life

work from home ทำไมไม่สบายอย่างที่คิด

ได้ทำงานที่บ้านสบายหายห่วง อาจเป็นความคิดแรกๆ ที่ผุดขึ้นมาสำหรับคนที่ไม่ต้องเดินทางไปทำงานที่ออฟฟิศ แต่เมื่อเวลาผ่านไป กลับพบว่าไม่ได้สบายอย่างที่คิด เห็นได้ชัดเจนว่า คนรอบตัวมักจะบ่นผ่านสเตสัสเฟซบุ๊กว่าทั้งเครียด เหนื่อยล้า รู้สึกเพลีย เวลาชีวิตเริ่มแปรปรวน คุณภาพการนอนเริ่มเสีย

ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่าการทำงานที่ออฟฟิศนั้นมีเส้นแบ่งชัดเจนว่า นี่คือบริษัท เป็นพื้นที่สำหรับทำงาน เมื่อเราก้าวขาออกจากบริษัทตอนเย็นนั่นแปลว่าเราออกจากพื้นที่การทำงาน เพื่อเข้าสู่เวลาพักผ่อนส่วนตัว (ไม่นับกรณีหอบงานกลับบ้าน) เราไม่จำเป็นต้องคิดเรื่องงานอีกต่อไป เราจะทำอะไรก็ได้ให้ตัวเองได้หยุดพัก

แต่เมื่อต้องนั่งทำงานที่บ้าน เส้นแบ่งที่ชัดเจนจะเบลอจนแทบมองไม่เห็นความต่าง เหมือนวงกลมคนละวงที่เคยแยกจากกันกลับถูกเอามาวางซ้อนกัน ทำให้พื้นที่ที่เคยถูกแบ่งชัดเจนว่านั่นคือพื้นที่ทำงาน และนี่คือพื้นที่พักผ่อน ค่อยๆ หายไปเรื่อยๆ เพราะพื้นที่ทั้งสองกำลังถูกแชร์และใช้ร่วมกัน

แล้วกรณี work from home เช่นนี้นำเราไปสู่ความเครียด และความเหนื่อยล้าที่ว่าได้อย่างไร

คำถามนี้ตอบได้ด้วยหลักการศิลปะจิตบำบัด เพราะการทำศิลปะบำบัดอาศัยสิ่งที่ต้องควบคุมหลายอย่าง หนึ่งในนั้น คือ ‘ขอบเขต’ หรือ ‘กรอบ’ รวมถึง ‘พื้นที่’

พื้นที่หรือห้องที่ใช้ทำศิลปะบำบัดเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการบำบัดโดยตรง เพราะห้องบำบัดคือพื้นที่ที่ผู้รับการบำบัดต้องมาใช้ชีวิตอยู่เป็นระยะเวลาหนึ่ง (ขึ้นอยู่กับว่าผู้บำบัดแต่ละคนจะกำหนดเวลาไว้เท่าไหร่) เพื่อทำความเข้าใจปมปัญหา ระบายสิ่งเน่าเสียที่ตกข้างอยู่ในจิตใจ ซึ่งการทำงานกับปมปัญหาส่วนใหญ่เน้นการพูดคุยกันถึงเรื่องที่กระทบความรู้สึก คล้ายกับการเปิดสวิตช์ให้ความรู้สึกด้านลบหลั่งไหลออกมา เพื่อที่เราจะได้ช่วยกันจัดการความรู้สึกเหล่านั้นต่อไป

ประเด็นคือเมื่อเราเปิดแผลมาดูแล้ว ก็ต้องปิดแผลให้ได้ด้วย ไม่ใช่ปล่อยให้ผู้รับการบำบัดเดินกลับไปทั้งๆ ที่เลือดยังอาบอยู่ ตรงจุดนี้เองที่ ‘พื้นที่’ จะเข้ามามีบทบาท

ลักษณะของห้องบำบัด ต้องมีขอบเขตทางกายภาพ (physicality) ชัดเจน เมื่อเปิดประตูก้าวเข้ามาก็จะรู้ได้ทันทีว่านี่คือ ‘พื้นที่’ บำบัด จิตใต้สำนึกจะตอบสนองตามการรับรู้ของเราว่า ห้องบำบัดเป็นพื้นที่ปลอดภัยและเป็นมิตร ในทางตรงกันข้าม เมื่อก้าวเท้าออกจากประตูห้องบำบัดไป ก็กลับสู่โลกภายนอกตามปกติ

ถ้าเรากำหนดชัดเจนว่าขอบเขตอยู่ตรงไหน จะเป็นอีกตัวช่วยที่เป็นประโยชน์ต่อผู้รับการบำบัด เช่น บางคนมาด้วยปัญหาเรื้อรังที่รบกวนการใช้ชีวิตมายาวนาน มีความคิดฟุ้งซ่านหยุดไม่ได้ เมื่อเริ่มเข้าสู่กระบวนการบำบัดไประยะหนึ่ง จะเกิดการปรับตัว คือ ทุกครั้งที่ก้าวเข้ามายังพื้นที่บำบัดก็จะร่วมมือแก้ไขประเด็นปัญหา แต่เมื่อเขาก้าวออกจากพื้นที่บำบัดไป เขาจะรู้ว่าข้างนอกไม่ใช่พื้นที่พูดถึงปัญหา ทำให้เกิดการแยกแยะและใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้น (ทั้งผู้รับการบำบัด และผู้บำบัด)

เหตุการณ์ลักษณะนี้ก็ทำงานในระดับจิตสำนึก ที่เรารู้ตัวและสามารถจัดการ ควบคุมความคิดความรู้สึกเองได้ ทำให้ไม่รู้สึกอะไร แต่บางครั้งก็ทำงานในระดับจิตใต้สำนึก หยุดคิดและหยุดรู้สึกไปเองโดยไม่รู้ตัวจากการที่จิตใต้สำนึกปรับตัวไปตามการรับรู้ของพื้นที่ เราจึงต้องพยายามจัดการพื้นที่ให้ดีเพื่อให้เป็นอีกหนึ่งตัวช่วยในระดับจิตใต้สำนึกสำหรับคนไข้

ถ้าเป็นไปได้ให้แยกห้องบำบัดไปให้ไกลที่สุด ให้รู้สึกเหมือนไม่ได้อยู่ในสถานที่นั้นๆ เช่น ถ้าเป็นที่โรงพยาบาลหรือโรงเรียน ควรทำให้ห้องบำบัดไปอยู่หลืบๆ อีกปีกของตึกเหมือนอยู่อีกโลกหนึ่ง ให้ไม่รู้สึกว่าอยู่ในโรงเรียนหรือโรงพยาบาล ซึ่งได้รับอิมธิพลมาจากแนวคิดการขีดเส้นแบ่งพื้นที่

หลักการนี้ยังประยุกต์ใช้ได้กับคนที่มีปัญหานอนไม่หลับได้ด้วย คือห้ามขึ้นเตียงเด็ดขาดถ้ายังไม่นอน ให้ขึ้นเตียงก็ต่อเมื่อจะนอนแล้วเท่านั้น หากนอนไม่หลับ ห้ามเล่นมือถือหรือทำกิจกรรมอย่างอื่นบนเตียง ให้ลุกออกมาจากพื้นที่นั้น พอรู้สึกง่วงอีกทีจึงค่อยกลับไปนอนบนเตียง

ทั้งหมดเชื่อมโยงกลับมาสู่ work from home เมื่อต้องทำงานร่วมในพื้นที่อยู่อาศัยและ จึงไม่มีกรอบแบ่งชัดเจนระหว่างพื้นที่ทำงานและพื้นที่พักผ่อน ทางออกคือเราต้องสร้างเส้นแบ่ง หรือสร้างความต่างให้แต่ละพื้นที่ ซึ่งมีแนวทางดังนี้

  1. จัดพื้นที่สำหรับการทำงานขึ้นมาให้เป็นกิจลักษณะเท่าที่จะเป็นไปได้
  1. กำหนดมุมหรือพื้นที่ที่จะใช้ทำงานเท่านั้นและทำให้มีขอบเขตชัดเจนที่สุด
  1. ใช้พื้นที่นั้นสำหรับทำงานอย่างเดียว นอกเหนือเวลาง่ายหรือวันที่ไม่ต้องทำงานอย่าไปยุ่งย่ามพื้นที่นั้น
  1. หลีกเลี่ยงการใช้พื้นที่ทับซ้อน คือไม่ทำงานบนโต๊ะกินข้าว ไม่ทำงานบนเตียงนอน หรือถ้าจำเป็นต้องใช้ให้แบ่งเขตในการใช้โต๊ะกินข้าวหรือเตียง เช่น ด้านหนึ่งใช้กินข้าวหรือนอน อีกด้านใช้ในการทำงาน โดยหาของบางอย่างมาวางกั้นตรงกลางเป็นการแบ่งเขต อาจตกแต่งให้แตกต่างกันอย่างชัดเจนไปเลย
  1. ถ้าพื้นที่มีจำกัดจริงๆ ใช้การตกแต่งหรือสัญลักษณ์เชิงกายภาพเพื่อแบ่งพื้นที่ เช่น ถ้าขนาดโต๊ะกินข้าวเล็กและต้องใช้โต๊ะนี้ในการทำงาน เมื่อถึงเวลาทำงาน ให้ปรับสภาพแวดล้อม ลองหาภาพมาแปะ หาของมาตั้งบนโต๊ะ เมื่อทำงานเสร็จ ให้เก็บทุกอย่าง และค่อยเอาออกมาใหม่ในเวลาทำงานครั้งต่อไป

work from home อาจทำให้รู้สึกสบายในช่วงแรกๆ แต่เมื่อเวลาผ่านไป หลายคนกลับเริ่มคิดถึงชีวิตทำงานที่ออฟฟิศมากกว่า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะพื้นที่ทับซ้อนกันระหว่างทำงานกับพักผ่อน การเชื่อมโยงแนวคิดจัดสรรพื้นที่สำหรับศิลปะบำบัดมาปรับใช้กับพื้นที่ในชีวิตจริงจึงเป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยให้ทำงานที่บ้านต่อไปได้

และขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนผ่านพ้นช่วงเวลาเหล่านี้ครับ