นึกถึงน้ำมันคุณภาพดี เกรดพรีเมียม ใคร ๆ ก็ต้องนึกถึง เชลล์ (SHELL) น้ำมันสัญชาติดัตช์และอังกฤษที่อยู่เคียงข้างคนไทยมาอย่างยาวนานกว่า 131 ปี
แต่เคยสงสัยไหมว่า ทำไมน้ำมันเชื้อเพลิงเจ้านี้ถึงเรียกขานตัวเองว่า เชลล์ แล้วเปลือกหอยเกี่ยวอะไรกับน้ำมัน ?
หากอยากรู้คำตอบก็ต้องถอยเวลากลับไปเมื่อสองศตวรรษที่แล้ว ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ โดยจุดเริ่มต้นของน้ำมันเชื้อเพลิงเชลล์ถือกำเนิดขึ้นในร้านค้าวัตถุโบราณของ มาร์คัส ซามูเอล
ในช่วงคริสตศตวรรษที่ 1800 เป็นยุคสมัยที่ชาวยุโรปนิยมนำเปลือกหอยจากซีกโลกตะวันออกมาใช้ในการประดับตกแต่ง ไม่ว่าจะเป็นแฟชั่นเครื่องแต่งกายไปจนถึงการตกแต่งอาคาร เพราะสะท้อนถึงค่านิยมความเกรียงไกรแห่งจักรวรรดิอังกฤษในยุคล่าอาณานิคมได้เป็นอย่างดี
ราว ค.ศ. 1833 ซามูเอลจึงเริ่มนำเปลือกหอยจากดินแดนตะวันออกไกลข้ามน้ำข้ามทะเลมาจำหน่ายให้กับลูกค้าในกรุงลอนดอน ซึ่งถือเป็นรากฐานสำคัญในการต่อยอดมาสู่การก่อตั้งบริษัทนำเข้าและส่งออกสินค้าในเวลาต่อมา
กิจการค้าขายเปลือกหอยยังดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง แม้กระทั่งหลังจากที่ซามูเอลลาโลกไปใน ค.ศ. 1870 ลูกชายทั้งสองคนของเขา ได้แก่ มาร์คัส ซามูเอล จูเนียร์ และ ซามูเอล ซามูเอล ก็ก้าวมาสานต่อกิจการ โดยนำเข้าเปลือกหอยคุณภาพดีมาจำหน่ายเหมือนเดิม เพิ่มเติมคือ มีการนำเข้าสินค้าโภคภัณฑ์ อาทิ ข้าว ผ้าไหม เครื่องทองแดงจากจีน และขยายกิจการส่งออกสินค้าจำพวกสิ่งทอ เครื่องจักรและเครื่องไม้เครื่องมือที่ผลิตในอังกฤษไปยังดินแดนตะวันออกไกล โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่น
จนกระทั่งในช่วงปลายทศวรรษที่ 1880 จนถึงต้นทศวรรษ 1890 ความนิยมในการใช้น้ำมันเพิ่มสูงขึ้น หลังจากที่แวดวงยานยนต์สามารถผลิตเครื่องยนต์สันดาปภายในสำเร็จในทศวรรษ 1850 – 1860 และจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญมาถึงเมื่อรถยนต์เมอร์เซเดสคันแรกออกสู่ท้องตลาดใน ค.ศ. 1886 เป็นสัญญาณที่ชัดเจนว่าความต้องการน้ำมันในตลาดได้ถูกจุดระเบิดขึ้นแล้ว
ทว่า ปัญหาใหญ่ของการค้าขายน้ำมันในยุคนั้นคือ การขนส่ง เนื่องจากน้ำมันซึ่งบรรจุในถังกินพื้นที่ในระวางสินค้าของเรือและเสี่ยงต่อการรั่วไหล หลายภาคส่วนจึงหาทางแก้ปัญหานี้ อาทิ ตระกูล Rothschilds ที่ลงทุนสร้างทางรถไฟและอุโมงค์ในรัสเซียเพื่อเอาชนะอุปสรรคในการขนส่งน้ำมัน ทำให้สามารถขนส่งน้ำมันไปยังทะเลดำเพื่อจัดจำหน่ายไปยังประเทศต่างๆ ได้ในที่สุด ทั้งยังเป็นผู้วางระบบจัดเก็บน้ำมันตามท่าเรือต่างๆ ในตะวันออกไกลอีกด้วย
ทางฟากของสองพี่น้องตระกูลซามูเอลเองก็ต้องการเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในแวดวงนี้ และอาศัยความเชี่ยวชาญด้านการขนส่งมาปฏิวัติการขนส่งน้ำมันโดยใช้เรือบรรทุกน้ำมันเป็นรายแรก เรือลำนั้นมีชื่อว่า มิวเร็กซ์ ซึ่งถือเป็นเรือบรรทุกน้ำมันลำแรกที่เดินทางผ่านคลองสุเอซเมื่อ ค.ศ.1892 ทำให้คลองสุเอซถูกใช้เป็นเส้นทางขนส่งน้ำมันจนถึงปัจจุบัน
ในยุคแรกของการขนส่งน้ำมัน คู่แข่งของเชลล์ ก็คือ สแตนดาร์ด ออยล์ (Standard Oil) ซึ่งเป็นที่รู้จักและจดจำจากเอกลักษณ์ของกระป๋องน้ำมันก๊าดสีฟ้า ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อได้สารพัด ตั้งแต่นำไปใช้แทนหลังคาหรือทำเป็นกระโถนก็ยังได้ ดังนั้น เพื่อเป็นการสร้างเอกลักษณ์ให้ผู้คนจำจดแบรนด์ได้ เชลล์จึงเลือกใช้กระป๋องบรรจุน้ำมันก๊าดสีแดง ควบคู่ไปกับการใช้ชื่อแบรนด์ “เชลล์” เป็นเครื่องหมายการค้าสำหรับน้ำมันก๊าด ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูง โดยหากคำนวณเฉพาะรายได้ในปี ค.ศ. 1896 ปีเดียว รายได้จากการขนส่งน้ำมันมีมูลค่าสูงกว่ารายได้ของธุรกิจอื่นในบริษัทรวมกันเสียอีก
ค.ศ. 1897 บริษัท เชลล์ ทรานสปอร์ต แอนด์ เทรดดิ้ง (Shell Transport and Trading Company) จึงก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการ และได้เปิดโรงกลั่นน้ำมันเป็นแห่งแรกในเกาะดัทช์บอร์เนียว โดยในภายหลังโรงกลั่นแห่งนี้ถูกทำลายเสียหายในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
เชลล์เริ่มใช้โลโก้แรกสุดเป็นรูป “หอยแมลงภู่” ใน ค.ศ. 1901 ปีเดียวกับที่มีการสำรวจพบน้ำมันในรัฐเท็กซัส ทำให้เกิดการแข่งขันแย่งชิงการเป็นเจ้าแห่งการขนส่งและจัดจำหน่ายน้ำมันระหว่างตาอินกับตานาอย่าง สแตนดาร์ด ออยล์ และ เชลล์ โดยหารู้ไม่ว่า ‘ตาอยู่’ อย่างบริษัท รอยัล ดัตช์ ปิโตรเลียม ของเนเธอร์แลนด์ แอบซุ่มสร้างอาณาจักรน้ำมันขึ้นเงียบๆ ในแถบเอเชีย ผลลัพธ์ก็คือ กองเรือบรรทุกน้ำมันกว่าครึ่งของเชลล์ต้องจอดนิ่งสนิทแทบไม่ได้ใช้งาน
ดังนั้น ในปี 1907 เชลล์ ทรานสปอร์ต จึงเข้าควบรวมกิจการกับ รอยัล ดัตช์ ก่อตั้งเป็น รอยัล ดัตช์ เชลล์ กรุ๊ป ขึ้น โดยเชลล์ได้ยึดเอาวันที่ 23 เมษายน เป็นวันเกิดของเชลล์ เพราะเป็นวันที่ที่ปรากฏบนโทรเลขฉบับที่ประกาศถึงการควบรวมกิจการอย่างเป็นทางการ พร้อมๆ กับการเปลี่ยนโลโก้เป็น หอยพัดหรือหอยเชลล์ ซึ่งใช้มาจนถึงปัจจุบัน
โลโก้เชลล์ได้มีการเปลี่ยนแปลงรูปลักษณ์ไปตามแนวโน้มการออกแบบภาพกราฟิกในแต่ละยุคสมัย โดยสัญลักษณ์เปลือกหอยเชลล์และสีเหลืองแดงแบบที่เห็นในปัจจุบัน ใช้มาตั้งแต่ ค.ศ. 1971 ออกแบบโดย เรย์มอนด์ โลวี (Raymond Loewy) นักออกแบบชื่อดังแห่งยุคอุตสาหกรรม
ส่วนสีเหลืองแดงที่คุ้นตาบนโลโก้ของเชลล์นั้น มีจุดเริ่มต้นใน ค.ศ. 1915 เมื่อบริษัทเชลล์ในแคลิฟอร์เนียเริ่มเปิดให้บริการสถานีบริการน้ำมันแห่งแรก และต้องการสร้างความโดดเด่นและแตกต่างจากบริษัทคู่แข่ง จึงเลือกใช้สีเหลืองแดง ซึ่งเป็นสีสันสดใส ทั้งยังถูกใจชาวแคลิฟอร์เนีย เพราะเป็นสีที่สื่อถึงประเทศสเปน ซึ่งมีการติดต่อกับรัฐแคลิฟอร์เนียมาอย่างแน่นแฟ้นยาวนาน
หลังจากนั้น เชลล์ได้มีการพัฒนาสีบนโลโก้อยู่เรื่อยๆ โดยช่วงที่โดดเด่นที่สุดเกิดขึ้นใน ค.ศ. 1995 เมื่อมีการนำสีเหลืองและแดงที่สดใสมาใช้ในการเปิดตัวกิจการค้าปลีกใหม่ สร้างภาพจำให้สัญลักษณ์ของเชลล์เป็นแบรนด์ที่ยิ่งใหญ่ระดับโลกจนถึงปัจจุบัน
สำหรับคนไทยนั้นมีโอกาสได้รู้จักน้ำมันเชลล์ตั้งแต่ ค.ศ. 1892 หรือในปีเดียวกับที่เรือมิวเร็กซ์ออกเดินทางผ่านคลองสุเอซมาสู่เอเชียเป็นปีแรก โดยเรือมิวเร็กซ์ได้บรรทุกน้ำมันก๊าดมาจอดเทียบท่าที่บางกอกเมื่อวันที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2435 ซึ่งเป็นการนำเข้าน้ำมันก๊าดครั้งแรกของประเทศไทย โดยชาวไทยทุกครัวเรือนในยุคนั้นต่างก็คุ้นเคยกับ “น้ำมันก๊าดตรามงกุฎ” ของเชลล์เป็นอย่างดี เพราะเป็นเชื้อเพลิงสำคัญที่ขาดไม่ได้ในการใช้ตามไฟบนท้องถนนและบ้านเรือน
ธุรกิจการนำเข้าน้ำมันก๊าด น้ำมันเบนซิน และผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมอีกนานาชนิดดำเนินไปได้ด้วยดี จนกระทั่งเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 บริษัท เอเซียติก ปิโตรเลียม (สยาม) จำกัด มีอันต้องปิดกิจการชั่วคราว จนเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 สงบลง รัฐบาลไทยได้ติดต่อขอให้เชลล์กลับเข้ามาดำเนินกิจการในประเทศไทยอีกครั้ง และในปี พ.ศ. 2489 บริษัท เอเซียติก ปิโตรเลียม (สยาม) จำกัด ก็ได้เปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด โดยกิจการครอบคลุมทั้งคลังน้ำมันและศูนย์จัดจำหน่ายน้ำมันให้แก่สถานีบริการน้ำมันที่มีเครือข่ายครอบคลุมทั่วประเทศ โดยเชลล์ยังคงมุ่งมั่นพัฒนาศักยภาพด้านต่างๆ อย่างไม่หยุดนิ่ง เพื่อคงไว้ซึ่งเกียรติภูมิของโลโก้หอยเชลล์สีเหลืองแดงที่ยืนยันในคุณภาพมานานกว่า 130 ปี
อ้างอิง
- Shell Global.Company History.https://www.shell.com/about-us/our-heritage/our-company-history.html
- Shell Thailand.ประวัติเชลล์ในประเทศไทย.https://www.shell.co.th/th_th/about-us/country-history.html