life

ในช่วงชีวิตของ จเด็จ กำจรเดช เขาสังเวยอะไรไปแล้วหลายอย่าง เหมือน กรีฟฟิธ ตัวเอกในการ์ตูนชื่อ Berserk ที่เขาชื่นชอบนั่นแหละ กลิ่นเย้ายวนของความหลงใหลต่ออะไรสักอย่างมักชักจูงให้เรายอมแลก บางครั้งกรีดเลือดเฉือนเนื้อตัวเอง บางคราวยินยอมหยิบยื่นสิ่งที่เราหวงแหนให้แก่ปิศาจ บางทีความสูญเสียก็เกิดขึ้นกระทันหันในแบบที่เราไม่รู้ตัวว่าเราได้สังเวยมันไปแล้วด้วยซ้ำ

‘อุทิศแด่เด็กชายจงรัก’ คำอุทิศของหนังสือรวมเรื่องสั้น ‘คืนปีเสือ’ ซึ่งคว้ารางวัลซีไรต์ในปีนี้ไปครองเขียนไว้แบบนั้น ‘เป็นน้ำตาพ่อในทุกเช้า / เป็นเศร้าในรสแกงแม่ / เป็นชุดนักเรียนมือสองของพี่ชาย / เป็นรูปถ่ายติดฝาบ้าน / ดึกดื่นไฟบางดวงก็ติด / ประตูห้องเปิด / ใครบิดก๊อกน้ำเล่น / ออกมาจากฝันใช่ไหม / มาเดินเล่นรอบๆ บ้าน / ไม่หลงเหลือรอยเท้า / แต่มีร่องรอยให้นึกถึง / ในทุกเช้า’

เหมือนเพลงที่ช่างตรงกับชีวิตของเขาเหลือเกิน ชื่อ Tears in Heaven ที่ เอริก แคลปตัน (Eric Clapton) เขียนขึ้นจากความโศกเศร้า หลังลูกชายวัย 4 ขวบของเขาจากไปด้วยอุบัติเหตุ

‘เธอจะจำชื่อฉันได้ไหม ถ้าเราเจอกันบนสวรรค์?’

ขอโทษที่ต้องพูดอย่างใจร้าย ว่าเครื่องสังเวยและความสูญเสียนั้นกลายมาเป็นเรื่องเล่า สะท้อนอยู่ในเกมแนวจำลองชีวิต หรือภาพฝันถึงอดีตใน ‘ปลดแร้ว’ กระจัดกระจายและรวมตัวใหม่เป็น ‘เป็ดบนหลังคา’ ที่ไม่มีใครรู้ว่ามันอยู่ตรงนั้นจริงหรือไม่ 

“แม่บอกว่าเป็ดขึ้นสวรรค์ไปแล้ว แต่ความจริงมันอยู่บนหลังคา” 

ก็คล้ายกับเพลง Tears in Heaven นั่นแหละ ใครสักคนจากไป ทิ้งไว้แค่ความทรงจำ อาจเป็นของสักอย่างไว้ดูต่างหน้า อาจเป็นแม่เป็ดสักตัว จะจากไปอยู่บนสรวงสวรรค์ หรือบนหลังคา ก็อยู่ที่ความใกล้ไกลในความทรงจำ และบ่อยครั้งที่เรานึกสงสัย ว่าเขาหรือเธอจะจำชื่อของเราได้ไหมถ้าได้เจอกันบนสวรรค์

tear หากเป็นคำนามจะหมายถึง ‘น้ำตา’ แต่หากแปลงมันเป็นกริยามันจะหมายถึงการ ‘ฉีกทึ้ง’ และหัวใจที่โดนฉีกทึ้งอย่างรุนแรงในรวมเรื่องสั้นคืนปีเสือก็ช่างเหวอะหวะ เป็นความเหวอะหวะที่จเด็จแปลงและตบแต่งออกมาในรูปแบบเรื่องเล่าได้อย่างงดงาม ผ่านการดัดแปลงร่างกายมนุษย์เป็นหุ่นยนต์ใน ‘ปะแป้งไหมคะ’ หรือมนุษย์วานรใน ‘อยู่ข้างล่างขว้างได้ขว้างเอา’ การจำแลงกายเป็นเสือ และนิทานปรัมปราที่ราวจะกลายมาเป็นเรื่องจริงใน ‘คืนปีเสือ’ หรือเอาแค่คำว่า ‘บล็อก’ คำเดียวในบทเปิดที่จเด็จบอกว่ามัน ‘ไม่ใช่คำนำหรือคำตาม’ ก็ช่างสั่นสะเทือนหัวใจ ลูกชายบล็อกพ่อของเขาจาก ‘ชีวิตจริงตลอดกาล’ นั่นคือสิ่งที่เขาแลกไปกับการสังเวยบางอย่างเพื่ออะไรบางสิ่งใช่หรือไม่

‘สมมุติสถานการณ์ถ้าแม่และลูกของเราตกน้ำ แล้วเรามีสิทธิ์ช่วยได้แค่คนเดียวจะช่วยใคร อีกข้อในสถานการณ์และเงื่อนไขเดียวกันแต่เปลี่ยนเป็นสามีกับลูกเราจะช่วยใคร’

“ฉันช่วยตัวเอง” หญิงสาวตอบไอ้แมนในเรื่องสั้น ‘ปลดแร้ว’

เรื่องเล่าที่ดี ไม่ว่าจะเล็กจ้อยขนาดไหน มันมักสะท้อนความเป็นไปในภาพใหญ่ของสังคมและชีวิตของผู้คนได้อย่างแจ่มชัดเสมอ 

ความอาลัยหลุดออกมาเป็นภาพฝัน เป็นเรื่องเล่าที่แจ่มชัด เป็นคำโกหกที่จริงจัง เป็นบันทึกชีวิตและลมหายใจ พลังงานชีวิตถูกส่งต่อให้ผู้เล่าเรื่อง รวมถึงผู้เสพเรื่องเล่าให้ยังมีชีวิตต่อไปได้ในวันพรุ่งนี้ อาจผ่านการกลายร่างเป็นส่ำสัตว์และหุ่นยนต์ทั้งหลาย อาจผ่านความหมายที่ถูกแปลงกายเป็นความฝัน

และจเด็จ กำจรเดชก็ทำมันออกมาได้อย่างยอดเยี่ยมอีกครั้ง

การสูญเสียลูกส่งผลกับชีวิตคุณอย่างไร

ปกติจะไม่มีใครกล้าถามเรื่องนี้ เพราะกลัวมันจะทำร้ายจิตใจเรา แต่จริงๆ เราอยากให้ถาม เราอยากระบาย เราอยากพูด ว่ามันเกิดอะไรขึ้นกับเรา ซึ่งมันหนักหนามาก มันทำให้ชีวิตเป๋ไปเลย เหมือนเกือบจะต้องฆ่าตัวตาย แล้วเรามาคิดว่า เฮ้ย เรากำลังคิดถึงเรื่องตายแล้วเหรอ ความรู้สึกมันค่อยๆ ดิ่ง มีอาการของซึมเศร้า รวมถึงเรื่องอื่นๆ ในชีวิตที่มันไม่โอเค เช่น ถ้าเราเสียลูกไปขณะหน้าที่การงานดี ชีวิตอาจไม่ได้แย่ขนาดนั้น แต่มันเป๋ไปทุกอย่าง งานไม่ดี ชีวิตไม่ลงตัว รู้สึกว่าอยู่ตรงไหนก็ไม่เหมาะกับเรา อยู่กับเพื่อนไม่ได้ อยู่ที่บ้านไม่ได้ ไม่อยากอยู่ เพราะอยู่แล้วพบบรรยากาศเดิมๆ แต่ต้องอยู่เพื่อลูกคนอีกคน 

ที่บ้านตอนนั้นเหมือนเป็นครอบครัวที่พร้อมแตกสลาย แม่ของลูกแยกกันอยู่ ลูกชายคนโตเริ่มเป็นหนุ่ม เลยทำให้มีโอกาสคุยกันน้อย ไม่ได้ปฏิสัมพันธ์กันเหมือนเดิม เขาอยู่กับเพื่อนของเขา กลายเป็นว่าในบ้านต่างคนต่างอยู่คนละมุม

หน้าจอโทรทัศน์ในบ้าน เมื่อก่อนจะเป็นที่ที่เรานั่งดูรายการต่างๆ ด้วยกันกับลูกคนที่เสีย เพราะชอบดูอะไรคล้ายกัน เช่น สารคดี การ์ตูน แต่พอเขาเสีย เราก็ไม่อยากนั่งตรงนั้น โซฟาไม่อยากหันมอง เลยทำให้จมลงไปเรื่อยๆ

“เราแค่รู้สึกว่า เราเป็นนักเขียน เรามีพื้นที่ของเรา เราน่าจะเอามันไปพูดในงานเขียน ตีความได้อย่างไร นั่นคือสิ่งที่เราเป็น”

 

ช่วงปีแรกเป็นอย่างไร

ช่วงปีแรกยังโอเค เราตั้งใจจะไม่จมไปกับความสูญเสีย คิดว่าคงเหมือนการตายปกติ เดี๋ยวคงทำใจได้ พยายามออกไปเจอเพื่อน แต่พอผ่านปีแรก ความรู้สึกมันวกกลับมา รู้สึกว่าปีใหม่แล้ว วันคล้ายวันเกิดเขาวนมาแล้ว ประกอบกับไม่ได้ทำงานบ้าง ทะเลาะกับที่บ้านบ้าง เลยกลายเป็นภาวะจมในปีที่สอง เริ่มคิดว่าเราอยู่ไปทำไม อยากเจอลูก คิดว่าเขายังอยู่ เพียงแค่เขาหลบอยู่หลังบ้าน หรือเขาออกไปเที่ยว ตื่นมาทุกวันด้วยภาวะที่บอกไม่ถูก เข้าห้องน้ำกลางดึก บางครั้งก็กอดลม รู้สึกว่าเขาเป็นวิญญาณที่ยังอยู่แถวนั้น และเราน่าจะกอดเขาติดมาบ้าง

เขียนได้ไหมในช่วงนั้น

เขียนได้ ยังทำงานได้ แต่เริ่มมีความคิดแปลกๆ เริ่มป่วยมากขึ้น และรู้ตัวว่าเรากำลังคิดไปถึงความตาย แต่เราพยายามระวังตัว เหมือนรู้ว่ากำลังเดินไปสู่ทางแยก เราจะทำอย่างไรให้ผ่านแยกนั้นไปได้ สิ่งที่ทำให้อยู่ได้คือความคิดที่ว่าเราต้องเขียนหนังสือ แต่ความรู้สึกมันอึดอัด เพราะเพื่อนไม่กล้าถามว่าเราเป็นอย่างไร เมื่อเพื่อนไม่ถาม เราก็ไม่กล้าพูด ไม่กล้าโพสต์อะไรบนเฟซบุ๊ก เพราะโพสต์ทุกครั้งจะเป็นเรื่องนี้ เพื่อนก็จะเข้ามาปลอบใจ แต่เราคิดว่าพอมันมากเข้า เพื่อนเขาคงเบื่อเหมือนกัน อาจคิดว่าโพสต์เรื่องนี้อีกแล้ว บางคนบอกว่า ทำใจนะ เขาไปสบายแล้ว แต่เรารู้สึกว่าคำพวกนั้นไม่จริง เหมือนเขาแค่อยากให้เราผ่านๆ เรื่องนี้ไปสักที เราเลยไม่ได้โพสต์อะไรเลย จนไปเปิดเพจชื่อของลูก ตั้งค่าให้เห็นแค่ตัวเอง ไปเขียนอยู่ในนั้น ระบายลงไปตรงนั้น 

เมื่ออยากให้เพื่อนถาม แต่เพื่อนไม่ถาม เราเลยหาวิธีเขียน เริ่มต้นจากเขียนนิยายเยาวชน ‘นักสืบอาคม’ เพื่อให้มันเป็นรหัสลับถึงลูก ตอนที่ลูกตายใหม่ๆ ผ่านไปสักสามสี่เดือน เราฝันถึงเขา ว่าเขามาหาในสภาพที่โตเป็นหนุ่ม เราเลยคิดว่า หรือในโลกโน้น เวลาไม่เท่ากับโลกที่เราอยู่ เราไม่อยากให้ความรู้สึกนี้หายไปเฉยๆ เพราะสุดท้ายมันอาจจะจางหายไป คือเราอยากทำใจได้นะ แต่คำถามคือการทำใจได้นั้นมันคือการลืมหรือเปล่า 

จริงๆ คิดว่าวันหนึ่งความทรงจำบางอย่างมันคงหายไป ถ้าเราอยู่นานพอ ยุ่งกับการทำงานมากพอ เหมือนที่เราเคยลืมความสูญเสียของน้องสาว หรือหลานสาวที่เสียไปตอนซึนามิ เราเริ่มลืมเขาไปแล้ว แต่นั่นคือคนที่ไม่ได้ใกล้ชิดเราเท่าลูก แต่เราแค่คิดว่า ถ้ามันหายไปแบบนั้น เราจะทำอย่างไร เราเลยอยากให้เขาอยู่ แต่เป็นการอยู่ในแบบที่วันไหนเรานึกถึงเขาเราจะยิ้มได้ ไม่ใช่นึกถึงแล้วร้องไห้ เลยต้องเอามาเขียน ให้เขาเป็นตัวละครสักตัว เพราะเขามีชีวิตอยู่ในโลกนี้แค่สิบปี แล้วไม่มีใครจำเลยนอกจากเราและแม่ของเขา เราเลยอยากให้เขาถูกจำ อาจอีกสถานะหนึ่งก็ได้

การสูญเสียส่งผลอย่างไรกับ ‘คืนปีเสือ’

มันเป็นพลัง เป็นพลังที่ช่วยเราตอนท้อ ตอนเราป่วยไม่อยากอยู่ มันจะมีช่วงที่เราท้อกับการเขียน กับวงการ ว่าเราควรใช้ชีวิตกับมันอย่างไร เขียนแบบไหนถึงเป็นงานที่ดี เราเทลงไปทุกอย่างแล้ว เวลาเขียนเราอยากเขียนงานที่ดี แต่ไม่รู้จะทำอย่างไรให้ทุกคนเห็นพ้องต้องกันว่ามันดี เราเลยมาคิดว่า ทำงานไปแบบไม่ต้องสนใจตรงนั้นดีกว่า อย่างมีคนบอกว่างานเราใส่องค์ประกอบลงมาเยอะแยะไปหมด เราก็จะใส่ลงไปให้มากกว่าเดิม (หัวเราะ) เขียนยาวแล้ว เขียนให้ยาวไปอีก คืนปีเสือเริ่มแบบนี้ เริ่มจากข้อมูลมหาศาลที่เราตั้งใจว่าจะเขียนไปได้อีกหลายปี และอีกหลายเล่ม เอามายัดไว้ในเล่มเดียว ซึ่งพอเสร็จออกมาเป็นเล่ม เราค่อนข้างพอใจ กลับไปอ่านแล้วยังรู้สึกสนุก

“สุดท้ายเรื่องการถูกยอมรับ มันอาจจะไม่จริง ไม่มี หรือบางทีมันอาจจะไม่พอสำหรับเรา มันเลยทำให้เราต้องเบ่งพลังออกมาเรื่อยๆ เหมือนโงกุน เบ่งพลัง แปลงร่างไปเรื่อยๆ ร่างหนึ่ง สอง สาม จนไม่ไหวแล้ว จนเหนื่อยแล้ว”

 

ในหน้าแรกๆ ของ ‘คืนปีเสือ’ มีส่วนที่เรียกว่า ‘ไม่ใช่คำนำหรือคำตาม’ กล่าวถึงการ์ตูนเรื่อง Berserk และการสังเวยของสำคัญในชีวิตเพื่อให้ได้มาซึ่งความเชื่อ ความฝัน ในชีวิตนี้คุณสังเวยอะไรไปแล้วบ้าง

เรื่องนี้เราคิดมานาน เหมือนเรื่องเล่าการขายวิญญาณให้ปิศาจ คุยกับเพื่อนว่าทุกอย่างเป็นเรื่องของการแลก ชื่อเสียงการงานบางครั้งมันก็แลกกับสุขภาพ หรืออย่าง พี่หนก (กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ นักเขียนรางวัลซีไรต์ พ.ศ. 2539 เสียชีวิตในวัย 40 ปี) แกเป็นนักเขียนที่โด่งดังมาก มีอิทธิพลกับคน กับสังคม แต่แกก็ตาย เราเลยคิดว่ามันมีการแลก การสังเวยหรือเปล่า

แต่เราก็เตือนตัวเองกับเพื่อนเสมอว่า ถึงมันจะมีการแลก การสังเวย แต่เราอย่าไปแลกกับมัน เพราะเราไม่อยากเป็นอะไรแล้ว ไม่อยากสูญเสียไปมากกว่านี้ อยากเป็นแค่คนธรรมดา เขียนหนังสือง่ายๆ ไป คือการเป็นนักเขียนดัง เป็นดารา มันต้องแลกกับชีวิตส่วนตัว นักการเมืองก็ต้องแลกเพื่อให้ได้ชีวิตอีกแบบ

เราเลยมาคุยกับเพื่อนเกี่ยวกับการ์ตูนเรื่องนี้ ด้วยความรู้สึกว่าในทุกวันเรากำลังแลกบางอย่างอยู่เรื่อยๆ ยิ่งพอได้ซีไรต์ครั้งที่สอง ยิ่งชัดเลย มีคนบล็อก มีคนลบเพื่อนจากเฟซบุ๊ก โดยที่เราก็ไม่เข้าใจ เหมือนบางคนเอาเราไปสังเวย เพื่อจะได้เข้าไปอยู่ในอีกกลุ่มหนึ่ง

ความจริงคิดว่าการที่ลูกเสียตอนนั้น คือสิ่งที่เราได้สังเวยไปแล้ว ชีวิตควรดีขึ้นบ้าง ก่อนหน้านี้พูดเล่นๆ กับพี่วร (ศิริวร แก้วกาญจน์ นักเขียนและหนึ่งในบรรณาธิการผู้ดูแลรวมเรื่องสั้น ‘คืนปีเสือ’) กับพี่ลอง (จำลอง ฝั่งชลจิตร ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์) กับต้อย (กิตติศักดิ์ คเชนทร์ ผู้เขียนนิยาย ‘บ้านในโคลน’) ว่า ถ้าเราจะเขียนงานให้ดีกว่านี้ สงสัยเราต้องแลกกับชีวิต หมายถึงเอาชีวิตทุ่มลงไปกับมัน คนจะชอบพูดว่าถ้าอยากเขียนงานให้เห็นเลือดเห็นเนื้อ เราต้องเอาเลือดเนื้อลงไปแลก แต่เราไม่นึกว่ามันไม่เอาชีวิตเราตรงๆ แต่มันเอาไปทางอ้อม เอาลูกไป เอาหลายสิ่งหลายอย่างไป ซึ่งส่งผลต่อชีวิตเรา เราเจ็บปวด เราเศร้า ชีวิตไม่ได้ปกติเลย ครอบครัวไม่ได้ปกติเลยหลังจากนั้น มันเป็นการแลกเปลี่ยน เป็นการสังเวยโดยที่เราไม่รู้ตัว เลยมาคิดว่า จริงๆ เราไม่ควรแลกอะไรเลย 

ในการ์ตูนเรื่อง Berserk ตัวละครเอกอย่าง ‘กรีฟฟิธ’ ยอมแลกเพื่อนสนิทอย่าง ‘กัซต์’ และคนอื่นๆ ไปเพื่อให้ได้มาซึ่งพลังอำนาจระดับเดียวกับพระเจ้า การแลกแบบนี้คุ้มหรือเปล่า

ถ้าเป็นกรีฟฟิธอาจจะคุ้ม เพราะมันได้พลังระดับพระเจ้ามา แต่ถ้าเป็นเราที่ยังได้แค่นี้ เราคิดว่าไม่คุ้ม คือถ้าเป็นกรีฟฟิธมันคงคุ้ม เพราะตอนแลก มันเหลือแค่ความตายแล้ว ไม่เหลืออะไรแล้ว แต่ประเด็นคือ เรื่องเล่าเกี่ยวกับการแลกเหล่านี้ จะสังเกตว่าเทวดาไม่เคยให้ข้อเสนอเลย คนที่ยื่นข้อเสนอให้มีแต่พวกมาร อย่างของเรา คงไม่รู้ว่าบนทางแยกไหนสักแยก ที่เราเผลอพูดไปว่า กูยอมแลกบางสิ่งเพื่อให้ได้อะไรบางอย่าง

เรื่องการแลกบางครั้งก็ดูยิ่งใหญ่ เป็นการเสียสละ เป็นการสังเวย แต่พอคิดอีกแง่หนึ่งมันก็ดูไร้สาระ

ใช่ ยิ่งเป็นตอนนี้สำหรับตัวเรา มันไม่ได้พาไปสู่จุดที่เราหวังไว้ตั้งแต่แรกเลย เมื่อก่อนเวลาเราเห็นคนได้รางวัล เรายอมรับชื่นชมนะ แต่พอเราไปถึงจุดนั้นเองจริงๆ เรากลับตระหนักถึงกระบวนการ ว่าเรามักพยายามให้คนข้างหน้าเห็น เช่น อยากให้นักเขียนใหญ่ๆ หันมายอมรับ โดยไม่เคยนึกถึงเพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกัน หรือคนรุ่นหลังเลย ซึ่งคนที่เราชื่มชม เขาก็มีไอดอลของเขาอีกที มีคนที่เขาอยากให้ยอมรับในตัวเขาที่อยู่ข้างหน้าเขาอีกที ทุกคนมองไปข้างหน้าหมดเลย สุดท้ายเรื่องการถูกยอมรับ มันอาจจะไม่จริง ไม่มี หรือบางทีมันอาจจะไม่พอสำหรับเรา มันเลยทำให้เราต้องเบ่งพลังออกมาเรื่อยๆ เหมือนโงกุน (โกคู ตัวละครเอกจากการ์ตูนเรื่อง ‘ดราก้อนบอล’) เบ่งพลัง แปลงร่างไปเรื่อยๆ ร่างหนึ่ง สอง สาม จนไม่ไหวแล้ว จนเหนื่อยแล้ว

ตอนได้ซีไรต์ครั้งที่สองรอบนี้ มีคนพาไปเลี้ยงตรงริมแม่น้ำเจ้าพระยา แล้วเราเห็นเรือสำราญผ่าน เขาก็บอกว่า เดี๋ยวถ้าได้ครั้งที่สาม จะพาไปนั่งเรือสำราญ เราคิดว่า ตาย ตาย ตาย (หัวเราะ) ต้องให้ได้ครั้งที่สามเลยเหรอ เราเขียนจนตายแน่เลย ไม่ไหวแล้ว คือครั้งนี้ได้ครั้งที่สอง คงช่วยปลดหนี้สำนักพิมพ์ แต่ถ้าให้ได้เหลือเงินไปเที่ยวคงต้องเป็นครั้งสาม ซึ่งมันไม่ไหวแล้ว (หัวเราะ) เราพุ่งไปข้างหน้า แต่เป้าหมายข้างหน้ามันหนีเราไปเรื่อยๆ ดังนั้น เรื่องของการแลก มันก็ไร้สาระ มันไม่จริงเลย เพราะมันจะพาเราไปพบเหวอีกเหว กับดักอีกแบบ และสุดท้ายก็ไปไม่ถึงสิ่งที่เราอยากได้สักที

“ถ้าเราจะเขียนงานให้ดีกว่านี้ สงสัยเราต้องแลกกับชีวิต หมายถึงเอาชีวิตทุ่มลงไปกับมัน คนจะชอบพูดว่าถ้าอยากเขียนงานให้เห็นเลือดเห็นเนื้อ เราต้องเอาเลือดเนื้อลงไปแลก แต่เราไม่นึกว่ามันไม่เอาชีวิตเราตรงๆ แต่มันเอาไปทางอ้อม เอาลูกไป เอาหลายสิ่งหลายอย่างไป ซึ่งส่งผลต่อชีวิตเรา เราเจ็บปวด เราเศร้า ชีวิตไม่ได้ปกติเลย ครอบครัวไม่ได้ปกติเลยหลังจากนั้น มันเป็นการแลกเปลี่ยน เป็นการสังเวยโดนที่เราไม่รู้ตัว เลยมาคิดว่า จริงๆ เราไม่ควรแลกอะไรเลย”

 

คุณตระหนักถึงความรักต่อคนคนหนึ่ง เช่น ลูกชาย ในขณะที่เขายังมีชีวิตอยู่ หรือตอนที่สูญเสียเขาไปแล้ว

เราเป็นคนรักลูกอยู่แล้ว เพียงแค่ไม่ทันนึกว่าจะมีวันที่เขาไปก่อนเรา สิ่งที่ทำให้เจ็บปวดทุกวันนี้ นอกจากที่เขาจากไป คือคำถามว่าเราเป็นพ่อที่ดีหรือยังในตอนเขาอยู่ ส่วนลูกเรา เขาเป็นลูกที่ดีสุดยอดเลยนะ เขาทำให้เรารู้จักความรัก ให้รู้จักการเป็นพ่อ ให้ความสุข เป็นเด็กร่าเริง พูดด้วยภาษาเดียวกัน เราคิดว่าเขาต้องเป็นนักเขียนแน่ถ้าเติบโตขึ้น เพราะเขาอ่านการ์ตูน อ่านหนังสือ มีจินตนาการ ถึงเขาดื้อ ก็ดื้อในความเป็นเด็ก แต่เรานี่สิ มีทั้งตี ทั้งดุ เวลาสอนหนังสือ เขาจะเป็นเด็กสะกดคำช้า พอเรากดดันมากๆ เขาก็ร้องไห้ ลุกขึ้นเดินหนีไปเลย เราก็ใจสลายนะ กับเรื่องลูกมีหลายอย่างที่ติดค้าง เรื่องความรักมันอีกอย่างหนึ่งนะ แต่เรื่องการปฏิบัติ เราลืมคิดไปว่าเขาจะไม่ได้อยู่กับเราตลอดไป เราเลยยังไม่ได้ทำให้มันดีพอ

ยกคำถามจากเรื่องสั้น ‘ปลดแร้ว’ มา สมมุติสถานการณ์ถ้าแม่และลูกของเราตกน้ำ แล้วเรามีสิทธิ์ช่วยได้แค่คนเดียวจะช่วยใคร อีกข้อในสถานการณ์และเงื่อนไขเดียวกันแต่เปลี่ยนเป็นสามีกับลูก’ คุณจะช่วยใคร

มันยาก มันเป็นเรื่องยาก ไม่ว่าเราจะช่วยใครมันก็จะติดอยู่ในหัว ว่าทำไมเราช่วยอีกคนไม่ได้ เช่น อย่างในหนังบางเรื่อง มีคนสองคนไปปีนเขา อีกคนบาดเจ็บ อีกคนต้องไปตามคนมาช่วย ถ้าเป็นเรา เราอาจจะไม่ไป เราจะนั่งอยู่ตรงนั้น แม้ว่าต้องตายกันทั้งสองคน นั่งเป็นเพื่อนกัน ไม่กล้าทิ้งอีกคน ถ้าทิ้งไป เราอาจไม่รอดก็ได้ อาจไปตกเหวตายกลางทาง อีกคนก็นั่งรอไปอย่างมีความหวัง หรือถ้าเรากลับมาช่วยไม่ทันล่ะ เราแค่คิดว่า ในช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิต เราจะค้นพบอะไรก่อนตาย แล้วเราก็เขียนหลายเรื่องเลยเรื่องความตาย จนรู้สึกว่ามันเป็นปมอะไรบางอย่างของเราหรือเปล่า

ใน ‘คืนปีเสือ’ ถ้าตั้งใจอ่านจริงๆ ผู้อ่านอาจจะสัมผัสได้ถึงร่องรอยของความอาลัยและความรัก แต่สิ่งที่ค่อนข้างหาได้ยากมากในภาพรวมของทั้งเล่มคือน้ำเสียงของ ‘ความโกรธ’ อารมณ์เหล่านี้หายไปไหน

มันหายไปกับความเหนื่อยที่เราต้องเบ่งพลังไปสู้ เช่น เรื่องการแสดงความคิดเห็นในเฟซบุ๊ก เราเห็นเลยว่าถ้าเราโพสต์ มันจะมีคนมาค้าน พอมีคนมาค้านมันจะมีการต่อสู้ และเรารู้สึกว่าการต่อสู้นั้นมันไม่นำไปสู่อะไรสักสิ่ง เราเลยเหนื่อย เลยถอยออกมาจากความโกรธ บางทีพลังงานเราไม่พอ ยิ่งพาตัวเองไปสู่ความขัดแย้งเรายิ่งเหนื่อย แต่เราไม่ได้สังเกตเลยว่าในคืนปีเสือความโกรธมันเบาบาง แม้กระทั่งในสิ่งที่คล้ายคำนำในหน้าแรกๆ ตอนเขียนเรามีทิศทางว่ามันจะไปทางใดทางหนึ่ง เราจะวิพากษ์คนบางกลุ่ม แต่พอเขียนเสร็จ เราไม่อยากให้เกิดความขัดแย้ง เราเลยแก้ให้มันมาจบที่เราดีกว่า หรือบางทีก็ซ่อนเอาไว้ เก็บไว้ หลายๆ เรื่องในคืนปีเสือจะใช้อารมณ์ขัน การเสียดสีแทน หลบมันซะ ให้มันเป็นแค่เรื่องเล่า

หรือความเหนื่อยที่ว่า มันอาจเป็นข้ออ้างจากการเสียลูกเหมือนกันนะ เป็นข้ออ้างว่าเราอยู่โดยไม่ต้องแสดงความคิดเห็นอะไรก็ได้ เพราะเรากำลังอยู่ในอารมณ์สูญเสีย ยังเจ็บปวด ขออยู่เงียบๆ

แต่จะมีคำพูดประมาณว่านักเขียนควรวิพากษ์หรือแสดงความคิดเห็นต่อสังคม

มันจะเป็นเรื่องของการแลกอีก ตอนนี้เราปนกันมั่วไปหมด การเขียนเรื่องเล่า เราก็คิดว่ามันเป็นเรื่องจริง แล้วสิ่งที่ปรากฏในเฟซบุ๊กกลับกลายเป็นเรื่องจริงกว่า เป็นเรื่องที่ควรทำมากกว่างานเขียน บางทีเราแค่รู้สึกว่า เราเป็นนักเขียน เรามีพื้นที่ของเรา เราน่าจะเอามันไปพูดในงานเขียน ตีความได้อย่างไร นั่นคือสิ่งที่เราเป็น แต่บางครั้งไปอ่านจากที่อื่น หรือแม้กระทั่งไม่อ่าน ก็ดันมาตีความตัวเราไปอีกแบบ เขียนก็ถูกว่า ไม่เขียนก็ถูกว่า (หัวเราะ)

ตอนที่ได้ซีไรต์จาก ‘แดดเช้าร้อนเกินจะจิบกาแฟ’ เราไปลงชื่อยกเลิกกฎหมายมาตรา 112 ก็ถูกลากไปด่า ด่าทุกอย่าง อย่างใส่หมวกไหมพรมในเมืองร้อน (ก่อนหน้านี้จเด็จมีภาพจำของการใส่หมวกไหมพรมสีเหลืองตลอดเวลา) เป็นมะเร็งหรือเปล่า ทำคีโมอยู่หรือเปล่า (หัวเราะ) ด่าคนละเรื่อง

แล้วตอนนี้เราอาจจะถูกด่าเพราะไม่ได้แสดงออกอะไรมากอีก ซึ่งมันน่าเจ็บปวดนะ ใช่ ที่เราควรแสดงออก ต้องพูด แต่ถ้าจะมาตัดสิน ชี้ว่าที่ผมไม่พูดในเฟซบุ๊กเพราะผมเป็นฝั่งไหนสักฝั่ง มันไม่ใช่นะ บางทีผมแค่เหนื่อย แต่เรามีวิธีอื่นนะ เช่น บริจาคให้ม็อบ ขึ้นมากรุงเทพอยู่ใกล้ๆ ก็ไป แต่พอเราไป จะโดนด่าอีกว่าอยากขายหนังสือหรือเปล่า

“เราแค่คิดว่า ถ้ามันหายไปแบบนั้น เราจะทำอย่างไร เราเลยอยากให้เขาอยู่ แต่เป็นการอยู่ในแบบที่วันไหนเรานึกถึงเขาเราจะยิ้มได้ ไม่ใช่นึกถึงแล้วร้องไห้ เลยต้องเอามาเขียน ให้เขาเป็นตัวละครสักตัว”

 

หรืออารมณ์โกรธที่ไม่ปรากฏมากนักใน ‘คืนปีเสือ’ อาจเพราะคุณพยายามกดมันไว้ จากความสูญเสียต่างๆ ในชีวิตด้วย

ใช่ ตอนนี้เหมือนกัน เหมือนเราพยายามเป็นคนอีกแบบหนึ่ง เมื่อก่อนเราเป็นคนอารมณ์ร้อน ฉุนเฉียว เราอยากเป็นอีกแบบ อยากเป็นคนมองโลกอย่างเข้าใจ ทำใจปล่อยวาง (หัวเราะ) ซึ่งมันยาก แต่อาจจะเข้าใจหลายอย่างขึ้น เช่น การพูดบางอย่างให้เพื่อนรู้สึกไม่ดี มันไม่ได้ทำให้เกิดอะไร หรือตอนแรกคิดว่าการอยู่เฉยๆ น่าจะดีที่สุด แต่ตอนนี้รู้สึกขึ้นมาอีกว่า การอยู่เฉยๆ ก็ไม่ดี 

แต่หนังสือเล่มหนึ่งถ้ามีความโกรธความเกลียดอยู่ในนั้น คนอ่านก็จะรับอารมณ์นั้นๆ ไปด้วย แล้วถ้าเขารับสารไปแบบนั้น เขาจะแสดงออกแบบไหน คำถามคือมันดีไหม สำหรับนักเขียนคนหนึ่ง การกันอารมณ์โกรธเกลียดออกไป มันเป็นเรื่องดีของเรา เพราะเรารู้สึกว่า อย่างน้อยมันไม่ได้ไปจุดไฟเพิ่มให้ใคร ถึงยุคนี้แล้ว นักปรัชญาไม่มีแล้ว ศาสดาก็ไม่มีแล้ว เพราะในยุคนี้ศาสดาประกาศอะไรปุ๊ป มันจะผิดทันที เพราะจะมีคนมาโต้แย้งทันที ไม่เชื่อดูในเฟซบุ๊กก็ได้ เพราะฉะนั้นเราเลยเปลี่ยนสถานะของความคิดในงานเขียนให้เป็นเรื่องเล่า คำถามคือ เราจะอ่านไปทำไมในเมื่อมันเป็นเรื่องแต่ง เรื่องโกหก คำตอบคือ มันเหมือนเราอ่านแฮรี่ พอตเตอร์ที่มันใส่แนวคิดไปมากมายนั่นแหละ แล้วสุดท้ายมันกลายมาเป็นสัญลักษณ์ของการชุมนุม เวลาเราอ่านเดอะ ลอร์ด ออฟ เดอะ ริง เราไม่ได้นึกถึงเทวดา แต่เรากลับนึกถึงเรื่องสงคราม เรื่องอำนาจ เรื่องการเมือง การสอดแทรกเนื้อหาในชีวิตจริงคือสิ่งที่วรรณกรรมทำ

ธีมของ ‘คืนปีเสือ’ ที่แทบทุกเรื่องมีส่วนประกอบของสัตว์อยู่ในนั้นก็เป็นวิธีการทางวรรณกรรมอย่างหนึ่ง?

ใช่ เช่น การที่คนกลายเป็นสัตว์ กลายเป็นเสือ บางทีมันเป็นสัญลักษณ์สื่อถึงอำนาจ หรืออย่างร่างทรง มันอาจเป็นเรื่องการสถาปนาอำนาจของคนไร้อำนาจ คือในสังคมคนที่อยากมีอำนาจ เขาอาจไปหางานดีๆ ไปชุบตัว ไปเรียนเมืองนอก หรือถ้าผมสู้คุณไม่ได้เรื่องการเขียนหนังสือ ผมอาจไปเรียนด็อกเตอร์ เพื่อมาเป็นนักวิชาการ ซึ่งจะทำให้ผมดูดีกว่าคุณขึ้นมานิดหนึ่ง นั่นอาจเป็นเรื่องของการแสวงหาอำนาจ แต่สำหรับบางคนที่เขาทำอะไรไม่ได้ เขาเลยเปลี่ยนตัวเองเป็นร่างทรง รู้สึกว่าตัวเองเป็นเทพขึ้นมา คุณต้องมาไหว้ มากราบผม 

หรือบางทีที่เราเขียนเรื่องเหล่านี้ เพราะเราอาจไม่อยากเป็นคนแล้ว แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราอยากมีอำนาจอะไรนะ เพราะมันไม่ใช่แค่เสือ สัตว์อ่อนแออื่นๆ ก็มี หรือหุ่นยนต์ในเรื่อง ‘ปะแป้งไหมคะ’ ตอนเขียนเราร้องไห้นะ เพราะตอนนั้นเป็นช่วงประชุมสภานัดแรกที่มีการพูดถึงความลำบากของคนจนพอดี คือเวลาที่เราเขียนถึงคนจน เราไม่ต้องใช้ความรู้สึกเห็นใจหรืออะไรเลยนะ เพราะเรานี่แหละคนจน เวลาเราเขียนถึงคนจน พูดถึงเรื่องชนชั้น แล้วมองว่าเราอยู่ตรงไหน เราพบว่าเราจะมองขึ้นไปข้างบนเสมอเลย เราเป็นคนข้างล่าง เป็นคนที่ใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 300 บาทนั่น เราเป็นคนจน เราเลยรู้สึกว่า พอแล้ว การเป็นมนุษย์มันน่าจะพอได้แล้วสักที เพราะพอมีเลือดมีเนื้อมันมีแต่ลำบาก เราเลยเขียนให้เป็นหุ่นยนต์

คืองานเขียนก็เป็นการสะท้อนภาวะที่คนเขียนรู้สึกในตอนนั้นๆ เหมือนกัน?

ใช่ ซึ่งสุดท้ายมันอาจเป็นการหนีอย่างหนึ่ง และคืนปีเสือน่าจะเป็นเล่มที่มีความรู้สึกของเรามากที่สุดตั้งแต่เขียนมา

คุณเพิ่งเขียนสเตตัสในเฟซบุ๊กเล่าว่าจะเขียนนิยายโดยขึ้นต้นว่า ‘ผมจะเล่าเรื่องอย่างง่ายที่สุด’ คำถามคือในโลกนี้มันมีเรื่องที่เล่าได้ง่ายๆ จริงหรือ

ไม่มีหรอก ถ้าเป็นนิยายหรือวรรณกรรม ไม่มีทางที่บอกอะไรตรงๆ หรือง่ายๆ คนก็จะบอกว่าทำไมต้องให้คนอ่านตีความล่ะ ทำไมไม่บอกตรงๆ ผมคิดว่ามันไม่ใช่หน้าที่ของวรรณกรรมไง มันไม่สนุก เราชอบจะให้คนตีความ แต่ขึ้นต้นแบบนั้น มันเป็นกลวิธีการเล่น เพื่อให้เห็นว่าในที่สุดมันไม่มีเรื่องไหนจะเล่าออกมาง่ายๆ — ‘ผมจะเล่าเรื่องอย่างง่ายที่สุด’ ยิ่งขึ้นต้นแบบนี้ แสดงว่ามันจะยิ่งยาก (หัวเราะ)