w©rld

“ไม่ใช่เพียงแค่สร้างรถยนต์ สิ่งที่เราทำคือการส่งต่อความรู้สึกจาก ‘คน’ สู่ ‘คน’ โดยมีรถยนต์เป็นตัวกลางในการส่งผ่าน”

โคอิจิ ซูกะ หัวหน้าดีไซน์เนอร์ผู้ออกแบบรถยนต์เลกซัส ให้นิยามวิธีคิดในการสร้างรถยนต์ของพวกเขา 

คุณซูกะเผยให้เราฟัง ขณะพาชมศูนย์ออกแบบรถยนต์เลกซัส เมื่อครั้งที่พวกเขาจัดกิจกรรม Lexus Cultural Experience 

นี่จึงเป็นที่มาว่า ทำไมรถยนต์ของเลกซัสถึงต้องพิถีพิถัน 

บางอย่างเครื่องจักรทำได้ แต่ทำไมยังต้องทำมือ 

ในกระบวนการผลิต ที่เต็มไปด้วยเครื่องจักรอันทันสมัย แล้วทำไมยังต้องให้ ‘คน’ มาตรวจสอบรถเป็นขั้นตอนสุดท้าย

“หัวใจของเลกซัสคือความคราฟต์หรือความพิถีพิถัน มันคือสิ่งที่จะทำให้เจ้าของรถเกิดประสบการณ์ขับขี่ที่น่าประทับใจ” 

และความประทับใจที่คุณซูกะเอ่ยถึงนั้น ในบางครั้งเทคโนโลยีหรือเครื่องจักร ก็ไม่สามารถมอบให้มนุษย์ได้ 

มีเพียงความละเอียดอ่อนจากฝีมือของคนเท่านั้น ที่จะส่งผ่านความรู้สึกเหล่านี้ 

ฉะนั้นทุกครั้งที่เลกซัสเปิดตัวรถรุ่นใหม่ๆ เราจึงมักได้เห็นงานศิลป์โบราณของญี่ปุ่น หรือจุดเล็กจุดน้อยที่เป็นชิ้นงานโดยฝีมือช่างผู้ชำนาญพิเศษ แฝงไว้ในจุดต่างๆ ของรถ 

ซึ่งหลายคนอาจจะคิดว่างานละเอียดอ่อนแบบนั้น เขาคงใส่ไว้ในเฉพาะรุ่นเรือธง 

ไม่ใช่เลย เพราะงานเหล่านี้แฝงอยู่ในรถแทบจะทุกรุ่น  

แม้กระทั่งในรถครอสโอเวอร์ หรือ SUV ที่ภาพจำของหลายคนคือรถที่สมบุกสมบัน สมรรถนะแกร่ง ที่เราต้องยอมแลกกับการขับขี่นุ่มสบาย หากอยากได้รถประเภทนี้ 

เลกซัสท้าทายความเชื่อนั้น และมองว่าสุนทรีย์ในการขับขี่ ควรจะเกิดกับผู้ขับขี่รถทุกรุ่น 

พวกเขานำวิธีคิดเรื่อง Craftsmanship เข้ามาใส่ไว้ในรถครอสโอเวอร์ ตั้งแต่รุ่นแรกอย่าง Lexus RX กระทั่งทุกวันนี้ รุ่นน้องรองลงมาอย่าง NX และ UX ก็ยังไม่ทิ้งอัตลักษณ์ของความคราฟต์  

และนี่เองที่เป็นเหตุผลสำคัญ ให้รถตระกูลครอสโอเวอร์ของเลกซัสขายดีจนกลายเป็นเจ้าตลาดในอเมริกา ตั้งแต่วันแรกที่เปิดตัว Lexus RX ในปี 1998 มาจนถึงวันนี้ RX ก็ยังได้รับการจัดอันดับ ให้เป็นรถยนต์ที่ผู้ใช้ในอเมริกาพึงพอใจสูงสุด*  

เพราะ ‘งานคราฟต์’ ที่เลกซัสบรรจงคัดสรรค์ใส่ลงไปในครอสโอเวอร์แต่ละรุ่น ได้สร้างสัมผัสและประสบการณ์ขับขี่ที่แตกต่างอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นการใช้วิธีเย็บมือกับชิ้นงานที่เป็นหนังใน RX ซึ่งต่อมาก็ถูกใช้ใน NX และ UX ด้วย การสร้างสรรค์ลายไม้ด้วยเทคนิคโบราณของญี่ปุ่นที่เรียกว่า Shimamoku ในรถ RX และ NX หรือกระทั่งการนำรูปแบบบ้านโบราณของญี่ปุ่น มาสร้างบรรยากาศที่อบอุ่นและเพิ่มทัศนวิสัยในรถที่ขับในเมืองของ UX เลกซัสก็ทำมาแล้ว 

และทั้งหมดนี้ ไม่ใช่แค่เพื่อสร้างความหรูหราให้รถเท่านั้น แต่เป็นการคิดมาจากพื้นฐานความต้องการของผู้ใช้รถจริงๆ   

common จึงอยากพาไปสำรวจงานคราฟต์ในรถครอสโอเวอร์ทั้ง 3 รุ่นของเลกซัส ว่ามีอะไรซุกซ่อนอยู่บ้าง และแนวคิดแบบไหนที่อยู่เบื้องหลังชิ้นงานเหล่านั้น 

เครื่องจักรจะแม่นยำแค่ไหน ก็ไม่สู้การเย็บด้วยมือ

“ปกติแล้ว งานตกแต่งภายในที่ใช้การเย็บมือแบบนี้ จะมีในรถอย่างเบนท์ลีย์หรือโรลส์รอยซ์เท่านั้น” 

จอห์น แมคคอมิค แห่งนิตยสารฟอร์บส เคยกล่าวถึงงานเย็บมือบนแผงคอนโซล RX ว่าเขาเองก็ไม่แน่ใจว่านี่อาจจะเกินมาตรฐานของคำว่าพิถีพิถันเสียด้วยซ้ำ

ทุกๆ ฝีเข็มที่อยู่ภายใน RX เกิดจากการผสานงานกันระหว่างงานเย็บมือของช่างระดับทาคุมิ ซึ่งมีเพียงไม่กี่คนเท่านั้น และเครื่องจักรเย็บคุณภาพสูง

การมาถึงของ Lexus RX จึงถือเป็นการท้าทายมาตรฐาน SUV ที่มีอยู่ในตลาดรถหรูขณะนั้น 

สิ่งนี้ยังยืนยาวมาจนถึงครอสโอเวอร์รุ่นรองลงมาอย่าง NX และ UX ที่ยังคงมาตรฐานเย็บมือเช่นเดียวกัน    

“มันคือวิถีของทาคุมิ” 

ทาเคอะกิ คาโตะ หัวหน้าวิศวกรผู้ออกแบบ NX เคยตอบคำถามนี้ เมื่อครั้งถูกถามจากสื่อมวลชนว่า จำเป็นด้วยหรือที่รถรุ่นเล็กอย่าง NX ต้องพิถีพิถันขนาดใช้ช่างเย็บมือ 

“ถึงแม้เจ้าของรถจะไม่รู้ว่าเบาะที่เขานั่งเย็บมือ หรือมีความซับซ้อนขนาดไหนในการออกแบบ แต่เชื่อเถอะครับว่ามันคือสิ่งที่เจ้าของรถรู้สึกได้ทันที ซึ่งนี่แหละคือความแตกต่าง”   

ทุกฝีเข็มในรถเลกซัส ต้องผ่านการตรวจสอบว่าเท่ากันอย่างสม่ำเสมอ

แนวคิดเรื่อง ช่างทาคุมิ ถูกบรรจุให้เป็นหนึ่งในปรัชญาที่คนเลกซัสต้องยึดถืออย่างเคร่งครัดตั้งแต่เริ่มก่อตั้งแบรนด์เมื่อ 30 ปีที่แล้ว โดยช่างต้องได้รับการฝึกฝนไม่ต่ำกว่า 60,000 ชั่วโมง 

หรือพูดง่ายๆ ว่าเชี่ยวชาญในงานนั้นมาไม่ต่ำกว่า 30 ปี ถึงจะถูกเรียกว่า ‘ทาคุมิ’ 

เอกลักษณ์อีกอย่างหนึ่งของรถเลกซัส คือการสรรหาเทคนิคทางศิลปะ ที่เป็นภูมิปัญญาของคนญี่ปุ่น มาเป็นส่วนหนึ่งของรถ 

เดิมเราเคยเห็นงานชั้นสูงอย่างการตัดแก้วคิริโกะ และผ้าพับจีบด้วยมือจากศิลปะ Origami ในรุ่นท็อปอย่าง LS 500h แต่พอเจาะลึกลงไปในรุ่นเล็กๆ แม้แต่ในครอสโอเวอร์ เลกซัสก็ไม่ลืมที่จะทิ้งลวดลายของแบรนด์เอาไว้

“38 วัน 67 ขั้นตอน” กับเทคนิคการขึ้นลายไม้ ที่เรียกว่า Shimamoku 

ลายไม้สวยไร้ที่ติ ที่เราเห็นในรุ่น RX นั้น เบื้องหลังคือกรรมวิธีที่ต้องใช้เวลาถึง 38 วัน กับขั้นตอนต่างๆ ที่ละเอียดยิบกว่า 67 ขั้นตอน ตามวิถีศิลปะการขึ้นลายไม้ที่เรียกว่า ‘Shimamoku’

Shimamoku คือศิลปะการสร้างลายไม้ที่ต้องนำไม้ทั้งต้นมาลอกให้เป็นแผ่นเลเยอร์บางๆ ไม้แต่ละต้นจะมีสีธรรมชาติที่ไม่เหมือนกัน ช่างทาคุมิจะนำสีที่ต้องการ มาวางสลับกันจำนวนหลายชั้น เพื่อให้ได้ลวดลายที่สวยงามและมีมิติ 

แผ่นไม้ที่บางเหมือนเยื่อกระดาษจะถูกบีบอัดเข้าเครื่อง แล้วขึ้นทรงขัดเกลาจนได้รูปทรงที่ต้องการ ก่อนจะนำมาประกอบอยู่ในส่วนต่างๆของ RX 

คำถามคือ แล้วทำไมต้อง Shimamoku ในเมื่อมีวิธีทำลายไม้ที่ง่ายกว่านั้นมาก 

ย้อนกลับไปที่แก่นของแบรนด์เรื่องความพิถีพิถัน (Craft) และการให้ค่ากับช่างฝีมือระดับทาคุมิของเลกซัส นี่คือแนวทางอันเคร่งครัด ที่ไม่ยอมลดทอนให้กับรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ 

งานไม้ที่ขึ้นลายอย่างประณีต ประกอบมาอย่างลงตัวกับหนังที่ผ่านฝีมืองานเย็บชั้นครู

สุดท้ายแล้ว ผลงานศิลปะชิ้นนี้ก็เป็นส่วนหนึ่ง ที่มาสร้างสุนทรีย์ และสัมผัสที่นุ่มนวล ไม่แข็งกระด้าง บนรถ SUV 

สถาปัตยกรรมในบ้านโบราณของญี่ปุ่น ย่อส่วนลงในรถยนต์ครอสโอเวอร์ขนาดเล็ก 

หากใครเคยไปเที่ยวญี่ปุ่น คงเคยเห็นบ้านโบราณที่ใช้วิธีกั้นห้องด้วยกระดาษวาชิ และทำระเบียงยื่นออกมาเล็กน้อย เพื่อให้รู้สึกว่าบ้านและวิวภายนอกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน คนญี่ปุ่นเรียกสถาปัตยกรรมนี้ว่า Engawa 

(Photo : sumailab.net)
วิธีการทำกระดาษวาชิ  (Photo : Nippon.com)

ตัวของกระดาษวาชิเองก็ถือเป็นมรดกตกทอดทางภูมิปัญญาของญี่ปุ่นมากว่า 1,300 ปี ใครที่เคยเข้าไปในบ้านลักษณะนี้ก็ต้องบอกว่า ให้ความรู้สึกอบอุ่นดีเหลือเกิน 

เลกซัสหยิบยกทั้งหมดนี้มาไว้ใน UX ครอสโอเวอร์น้องเล็กสุด ที่ออกแบบมาสำหรับการขับขี่ในเมือง 

พวกเขาทำอย่างไร ?

เลกซัสออกแบบทัศนวิสัยด้านหน้าของ UX ให้มองเห็นได้รอบแบบไร้มุมอับ มุมตรงกระจกมองข้างที่มักจะทึบ ถูกทำให้เป็นกระจกใสและกว้างแบบมองเห็นได้รอบด้าน เช่นเดียวกับระเบียงบ้านของคนญี่ปุ่น

เชื่อมต่อมาถึงภายในที่บริเวณแผงคอนโซลถูกปูด้วยวัสดุที่ทำผิวสัมผัสเสมือนกระดาษวาชิ เพื่อรับกับกระจกด้านหน้าที่เปรียบเหมือนระเบียง 

ทัศนวิสัยตามหลัก Engawa เสมือนพื้นที่ภายในและภายนอกถูกเชื่อต่อเข้าหากัน
รับด้วยคอนโซลด้านหน้าที่ปูด้วยวัสดุพื้นผิวแบบกระดาษวาชิ

แล้วทำไมถึงต้องนำสถาปัตยกรรม Engawa มาไว้ใน UX ?

“UX ออกแบบมาเพื่อคนเมือง การขับรถในเมืองมีตรอกซอกซอยและมุมอับเยอะ คนขับจำเป็นต้องมองเห็นได้รอบที่สุด และบ่อยครั้งที่รถติด เราอยู่บนรถนานกว่าอยู่บ้านเสียอีก เราจึงพยายามนำบรรยากาศอบอุ่นแบบบ้าน มาไว้ในรถเสียเลย” ชิกะ คาโกะ หัวหน้าวิศวกร ผู้ออกแบบ UX อธิบาย  

สีเดียว ที่ต้องมองแล้วสวยได้หลายมุม

เมื่อพูดถึงงานศิลปะบนรถ คงไม่มีอะไรเด่นชัดไปกว่าการเพ้นท์สีอีกแล้ว และแน่นอนว่า เมื่อคุณเพ้นท์ด้วยจิตวิญญาณของช่างทาคุมิ สีที่ได้จึงทั้งละเอียดและเต็มไปด้วยชั้นเชิง 

สี Heat Blue Contrast Layering สำหรับ NX และ สี Blazing Carnelian Contrast Layering ของรถ UX ซึ่งจะสะท้อนประกายสีออกมาต่างกัน ขึ้นอยู่กับมุมของแสงที่ตกกระทบ

ที่เลกซัสจะมีเทคนิคการทำสีที่เรียกว่า Contrast Layering คือการเพ้นท์สีที่เป็นขั้วตรงข้าม ให้เกิดสีที่มีคาแรคเตอร์เฉพาะตัว ที่ทั้งสว่างสดใสและหม่นขรึมในเวลาเดียวกัน 

ทำไมต้องเป็นอย่างนั้น ? 

เพราะในแต่ละวัน รถย่อมต้องเจอกับสภาพแวดล้อมที่ให้แสงแตกต่างกัน ฉะนั้นทำอย่างไรให้สีของรถดูสวยในทุกสภาพแสง นี่คือโจทย์ใหญ่ที่ต้องระดมสมองกันทั้งนักวิทยาศาสตร์ วิศวกร ดีไซน์เนอร์ และผู้เชี่ยวชาญด้านสี 

(Photo : Lexus.co.uk)

จนได้วิธีการทำสีและเพ้นท์อันซับซ้อนที่ต้อง coating มากถึง 5 ชั้น สีต้องสวยเท่ากันทั้งคัน ภายนอกสวยอย่างไร ภายในต้องสวยอย่างนั้น แม้จุดนั้นจะถูกทับด้วยวัสดุอื่นจนมองไม่เห็นก็ตาม 

โดยเลกซัสใช้เวลากับกระบวนการเพ้นท์สียาวนานถึง 10 ชั่วโมง 

ด้วยความละเอียดและซับซ้อนขนาดนี้ เลกซัสจึงไม่สามารถปล่อยให้หุ่นยนต์ทำงานเพียงลำพังได้ จะต้องมีช่างเพ้นท์ระดับทาคุมิ ประกบอยู่ทุกขั้นตอน ซึ่งทุกคนต้องสามารถเพ้นท์สีได้อย่างคล่องแคล่วทั้งมือซ้ายและขวา     

สิ่งละอันพันละน้อย ความเป็นญี่ปุ่นแอบซ่อนในมุมต่างๆ  

เลกซัสพูดถึงปรัชญา Omotenashi หรือการบริการแบบญี่ปุ่นทุกครั้ง เมื่อมีการอธิบายถึงแนวคิดการออกแบบภายใน 

ปรัชญาดังกล่าว หากพูดง่ายๆ คือ ‘การคิดเผื่อ’ ว่าอะไรคือสิ่งที่ลูกค้าควรได้รับ อะไรคือสิ่งที่เขาต้องการ โดยที่บางทีเขาอาจจะยังไม่ทันคิดด้วยซ้ำ

ภายในรถเลกซัสทุกรุ่น จึงมักเต็มไปด้วยสิ่งละอันพันละน้อย ที่ซ่อนเอาไว้ให้เจ้าของรถ 

ยกตัวอย่าง ที่วางขวดหรือแก้วบริเวณคอนโซล เราคงไม่เคยคิดว่ามันควรต้องปรับระดับความสูงให้เหมาะสมกับของที่วางได้ แต่เลกซัสคิดมาเผื่อ 

RX จึงมาพร้อมกับที่วางแก้วปรับระดับ เพียงกดขวดลงไปเล็กน้อยหรือกดปลดล็อกให้ที่วางตื้นขึ้นมา ในกรณีของเครื่องดื่มกระป๋องหรือแก้วทรงเตี้ย โดยสามารถปรับได้ที่ความสูง 70 – 110 มม. เพื่อให้ผู้ใช้รถหยิบจับได้ถนัดที่สุดขณะขับรถ 

หรือในกรณีประสบปัญหาขากางเกงหรือชายกระโปรงเปื้อนฝุ่นและดินโคลนเมื่อก้าวลงจากรถ โดยเฉพาะถ้าคุณขับรถสายลุยอย่าง SUV หรือครอสโอเวอร์ 

เลกซัสก็ทำบานประตูให้มีชายล่างคลุมทับกรอบประตู ทำให้เวลาก้าวลงรถ จะไม่มีอะไรมาเปื้อนเสื้อผ้า

กรอบประตูถูกครอบด้วยยาง กันคราบเปื้อนเสื้อผ้าเจ้าเมื่อก้าวลงจากรถ

นอกจากนี้ ความสวยงามไร้ที่ติ คือสิ่งที่ผู้ครอบครองรถหรูทุกคนต้องการ 

ในครอสโอเวอร์รุ่นใหญ่อย่าง RX มีการเก็บส่วนเกินทุกอย่าง ให้อยู่ในจุดที่เนียนตาที่สุด อย่างที่ปัดน้ำฝนกระจกประตูหลัง เลกซัสจัดการซ่อนไว้อย่างมิดชิด จะโผล่มาให้เห็นเฉพาะเวลาเปิดใช้งานเท่านั้น 

ที่ปัดน้ำฝน ที่ซ่อนไว้อย่างมิดชิดของ RX

เสียงและแสงภายในห้องโดยสาร คือสิ่งที่เลกซัสต้องวิจัย ว่าแบบไหนผู้ใช้รู้สึกสบายที่สุด 

ใครจะคิดว่า เสียงปิดประตูจะถูกบรรจุอยู่ในงานวิจัย เพื่อค้นหาว่าเสียงแบบใดที่รู้สึกสบายหูที่สุดเวลาปิดประตู อีกอย่างคือปริมาณแสง ทีมออกแบบต้องทำให้แสงในห้องโดยสารพอดีที่สุด คือมองเห็นได้ชัดโดยไม่ทำร้ายสายตานั่นเอง 

แสงและเสียง คือองค์ประกอบสำคัญ ที่เลกซัสจริงจังถึงขั้นต้องมีการวิจัย

นี่เป็นเพียงตัวอย่างบางส่วน ที่เลกซัสพยายามจะตอบคำถามว่าครอสโอเวอร์ของพวกเขาแตกต่างจากที่มีในตลาดอย่างไร ทำไมตั้งแต่ปีแรกที่ Lexus RX เปิดตัวในปี 1998 ถึงกลายเป็นรถขายดีแซงหน้า Luxury SUV อื่นๆ ในอเมริกา และยังกรุยทางให้ NX และ UX ก้าวเข้ามาในตลาดในเวลาต่อมา

ซึ่งแน่นอนว่า ความสำเร็จนั้นประกอบด้วยเหตุผลหลายส่วน 

ไม่ใช่แค่เรื่องของ Craftsmanship เพียงอย่างเดียว 

“สมรรถนะ เครื่องยนต์ เทคโนโลยี” เหล่านี้คือส่วนสำคัญที่ผู้สร้างรถยนต์ต้องคำนึงถึงเป็นสำคัญ   

เพียงแต่นั่นไม่ใช่สิ่งแรกที่พวกเขาคิด 

สิ่งที่เลกซัสให้ความสำคัญเรื่องแรกคือ ‘คน’ ที่เป็นผู้ใช้รถยนต์

ไม่มีประโยชน์ หากจะโหมใส่ทุกอย่างลงไปในรถ แต่ผู้ใช้ไม่ได้ต้องการ

สิ่งที่ต้องยึดไว้เป็นศูนย์กลาง จึงควรเป็นความต้องการของผู้ใช้ แล้วค่อยมาดูว่า “สมรรถนะ เทคโนโลยี หรือฟังก์ชั่น” แบบไหนที่เหมาะสมที่สุดกับผู้ใช้รถแต่ละประเภท  

โดยเฉพาะรถครอสโอเวอร์หรือ SUV ที่ผู้คนจำต้องยอมรับว่า เป็นธรรมดาของรถสไตล์นี้ที่ไม่อาจมอบการขับขี่ที่สะดวกสบายถึงขั้นสุด แต่เลกซัสก็พยายามอย่างหนัก ที่จะมอบสัมผัสอีกแบบให้ลูกค้า  

ซึ่งนั่นตอบกลับมาที่ปรัชญาหลักของแบรนด์ คือ ‘Omotenashi’ ที่พวกเขาต้องมองให้ขาดว่าอะไรคือสิ่งที่ดีที่สุด ที่ลูกค้าของเขาควรได้รับ แล้วกล้ามอบสิ่งที่นั้นให้ โดยที่ลูกค้าไม่ต้องร้องขอ

สัมผัสกับประสบการณ์การขับขี่ที่แตกต่างของเลกซัสครอสโอเวอร์ด้วยตัวคุณเอง ลงทะเบียนเพื่อทดลองขับได้ที่  http://bit.ly/2nbKEy2

 

*จัดอันดับโดย J.D. Power 

 

อ้างอิง