w©rld

ระหว่างเดินช้อปปิ้งในห้างสรรพสินค้ากับตลาดนัด คุณชอบไปที่ไหนมากกว่ากัน?

คำตอบของคำถามนี้นอกจากจะสะท้อนรสนิยมเรื่องการช้อปปิ้งแล้ว ในแง่หนึ่งยังบ่งบอกระดับ ‘รายได้’ ของเราแต่ละคนด้วย

คำพูดที่ว่า ‘คนรวยเดินห้าง คนธรรมดาเดินตลาดนัด’ นั้นมีส่วนจริงอยู่ไม่น้อย แต่ไม่ใช่ในแง่ที่แสดงถึงความฟุ่มเฟือยหรือมัธยัสถ์

(Photo: Anthony WALLACE / AFP)

เพราะเหตุผลที่เราเลือกเดินห้างหรือตลาดนัด แท้จริงแล้วมีปัจจัยเกี่ยวข้องกับ ‘รายได้’ และ ‘เวลา’ โดยมีผลลัพธ์คือ ‘ความคุ้มค่า’ เป็นตัวกำหนด

หลายคนอาจไม่เคยคิดถึงเรื่องนี้ แต่เชื่อเถอะว่า ไม่มากก็น้อยนี่คือเหตุผลที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังพฤติกรรมการช้อปปิ้งของคุณ

ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?

ยรรยง บุญ-หลง
ยรรยง บุญ-หลง

ยรรยง บุญ-หลง สถาปนิกที่ชอบสังเกตการณ์สิ่งต่างๆ รอบตัว ตั้งข้อสังเกตไว้ในหนังสือ คู่รักเมืองใหญ่ ถึงเหตุผลที่คนมีรายได้สูงมักจะเลือกเดินห้างมากกว่าตลาดนัดว่า เป็นเพราะราคาของค่าใช้จ่ายที่แท้จริง

“ค่าใช้จ่ายที่แท้จริง” คืออะไร? เราสามารถถอดเป็นสมการจากข้อเขียนของยรรยงได้ ดังนี้

ค่าใช้จ่ายที่แท้จริง = ราคาของเวลา [คิดจากรายได้ต่อชั่วโมง x เวลาที่ใช้ช้อปปิ้ง] + ราคาสินค้า

(Photo: Anthony WALLACE / AFP)

เพื่อให้เห็นภาพของค่าใช้จ่ายที่แท้จริง เราขอยกตัวอย่าง เช่น คุณทำงานเป็นผู้จัดการในบริษัทแห่งหนึ่ง มีรายได้วันละ 4,000 บาท (120,000 บาท/เดือน) คิดเป็นชั่วโมงละ 500 บาท

วันหนึ่งคุณไปเดินตลาดนัด ซื้อเสื้อเชิ้ตมาหนึ่งตัว ราคา 299 บาท แต่การเดินตลาดนัดต้องใช้เวลา เพราะมีหลากหลายร้านค้า และพื้นที่กว้างใหญ่ คุณจึงใช้เวลาเดินหาซื้อประมาณ 3 ชั่วโมง เพื่อจะเจอเสื้อตัวที่ถูกใจ

(Photo: Pornchai Kittiwongsakul / AFP)

ลองดูว่าเสื้อเชิ้ตตัวนี้ราคาเท่าไหร่?

คุณเสียราคาของเวลา (คิดจากรายได้ต่อชั่วโมง) ไปแล้ว 500 x 3 = 1,500 บาท

ดังนั้น ค่าใช้จ่ายที่แท้จริงของเสื้อเชิ้ตตัวนี้เท่ากับ…

1,500 + 299 = 1,799 บาท

นอกจากนี้ ถ้าโชคร้าย คุณ ‘อาจ’ พบว่าเมื่อใช้งานไปสักพัก สีเสื้อเชิ้ตตัวนั้นเริ่มซีดจาง ผ้าหดหรือขาด จนเป็นเหตุให้คุณต้อง ‘เสียเวลา’ เดินทางไปซื้อเสื้อตัวใหม่

(Photo: Daniel LEAL-OLIVAS / AFP)

ต่อมาคุณก็เปลี่ยนใจว่า จะซื้อเสื้อเชิ้ตตัวใหม่ในห้างสรรพสินค้าแถวที่ทำงานแทน เนื่องจากคุณไม่มีเวลาเดินทางไปตลาดนัด และวันนั้นก็เป็นวันที่เร่งรีบ คุณมีเวลาไม่มาก คุณจึงเดินเข้าไปที่ร้านแบรนด์ดัง แน่นอนว่าแบรนด์ได้คัดสรรเสื้อเชิ้ตที่ดูดีและมีคุณภาพในระดับมาตรฐานมาให้แล้วในระดับหนึ่ง

คุณจึงใช้เวลาเลือกและลองไม่นาน

30 นาทีผ่านไป คุณก็พบว่า ตัวเองกำลังจ่ายเงินค่าเสื้อเชิ้ตตัวนั้นในราคา 1,000 บาท

 

มาดูกันว่าเสื้อเชิ้ตมีแบรนด์ที่คุณซื้อราคาเท่าไหร่?

คุณเสียราคาของเวลาไป 500 x  ½ = 250 บาท

ดังนั้น ค่าใช้จ่ายที่แท้จริงของเสื้อเชิ้ตมีแบรนด์ตัวนี้จึงเท่ากับ…

250 + 1,000 = 1,250 บาท

 

เมื่อเทียบ ‘ค่าใช้จ่ายที่แท้จริง’ ระหว่างเสื้อเชิ้ตที่ซื้อในตลาดนัด (1,799 บาท) กับห้างสรรพสินค้า (1,250 บาท) จะพบว่า ถ้าคุณมีรายได้ต่อชั่วโมงสูง ของที่ราคาถูกอาจเป็นภาพลวงตาและไม่ได้ถูกอย่างที่คิด

(Photo: Saeed KHAN / AFP)

เอาล่ะ ในทางกลับกัน สมมติคุณ (คนเดิม) ทำงานเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัย รายได้วันละ 350 บาท (10,500 บาท/เดือน) คิดเป็นชั่วโมงละ 44 บาทโดยประมาณ

เมื่อรายได้ต่อชั่วโมงไม่สูงมาก การไปเลือกซื้อของที่ตลาดนัดจะ ‘คุ้มค่า’ กว่า โดยวัดจาก ‘ค่าใช้จ่ายที่แท้จริง’ จากการไปเดินซื้อเสื้อเชิ้ตที่ตลาดนัดเทียบกับห้างสรรพสินค้า

 

ซื้อเสื้อเชิ้ตที่ตลาดนัด

ราคาของเวลาที่เสียไป 44 x 3 = 132 บาท

ค่าใช้จ่ายที่แท้จริงของเสื้อเชิ้ต (299 บาท) ตัวนี้จึงเท่ากับ…

132 + 299 = 431 บาท

 

ซื้อเสื้อเชิ้ตมีแบรนด์ในห้าง

ราคาของเวลาที่เสียไป 44 x  ½ = 22 บาท

ค่าใช้จ่ายที่แท้จริงของเสื้อเชิ้ต (1,000 บาท) ตัวนี้จึงเท่ากับ…

22 + 1,000 = 1,022 บาท

จะเห็นได้ว่า การเดินตลาดนัดตอบโจทย์คนที่มีรายได้ต่อชั่วโมงไม่มากได้ดีกว่าคนที่มีรายได้ต่อชั่วโมงสูง

(Photo: Yasin AKGUL / AFP)

“หากซื้อไปแล้วขาด ก็ยังสามารถมีเวลากลับมาเจรจากับเถ้าแก้เจ้าของแผงได้อีก เพราะเวลาของผมมีราคาถูก”

ยรรยง บุญ-หลง ตั้งข้อสังเกตในบทความของเขาในหนังสือ คู่รักเมืองใหญ่ โดยมองว่า ตลาดนัดและแผงลอยเป็นนวัตกรรมที่ตอบสนองสังคมที่มีรายได้ต่อชั่วโมงไม่สูงมาก

“เนื่องจากสังคมมีรายได้ต่อชั่วโมงที่ไม่สูงมาก มูลค่าของเวลาจึงไม่สูงโดยปริยาย ทำให้คนในสังคมดูเหมือนจะมีเวลาใช้ได้มาก ในขณะที่ห้าง ‘แบรนด์เนม’ ก็มีไว้เพื่อตอบสนองสังคมที่คนส่วนใหญ่ยึดถือมูลค่าของเวลาตัวเองสูง พวกเขาไม่ต้องคิดและใช้เวลาเลือกสินค้ามาก เพราะทาง ‘แบรนด์’ เขาเลือกมาให้หมดแล้ว!”

(Photo: Nicolas Asfouri / AFP)

ภาพลวงตาและกับดักของราคาในการช้อปปิ้ง

มูลค่าของเวลาและราคาการช้อปปิ้งในบทความนี้ นอกจากจะชี้ให้เห็นความคุ้มค่าที่ส่งผลต่อพฤติกรรมการซื้อของระหว่างคนที่มีรายได้สูงและคนที่มีรายได้น้อยแล้ว ยังสะท้อนให้เห็น ‘กับดัก’ และ ‘ภาพลวงตา’ ของรายได้ที่เราได้มาด้วย

จะเห็นได้ว่า รายได้ที่สูงขึ้น แม้จะช่วยให้เรามี ‘กำลังซื้อ’ ที่สูงขึ้น แต่อีกด้านหนึ่งก็ทำให้เวลาของเรามีราคาแพงขึ้นเป็นเงาตามตัว

(Photo: Daniel LEAL-OLIVAS / AFP)

เมื่อเวลามีราคา หลายคนจึงเร่งรีบ เพราะไม่อยากใช้เวลาที่ ‘เป็นเงินเป็นทอง’ ไปอย่างเปล่าประโยชน์ โดยใช้เวลา (เกือบ) ทั้งหมดไปเพื่อสร้างสินทรัพย์

จากนั้นก็เอาสินทรัพย์ที่หาได้ไปซื้อความสุข แต่ภายใต้ความสุขระยะสั้นนั้นลึกลงไปกลับเต็มไปด้วยความทุกข์ เพราะขาดไร้สินทรัพย์ที่มีค่าสูงสุดคือ ‘เวลา’

ขณะที่คนรายได้น้อย แทนที่จะได้ใช้เวลาที่มีมูลค่าไม่มากอย่างฟุ่มเฟือย แต่หากมีรายได้น้อยเกินไป ก็ต้องใช้เวลาที่เหลือไปกับการเพิ่มชั่วโมงการทำงาน เพื่อขยับกำลังซื้อของตัวเองให้ได้มาตรฐานตามมูลค่าขั้นพื้นฐานของสังคม

(Photo: Odd Andersen / AFP)

ด้วยเหตุนี้ รายได้ต่อชั่วโมงไม่ว่ามากหรือน้อย มูลค่าของเวลาไม่ว่าแพงหรือถูก ล้วนเป็นกับดักและภาพลวงตาที่หากปล่อยตัวปล่อยใจไปตามกระแส ท้ายที่สุด เราอาจพบว่า ไม่ว่าจะเดินตลาดนัดหรือห้างสรรพสินค้า เราทั้งหมดต่างอยู่ในวงจรของการทำงานไม่ลืมหูลืมตา เพียงเพื่อให้ได้มาซึ่งเงินตรา เอาไว้หาความสุขระยะสั้น ก่อนจะกลับไปมีทุกข์ระยะยาว

เพราะไม่ว่าจะหามาได้เท่าไหร่ จะช้อปปิ้งได้มากน้อยแค่ไหน แต่สิ่งหนึ่งที่เราไม่อาจช้อปปิ้งได้อย่างแท้จริง คือ “เวลา”

ซึ่งเป็นสิ่งมีค่าและสำคัญที่สุดของชีวิต.

(Photo: Drew Angerer / AFP)

 

อ้างอิง:

  • ยรรยง บุญ-หลง. คณิตศาสตร์ของการ “ช้อปปิ้ง”. คู่รักเมืองใหญ่. สำนักพิมพ์มติชน, 2557.