w©rld

ลองจินตนาการดูว่า หากคุณจำเป็นต้องอยู่ภายในห้องเล็กๆ หรือพื้นที่แคบๆ เป็นระยะเวลานานๆ คิดว่าตัวคุณเองจะรู้สึกอย่างไร?

แน่นอน คุณคงอึดอัดกายและไม่สบายใจอย่างบอกไม่ถูก ซึ่งไม่ใช่เรื่องเกินคาดหมายหากคุณจะรู้สึกแบบนั้น เพราะการกักตัวเอง (รวมถึงถูกกักตัว) ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม เท่ากับว่าทางเลือกการใช้ชีวิตในขณะนั้นของคุณถูกลดทอนลงไปโดยปริยาย หรือถ้าเปรียบเทียบให้เห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้น คืออยู่ในสถานะไม่ต่างจากนักโทษที่ถูกจำคุกอยู่ในห้องขัง

ขนาดของพื้นที่จึงไม่เพียงขีดเส้นตีกรอบชีวิตไม่ให้มีอิสระเท่านั้น แต่ยังมีอิทธิพลเชิงจิตวิทยา จนสามารถเปลี่ยนแปลงความรู้สึก ความคิด หรือแม้กระทั่งตัวตนของผู้อยู่อาศัยได้ด้วย

บทความนี้จะพาทุกคนไปทำความเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างพื้นที่ใช้ชีวิตกับจิตใจ รวมถึงสำรวจที่พักอาศัยว่าแปรเปลี่ยนใจของเราไปได้อย่างไร

พื้นที่ปิดตายในโลกภาพยนตร์

ผู้สร้างหนังระทึกขวัญส่วนใหญ่ มักเลือกใช้ประโยชน์จากการจำลองพื้นที่ปิดตาย เพื่อสร้างสถานการณ์บีบคั้นความรู้สึกและปลุกเร้าให้ตัวละครในเรื่องสติแตก บ้าคลั่ง หรือกลายเป็นคนที่มีสภาพจิตใจไม่ปกติ

ตัวอย่างเช่น หนังเรื่อง The Shining (1980) ตัวละครชื่อ แจ็ค ทอร์เรนซ์ เป็นนักเขียนหนุ่มที่ได้รับการว่าจ้างให้เฝ้าโรงแรมขณะปิดปรับปรุงในช่วงฤดูหนาว ความอ้างว้างท่ามกลางหิมะสีขาวโพลน กลับทำให้เขากลายเป็นคนเสียสติ ถึงขนาดพยายามจามขวานทำร้ายภรรยาและลูก

Photo: The Shining (Warner Bros., 1980)
Photo: The Shining (Warner Bros., 1980)

หรือ แอนนี่ วิลเคส ตัวละครหญิงวัยกลางคนจากหนังเรื่อง Misery (1990) เธอเป็นเจ้าของบ้านพักในเขตชานเมือง ซึ่งตั้งอยู่อย่างโดดเดียวท่ามกลางพายุหิมะ การตัดขาดจากสังคมภายนอกทำให้เธอเกิดคลุ้มคลั่ง ซึ่งนำพาความสยองมาให้นักเขียนชื่อดังผู้อัโชค

Photo: Misery (Columbia Pictures, 1990)
Photo: Misery (Columbia Pictures, 1990)

หรือห้องอาถรรพ์หมายเลข 1408 ในโรงแรมกลางเมือง จากหนังเรื่อง 1408 (2007) ที่ว่ากันว่าใครก็ตาม หากเข้าไปแล้ว ไม่เคยได้รอดกลับออกมาอีกเลย

Photo: 1408 (Dimension Films, 2007)
Photo: 1408 (Dimension Films, 2007)

พฤติกรรมที่ผิดเพี้ยนไป อาการประสาทเสีย และสุขภาพจิตที่ย่ำแย่ลง เพราะกักตัวอยู่ในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งเป็นเวลานานๆ เหล่านี้ ล้วนมีคำเรียกเฉพาะเจาะจงว่า stir crazy หรือ cabin fever

คำว่า stir ในบริบทนี้เป็นคำสแลง หมายถึง คุก หรือการถูกกักบริเวณ ส่วนคำว่า crazy หมายถึง บ้า หรืออาการเสียสติเพราะบางสิ่งบางอย่าง 

ส่วนคำว่า cabin fever เป็นคำที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงในวงการภาพยนตร์สยองขวัญอยู่บ่อยครั้ง หากแปลตรงตัวหมายถึง ความไม่สบายตัวหรืออาการเจ็บไข้ในกระท่อมหรือบ้านซอมซ่อที่อยู่ลึกเข้าไปในป่ารก แต่ความหมายเชิงสำนวน สื่อถึงความอึดอัดที่ต้องอยู่แต่ในพื้นที่จำกัดมากๆ โดยไม่สามารถออกไปไหนได้ จนกระทั่งเกิดอาการซึมเศร้า หวาดระแวง และอาจเห็นภาพหลอน

ถ้ามองอย่างผิวเผิน หลายคนอาจคิดว่าอาการเหล่านี้คงเป็นเพียงสิ่งสมมุติในโลกภาพยนตร์เท่านั้น ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว ทุกคนมีสิทธิ์ตกอยู่ในสถานการณ์ที่บีบเค้นความรู้สึกหดหู่เช่นนี้ได้ไม่ต่างจากตัวละครในหนัง โดยเฉพาะการใช้ชีวิตในช่วงโควิด-19 ระบาด

พื้นที่กักตัวในโลกความเป็นจริง

นอกเหนือจากคุกหรือสถานที่กักกัน จะว่าไปแล้ว พื้นที่กักตัวอาจเป็นเรื่องที่ไกลตัวออกไปมากๆ หากเราไม่ใช่นักบินอวกาศ เพราะไม่ต้องใช้ชีวิตในสภาวะไร้น้ำหนักบนสถานีอวกาศเหมือน ราเชล ซิมเมอร์แมน-บราชแมน (Rachel Zimmerman-Brachman) หนึ่งในผู้เชี่ยวชาญขององค์การนาซา

การกักตัวอยู่บ้าน และ social distancing ในมุมมองของเธอ เป็นความท้าทายที่ไม่ได้แตกต่างจากตอนใช้ชีวิตอยู่ในสถานีอวกาศเท่าไหร่ เพราะเธอต้องเตรียมพร้อมร่างกายและจิตใจ ฝึกฝนตัวเองให้อยู่ในพื้นที่จำกัดในบ้านเหมือนตอนที่เธอฝึกฝนก่อนออกบิน ทัศนคติต่อชีวิตและสิ่งที่อยู่รอบตัวจึงเป็นสิ่งสำคัญในช่วงเวลานี้ แม้จะต้องอยู่ในห้องแคบๆ แต่ในท้ายที่สุดแต่ละคนจะสามารถหาหนทางพาตัวเองออกไปสู่โลกภายนอกได้ในไม่ช้า เพียงแต่เราต้องพยายามดูแลตัวเองให้รับมือและฝ่าฟันเพื่อก้าวผ่านช่วงเวลานี้ไปให้ได้

Photo: Bill Ingalls (NASA, 2015)

ในทางจิตวิทยา ก็มีคำอธิบายเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างพื้นที่กับความรู้สึกของผู้อยู่อาศัย โดย นพ. เทอร์รี่ เอเลย คูเปอร์ (Terry Allen Kupers) จิตแพทย์จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ขยายความประเด็นนี้ว่า การอยู่ในพื้นที่แคบๆ เป็นเรื่องฝืนธรรมชาติอย่างหนึ่งของมนุษย์ เพราะมนุษย์เป็นสัตว์สังคมที่ต้องการอิสระในการใช้ชีวิตและสร้างความสัมพันธ์กับคนอื่นๆ ตลอดเวลา เมื่อต้องอยู่คนเดียว ความรู้สึกโดดเดี่ยวและเปลี่ยวเหงาจึงมักเกิดขึ้นเป็นความรู้สึกแรกๆ หากจัดการไม่ได้อาจทำให้เกิดอาการซึมเศร้า กระวนกระวาย วิตกกังวล จนกระทั่งทำอะไรแปลกๆ

ขนาดของพื้นที่จึงมีอิธิพลต่อความรู้สึก ความคิด และตัวตนของผู้อยู่อาศัย โดยเฉพาะถ้าผู้นั้นไม่ได้เตรียมใจเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลงในชีวิต

วิธีการง่ายๆ ที่ช่วยเยียวยาความรู้สึกไม่สบายใจได้ คือ การขยับร่างกายไม่ให้อยู่นิ่ง เช่น กายบริหาร หรือทำงานบ้าน จัดห้อง เพราะการอยู่เฉยๆ จะยิ่งตอกย้ำความรู้สึกให้แย่ไปมากกว่าเดิม 

อาจไม่ใช่เรื่องแปลก และเป็นเรื่องใกล้ตัวมากกว่าที่คิด ถ้าใครก็ตามจะทำอะไรแปลกๆ เพราะต้องกักตัวอยู่ในห้องแคบๆ คนเดียว

 

อ้างอิง