‘มาสเตอร์เชฟซีซั่นหน้า จะมาจากผู้สมัครทางบ้านที่ค้นพบความสามารถช่วงกักตัว’ –
@SoByemepast ทวีตข้อความติดตลกในทวิตเตอร์ส่วนตัวของเขา
งานนี้ใครที่ไม่เคยทำอาหาร อาจได้ลองควงตะหลิว จับกระทะเป็นครั้งแรก เพราะเราคงไม่ได้ไปอุดหนุนเมนูที่ชอบจากร้านโปรดกันอีกนาน
เมื่อคลื่นโรคระบาดลูกยักษ์ซัดเข้าหาโลกใบนี้อย่างจัง จนทำให้มีผู้ติดเชื้อแตะเกือบสองล้านคน วิถีชีวิตของมวลมนุษยชาติจึงค่อยๆ เปลี่ยนไป
หนึ่งในนั้นคือเรื่อง ‘อาหารการกิน’ ของพวกเรา
เข้าครัวทำอาหาร
เมื่อไวรัสระบาด ก็ออกไปร้านอาหารไม่ได้ แม้จะมีเดลิเวอรี่ส่งถึงบ้าน แต่อย่างไรเรื่องความสะอาดของอาหารต้องมาก่อน ผู้คนจึงเข้าครัวทำอาหารทานเองในบ้าน
ผู้ใหญ่จำนวน 32% ยอมรับว่ามีความกังวลเรื่องความปลอดภัยในอาหารมากขึ้น จึงสั่งอาหารจากร้านน้อยลง และเลือกทำอาหารด้วยตัวเอง ในช่วงนี้ ยอดขายอุปกรณ์ทำครัวและวัตถุดิบต่างๆ จึงเพิ่มขึ้นอย่างไม่ต้องสงสัย
Yelp’s Coronavirus Impact Report สำรวจพบว่า ผู้คนจะเลือกอาหารที่คาดว่าจะผ่านการสัมผัสน้อยที่สุด และหากต้องผ่านมือใครสักคน ก็ขอให้เป็นมือของเราเองเสียยังจะดีกว่า
เลือกกินเพื่อสุขภาพที่ดีกว่า
ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ยอดขายของร้าน Nourish Organic ในสหราชอาณาจักรเพิ่มขึ้นกว่า 30% ในจำนวนนั้น ผักออร์แกนิกได้รับความนิยมมาเป็นอันดับหนึ่ง
นี่อาจเป็นโอกาสที่ทำให้คนไม่เคยทำอาหารได้ลองทำและเลือกวัตถุดิบด้วยตัวเองเป็นครั้งแรกแน่นอนว่าเมื่อเรามีโอกาสได้เลือก ก็มักจะเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้กับตัวเอง
หลังเกิดโรคระบาด มีแนวโน้มว่าคนเราหันมากินอาหารเพื่อสุขภาพและมังสวิรัติกันมากขึ้น
นอกจากนี้ ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน และโรคอ้วน ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะติดเชื้อไวรัสชนิดนี้ได้ง่าย ก็ต่างหันมาดูแลสุขภาพผ่านอาหารการกินมากขึ้นกว่าเดิมเช่นกัน
นี่จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้อาหารสุขภาพกำลังได้รับความนิยมในวงกว้าง
กังวลเรื่องความสะอาดเป็นพิเศษ
แม้จะยังไม่มีรายงานว่า คนติด COVID-19 เพราะอาหารที่รับประทาน แต่เรื่องที่เรากังวลกันมากที่สุดยังคงเป็น ‘การปนเปื้อน’ นั่นทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป
การจับจ่ายซื้อของสดในซูเปอร์มาร์เก็ตลดลงอย่างเห็นได้ชัด ผู้คนหันมาบริโภคอาหารกระป๋องมากขึ้น เพราะมีความปลอดภัยมากกว่า หรือหากต้องซื้อของสด ก็มักจะเลือกแบบที่บรรจุในแพ็กเกจที่ห่อหุ้มอย่างหนาแน่นและสะอาด
นอกจากการเลือกวัตถุดิบ คลื่นของความกลัวเชื้อไวรัสยังแผ่ไปถึงห้องครัวที่บ้านของแต่ละคนอย่างเงียบๆ
หลายคนลงมือทำความสะอาดขวดเครื่องปรุงและบรรจุภัณฑ์ต่างๆ อีกครั้งก่อนที่จะเก็บของเข้าตู้เย็นหรือทำอาหาร
งดเปิบพิสดาร
ผู้ป่วย COVID-19 รายแรกๆ ที่เมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน เดินทางมาพบแพทย์ด้วยอาการปอดบวมปริศนาเหมือนกัน ทีมแพทย์จึงสืบหาสาเหตุจนพบว่า แต่ละคนล้วนคลุกคลีกับ ‘ตลาดหัวหนาน’ ที่ขายอาหารทะเล และเต็มไปด้วยเนื้อสัตว์ป่าหายาก หนึ่งในนั้นคือ ‘ค้างคาว’ ซึ่งเป็นแหล่งต้นกำเนิดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่
หลังเกิดการระบาด ตลาดซื้อขายเนื้อสัตว์ป่าในจีนกว่า 20,000 แห่งก็ถูกสั่งปิดด้วยมาตรการที่เข้มงวดตั้งแต่วันนั้น และผู้คนต่างก็เข็ดขยาดกับการเปิบพิสดาร และกลับมากินเมนูง่ายๆ
อุดหนุนเกษตรกรในท้องถิ่น
แม้จะเลือกซื้ออาหารและวัตถุดิบต่างๆ จากช่องทางออนไลน์มากขึ้น แต่ผู้คนกลับคำนึงถึงแหล่งที่มาอย่างละเอียดกว่าเดิม และมีแนวโน้มที่จะอุดหนุนสินค้าจากท้องถิ่นเพิ่มขึ้น
การซื้ออาหารจากท้องถิ่นจากผู้ผลิตโดยตรงนั้น ทำให้เรามองเห็นขั้นตอนการผลิตและตรวจสอบกระบวนการขนส่งก่อนมาถึงมือเราได้
เช่น หากจะซื้อไข่เค็มสักฟอง แทนที่จะเลือกจากแผงที่ขายในห้าง อาจสั่งจากร้านเล็กๆ ที่ดองไข่เองแบบไม่ผ่านกรรมวิธีที่ซับซ้อน
พฤติกรรมการกินที่เปลี่ยนไปถือเป็นอาฟเตอร์ช็อกที่ตามมา หลังเกิดแผ่นดินไหวชื่อ COVID-19 ให้เราได้กลับมาทบทวนวิถีการบริโภคในโลกยุคหลังอุตสาหกรรม ที่ดูไม่มิตรกับธรรมชาติ และก่อปัญหาสิ่งแวดล้อมนานา นี่อาจถึงเวลาแล้วที่มนุษย์จะกลับมากำหนดแนวทางการผลิตอาหารในโลกอีกครั้ง
อย่างน้อยการที่เราหันมาใส่ใจอาหารการกินของตัวเองมากขึ้น ก็ถือจุดเริ่มต้นที่ดีที่จะส่งสัญญาณไปสู่ผู้ผลิตว่า ผู้บริโภคยุคนี้กำลังมองหาสิ่งใด
อ้างอิง
- Daphne Ewing-Chow.Five Ways That Coronavirus Will Change The Way We Eat.https://www.forbes.com/sites/daphneewingchow/2020/03/31/five-ways-that-coronavirus-will-change-the-way-we-eat/#4024b59d1a2b
- Simone McCarthy, Linda Lew, William Zheng, Echo Xie and Phoebe Zhang.How Disease X, the epidemic-in-waiting, erupted in China. https://multimedia.scmp.com/infographics/news/china/article/3052721/wuhan-killer/index.html?src=pm