life

ไม่มีใครชอบคำวิจารณ์เสียๆ หายๆ แต่ตราบใดที่เรายังต้องทำงานและข้องเกี่ยวกับผู้คนอยู่ตลอดเวลา คงไม่มีทางรอดพ้นจากการถูกวิพากษ์วิจารณ์ไปได้

เลวร้ายกว่านั้น คำพูดแรงๆ จากทั้งหัวหน้า เพื่อนร่วมงาน แม้กระทั่งลูกค้า ยังกลายเป็นหอกคอยทิ่มแทงใจและบั่นทอนความรู้สึกให้แย่ยิ่งกว่าเดิม 

หรือในหลายๆ ครั้งที่เราตกอยู่ภายใต้สถานการณ์ยากลำบาก โดยเฉพาะการเผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ หรือเหตุการณ์ที่สร้างความรู้สึกกดดันมากๆ เช่น ถูกตำหนิว่าทำงานไม่ได้มาตรฐาน ถูกประเมินให้ไม่ผ่านช่วงทดลองงาน หรือได้รับอีเมลปฏิเสธรับเข้าทำงาน เหตุการณ์เหล่านี้ ย่อมบีบคั้นให้เกิดความรู้สึกหดหู่ใจตามมา 

แต่เคยสำรวจตัวเอง และสังเกตคนรอบตัวไหมว่า หากประสบเหตุการณ์ทำนองเดียวกัน ทำไมแต่ละคนกลับมีวิธีรับมือและจัดการความรู้สึกไม่ดีของตัวเองได้แตกต่างกันมาก บางคนอาจแค่รู้สึกผิดหวัง แม้จะไม่พอใจแต่ก็เป็นเรื่องยอมรับได้ ขณะที่บางคนถึงขั้นเสียน้ำตา และเซื่องซึมนานเป็นสัปดาห์ เพราะใจยังรู้สึกเศร้าไม่หาย 

คำตอบขึ้นอยู่กับว่า เรามี ‘หนังหนา’ แค่ไหน 

หนังในความหมายนี้ไม่ใช่ผิวกาย แต่เป็นการเปรียบเทียบกับภูมิต้านทานทางใจในเชิงจิตวิทยา ซึ่งไรอัน ฮาวส์ (Ryan Howes) นักจิตวิทยาคลินิกชาวอเมริกัน อธิบายเรื่องนี้ว่า thick skin หรือหนังหนา คือ ความสามารถในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงและความท้าทายในชีวิต 

หมายความว่า คนที่มีหนังหนา จะตั้งรับกับเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจได้ดีกว่า ด้วยวิธีการหาหนทางปรับเปลี่ยนทั้งความรู้สึก ความคิด และการกระทำ เพื่อฟื้นคืนใจให้กลับมาสอดรับกับสภาวะใหม่ของชีวิต 

แต่ปัญหาอยู่ที่ว่า ไม่ใช่ทุกคนที่จะมีหนังหนามากพอจนเป็นเกราะป้องกันไม่ให้ใจโดยทำร้ายได้ ฮาวส์จึงมีแนะนำให้สำหรับคนที่ต้องการเปลี่ยนตัวเองเพื่อรับมือกับสารพัดสิ่งที่สามารถทำให้ใจของเราแย่ลง 

1. สานสัมพันธ์ไว้ให้แน่นแฟ้น

กำลังใจจากคนใกล้ชิด ทั้งครอบครัว เพื่อน และคนรัก คือ ยาขนานดีที่ช่วยบรรเทาเรื่องร้ายๆ ให้คลายลงได้ เพราะการมีใครสักคนคอยรับฟังปัญหา หรืออยู่เคียงข้างช่วยคิดหาทางแก้ไข จะทำให้ใจชื้นและเข้มแข็งขึ้นมากกว่าคนที่ต้องเผชิญปัญหาอย่างโดดเดี่ยว 

 

2. สร้างความหมายให้ชีวิตนี้

ความหมายของชีวิตทำให้เกิดภาพกว้างที่เราจินตนาการเอาไว้เพื่อพยายามบรรลุภาพนั้นให้ได้ในชีวิตจริง ซึ่งเป็นเรื่องอะไรก็ได้ ทั้งความสัมพันธ์ การตั้งเป้าหมาย หรือเปลี่ยนแปลงตัวเองให้ดีขึ้นในแต่ละด้าน เมื่อมีภาพในหัวชัดเจน ใจของเราจะแน่วแน่กับภาพนั้นมากกว่าปัญหารำคาญใจที่เกิดขึ้นระหว่างทาง 

 

3. สำคัญที่สุดคือไม่หยุดดูแลตัวเอง

กิจวัตรประจำวันที่เราทำเพื่อตัวเอง อย่างพักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกาย ฝึกสมาธิผ่านงานอดิเรกที่ชอบ เช่น เล่นเกม อ่านหนังสือ กิจกรรมธรรมดาเหล่านี้ ชวนลดทั้งความตึงเครียดและเสริมสร้างสุขภาพใจให้แข็งแรงได้ เพราะช่วยเพิ่มคุณค่าในตัวเอง 

 

4. มองหาแง่งามและเก็บรับสิ่งดีๆ ไว้ในชีวิต

ความประทับใจและประสบการณ์ที่น่าจดจำในอดีตคือเกราะกำบังตัวเราจากเรื่องแย่ๆ โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความภาคภูมิใจจากการทำอะไรบางอย่างสำเร็จ จะทำให้เราไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องที่ควบคุมไม่ได้มากเกินไป รวมถึงอย่าลืมชมและให้กำลังใจตัวเองทุกครั้งที่ได้รับหรือสร้างสิ่งดีๆ

 

5. ไม่คร่ำควรญถึงสิ่งที่ผ่านมาแล้ว

ทุกความรู้สึกมีสาเหตุ หากรู้สึกไม่ดีให้เราทบทวนว่าเกิดขึ้นจากอะไร เพื่อตัดสินใจว่าจะจมปรักกับความรู้สึกเจ็บปวดที่ผ่านมาแล้ว หรือจะจัดการความรู้สึกเสียใหม่ เพื่อทำให้ชีวิตไปต่อโดยไม่ฟูมฟายให้มากความ เพราะเราตัดสินใจรับมือได้เร็วเท่าไหร่ จะรู้สึกเจ็บปวดน้อยลงเท่านั้น 

สิ่งที่เกิดขึ้นกับใจเป็นเรื่องละเอียดอ่อนและต้องใช้เวลาเยียวยาเสมอ การเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืนและมั่นคงจึงเกิดขึ้นจากการหมั่นฝึกฝนตัวเอง เช่นเกียวกับ thick skin เพื่อสร้างหนังให้หนาเป็นเกราะป้องกันไม่ให้ใจถูกทำร้ายจากคำพูดแรงๆ และการกระทำแย่ๆ

อาจไม่ใช่เรื่องง่าย แต่คงไม่ยากเกินความพยายาม 

 

อ้างอิง