©ulture

คนไทยส่วนใหญ่เป็นคนเจ้าบทเจ้ากลอน เวลาพูดจาอะไรก็มักมีคำคล้องจอง มีเสียงสัมผัส หรือมีจังหวะจะโคน

‘ทมิฬหินชาติ’ ก็เป็นอีกคำคล้องจองหนึ่งที่ใครหลายคนคงเคยได้ยินผ่านหูกันมาบ้างเวลาที่มีการบรรยายถึงความโหดร้ายป่าเถื่อน

พอลองพิจารณาดีๆ ก็อดสงสัยไม่ได้ว่า ชาวทมิฬมีความโหดร้ายป่าเถื่อนอย่างไร

ทำไมวลี ‘ทมิฬหินชาติ’ ถึงถูกใช้ในเชิงก้าวร้าวรุนแรง

ผศ.ดร.ชานป์วิชช์ ทัดแก้ว
(photo: www.arts.chula.ac.th)

ผศ.ดร.ชานป์วิชช์ ทัดแก้ว อาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาเอเชียใต้ ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้คำอธิบายเรื่องนี้ในงานเสวนาภารตวิทยา หัวข้อ “ทมิฬไม่หินชาติ” (17 พฤษภาคม 2561) ว่า ที่มาของ ‘ทมิฬหินชาติ’ น่าจะมาจากสันนิษฐาน 2 ข้อ

1. ผู้แพ้สงครามคือ ‘ผู้ร้าย’

สันนิษฐานแรก มาจากการเหยียดชนชาติระหว่างอินเดียเหนือและอินเดียใต้

จากสันนิษฐานนี้ เมื่อสืบค้นเพิ่มเติมก็พบว่า ชาวอินเดียที่อยู่ทางตอนเหนือน่าจะสืบเชื้อสายมาจากชาวอารยัน ส่วนพวกที่อยู่ทางใต้เป็นลูกหลานดั้งเดิมของชาวดราวิเดียน หรือทราวิฑ หรือ ‘ทมิฬ’ ซึ่งเป็นชนพื้นเมืองของอินเดียที่ให้กำเนิดอารยธรรมลุ่มน้ำสินธุอันรุ่งเรืองในอดีต

ภาพวาดชาวอินเดียใต้ คาดว่าเป็น ‘ชาวทมิฬ’ คำบรรยายใต้ภาพเป็นภาษาอังกฤษ (บน) และภาษาทมิฬ (ล่าง)
(photo: หนังสือ Seventy-two Specimens of Castes in India: “All people, nations and languages shall serve Him.”, www.wdl.org)

ความเชื่อที่เล่าสืบต่อกันมาว่ากันว่า เมื่อชาวอารยันอพยพเข้ามาสู่อินเดีย ก็ได้ขับไล่ชนพื้นเมืองไปทางใต้ และทำลายอารยธรรมชาวดราวิเวียนจนวอดวาย แม้ชนพื้นเมืองจะลุกฮือขึ้นต่อกร แต่สุดท้ายก็พ่ายแพ้

ชาวอินเดียหลายคน ‘เชื่อ’ ว่าสงครามระหว่างชาวอารยันและชาวดราวิเดียน เป็นนัยยะแฝงของวรรณคดี รามายณะ ที่เล่าขานการต่อสู้ระหว่างมนุษย์และยักษ์ ที่เปรียบเสมือนตัวแทนชาวอารยันผิวขาว (พระราม) และกษัตริย์ทมิฬผิวสี (ทศกัณฐ์)

ทศกัณฐ์จู่โจมพระรามด้วยสรรพาวุธ แต่ไม่อาจทำร้ายพระรามได้ ภาพวาดที่เมืองเสมาระปุระ บาหลี
(photo: commons.wikimedia.org)

นี่น่าจะเป็นคำอธิบายสันนิษฐานแรกที่ว่า ทำไมชาวทมิฬถึงกลายมาเป็นจำเลยของความเป็น “หินชาติ” ได้

เพราะชาวอารยันผู้ชนะสงครามย่อมเขียนประวัติศาสตร์ผู้แพ้สงครามอย่างชาวทมิฬเป็นอย่างไรก็ได้นั่นเอง

หนุมานรบกับกุมภกรรณ
ภาพวาดสีน้ำ (opaque watercolor on paper) หนุมานรบกับกุมภกรรณ (น้องของทศกัณฐ์) ในรามายณะ ราวปี 1810-1820
(photo: artmuseum.mtholyoke.edu)

 

2. ศัตรูของพุทธศาสนาในลังกา

ส่วนสันนิษฐานที่สอง คือ ความขัดแย้งระหว่างชาวสิงหลและชาวทมิฬ…

มีการสันนิษฐานว่า คนไทย ‘อาจจะ’ ได้รับแนวคิดการมองชาวทมิฬเป็นคนโหดร้ายและป่าเถื่อนมาจากชาวสิงหลที่อาศัยอยู่บนเกาะลังกา (ปัจจุบันคือประเทศศรีลังกา) ผ่านการเผยแพร่พระพุทธศาสนาในสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศช่วงอยุธยาตอนปลาย

กษัตริย์แห่งลังกาทวีปนาม ‘พระกีรติศรีราชสิงหะ’ ได้ส่งคณะทูตมายังกรุงศรีอยุธยา เพื่อขอสมณทูตจากสยามไปช่วยฟื้นฟูศาสนาหลังจากได้รับผลกระทบจากสงครามระหว่างชาวทมิฬและชาติตะวันตก ที่รบราฆ่าฟันกันมานาน

รูปสลักไม้พระอุบาลีเถระ
รูปสลักไม้พระอุบาลีเถระ
พระธรรมทูตที่เดินทางไปยังประเทศศรีลังกาตามคำร้องของฝ่ายศรีลังกา ในการเป็นพระอุปัชฌาย์อุปสมบทแก่สามเณรชาวสิงหล ก่อนจะมรณภาพที่นั่น นับเป็นพระธรรมทูตที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย, พิพิธภัณฑ์พระอุบาลีมหาเถระ วัดธรรมาราม จ.อยุธยา
ข้อความที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์พระอุบาลีมหาเถระ วัดธรรมาราม จ.อยุธยา
ข้อความที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์พระอุบาลีมหาเถระ วัดธรรมาราม จ.อยุธยา

ด้วยเหตุนี้จึงเป็นไปได้ว่า ชาวสยามที่นับถือศาสนาพุทธด้วยกันจึงมองว่า ชาวทมิฬเป็นชนชาติที่โหดร้ายป่าเถื่อน เพราะเป็นตัวการหนึ่งที่เกือบทำให้พระพุทธศาสนาสูญสิ้น

จึงเกิดเป็นวลี ‘ทมิฬหินชาติ’ ในที่สุด.

ภาพวาดชาวอินเดียใต้ คาดว่าเป็น ‘ชาวทมิฬ’ คำบรรยายใต้ภาพเป็นภาษาอังกฤษ (บน) และภาษาทมิฬ (ล่าง)
(photo: หนังสือ Seventy-two Specimens of Castes in India: “All people, nations and languages shall serve Him.”, www.wdl.org)

*หมายเหตุ: ‘ชาวทมิฬ’ เป็นชนชาติที่โหดร้ายป่าเถื่อนตามข้อสันนิษฐานหรือไม่? หาคำตอบได้ใน ทำไม ‘ทมิฬ’ แล้วต้อง ‘หินชาติ’ ตอนที่ 2: คนทมิฬ ใจทมิฬ จริงหรือ?

 

อ้างอิง :

  • Lani Seelinger. The 10 Oldest Languages Still Spoken in the World Today. http://bit.ly/2CWSkdS
  • NGThai. ไม่มีอารยันและดราวิเดียนแท้ในอินเดีย. http://bit.ly/2AkE2RB
  • คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง. ภารตะ-สยาม? ผีพราหมณ์ พุทธ?. กรุงเทพฯ : มติชน, 2560.
  • น้าชาติ ประชาชื่น. สยามวงศ์. http://bit.ly/2Pdt0pE
  • มนสิชา เอกปิยะพรชัย, ผศ. ดร. ชานป์วิชช์ ทัดแก้ว. เสวนาภารตวิทยา: “ทมิฬไม่หินชาติ”. วันที่ 17 พฤษภาคม 2561
  • มติชนสุดสัปดาห์. ศรีลังกา ปัญหาชนชาติ บีบคั้นชาวทมิฬ ผ่านภาษาสิงหล จนต้องฆ่ากันตาย. http://bit.ly/2AlVp4F
  • วิกิพีเดีย. ภาษาทมิฬ. https://th.wikipedia.org/wiki/ภาษาทมิฬ
  • วิกิพีเดีย. อารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุ. http://bit.ly/2q2ScAT

 

FACTBOX

  • ปัจจุบัน มีถกเถียงกันในหมู่นักวิชาการอย่างแพร่หลายว่า การตีความว่า รามายณะ เป็นภาพสะท้อนของการรบพุ่งระหว่างชาวดราวิเดียนและชาวอารยันนั้น เป็นการกระทำเพื่อผลประโยชน์ในแง่ของการเมือง
  • และเป็นไปได้ว่า รามายณะ เป็นวรรณคดีที่เล่าถึงตำนานการขอฝนเสียมากกว่า โดยใช้พระรามเป็นตัวแทนของ ‘พระอินทร์’ เทพแห่งฝนซึ่งมีกายสีเขียว หรือสีคล้ำคล้ายเค้าเมฆฝน ซึ่งเป็นสีผิวที่ใกล้เคียงกับพระรามที่เรารู้จัก มาต่อสู้กับทศกัณฐ์ซึ่งเป็นตัวแทนแห่งความแห้งแล้ง ส่วนการทำสงครามนั้นเปรียบได้กับการบูชายัญ
  • ศาสนาพุทธในประเทศไทยเป็นนิกาย “ลังกาวงศ์” ส่วนในประเทศศรีลังกาเป็นนิกาย “สยามวงศ์” สืบเนื่องมาจากชาวสยามได้ส่งสมณฑูตไปฟื้นฟูพระศาสนาในสมัยที่ศรีลังกาไม่มีพระสงฆ์หลงเหลืออยู่เลยดังที่กล่าวไว้ข้างต้น