หลังจากเทสล่าเปิดตัวรถกระบะ Tesla Cybertruck ดีไซน์ ‘เหลี่ยมๆ’ ของมัน ก็กลายเป็นประเด็นที่ผู้คนพูดถึง
บางคนชมว่าสวย บ้างก็บอกว่าขี้เหร่ (คิดออกมาได้ไง!?)
ร้อนจน อีลอน มัสก์ ต้องออกมาทวีตบอกเหตุผลว่า ที่ดีไซน์แบบนี้เพราะเครื่องจักรในปัจจุบันไม่สามารถขึ้นรูปโลหะแข็งชนิดพิเศษ (Ultra-Hard 30X Cold-Rolled Stainless Steel) ที่ใช้ในการผลิตรถรุ่นนี้ได้ หน้าตาตัวรถจึงออกมาแบบที่เห็น
แต่รู้หรือไม่ ยุคหนึ่งรถยนต์ก็เคยมีหน้าตาเหลี่ยมๆ (แม้จะไม่เหลี่ยมเท่ารถของอีลอน มัสก์) ก่อนจะเปลี่ยนเป็นดีไซน์มนๆ แบบที่เห็นในปัจจุบัน
จุดเปลี่ยนของดีไซน์อยู่ตรงไหน ทำไมจากที่เคย ‘เหลี่ยม’ ถึงได้ ‘โค้งมน’ แล้วจากที่มนก็กำลังจะกลับมาเหลี่ยมอีกครั้ง
การจะหาคำตอบนี้ เราอาจต้องย้อนกลับไปช่วงยุค 80s
เงื่อนไข ยุคสมัย และดีไซน์
นอกจากยุค 80s จะเป็นจุดกำเนิดของ เอ็มทีวี (สถานีโทรทัศน์สำหรับวัยรุ่นที่เน้นเปิดมิวสิควิดีโอ) และราชาเพลงป็อปอย่างไมเคิล แจ็คสัน ว่ากันว่าจุดเปลี่ยนของดีไซน์รถยนต์ก็เกิดขึ้นในยุคนี้
จากรถที่มีดีไซน์เหลี่ยมๆ ที่ฝรั่งใช้คำว่า ‘super boxy’ สู่รถที่มีดีไซน์โค้งมน จนกลายเป็นมาตรฐานการออกแบบรถยนต์ในยุคต่อมา
เราสามารถสังเกตจุดตัดของดีไซน์ดังกล่าวได้จากรถยนต์บางรุ่นในอเมริกา เช่น รถยี่ห้อ Buick LeSabre รุ่นปี 1991 เทียบกับปี 1992 ที่ดีไซน์เริ่มคลี่คลายจากความเหลี่ยมสู่ความโค้งมน อย่างเห็นได้ชัด
ส่วนสาเหตุที่ดีไซน์รถยนต์เปลี่ยนไป มีการวิเคราะห์ว่า เกิดจาก 3 ปัจจัย คือ เทรนด์การออกแบบของรถยุโรป ราคาน้ำมันที่สูงขึ้น และเทคโนโลยีใหม่ในการผลิตที่เอื้อต่อดีไซน์ที่โค้งมน
ความโค้งมน ต้นแบบความหรูหราของรถยุโรป
หากพูดถึงดีไซน์ความโค้งมน จะพบว่าไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ย้อนไปไกลถึงดีไซน์รถยนต์ยุคแรก ที่ออกแบบมาเพื่อลดแรงเสียดทานของอากาศระหว่างรถขับเคลื่อน
ถึงแม้ดีไซน์จะตอบโจทย์เรื่องฟังก์ชั่น แต่ผู้คนในอเมริกากลับชื่นชอบรถยนต์ดีไซน์เหลี่ยมมากกว่า
เมื่อรถเหลี่ยมๆ ขายดี ส่งผลให้รถที่ผลิตในอเมริกันช่วง 1970s มีรูปทรงเหลี่ยมจนดูเหมือนนำกล่องสามใบ (กระโปรงหน้า ห้องโดยสาร และกระบะท้าย) มาติดกัน
ผิดกับฝั่งยุโรป ที่รถยนต์ดีไซน์โค้งมนเป็นที่นิยม เนื่องจากราคาน้ำมันฝั่งยุโรปค่อนข้างสูง บวกกับนักออกแบบรถยนต์ โดยเฉพาะในเยอรมนี พยายามคิดค้นการออกแบบตามหลักอากาศพลศาสตร์ เพื่อลดการใช้เชื้อเพลิง
รถหรูฝั่งยุโรปยุค 60s และ 70s เช่น พอร์เชอ เมอร์เซเดส-เบนซ์ บีเอ็มดับเบิลยู จึงมีดีไซน์ที่โค้งมนต่างจากรถฝั่งอเมริกัน
ต่อมาดีไซน์ที่แตกต่างได้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้ “ผู้ผลิตรถยนต์อเมริกันช่วงกลางยุค 80s เลียนแบบความสุนทรีย์แบบยุโรป เพื่อจับกลุ่มลูกค้าระดับสูง” เดวิด การ์ตแมน นักเขียนชาวอเมริกัน ตั้งข้อสังเกตไว้ในหนังสือ Auto Opium: A Social History of American Automobile Design
ฟอร์ด (Ford) คือบริษัทผลิตรถสัญชาติอเมริกัน บริษัทแรกที่ปรับดีไซน์เหลี่ยมๆ ของรถลุงแซมสู่ความโค้งมน โดยมี Ford Sierra ปี 1982 เป็นรุ่นแรก แม้จะทำยอดขายไม่ดีนัก แต่รถรุ่นนี้ก็ได้จุดประกายให้ผู้ผลิตรถยนต์อเมริกันรายอื่นเริ่มทำตาม
จากนั้นสี่ปีต่อมา ผู้ใช้รถชาวอเมริกันก็เริ่มเปิดใจ เมื่อยอดขายรถ Ford รุ่น Taurus ปี 1986 ที่ใช้ประกอบหนังเรื่อง RoboCop ไปได้สวยจนช่วยกู้วิกฤตบริษัท และเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดกระแสผลิตรถยนต์ดีไซน์โค้งมนแบบอเมริกันในเวลาต่อมา
ราคาน้ำมัน เงื่อนไขสำคัญสู่ดีไซน์เพื่อความประหยัด
ถ้าน้ำมันราคาถูก ดีไซน์โค้งมนคงไม่เกิดขึ้น เพราะผู้ใช้รถยนต์คงจะไม่เดือดร้อนกับค่าน้ำมัน จนนักออกแบบรถต้องมาขบคิดว่า จะสร้างรถยนต์แบบใด ที่จะช่วยประหยัดน้ำมันได้มากกว่าที่เคยเป็น
ความสำเร็จของรถ Ford รุ่น Taurus ปี 1986 ที่ออกแบบตามหลักอากาศพลศาสตร์ โดยทดสอบในอุโมงค์ลม ได้กลายเป็นต้นแบบของรถยนต์หลายรุ่นหลังจากนั้น
“รถยนต์ (ยุคต่อมา) ดูจะมีหน้าตาเหมือนๆ กัน เพราะรูปร่างของพวกมันมาจากการทดสอบในอุโมงค์ลม และการออกแบบเพื่อประหยัดน้ำมัน” ลาร์รี่ เอ็ดเซล นักเขียนหนังสือประวัติศาสตร์การออกแบบรถยนต์หลายต่อหลายเล่ม ให้ความเห็น
เทคโนโลยีการผลิต บรรทัดสุดท้ายดีไซน์โค้งมน
รถยนต์ดีไซน์มนๆ คงจะอยู่แค่บนกระดาษ ถ้าเทคโนโลยีไม่เอื้อต่อการผลิต
เทคโนโลยีที่ว่านี้ แบ่งเป็น 2 ส่วนหลักๆ คือ
1. การขึ้นโมเดลรถด้วยคอมพิวเตอร์ จากเดิมนักออกแบบจะใช้วัสดุอย่างไม้หรือดินเหนียว ซึ่งจะมีข้อจำกัดการออกแบบรูปทรงมากกว่าการวาดในคอมพิวเตอร์
2. เทคโนโลยีการผลิตที่ช่วยให้การทำอลูมิเนียมเป็นรูปโค้งงอง่ายและถูกกว่าสมัยก่อน
เมื่อเทคโนโลยีเอื้อ ราคาน้ำมันแพง และตลาดต้องการ รถยนต์หน้าตาเหลี่ยมๆ จึงค่อยๆ อันตรธานหายไปจากตลาด แล้วแทนที่ด้วยรถยนต์โค้งๆ มนๆ ถึงแม้จะเป็นรถที่พยายามดีไซน์ให้เหลี่ยมอย่างรถ Nissan Cube ก็ยังให้ความรู้สึกโค้งและมนมากกว่ารถดีไซน์ธรรมดาในยุค 70s
ผ่านไปอีกหลายทศวรรษ ในขณะที่หลายคนคิดว่ารถดีไซน์เหลี่ยมๆ คงจะถึงจุดจบ จู่ๆ รถดีไซน์เหลี่ยมๆ กลับมาอีกครั้ง และเป็นการกลับมาที่ ‘เหลี่ยม’ กว่ารถทุกรุ่นในอดีต ที่น่าตกใจคือมียอดสั่งจองก่อนผลิตจริงทะลุ 250,000 คัน!
จนอดสงสัยไม่ได้ว่า Tesla Cybertruck จะเป็นแค่กระแสวูบวาบ หรือจะเป็นจุดเปลี่ยนของดีไซน์รถยนต์ในอนาคต เหมือนกับที่รถ Ford รุ่น Taurus เคยทำไว้เมื่อปี 1986.
อ้างอิง:
- Joseph Stromberg. Why cars went from boxy in the ’80s to curvy in the ‘90s. https://www.vox.com/2015/6/11/8762373/car-design-curves
- วิกิพีเดีย. คริสต์ทศวรรษ 1980. http://bit.ly/2tbtjrJ
- zFacts. Gas Price History Graph. https://zfacts.com/gas-price-history-graph