ปีนี้ สุลักษณ์ ศิวรักษ์ อายุ ๘๖ ปี แต่บทสนทนานี้เกิดขึ้นราวห้าปีก่อน (พ.ศ.๒๕๕๖)
ในวันนั้นผมไปพบชายที่ได้ชื่อว่า ‘ปัญญาชนสยาม’ เพื่อถามถึงความหมายที่แท้จริงของการศึกษา
แม้หัวข้อที่เราคุยกันจะเกี่ยวพันกับโรงเรียน ครู และนักเรียน แต่เมื่อกลับมานั่งอ่านอีกครั้ง กลับพบว่าคำตอบในวันนั้นยังคงร่วมสมัย เหมือนทุกสิ่งในสังคมไทยยังยืนนิ่งอยู่กับที่
เครื่องแบบและทรงผม การทุ่มเทเรียนพิเศษเพื่อสอบเข้าสถาบันการศึกษาชื่อดัง หรือการเคี่ยวเข็ญลูกหลานให้ก้มหน้าก้มตาเรียนอย่างไร้หางเสือ ยังคงเป็นปัญหาและข้อกังขา
เด็กหลายคนยังคงว้าวุ่น ผู้ใหญ่หลายคนก็ยังสับสน คำถามเราเรียนไปเพื่ออะไร ยังคงไร้คำตอบ หรือถ้าคิดจะตอบ ก็ตอบได้ไม่เต็มปาก
คำพูดของ สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ในวันนั้นได้ตอบข้อสงสัย แท้จริงแล้วการศึกษาคืออะไร
และสิ่งใดที่มนุษย์ควรมุ่งแสวงหา…
• กระบวนการคิดของตะวันตกสอนอย่างเดียวครับ เน้นที่หัวสมอง คนไหนฉลาด คนนั้นเก่ง แล้วดีรึเปล่า? ตะวันตกสอนไม่ได้ว่า ‘ความดี’ คืออะไร จี.อี. มัวร์ (G.E. Moore) นักปรัชญาคนสำคัญของเคมบริดจ์ เป็นอาจารย์ของเบอร์ทรันด์ รัสเซลล์ (Bertrand Russell) บอกเลยครับ คำว่าความดีนิยามไม่ได้ เพราะตามประสาฝรั่งนั้นความรู้ทุกอย่างต้องนิยามได้และพิสูจน์ได้ เพราะฉะนั้นการศึกษาแบบตะวันตกเริ่มต้นมาจากคณิตศาสตร์และตรรกะวิทยา ทุกอย่างต้องพิสูจน์ได้ น้ำต้มร้อยองศา เดือด พิสูจน์ได้ แต่ความดีพิสูจน์ไม่ได้ครับ นิยามไม่ได้ นี่เป็นปัญหามากของตะวันตก
• อาจารย์ใหญ่ที่สุดของตะวันตกที่ถือเป็นว่านักปรัชญาสมัยใหม่คนแรก คือ เรอเน เดการ์ต (René Descartes) สอน Cogito ergo sum (ภาษาละติน) แปลเป็นภาษาอังกฤษว่า I think, therefore I am ฉะนั้นฝรั่งจะสอนเรื่องความคิด ยิ่งคุณยิ่งคิดมากเท่าไร คุณยิ่งฉลาดมากเท่านั้น คุณเรียนอนุบาลจนถึงมหาวิทยาลัย จบดอกเตอร์ สอนเรื่องความคิดอย่างเดียว แล้ว ergo = ‘กู’ ครับ I think, therefore I am ฉันยิ่งใหญ่เพราะฉันคิดมาก แล้วคิดเพื่ออะไร? เอาชนะคนอื่น เอาชนะสัตว์อื่น เอาชนะทั้งหมด
• คำว่า ‘ศึกษา’ มาจากภาษาบาลี ‘สิกขา’ หมายถึงการฝึกอบรม ในศาสนาพุทธมีหลักที่เรียกว่า ‘ไตรสิกขา’ คืออบรมศีล สมาธิ ปัญญา
• ‘ศีล’ คือ ความปกติของแต่ละคนและสังคม ศีลเป็นคำไวพจน์ แปลว่า “ปกติ” คนที่ปกติคือคนซึ่งลดความรุนแรง ดังนั้นศีลห้าจึงเป็นข้อแนะนำให้เลี่ยงความรุนแรง ศีลข้อหนึ่งเป็นความรุนแรงเกี่ยวกับชีวิต ศีลข้อสองเป็นความรุนแรงเกี่ยวกับทรัพย์สิน ศีลข้อสามเป็นความรุนแรงเกี่ยวกับเรื่องเพศ ศีลข้อสี่เป็นความรุนแรงเกี่ยวกับคำพูด ส่วนศีลข้อห้าเป็นสิ่งที่เรารับมาจากภายนอก ไม่ว่าจะเป็นสุราเมรัย ยาเสพติด แม้กระทั่งคำโฆษณาชวนเชื่อ อุดมการณ์ หรือพุทธศาสนาเอง ถ้าเอามาเป็นโฆษณาชวนเชื่อก็ผิดศีลข้อห้าทั้งนั้น
• ศาสนาพุทธสอนให้คนกล้า ไม่ใช่สอนให้กลัว คำว่า ‘อภัย’ แปลว่าไม่กลัวนะครับ ถ้าสอนให้กลัวเสร็จเลย ระบบการศึกษาสมัยใหม่สอนให้กลัวครับ ต้องให้แหย่เข้าไว้ คุณต้องเป็นเด็กเรียบร้อย น่ารัก อยู่ในระบบ พอเช้ามาเคารพธงชาติ แต่งตัวเหมือนกัน ตัดผมเหมือนกัน คือสอนให้คนเป็นปศุสัตว์น่ะครับ คุณเคยถามไหมครับเราเป็นปศุสัตว์หรือเปล่า?
• กฎระเบียบโรงเรียนทุกวันนี้ไม่ได้สอนให้คนเป็นตัวของตัวเอง มาวัดกันที่ตัดผมสั้นผมยาว และเรื่องไหว้เรื่องเคารพ ต้องออกมาจากหัวใจ บังคับไม่ได้ ตอนนี้เราบังคับ นี่สำคัญมากครับ เมื่อคนเรามีความรักแล้ว เขาจะไหว้ จะกราบ หรือจะเซย์ฮัลโหล เป็นปลายเหตุเลย
• ผมกินข้าวกับลูกสาวสองคนตอนเช้าๆ บางวันมันก็ฮัลโหลกับผม บางวันมันก็มาจูบ มันนึกอยากไหว้ก็ไหว้ มันไม่นึกอยากไหว้มันก็ไม่ไหว้ ต้องออกมาจากหัวใจครับ อย่าไปบังคับขู่เข็ญเขา พยายามเป็นเพื่อน เช่นเดียวกัน ครูต้องเป็นเพื่อนกับลูกศิษย์ ลูกศิษย์ต้องเป็นเพื่อนกับครู
• การศึกษาสำคัญคือ ต้องมีครูที่ดี แล้วครูที่ดีก็จะเรียนจากนักเรียน เราต้องเรียนซึ่งกันและกัน เป็นกัลยาณมิตรซึ่งกันและกัน ครูไม่ใช่รู้ทั้งหมด บางอย่างครูรู้ดีกว่านักศึกษา บางอย่างนักศึกษารู้ดีกว่าครู
• อย่าไปชี้นำ อย่าไปล้างสมองเขา อย่าไปดูถูกเขาว่าเขาโง่กว่าเรา บางอย่างเขาฉลาดกว่าเรา เราต้องเรียนจากเขา นี่ผมอายุ 80 ผมยังเรียนอยู่ทุกวัน เวลาใครมาคุยกับผมนี่คุยเสมอกันเลย แลกเปลี่ยนกันเลย
• อย่าสอนให้ใครมีปมเด่นหรือปมด้อย คือข้อสำคัญที่สุดที่ต้องสอนในสังคม เพราะทุกคนมีศักยภาพแตกต่างกัน ทีนี้พอแตกต่าง หมอได้เงินเดือนดี วิศวะได้เงินเดือนดี ก็เสร็จ เพราะเอาเงินเป็นตัวตัดสิน แต่โบราณไม่ได้ตัดสินแบบนั้น เขาตัดสินกันว่าใครเป็นคนน่ารัก
• ความงามเป็นมิติหนึ่งที่ช่วยให้เข้าถึงความดี และความจริง ความงามประการแรก เปิดกว้างให้เห็นธรรมชาติรอบๆ ตัวเรา แล้วเราก็สร้างสิ่งต่างๆ จากธรรมชาติ ยกตัวอย่างดนตรีก็เริ่มเอาจากธรรมชาติมา จากนั้นก็มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง เมื่อเปลี่ยนแปลงเราก็ต้องเข้าใจการเปลี่ยนแปลงนั้น มนุษย์มีการแสดงออกหลายอารมณ์ สำคัญมากในเรื่องความงาม ความดี ความจริง เป็นสิ่งซึ่งละเอียดอ่อนมาก จะสัมผัสได้ก็ต้องฝึกต้องเรียนรู้ เป็นเรื่องของการศึกษา ทำไมเราถึงอ่านเชคสเปียร์ ต้องบอกเลยว่าหนังสือหลายเล่มของเชคสเปียร์เป็น propaganda นะครับ บางเรื่องเป็นชาตินิยมชัดๆ แต่ว่าถ้อยคำเขานั้นเป็นความงาม ทำไมถึงฟังโมสาร์ท ทำไมถึงฟังเบโธเฟ่น มันเป็นความงาม เช่นเดียวกัน ทำไมเราถึงนับถือหลวงประดิษฐ์ไพเราะ เพราะความงามมันเข้าถึงเรา จากนั้นก็สืบทอดความงามนั้นต่อๆ มา จนขาดตอนเมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 มาวางกฎเกณฑ์บังคับกันนี่เสร็จเลย แต่ก่อนเจ้านายแต่ละวังจะมีจางวางคุมดนตรี ต่อมาก็หาว่าพวกนี้เป็นศักดินา แล้วมาตั้งกรมศิลปากร เมืองไทยความงามพังเพราะกรมศิลปากร พังเลยครับ! เพราะรัฐมาบังคับ หนังใหญ่ของเราสู้เขมรไม่ได้ เพราะเราทำลายหนังใหญ่หมด เขมรที่บ้านแตกเมืองแตกแต่คุณไปดูหนังใหญ่เขมรสิ อย่างนี้เลย (ยกนิ้ว) พอบ้านเรากรมศิลปากรมาบังคับวางกรอบว่าหนังใหญ่ที่ดี ดนตรีที่ดี ต้องเป็นอย่างนี้ๆ เสร็จสิครับ ดนตรีนั้นเริ่มจากมีกรอบ ต่อมาคุณก็ต้องตีกรอบให้แตกครับ หรือไอ้ฉันทลักษณ์เอก 7 โท 4 อะไรเนี่ย ต้องตีให้แตก ครั้งหนึ่งมูลนิธิเสฐียรโกเศศ นาคะประทีป ให้รางวัล อังคาร กัลยาณพงศ์ เป็นกวีดีเด่นแห่งยุคเมื่อปี 2514 โอ้โห ตอนนั้นเถียงกันมาก หาว่าอังคารแต่งกวีไม่เป็น ใช้คำหยาบ เทพไท้เบื่อวิมาน ทะยานลงดินมากินขี้ (จากบทกวี ‘วักทะเล’) มีคนบ่น ผมไม่เข้าใจว่าหยาบตรงไหน ทุกคนก็ขี้กันทุกเช้า นี่การศึกษาล่ะ พอเข้าโรงเรียนแล้วคุณขี้ไม่ได้ เยี่ยวไม่ได้ ต้องปัสสาวะ อุจจาระ เอาความดัดจริตมาให้ “การศึกษาต้องเผชิญความจริง ไม่ใช่โกหกตอแหล”
• ถ้าเราถือพุทธ เราจะตื่นและเบิกบาน แล้วเราจะเห็นการให้สำคัญกว่าการรับ เห็นคนอื่นสำคัญมากกว่าตัวเรา เราไม่เห็นใครเป็นศัตรู เพราะศัตรูอยู่ในตัวเรา ศัตรูคือความโลภ โกรธ หลงในตัวเรา เราต้องเอาชนะความโลภ โกรธ หลงในตัวเรา ศัตรูไม่ได้อยู่ภายนอก ทั้งหมดเป็นเพื่อนกับเราครับ
• ตอนนี้เราเห็นต้นไม้ก็คิดแต่จะตัดไปขาย เห็นแผ่นดินก็ต้องขุดทำคอนโดสูงๆ พุทธศาสนาสอนว่าแผ่นดินเป็นแม่ของเรา เป็นแม่พระธรณี ต้นไม้มีรุกขเทวดาอยู่ ทุกอย่างโยงใยถึงกัน เป็นอิทัปปัจจยตา ถ้าไม่มีต้นไม้เราอยู่ไม่ได้ คุณดูบ้านผมสิ (ชี้ให้มองต้นไม้ที่อยู่รอบตัว) ผมอยู่กับต้นไม้มาตลอดเลย ผมอยู่ที่นี่มา 70 ปีแล้ว ผมไม่ตัดต้นไม้เลย ผมปลูกเรือนไทยต้องปลูกล้อมต้นไม้ ผมถือว่าการถือพุทธเราต้องเคารพเพื่อน สัตว์ทั้งหมดเป็นเพื่อน ต้นไม้ทั้งหมดเป็นเพื่อน มนุษย์ทั้งหมดเป็นเพื่อน ผู้คนแถวนี้เป็นเพื่อนผมหมด
• เมื่อเช้าผมเดินแถวบ้านเจอคนกวาดถนน เขาทักว่า “อาจารย์ วันเสาร์ผมจะไปแม่กลอง ผมจะเอาน้ำปลามาฝากอาจารย์สองขวด” คนกวาดถนนครับ เขาเห็นผมเป็นเพื่อน ไม่มีต่ำไม่มีสูง ทุกคนเป็นเพื่อนกันหมด แม้แต่คนที่เกลียดเรา เราก็เป็นเพื่อนกับเขา นี่คือศาสนาพุทธ ผมอยากจะถามว่าในเมืองไทยมีคนถือพุทธกี่คน
• เราต้องมองให้เห็นว่าคนอื่นมีค่าเท่ากับเรา พระพุทธเจ้าท่านก็ทำการศึกษาแบบนี้ครับ เป็นการศึกษาเพื่อให้เกิดความรัก เกิดเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ซึ่งเราก็เรียนกันมานะครับ พรหมวิหาร 4 นี่เป็นส่วนสำคัญมากเลย ผู้ที่ไม่มีพรหมวิหาร 4 เป็นผู้ใหญ่ไม่ได้ เราเรียนมาแต่เราไม่เข้าใจมันเลย
• เมตตานี่ความรัก เราต้องรักตัวเราก่อนครับ ส่วนมากเราไม่รักตัวเรานะ เรารักชื่อเสียงมากกว่า เรารักเงินทองมากกว่า แต่เราไม่รักตัวเราเอง
• กรุณาคือรักคนที่เขาเดือดร้อนมากกว่าเรา ไม่ใช่เอาผ้าห่มไปแจกตอนน้ำท่วม ไอ้นี่มันของเล่น ทำบุญเอาหน้า ภาวนาตอแหล คุณต้องเข้าไปอยู่กับคนที่เขายากไร้กว่าเรา แล้วบางทีเขายากไร้เพราะเราเป็นเหตุ เพราะเรากินอยู่ฟุ่มเฟือยเกินไป เขาถึงเดือดร้อน เราเอาเปรียบเขา เราไปอยู่กับเขา เข้าใจเขา รักเขาอย่างเท่าเทียมกับเขา เรียนรู้จากเขาและเขาเรียนรู้จากเรา
• ทีนี้มุทิตาจะเกิดขึ้น เมื่อเราไปอยู่กับเขาแล้ว เราจะถูกถีบถูกกระทืบเหมือนเขา เพราะพวกเราชนชั้นกลางจะไม่ถูกถีบถูกกระทืบ ระบบมันช่วยชนชั้นกลาง แต่เล่นงานชนชั้นล่าง ซึ่งชนชั้นล่างมีมากที่สุด กรุงเทพฯ 20 เปอร์เซ็นต์เป็นสลัม ถ้าคุณเข้าไปสลัมคุณจะเห็นเด็กเกิดมาไม่มีทะเบียนบ้าน เด็กผู้หญิงเจ็ดขวบถูกชำเราแล้ว เด็กผู้ชายเจ็ดขวบขายเฮโรอีนแล้ว ถ้าเราไปอยู่กับเขาเราจะเห็น
• พูดตรงไปตรงมาผมนี่มาจากชนชั้นบนนะครับ บ้านผมเป็นเจ้าสัวมา 3 – 4 ชั่วคน พอผมมาอยู่ข้างล่างผมถูกถีบถูกกระทืบมาตลอด ผมไปต่อสู้เรื่องท่อแก๊สถูกจับมา เพราะว่าผมต้องการจะใช้ความกรุณา เมื่อใช้กรุณาแล้วต้องใช้มุทิตา คุณต้องไม่เกลียดคนที่กระทืบคุณ ถ้าคุณเกลียดเขาคุณจะเกิดความมัวเมา มึน สติปัญญาไม่เกิด มุทิตาคือการสอนว่าอย่าไปเกลียดคนที่รังแกคุณ ให้รักเขา ไม่เกลียดเขา
• พอคุณได้ฝึกเมตตา กรุณา มุทิตา ถึงจะอุเบกขาได้ บางคนบอกว่าอุเบกขาคือการวางเฉย ไม่เอาไหน ‘sitting on the fence’ ฉิบหายสิคุณ! อุเบกขาคือการที่คุณรู้ว่าตอนไหนควรจะใช้เมตตา กรุณา มุทิตา แล้วอุเบกขาคือการที่คุณจะตัดสินอะไรโดยไม่ใช้อคติ
• สิ่งสำคัญที่สุดในชีวิตคือ ‘การหายใจ’ ศาสนาพุทธไม่ได้สอนให้คุณเชื่อนะครับ สอนให้คุณปฏิบัติ คุณไม่เชื่อพระพุทธเจ้าก็ได้ แต่คุณลองหยุดหายใจสัก 5 นาทีสิ เป็นยังไง แล้วเวลาที่หายใจ คุณเอาอะไรเข้าไปครับ ความเกลียด? ความเครียด? ศาสนาพุทธสอนให้หายใจเอาความรักเข้าไป หายใจเอาความเมตตากรุณาเข้าไป เปลี่ยนความโลภเป็นการให้ เปลี่ยนความเกลียดความรุนแรงเป็นไมตรีจิตมิตรภาพ เปลี่ยนความหลงให้เป็นตัว ‘ปัญญา’ จิตสิกขาจะช่วยอบรมศีลสิกขา แล้วถึงจะเกิดปัญญา คือมองเห็นสิ่งต่างๆ อย่างเป็นองค์รวม มองเห็นสิ่งต่างๆ อย่างเป็นของจริงแท้ มองสิ่งต่างๆ อย่างไม่มีอคติ
• อย่าตัดสินเพราะเกลียด เพราะกลัว เพราะรัก เพราะหลง คุณจะเป็นคนสมบูรณ์ก็ตรงนี้ การศึกษามันจำเป็นก็ตรงนี้ และหัวใจการศึกษาก็อยู่ตรงนี้ คือคุณต้องศึกษา เพื่อเอาชนะความโลภ โกรธ หลง
*หมายเหตุ: เรียบเรียงจากบทสัมภาษณ์ ‘เปลื้องผ้าการศึกษาไทยกับ สุลักษณ์ ศิวรักษ์’ โดย วชิรวิชญ์ กิติชาติพรพัฒน์ นิตยสาร happening ฉบับที่ 78 สิงหาคม พ.ศ.2556
ภาพประกอบโดย เทพศิริ สุขโสภา