คำว่า “ประเทศไทย” กับ “เทคโนโลยี” สองคำนี้ คงไม่คุ้นหูนักที่จะจับมาคู่กัน
แต่ “เทคโนโลยี” คือคำเดียวที่จะทำให้ “ประเทศไทย” มีจุดยืนในวันพรุ่งนี้
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้พระราชทานพระราชบรมราโชวาท ในปี พ.ศ.2539 เรื่องการพัฒนาประเทศตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง มีใจความตอนหนึ่งว่า
“…การจะเป็นเสือนั้นไม่สำคัญ สำคัญอยู่ที่เรามีเศรษฐกิจแบบพอมีพอกิน แบบพอมีพอกินนั้น หมายความว่าอุ้มชูตัวเองได้ ให้มีพอเพียงกับตนเอง…”
เราจะอุ้มชูตัวเองได้อย่างไร หากชาวสวนยางพารายังได้ราคายางดิบไม่ถึง 50 บาทต่อกิโลกรัม ในขณะที่ต่างชาตินำยางดิบไปแปรรูปเป็นยางรถยนต์ แล้วกลับมาขายคนไทย ในราคาเส้นละหลายพันบาท
เราจะอุ้มชูตัวเองได้อย่างไร หากโทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ ทีวี ตู้เย็น แบตเตอรี่ กล้องถ่ายรูป หม้อหุงข้าว เครื่องปรับอากาศ เครื่องซักผ้า ลำโพง รถยนต์ รถไฟ เครื่องบิน จานดาวเทียม จีพีเอส อุปกรณ์การแพทย์ เครื่องถ่ายเอกสาร และอื่นๆ อีกมากมาย ล้วนเป็นเทคโนโลยีที่นำเข้าจากต่างประเทศทั้งสิ้น
หากขาดซึ่ง “เทคโนโลยี” ของตัวเองแล้ว “ประเทศไทย” ก็ไม่สามารถตั้งอยู่บนฐานของความพอเพียงได้ แม้แต่อัตลักษณ์ความเป็นไทย ก็อาจไม่สามารถรักษาไว้ได้
ในยุคสมัยที่เทคโนโลยีพัฒนาอย่างทวีคูณ ประเทศที่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศตลอดเวลา ก็ไม่ต่างอะไรกับการ “เสียเอกราช” ทางเทคโนโลยี
ด้วยเหตุดังนี้ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ “ประเทศไทย” จะต้องมี “เทคโนโลยี” ของตนเอง
อย่างไรก็ตาม อันดับแรก คนไทยต้องทำความเข้าใจ “ธรรมชาติของเทคโนโลยี” ซึ่งมีลักษณะเด่นอยู่ 3 ประการเสียก่อน คือ
1. เทคโนโลยีอุบัติใหม่นั้น“เหนือจินตนาการ”
ตัวอย่างเช่น ถ้าหากท่านไปพูดเรื่องโทรศัพท์มือถือและคอมพิวเตอร์ให้คนในยุคสมัยกรุงศรีอยุธยาฟัง แน่นอนว่าก็จะเป็นเรื่องลี้ลับของคนในยุคนั้น ดังคำกล่าวของ อาร์เธอร์ ซี. คลาร์ก (Arthur C. Clarke) นักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ชื่อดังชาวอังกฤษว่า “เทคโนโลยีที่ล้ำยุคมากพอ ก็ไม่ต่างอะไรไปจากเวทมนต์คาถา”
เฉกเช่นเดียวกัน คนในยุคปัจจุบันก็ไม่สามารถคาดเดาเทคโนโลยีในอนาคตได้ ตัวอย่างเช่น “เทคโนโลยีควอนตัม” ในอนาคตเราจะมีคอมพิวเตอร์ที่ประมวลผลโดยใช้จักรวาลคู่ขนาน ด้วยความเร็วที่เพิ่มขึ้นมหาศาล เราจะมีเทคโนโลยีการสื่อสารโดยการส่งข้อมูลแบบเทเลพอร์ตที่ดักฟังไม่ได้ เราจะมีนาฬิกาที่ทำจากอะตอมหนึ่งตัว สามารถเพิ่มความแม่นยำให้จีพีเอสในระดับที่ขยับนิ้วเดียวก็รู้ได้
เทคโนโลยีเหล่านี้ แม้ฟังดูเป็นเรื่องเหลือเชื่อ แต่ก็เป็นเรื่องที่ทั่วโลกกำลังพัฒนาอย่างจริงจัง ถึงขั้นว่าทางยุโรปตั้งเป็น “วาระการวิจัยแห่งทวีป” ระยะเวลาสิบปีเลยทีเดียว โดยเริ่มต้นที่ปี พ.ศ. 2561 นี้
ดังนั้น ด้วยลักษณะ “เกินจินตนาการ” ดังกล่าว การพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ในประเทศไทย จึงไม่ควรตั้งต้นจากผลิตภัณฑ์ แต่ต้องตั้งต้นจากการ “สร้างคน” และการค้นหาความจริงใหม่ๆ ของธรรมชาติ หรือที่เรียกกันว่า “วิทยาศาสตร์บริสุทธิ์”
2. เทคโนโลยีอุบัติใหม่เกิดขึ้นจากการลงทุนด้านวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์อย่าง “ต่อเนื่องและยาวนาน”
ตัวอย่างเช่น ทรานซิสเตอร์ ซึ่งเป็นองค์ประกอบหลักของคอมพิวเตอร์ในปัจจุบัน ถูกสร้างขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ.1947 โดยนักฟิสิกส์ชาวอเมริกาสามคน เป็นผลให้ทั้งสามท่านได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ในปี ค.ศ.1956 ซึ่งเป็นเวลายี่สิบปีก่อนที่ สตีฟ จ็อบส์ (Steve Jobs) จะก่อตั้งบริษัทแอปเปิ้ล ส่วนทฤษฏีการทำงานของคอมพิวเตอร์นั้น คิดกันมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1936 โดย แอลัน ทัวริง (Alan Turing) นักคณิตศาสตร์ชาวอังกฤษ
อีกตัวอย่างหนึ่งคือ เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ machine learning ที่กำลังเป็นที่นิยมกันในเวลานี้ แม้จะเริ่มเป็นที่รู้จักในช่วงสิบปีที่ผ่านมา จากงานวิจัยในปี ค.ศ.2006 ของศาสตราจารย์ เจฟฟรีย์ ฮินตัน (Geoffrey Hinton) นักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ สัญชาติอังกฤษ-แคนาดา แท้จริงแล้ว ปัญญาประดิษฐ์นั้นถูกพัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1943 เมื่อนักวิทยาศาสตร์เริ่มจำลองการทำงานของเซลล์สมองโดยใช้วงจรไฟฟ้า
ดังนั้นการที่ประเทศไทยปรับตัวเข้ากับปัญญาประดิษฐ์ในเวลานี้ แม้จะดูเป็นเรื่องทันสมัย แต่ก็ถือว่าติดกับดัก “เมืองขึ้นทางเทคโนโลยี” ไปเสียแล้ว นั่นคืออย่างดีที่สุดเราเป็นได้แค่ “ผู้ซื้อที่ชาญฉลาด” แต่ยังไม่ใช่ “ผู้สร้างเทคโนโลยี”
3. เทคโนโลยีอุบัติใหม่นั้น “ความเสี่ยงสูง”
มีเพียง 10% ของเทคโนโลยีอุบัติใหม่เท่านั้นที่นำไปสู่การใช้งานจริงได้ ปรากฏการณ์นี้ในภาษาอังกฤษมีชื่อเรียกว่า Valley of death หรือ “หุบเขามรณะ” ซึ่งยืมชื่อมาจากสถานที่สังหารหมู่ของกลุ่มนาซี ในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง
จากลักษณะทั้งสามประการข้างต้น จะเห็นว่าการพัฒนาเทคโนโลยีของตนเองนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ต้องทำเพื่อความอยู่รอด เปรียบเสมือน “การปฏิบัติธรรม” กล่าวคือ เป็นหน้าที่ เป็นการเข้าถึงความจริงของธรรมชาติ ซึ่งต้องอาศัยทั้งความเพียร เวลา และไม่รีบหวังผลในระยะสั้น
หากเปรียบเทคโนโลยีเป็นสายน้ำ และวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์เป็นผืนป่าแล้ว คำถามแรกที่ประเทศต้องถาม ไม่ใช่ว่าเราจะเอาผืนป่าและสายน้ำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างไร แต่ต้องถามว่า “เราจะสร้างระบบนิเวศน์และผืนป่าได้อย่างไร?”
ข่าวดี ประเทศไทยมีเมล็ดพันธุ์ชั้นยอดอยู่เป็นจำนวนมาก เมล็ดพันธุ์เหล่านี้คือนักเรียนไทยที่ไปคว้าเหรียญโอลิมปิกทุกปี และกลุ่มนักเรียนที่จบจากมหาวิทยาลัยท็อปของโลกในทุกๆ ปี เมื่อนำมาเพาะให้เติบใหญ่ ต้นกล้าเหล่านี้ก็พร้อมจะเติบโตเป็น “ไม้สักที่มีมูลค่ามหาศาล” ต่อไป
ข่าวร้าย ที่ผ่านมาประเทศไทยต้องการใช้ประโยชน์แต่ในระยะสั้น จึงได้ตัดไม้สักเหล่านั้น “เอาไปทำฟืน” เสีย
ประเทศไทยต้อง “หยุดทำลายป่าไม้เชิงเทคโนโลยี”ทั้งภาครัฐและเอกชนต้องหันมาสนับสนุนให้เมล็ดพันธุ์เหล่านั้นได้เติบโต และใช้ศักยภาพของตัวเองอย่างเต็มที่ นอกจากนี้เราก็ต้องเพิ่ม “โครงการปลูกป่า” คือโครงการสนับสนุนผู้มีความสามารถพิเศษด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบของทุนรัฐบาล ทั้งผูกมัดก็ดี ไม่ผูกมัดก็ดี หรือโรงเรียนวิทยาศาสตร์ เช่น โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ โรงเรียนกำเนิดวิทย์ และกลุ่มโรงเรียนจุฬาภรณ์ สิ่งเหล่านี้ต้องมีจำนวนมากขึ้น
นักวิจัย ภาครัฐ และเอกชน ต้องพร้อมที่จะเรียนรู้จากกันและกัน โดยไม่ถือว่าใครรู้มากกว่าใคร เกิดเป็น “ระบบนิเวศน์ทางวิทยาศาสตร์” ที่แข็งแรง
ในอนาคตเราจะต้องไม่มีคำว่า “Made in Thailand” ที่ลงท้ายด้วย “by Japan Technology” แต่จะต้องเป็น “Made in Thailand by Thai Technology”
เมื่อ “ประเทศไทย” และ “เทคโนโลยี” เป็นคำที่มาคู่กัน เมื่อนั้นเราก็จะมีเอกราชทางเทคโนโลยี อุ้มชูตัวเองได้
และตั้งอยู่บนหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง อย่างแท้จริง.
• อ่านบทความอื่นๆ ในซีรีส์ common TOMORROW