w©rld

อาร์ม ตั้งนิรันดร คือนักวิชาการรุ่นใหม่ จบปริญญาตรี โท เอก ด้านกฎหมายจากจีนและอเมริกา ซึ่งเป็นสองประเทศมหาอำนาจในโลกสมัยใหม่

การได้ศึกษาและใช้ชีวิตในสองประเทศผู้ยิ่งใหญ่ บวกกับการพยายามทำความเข้าใจโลกอย่างรอบด้าน ทำให้ อาร์ม ตั้งนิรันดร หรือที่ผมเรียก “อาจารย์อาร์ม” อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ย้อนมองจีนอย่างเข้าใจ จนได้รับการยกย่องให้เป็นกูรูรู้เรื่องจีนที่หลายคนอยากเรียกใช้บริการ

สำหรับคนที่เคยอ่านหนังสือ CHINA 5.0 ของเขาที่พูดถึงเรื่องจีนอย่างรอบด้าน และอ่านสนุก (มาก) จนติดอันดับหนังสือขายดีอันดับหนึ่งหลายสัปดาห์ คงไม่ต้องพูดเยอะ (เจ็บคอ…) ว่า อาร์ม ตั้งนิรันดร รู้จักจีนแค่ไหน

ส่วนคนที่เพิ่งจะรู้จักอาจารย์หนุ่มคนนี้ ไม่เป็นไร เพราะสิ่งที่น่าสนใจคือทัศนะของเขาเกี่ยวกับผลกระทบที่จีนจะมีต่อโลกและไทยในปี 2019

“ถ้าถามถึงปี 2019 อันดับแรกที่เห็นก็คือทิศทางของความยุ่งเหยิง วุ่นวาย ความไม่แน่นอนที่มากขึ้น เพราะระเบียบโลกที่มีขั้วนำหลายขั้ว ขณะเดียวกันจีนก็คงจะบุกต่างประเทศมากขึ้น แน่นอน ประเทศเราที่อยู่ใกล้จีน ก็จะได้รับอิทธิพลจากจีนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นนักท่องเที่ยวที่หลั่งไหลเข้ามา หรือแม้กระทั่งนักธุรกิจที่เข้ามาลงทุน ซึ่งเรื่องพวกนี้ก็จะเป็นความท้าทาย”

นี่แค่น้ำจิ้ม ถ้าอยากรู้เช่นเห็นจีนในปี 2019 มากกว่านี้ เชิญไปต่อกันที่อาหารจานหลักด้านล่าง…

“ผมคิดว่าแนวโน้มในระยะยาวนักท่องเที่ยวจีนจะกลับมา เพราะว่าไทยเป็นตลาดท่องเที่ยวที่ราคาถูก มีที่ให้เที่ยวเยอะ แล้วก็สบาย”

อาร์ม ตั้งนิรันดร

ถ้าในโลกยุคใหม่ จีนกลายเป็น ‘วิชาบังคับ’ อย่างที่อาจารย์เขียนไว้ในหนังสือ CHINA 5.0 อะไรคือสิ่งที่อาจารย์อยากไฮไลท์ในวิชานี้

สิ่งที่เราต้องรู้หลักๆ ก็น่าจะเป็น 4 ด้านด้วยกัน คือเรื่องประวัติศาสตร์ เศรษฐกิจ การเมือง และเทคโนโลยีครับ

ผมว่าไม่ว่าจะสอนเรื่องจีนยังไงก็ตาม ประวัติศาสตร์เป็นเรื่องสำคัญ เวลาที่เราดูจีนในเรื่องต่างๆ เราจะเห็นว่ามันมีเงาของประวัติศาสตร์อยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นในภาษา ในการพูด ในคำต่างๆ ล้วนเชื่อมโยงไปถึงประวัติศาสตร์

ทีนี้เวลาที่ผมพูดถึงจีนว่าเป็นวิชาบังคับ มันก็คือการทำความเข้าใจจีนจากมิติต่างๆ โดยเห็นความเชื่อมโยงของแต่ละมิติ ผมไม่ค่อยเห็นด้วยกับการที่บอกว่า ควรจะเจาะเฉพาะเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ถ้าเราคิดแบบแยกส่วนแบบนี้ เราจะไม่สามารถเข้าใจภาพของจีนได้จริงๆ ฉะนั้นที่ผมบอกว่าจีนเป็นวิชาบังคับ ผมเรียกมันในความหมายที่ว่าเราต้องบังคับให้เราเข้าใจ แล้วก็รู้เท่าทันจีน ซึ่งการจะเป็นอย่างนั้นได้ เราจะต้องมองให้เห็นมิติที่หลากหลายที่เชื่อมโยงอยู่ด้วยกัน

อาร์ม ตั้งนิรันดร

อาร์ม ตั้งนิรันดร

คนไทยวันนี้รู้จักจีนหลักๆ อยู่ไม่กี่เรื่อง เช่น เทคโนโลยี หรือไม่ก็แจ็ค หม่า เท่าที่อาจารย์สัมผัสคิดว่า เราควรเพิ่มความเข้าใจจีนในมิติไหนอีกบ้าง

ผมว่ามันเป็นสองส่วนนะครับ เรื่องแรกคือเรื่องที่ขาด เรายังขาดความเข้าใจเรื่องระบบการเมือง และระบบเศรษฐกิจของจีน ที่พูดอย่างนี้ก็เพราะว่าจีนมีความซับซ้อน ฉะนั้นการที่เราจะใช้คำหนึ่งมาอธิบายจีน มันไม่สามารถที่จะอธิบายได้ครบถ้วน สมมติเราบอกว่าจีนเป็นเผด็จการ หรือเราบอกว่าจีนเป็นทุนนิยมหรือเป็นสังคมนิยม มันก็อธิบายได้ไม่ครบถ้วน เพราะว่าจีนมีรายละเอียดที่ค่อนข้างเป็นเอกลักษณ์และแตกต่างจากประเทศอื่น โดยทั่วไป ผมคิดว่า เรามีคนสนใจประวัติศาสตร์จีนมาก ตอนนี้คนก็สนใจในเทคโนโลยี แต่ว่าในเรื่องพื้นฐานอย่างการเมืองและเศรษฐกิจยังมีคนสนใจน้อย

ส่วนเรื่องที่สอง พอเราสนใจแบบแยกส่วน มันก็เลยมองไม่เห็นการเชื่อมโยงของมิติต่างๆ ที่ว่ามา ก็คือเรามีคนที่เชี่ยวชาญหรือว่าสนใจจีน แต่เค้าสนใจเรื่องประวัติศาสตร์ สนใจเรื่องเทคโนโลยี สนใจเรื่องการเมือง แต่ว่าสุดท้ายแล้วเนี่ย ภาพเหล่านี้ ผมคิดว่าภาพความเชื่อมโยงกัน มันเป็นภาพที่สำคัญ

“กฎหมายเราหลายๆ เรื่องตอนนี้ก็ห้ามต่างชาติทำ เช่น ธุรกิจหลายอย่างที่เกี่ยวกับบริการ แต่เอาจริงๆ แล้วก็มีต่างชาติจำนวนมากที่ทำในลักษณะของนอมินี แต่เรื่องนอมินีก็ไม่ใช่เฉพาะประเทศจีนนะครับ นอมินีก็มีท้ังนอมินีจีน นอมินีฝรั่ง แต่ตอนนี้เราก็ทำเหมือนหลับตาข้างหนึ่ง เพราะเราก็บอกว่าถ้าเรากวาดล้างจริงๆ มันก็กระทบกับเศรษฐกิจ”

ภาพจีนวันนี้ที่อาจารย์เห็น จากการมองผ่านหลายๆ มิติ เป็นยังไงครับ

จีนในวันนี้เป็นจีนที่ผมคิดว่า เป็นการผสมของสิ่งที่ขัดแย้งและอยู่ตรงกันข้ามกันในตัวเองเยอะมาก ซึ่งเป็นความแตกต่างที่สำคัญระหว่างตะวันตกกับจีน คือตะวันตก สมมติเราพูดถึงระบบตลาด ระบบทุนนิยม เขาจะเลือกทิศทางชัดเจน และมีความสอดคล้องในทางตรรกะที่ค่อนข้างชัดเจน แต่ว่าวิธีคิดของคนจีนเขาสามารถที่จะอยู่กับสิ่งที่ขัดแย้งกัน สิ่งที่ตรงกันข้ามกัน สิ่งที่ดูไม่เข้ากันได้

ยกตัวอย่างเราพูดถึงลัทธิความเชื่อในจีน เราจะบอกว่าจีนในสมัยราชวงศ์ มีลัทธิความเชื่อ 3 ลัทธิ ก็คือขงจื่อ เต๋า แล้วก็ศาสนาพุทธ แต่คนจีนไม่ได้มีความรู้สึกว่า มันต้องเป็นขงจื่อ เป็นเต๋า หรือต้องเป็นพุทธเท่านั้น แต่จีนจะเห็นว่าแต่ละลัทธิความเชื่อ มันมีข้อดี แล้วก็มีข้อด้อยในตัวเอง แล้วก็เอาแต่ละจุดมาเสริมกัน แต่ว่าจริงๆ แล้ว 3 ลัทธินี้ก็เป็นสิ่งที่มีความขัดแย้งกัน แต่ว่ามันอยู่ด้วยกันได้

เพราะฉะนั้นผมคิดว่าจีนเป็นประเทศที่มีลักษณะอย่างนี้สูงมาก คือมีสิ่งที่ขัดแย้งกัน แต่ว่าสุดท้ายมันก็ผสมผสานอยู่ด้วยกันได้ อย่างเช่นจีนเป็นระบบพรรคเดียว แต่ขณะเดียวกันก็มีการกระจายอำนาจที่สูง และมีระบบในการทำนโยบายที่ค่อนข้างเป็นประชาธิปไตย ขณะเดียวกันเราก็บอกว่าจีนเป็นระบบสังคมนิยมที่มีรัฐเป็นตัวนำ แต่จีนก็มีภาคเอกชนที่ใหญ่ เราก็จะเห็นความซับซ้อนเหล่านี้อยู่ในประเทศจีนสมัยใหม่ แต่อย่างไรก็ตามผมคิดว่าทั้งหมดนี้มีพื้นฐานมาจากวิธีคิดที่ค่อนข้างยืดหยุ่นของคนจีน คนจีนจะเรียกว่าเป็นวิธีคิดแบบหยิน-หยาง ก็คือ ทุกสิ่งในดำมีขาว ในขาวมีดำ แล้วก็หมุนเวียนเปลี่ยนผ่านไป

สี จิ้นผิง สีจิ้นผิง เหมา เจ๋อตุง เหมาเจ๋อตุง
สี จิ้นผิง ผู้นำรุ่นที่ 5 (ด้านหลัง) กับเหมาเจ๋อตุง ผู้นำรุ่นที่ 1 (Photo: Greg Baker / AFP)

อาจารย์เขียนแนวโน้มอนาคตของจีนไว้ค่อนข้างเยอะในหนังสือ China 5.0 ว่าจีนมีนโยบายที่จะไปต่อในอนาคตอย่างไร ทีนี้ถ้ามองกลับมาใกล้ๆ อย่างปี 2019 อาจารย์เห็นว่าจีนจะกระทบต่อโลกและไทยอย่างไรบ้าง

ผมคิดว่าในรอบ 40 ปีนี้ การผงาดขึ้นมาของจีน เป็นเรื่องที่เปลี่ยนแปลงโลกมากที่สุด เพราะฉะนั้นเราอยู่ในยุคที่ระบบโลกกำลังจะเปลี่ยนแปลง จากระเบียบโลกที่นำโดยสหรัฐฯ ตอนนี้กำลังจะเปลี่ยนเป็นระเบียบโลกที่นำโดยหลายๆ ขั้วอำนาจ อาจจะไม่ใช่เฉพาะจีนนะครับ แต่รวมถึงการก้าวขึ้นมาของหลายๆ ประเทศในเอเชีย เช่น รัสเซีย

ถ้าถามถึงปี 2019 อันดับแรกที่เห็น ก็คือทิศทางของความยุ่งเหยิง วุ่นวาย ความไม่แน่นอนที่มากขึ้น เพราะระเบียบโลกที่มีขั้วนำหลายขั้ว ขณะเดียวกัน จีนก็คงจะบุกต่างประเทศมากขึ้น ประเทศเราที่อยู่ใกล้จีน ก็จะได้รับอิทธิพลจากจีนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นนักท่องเที่ยวที่หลั่งไหลเข้ามา หรือแม้กระทั่งนักธุรกิจที่เข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจ ซึ่งเรื่องพวกนี้ก็จะเป็นความท้าทาย

สมัยก่อนเราบอกว่าเราเคยมีคนจีนโพ้นทะเลใช่ไหมครับ ที่มาเสื่อผืนหมอนใบ แต่ตอนนี้คนจีนเป็นเศรษฐีกันหมดแล้ว โดยเฉพาะคนจีนรุ่นใหม่ที่เข้ามาแสวงหาโอกาส เรื่องพวกนี้ทำให้ผมคิดว่าไม่ว่าอย่างไรก็ตาม เราปฏิเสธไม่ได้เลยว่าจีนจะมีอิทธิพลมาก ทั้งต่อไทยและต่อโลก

แต่ปี 2018 ที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวจีนลดลงนะครับ

ผมคิดว่าแนวโน้มในระยะยาวนักท่องเที่ยวจีนจะกลับมา เพราะว่าไทยเป็นตลาดท่องเที่ยวที่ราคาถูก มีที่ให้เที่ยวเยอะ แล้วก็สบาย

อาร์ม ตั้งนิรันดร

นี่คือตอบในฐานะคนที่เคยไปใช้ชีวิตอยู่จีน 6 ปี และอเมริกา 5 ปีใช่ไหม

ใช่ๆ ประเทศไทยเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ดีมาก ขณะเดียวกันในด้านเศรษฐกิจ ด้วยความกดดันจากสงครามการค้า ก็คงทำให้จีนต้องบุกมาหาตลาด รวมทั้งฐานการผลิตภายนอกประเทศ ซึ่งก็ต้องดูว่าจะเข้ามาไทยมากน้อยแค่ไหน เพราะตอนนี้ภาพที่เห็นก็ยังไม่ค่อยชัดเจน รัฐบาลมียุทธศาสตร์พัฒนาเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรือ EEC ใช่ไหมครับ แต่ตอนนี้ก็ยังเป็นช่วงเริ่มต้น แล้วก็ยังไม่ชัดเจนเท่าไหร่ว่า EEC จะประสบผลสำเร็จ หรือจะดึงดูดนักลงทุนได้มากน้อยแค่ไหน แต่ว่าถ้าเราจะดึงดูดนักลงทุน ผมคิดว่าเป้าหมายหลักของเราที่แน่นอนก็คือดึงดูดนักลงทุนจีน

ส่วนด้านเทคโนโลยี ตอนนี้เราก็จะเห็นบริษัทด้านเทคโนโลยีใหญ่ๆ ของจีนบุกเข้ามาในไทยเรียบร้อยแล้ว Lazada เป็นของอาลีบาบา Shopee เป็นของเทนเซน แล้ว JD ก็เป็นของเซ็นทรัล แล้วอาลีบาบาก็มีความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนปริมาณมหาศาลในประเทศไทย เพื่อใช้ไทยเป็นฐานโลจิสติสก์ เพราะฉะนั้นในช่วงหนึ่งปีต่อจากนี้ก็จะมีความเคลื่อนไหวเหล่านี้แน่นอน ที่ทุนจีนจะบุกเข้ามาเยอะขึ้น

ขณะเดียวกันในเรื่องเทคโนโลยี สิ่งหนึ่งที่ผมคิดว่าน่าสนใจก็คือบริษัทเทคโนโลยีจีนมีความสนใจตลาดในประเทศกำลังพัฒนามากกว่าบริษัทฝรั่ง แล้วก็มีทัศนะที่ต่างจากบริษัทฝรั่งด้วย เพราะว่าบริษัทฝรั่ง เช่น เฟซบุ๊ก กูเกิ้ล เวลาทำโปรดักส์ขึ้นมาอันหนึ่ง ก็จะทำเป็นมาตรฐาน แล้วก็ใช้กันทั่วโลก แต่ว่าบริษัทเทคโนโลยีจีนจะมีความรู้สึกว่า เขาต้องทำโปรดักส์ที่ตอบสนองต่อตลาดภายในประเทศนั้นๆ พูดง่ายๆ ก็คือเราจะเห็นอาลีบาบาเข้ามาก็มาผ่าน Lazada ส่วน JD ก็คือการร่วมมือกับเซ็นทรัลซึ่งเป็นหุ้นส่วนไทย Shopee ก็เป็นตัวแทนของเทนเซน

เพราะฉะนั้นผมว่าในอนาคตจะมี local product อีกหลายตัว ซึ่งสุดท้ายอาจจะถูกจีนมาเทก หรือว่าจีนให้เทคโนโลยีบางอย่าง แต่ขณะเดียวกัน ก็จะทำให้การพัฒนาด้านเทคโนโลยีของไทยไปได้เร็วขึ้น

“การเชื่อมั่นในระบบประชาธิปไตย การรักษาสิทธิเสรีภาพของประชาชน เรื่องพวกนี้เราต้องไม่สั่นคลอน ต้องไม่เอาจีนมาเป็นข้ออ้างว่าเห็นไหม เขาเป็นแบบนี้ก็ยังทำได้เลย หรือว่าเขาละเมิดสิทธิคนกลุ่มหนึ่งเพื่อประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ก็ยังได้ ผมเห็นหลายคนที่สนับสนุนโมเดลแบบอำนาจนิยมก็จะใช้จีนเป็นตัวอย่าง โดยที่จริงๆ แล้วอาจจะยังไม่เข้าใจความซับซ้อนในจีนอย่างเพียงพอ”

แจ็ค หม่า ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลุงตู่ นายกรัฐมนตรี ประเทศไทย ไทยแลนด์ 4.0 อีอีซี EEC
แจ็ค หม่า ผู้ก่อตั้งอาลีบาบา บริษัทอีคอมเมิร์ชระดับโลกของจีน จับมือกับประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ นายกรัฐมนตรีไทยคนที่ 29 ระหว่างประกาศความร่วมมือลงทุนในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC (Photo: Jorge Silva / Pool / AFP)

พอพูดถึงการเข้ามาของจีน หลายคนก็มองว่าเป็นโอกาส แต่อีกหลายคนก็กลัวว่าจะมากลืนธุรกิจไทย หรือมาแย่งงานคนไทย ซึ่งตอนนี้ก็ยังเสียวๆ กันอยู่

ผมว่าประเด็นนี้นะครับ ก็อยู่ที่เรามีวิธีการที่จะ regulate อย่างไร แต่มันคงไม่ใช่การไปกีดกันเขา เพราะว่าไม่อย่างนั้นเราก็จะเสียประโยชน์ทางเศรษฐกิจและธุรกิจมหาศาล เมื่อก่อนเราเคยบอกว่า เราไม่ต้องการให้คนจีนมาเที่ยวเลย เพราะมาแล้วก็ทำพฤติกรรมไม่เหมาะสม แต่พอเขาไม่มาเที่ยวจริงๆ เราก็บอกว่ามันกระทบ GDP กระทบความเชื่อมั่น แล้วก็ไปกระทบเศรษฐกิจฐานรากอีกเยอะ

เพราะฉะนั้น ผมคิดว่ามันคงไม่ใช่คำถามจะเอาจีนหรือไม่เอาจีน จะกีดกันจีนออกไปดีไหม แต่คงเป็นคำถาม ถ้าเปิดรับจีนเข้ามา เราจะใช้ประโยชน์ยังไง เช่น เราได้มีโอกาสที่จะเรียนรู้ และใช้ประโยชน์จากการพัฒนาทางเทคโนโลยีของเขาไหม อย่างในภาคอสังหาริมทรัพย์ เราจะลิมิตจีนแค่ไหน การเข้ามาลงทุนสิทธิ์ในที่ดิน จีนมีได้มากน้อยแค่ไหน

พวกนี้ผมว่าเป็นคำถามเกี่ยวกับ “How” มากกว่า แต่ว่ามันคงไม่ใช่ช้อยท์ระหว่างเราจะเอาจีนหรือไม่เอาจีน

อาร์ม ตั้งนิรันดร

อาร์ม ตั้งนิรันดร

ในมุมของนักกฎหมาย อาจารย์มองเรื่องการ regulate หรือออกกฎระเบียบควบคุมจีนของภาครัฐวันนี้อย่างไร

อันดับแรก ผมคิดว่าความคิดพื้นฐานเรายังไม่ชัดเจนเท่าไหร่ ตกลงแล้วเรายินดีหรือไม่ยินดีที่จีนเข้ามา อันดับถัดมา กฎหมายเราหลายๆ เรื่องตอนนี้ก็ห้ามต่างชาติทำ เช่น ธุรกิจหลายอย่างที่เกี่ยวกับบริการ แต่เอาจริงๆ แล้วก็มีต่างชาติจำนวนมากที่ทำในลักษณะของนอมินี แต่เรื่องนอมินีก็ไม่ใช่เฉพาะประเทศจีนนะครับ นอมินีก็มีทั้งนอมินีจีน นอมินีฝรั่ง แต่ตอนนี้เราก็ทำเหมือนหลับตาข้างหนึ่ง เพราะเราก็บอกว่าถ้าเรากวาดล้างจริงๆ มันก็กระทบกับเศรษฐกิจ

เพราะฉะนั้นผมว่าถ้าเราจะตั้งต้น เราคงต้องมาตั้งคำถามพื้นฐานว่า ตกลงเราจะเอาไม่เอาจีน เรื่องนอมินีก็เหมือนกัน ตกลงเราจะทำให้มันอยู่บนดินชัดเจนไปเลย แล้วก็หาทาง regulate โดยวิธีอื่น หรือว่าเราจะยอมเป็นรูปแบบนอมินี เรื่องพวกนี้เป็นปัญหาที่ผมคิดว่าเป็นปัญหาสองปัญหาที่แยกกันนะครับ ปัญหาหนึ่งก็คือปัญหาการบังคับใช้กฎหมาย เราบอกว่าตอนนี้มีกฎหมายแบบนี้ เฮ้ย แต่ว่าทำไมการบังคับใช้ สุดท้ายมันบังคับใช้ไม่ได้ นี่เป็นปัญหาหนึ่ง แต่อีกปัญหาที่ผมอยากชี้ให้เห็น ก็คือเราจะดีไซน์ระบบทั้งหมดใหม่อย่างไร ด้วยความคิดพื้นฐานแบบไหน

ก่อนหน้านี้อาจารย์เคยเข้าไปช่วยศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์ไทยจีนในฐานะผู้อำนวยการ มีส่วนร่วมในการออกแบบการศึกษาและส่งเสริมเรื่องจีนในไทย ตรงนี้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกำหนดแนวคิดในการดีไซน์ระบบตรงนี้มากน้อยแค่ไหน

ครับ ก็คือมีอยู่ช่วงหนึ่งที่รัฐบาลคิดว่าควรจะต้องมียุทธศาสตร์เกี่ยวกับประเทศจีน หรือว่ามีคนที่คิดว่าประเทศไทยจะตั้งรับประเทศจีนอย่างไร ก็เลยตั้งเป็นศูนย์ขึ้นมาในสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ซึ่งดูแลเรื่องแผนวิจัยของประเทศ หลักคิดก็คือจะได้มีการบูรณาการงานวิจัยที่เกี่ยวกับจีน รวมทั้งนักวิชาการที่ทำงานวิจัยเกี่ยวกับจีน เพื่อที่จะได้คุยกันถึงยุทธศาสตร์ของไทยต่อจีนว่ามันควรจะเป็นอย่างไร แต่ว่าบทบาทของศูนย์ก็ค่อนข้างจะขึ้นอยู่กับรัฐบาล ว่ารัฐบาลในแต่ละช่วงสนใจเรื่องจีน และสนใจการคิดเชิงยุทธศาสตร์มากน้อยแค่ไหน คือของไทยก็คงต่างจากจีนใช่ไหม เพราะว่าจีนจะมีกลไกในการกำหนดนโยบายที่ชัดเจน มีภาคที่ไปทำวิจัย จากนั้นก็มากำหนดเป็นยุทธศาสตร์ ขณะที่ของไทย นโยบายและยุทธศาสตร์เรายังไม่ได้มีกระบวนที่ชัดเจนเท่ากับจีน

อาร์ม ตั้งนิรันดร
อาร์ม ตั้งนิรันดร ในงานเสวนา “China 5.0: เศรษฐกิจ การเมือง เทคโนโลยี และกฎหมาย ในจีนยุคใหม่” ณ ห้องประชุม ศ.ดร.อุกฤษ มงคลนาวิน ชั้น 5 คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 5 กันยายน พ.ศ.2561

ช่วงที่ได้เข้าไปมีส่วนรวมในศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์ไทยจีน อาจารย์เห็นอะไร

คิดว่าเราพูดได้ในภาพกว้าง ก็คือเราจะทำยังไงที่จะใช้ประโยชน์จากเกมการเมืองระหว่างประเทศ คำว่า “เกมการเมืองระหว่างประเทศ” ก็คือ ในโลกที่เราบอกว่าสหรัฐแข่งกับจีน เราจะเล่นเกมยังไงที่เราจะได้ประโยชน์จากทั้งคู่ เพราะทั้งคู่ก็ต้องการเรา ทีนี้เราสามารถที่จะใช้ประโยชน์จากตรงนี้ได้มากน้อยแค่ไหน เราก็จะเห็นว่าประเทศที่ดูเล่นเกมเก่งทีเดียวก็คือสิงคโปร์กับมาเลเซีย เขาจะมีลักษณะการใช้ภาพการเมืองระหว่างประเทศให้เป็นประโยชน์กับการดำเนินนโยบายของเขา

ทีนี้ของเรา ผมคิดว่าภาพเรายังไม่ชัดเจน เราก็จะออกไปในแนวไทยจีนไม่ใช่อื่นไกล เป็นพี่น้องกัน หลายครั้งเราก็เลยตกลงกับจีนอย่างง่ายๆ โดยที่เรายังไม่เก่งในเรื่องการเล่นเกมระหว่างประเทศเท่าไหร่ แต่ขณะเดียวกันยุทธศาสตร์ก็ไม่ได้มีภาพกว้างอย่างเดียว มันก็มีรายละเอียดเป็นเรื่องๆ ไป ซึ่งตรงนี้เรายังมีการทำวิจัยน้อย เช่น การค้าชายแดน การคมนาคมขนส่ง ในเรื่องพวกนี้เราจะมียุทธศาสตร์อย่างไร เวลาเราพูดถึงยุทธศาสตร์อีกภาพหนึ่งก็คือ หลายอย่างเราดำเนินการกันแบบแยกส่วน กระทรวงหนึ่งรับผิดชอบเรื่องหนึ่ง แล้วต่างคนต่างทำงาน แต่ว่าบางเรื่องมันต้องประสานหลายกระทรวง ทีนี้พอไม่มียุทธศาสตร์ภาพใหญ่ที่ชัดเจน ก็ไม่มีเป้าหมายที่ชัดเจน ทำให้สุดท้ายเราไม่รู้จริงๆ ว่าเราต้องการอะไร หรือจะเดินไปในทิศทางไหน

“ผมคิดว่ามันคงไม่ใช่คำถามจะเอาจีนหรือไม่เอาจีน จะกีดกันจีนออกไปดีไหม แต่คงเป็นคำถาม ถ้าเปิดรับจีนเข้ามา เราจะใช้ประโยชน์ยังไง”

อาจารย์เคยให้สัมภาษณ์ว่า “ยุทธศาสตร์เป็นเรื่องดี แต่ที่ห่วงใยคือเรื่องรายละเอียด เราเป็นประเทศที่ชอบสโลแกน เช่น ไทยแลนด์ 4.0” ทีนี้ผมถามข้ามช็อต ปีหน้าถ้ามีการเลือกตั้ง อะไรคือนโยบายเกี่ยวกับจีนที่อาจารย์อยากได้ยินจากพรรคการเมือง

ผมอยากได้ยินนโยบายที่รู้จีนอย่างเท่าทันและสมดุล ไม่ใช่การออกมาพูดในลักษณะที่เอาการต่อต้านจีนมาจุดเป็นกระแสชาตินิยมบางอย่าง หรือพูดในเชิงที่มีอคติชัดเจนกับประเทศจีน เช่นบางพรรคการเมืองบอกว่าจะทบทวนโครงการที่ทำกับจีนทั้งหมด เพราะว่าเป็นของราคาถูกไม่มีคุณภาพ หรือว่าบางพรรคการเมือง ยกตัวอย่างนะครับ เช่น บอกว่าจะมาจัดการคนจีน เพราะคนจีนจะมาแย่งงานอะไรแบบนี้ ผมคิดว่าเราไม่ควรเอาประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมาปลุกกระแสชาตินิยม นโยบายควรจะเป็นการสร้างความร่วมมือ สร้างความเข้าใจ แล้วก็พยายามที่จะหาโอกาส แต่ขณะเดียวกันผมก็คงจะไม่ประทับใจ ถ้าจะมีพรรคที่มาบอกว่าเราจะชอบจีน เราจะรักจีน เราจะเดินแบบจีน เราจะปรับประเทศให้เป็นแบบจีน คือผมคิดว่ามันมีคุณค่าหลายอย่างของประเทศไทยที่ต้องเป็นจุดยืนพื้นฐาน เช่น การเชื่อมั่นในระบบประชาธิปไตย การรักษาสิทธิเสรีภาพของประชาชน เรื่องพวกนี้เราต้องไม่สั่นคลอน ต้องไม่เอาจีนมาเป็นข้ออ้างว่าเห็นไหม เขาเป็นแบบนี้ก็ยังทำได้เลย หรือว่าเขาละเมิดสิทธิคนกลุ่มหนึ่งเพื่อประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ก็ยังได้ ผมเห็นหลายคนที่สนับสนุนโมเดลแบบอำนาจนิยมก็จะใช้จีนเป็นตัวอย่าง โดยที่จริงๆ แล้วอาจจะยังไม่เข้าใจความซับซ้อนในจีนอย่างเพียงพอ

เพราะฉะนั้นผมอยากเห็นการพูดถึงนโยบายเกี่ยวกับจีนที่เป็นไปในเชิงสร้างสรรค์ ทำในเชิงที่ไม่รังเกียจจีน แต่ขณะเดียวกันก็ต้องไม่บูชาจีน.

อาร์ม ตั้งนิรันดร