life

ความสนใจในการระบายความรู้สึกผ่านศิลปะเริ่มเป็นที่สนใจตั้งแต่เมื่อร้อยกว่าปีก่อน

ในยุโรป ช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 ถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 ความสนใจในผลงานของผู้ป่วยทางจิตเริ่มเพิ่มขึ้น เพราะคนในแวดวงจิตเวชเริ่มเชื่อว่าภาพวาดของผู้ป่วยสามารถนำมาประกอบคำวินิจฉัยของแพทย์ได้

โดยเฉพาะในผู้ป่วยโรคจิตเภท (Schizophrenia) หรือความผิดปกติของความคิด ซึ่งทำให้ผู้ป่วยมีความคิดและการรับรู้ไม่ตรงกับความเป็นจริง จนส่งผลเสียต่อชีวิตประจำวัน

ฮันส์ พริ้นซ์ฮอร์น

ราวทศวรรษที่ 1920 ฮันส์ พริ้นซ์ฮอร์น (Hans Prinzhorn) นักประวัติศาสตร์ศิลป์ชาวเยอรมันที่ผันตัวมาเป็นจิตแพทย์ จึงเริ่มต้นรวบรวมผลงานศิลปะมากกว่า 5,000 ชิ้น จากผู้ป่วยประมาณ 500 คนทั่วยุโรป เพื่อศึกษาเรื่องนี้อย่างละเอียด

หลังจากนั้น ฮันส์ได้ตีพิมพ์การศึกษาทั้งหมดออกมาเป็นหนังสือในชื่อ Artistry of the Mentally Ill (1922) นับเป็นหมุดหมายสำคัญที่ทำให้คนจำนวนมากเชื่อว่า ภาพวาดมีคุณค่าในแง่การวินิจฉัยและเวชศาสตร์ฟื้นฟู

หนังสือ Artistry of the Mentally Ill (1922) ต้นฉบับภาษาเยอรมัน

ตัวอย่างภาพวาดผู้ป่วยในหนังสือ Artistry of the Mentally Ill (1922)

Three Heads (Chalk)
Three-master at Sea in the Evening (Watercolour)
The Avenging Angel (Crayon)
Self-portrait (Crayon)
Ecce Homo (Pencil)
Miracle Shepherd (Pencil)

เมื่องานศิลปะของผู้ป่วยเริ่มได้รับความสนใจในวงกว้าง การศึกษาภาพวาดของเด็กจึงได้รับความสนใจตามไปด้วย โดยการศึกษาช่วงแรกๆ จะเน้นให้ความสำคัญเพียงว่า เด็กวาดภาพอย่างไร และในแต่ละช่วงอายุสามารถวาดภาพอะไรได้บ้าง

นอกจากนั้น ยังมีการสร้างแบบทดสอบ Draw-A-Man (1926) ขึ้นมา เพื่อใช้วัดอายุสมองและเชาว์ปัญญา

สาเหตุที่ต้องวาดรูปคน เพราะว่าภาพคนมีความเป็นสากลมากที่สุด ส่วนการวิเคราะห์และแปลผล จะอาศัยปัจจัยหลากหลายด้าน เช่น อวัยวะ การเคลื่อนไหวของเด็กเวลาวาด ความต่อเนื่อง การควบคุมกล้ามเนื้อมัดต่างๆ

จนกระทั่งในปี 1940 เริ่มเกิดแนวคิดการใช้ภาพวาดระบุอารมณ์และบุคลิกภาพ เป็นการศึกษาภาพวาดในแง่ภาพแทนโลกภายในตัวตน หรือสิ่งที่อยู่ในใจ 

เหตุนี้เอง กระบวนการวาดภาพเพื่อสะท้อนหรือฉายความในใจออกมา (Projective Drawing) จึงถูกคิดค้นขึ้นมาในช่วงเวลานั้น เช่น แบบทดสอบ Buck’s House-Tree-Person Test (HTP) และ Machover’s Draw-A-Person Test (DAP)

ตัวอยางภาพวาดบ้าน ต้นไม้ และคน

แบบทดสอบจิตวิทยาที่ได้รับความนิยมนำการวาดมาวิเคราะห์และวัดผลเหล่านี้ มีแก่นแนวคิดร่วมกัน คือ

สิ่งที่ถูกวาด คือ ตัวตน
กระดาษ คือ สิ่งแวดล้อม หรือโลกภายนอก
การวาด คือ การฉาย (Project) โลกภายในออกมาสู่โลกภายนอก

คาเรน มาชโอเวอร์

โดยเฉพาะแบบทดสอบ DAP ของคาเรน มาชโอเวอร์ (Karen Machover) นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน ซึ่งเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายมากที่สุด 

เพราะเธอให้ความหมายเชิงสัญลักษณ์กับรายละเอียดต่างๆ ที่ปรากฏในภาพวาดไว้ค่อนข้างครบถ้วน ทั้งอวัยวะและลักษณะของร่างกาย กระเป๋า กระดุม เสื้อผ้า แม้แต่บุหรี่ เพื่อนำมาแปลความหมายเป็นบุคลิกของผู้วาดควบคู่ไปกับภาพรวมอย่างลักษณะเส้น ขนาด น้ำหนัก และตำแหน่งของภาพ 

อลิซาเบธ คอพพิทซ์

อลิซาเบธ คอพพิทซ์ (Elizabeth Koppitz) นักจิตวิทยาการปรึกษาชาวเยอรมัน เห็นด้วยกับคาเรนว่า คำสั่งเริ่มทำแบบทดสอบ “ให้วาดภาพคน” ทำให้ผู้วาดพยายามจับส่วนประกอบสำคัญของคน เพื่อวาดออกมาเป็นภาพ ซึ่งโดยปกติแล้วคนเราจะมองเข้าไปภายในความรู้สึกของตัวเอง

ดังนั้น ภาพคนที่วาดจึงเป็นการฉายส่วนหนึ่งหรือทั้งหมดของโลกภายในและทัศนคติ ออกมาสู่โลกภายนอก

แต่ในอีกด้านหนึ่ง แบบทดสอบเหล่านี้ กลับถูกวิจารณ์อย่างหนักว่า เป็นการกำหนดความหมายตายตัวมากเกินไป เพราะกำหนดหลักการสำหรับตีความและแปลความหมายของภาพอย่างละเอียด ซึ่งได้มาจากการเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่าง

เช่น ถ้าวาดดวงตาออกมาเป็นแบบนี้ จะเข้าข่ายบุคลิกภาพแบบนี้ หรือถ้าวาดเส้นไม่ต่อเนื่อง จะเข้าข่ายบุคลิกภาพแบบนี้เท่านั้น

ตัวอย่างภาพวาดคนโดยเด็กๆ

ทั้งหมดเป็นวิธีให้ความหมายแบบเฉพาะเจาะจงเกินไป ขาดความยืดหยุ่น และไม่ได้พิจารณาปัจจัยส่วนบุคคล ทั้งเรื่องเพศ สังคม วัฒนธรรม หรือมิติอื่นๆ ทำให้แบบทดสอบลักษณะนี้ขาดความน่าเชื่อถือ ถึงแม้ว่าผลที่ได้จากการแปลความหมายของภาพจะค่อนข้างตรงกับบุคลิกของผู้วาดก็ตาม

แต่อย่างน้อย การวาดภาพสามารถพิสูจน์ได้ว่า ศิลปะทำงานกับข้างในใจของคนได้จริงๆ ลึกถึงระดับเอาจิตใต้สำนึกออกมาอยู่ในภาพวาดได้ โดยผู้วาดเองอาจไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ

จุดพลิกผันนี้เองจึงเป็นที่มาของการให้ความสำคัญรายบุคคลมากขึ้น และกลายเป็นจุดกำเนิดแนวคิดของศิลปะบำบัดในท้ายที่สุด นั่นคือ ศิลปะทำงานกับจิตใต้สำนึกได้จริง สามารถบ่งบอกถึงสภาพอารมณ์และตัวตน แต่ไม่ได้เชื่อว่าจะต้องเป็นไปตามข้อกำหนดตายตัวตามตำรา

บุคคลแรกๆ ที่บุกเบิกศิลปะบำบัด คือ มาร์กาเร็ต นุมเบิร์ก (Margaret Naumburg) นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน และ อีดิธ เตรมอร์ (Edith Kramer) ศิลปินชาวออสเตรีย

อีดิธ เตรมอร์

ทั้งคู่เชื่อในกระบวนการวาดภาพ แต่ไม่ได้ตีความตามตำราอย่างเดียวอีกต่อไป โดยเพิ่มการพูดคุยสอบถามกับผู้วาดเพื่อทำความเข้าใจตัวตนที่แท้จริงได้ตรงมากยิ่งขึ้น

หลังจากนั้นเป็นต้นมา ศิลปะบำบัดจึงได้รับการพัฒนาเรื่องมาจนถึงปัจจุบัน

เผยแพร่ครั้งแรก: เพจ He, art, psychotherapy ณ วันที่ 8 มีนาคม 2563

อ่านเรื่องราวจุดกำเนิดศิลปะบำบัดของมาร์กาเร็ต นุมเบิร์ก เพิ่มเติมที่ กำเนิดศิลปะบำบัด Art Therapy และ Art Psychotherapy ศาสตร์เพื่อการรักษาด้วยศิลปะ

อ้างอิง

  • Cathy A. Malchiodi. Understanding Child’s Drawing (New York: The Guilford Press, 1998)
  • The New York Times Archives. Dr. Elizabeth Koppitz, Writer And Consulting Psychologist. https://nyti.ms/3h5Jb2Z