูญ ที่รับประกันว่าทุกคนจะได้รับความเคารพในระดับปัจเจก

จะเห็นได้ว่า ท่ามกลางความยินดีของการ ‘เปลี่ยนชื่อยุค’ ยังมีคลื่นความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยอีกหนึ่งระลอก ที่เป็นแรงต้านอยู่ลึกๆ

เป็นประเด็นน่าคิดว่า การมาถึงของ “เรวะ” (令和) หรือ “การเริ่มต้นความสงบสุขอันดีงาม”

จะเป็นความผลิบานครั้งใหม่ หรืออาจจะเป็นรัชศกสุดท้ายของญี่ปุ่น ก็ได้เช่นกัน

 

อ้างอิง :

  • MALCOLM FOSTER. Japan’s Imperial era names are bookmarks for politics, history and culture. http://bit.ly/2FQgJ53
  • KYODO. For some, era system is unnecessary in modern-day Japan. http://bit.ly/2I4N6OS
  • MATCHA. สารานุกรมคำญี่ปุ่น「ยุค โชวะ」. https://matcha-jp.com/th/1148
  • Anngle.org. ญี่ปุ่นเตรียมประกาศชื่อปีรัชสมัยใหม่แทน “ปีเฮเซ” ราวเดือนเมษายน 2562. https://anngle.org/th/news/japannewera.html
  • กรกิจ ดิษฐาน. ไขปริศนาชื่อรัชศก “เรวะ” ยุคสมัยใหม่แห่งญี่ปุ่น. https://www.posttoday.com/world/585207

 

FACTBOX

  • วิธีการนับปีแบบญี่ปุ่น ตามรัชสมัยของสมเด็จพระจักรพรรดิ มีวิธีเรียกดังนี้ ยกตัวอย่าง ยุคเฮเซ 平成 ซึ่งเริ่มเมื่อวันที่ 8 มกราคม ค.ศ. 1989 (พ.ศ 2532) จากวันที่สมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะขึ้นครองราชย์ เรียกว่าปีเฮเซที่ 1, ปี 2018 ก็คือปีเฮเซที่ 30 แต่หลังจากวันที่ 1 พ.ค. 62 จะขึ้นศักราชใหม่ เรียกว่าปีเรวะที่ 1