life

เพียงแค่หลับตาลง ท่ามกลางความมืดมิดกลับทำให้เรามองเห็นสถานที่ในจิตนาการที่มีแต่เราคนเดียว ไม่ว่าที่ตรงนั้นจะเล็กหรือใหญ่ หรือจะมีสิ่งใดรายล้อม แต่ความรู้สึกแรกที่สัมผัสได้แม้โดดเดียว คือ ความสบายใจและปลอดภัย น่าสงสัยเหมือนกันว่าทำไมถึงเป็นเช่นนั้น?

ในโลกความเป็นจริง เราต่างมีความเครียดเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยขับเคลื่อนชีวิตไปข้างหน้า หากความเครียดนั้นอยู่ในระดับรับมือได้ ก็จะกลายเป็นแรงกระตุ้นชั้นดีให้เราทำงานสำเร็จ

แต่บางครั้ง หากชีวิตต้องเผชิญกับความตึงเครียดจากเหตุการณ์ที่สร้างความทุกข์หนักหน่วงใจจนรู้สึกว่าตัวเองทนแบกรับความรู้สึกนี้ไม่ไหวอีกต่อไป ความเครียดทั้งหมดจะแปรเปลี่ยนเป็นโซ่ตรวนฉุดรั้งและถ่วงชีวิตของเราไว้ให้ตกอยู่ในวังวนของปัญหาและความยุ่งยากที่เกิดขึ้นตามมาไม่จบสิ้น หนทางเดียวที่จะช่วยให้เราปลดปล่อยตัวเองได้ คือ เรียนรู้วิธีจัดการกับความเครียดเหล่านั้น

โดยเฉพาะคนที่เคยประสบเหตุการณ์กระทบกระเทือนใจอย่างรุนแรง แม้จะผ่านพ้นเรื่องเลวร้ายในอดีตมาแล้ว แต่ภายในใจยังคงเก็บจำรายละเอียดทุกอย่างของเหตุการณ์ได้ เป็นความทรงจำฝังใจที่ฉายภาพซ้ำได้ทุกครั้งเมื่อนึกถึง ทำให้รู้สึกวิตกกังวล และหวาดกลัวอยู่ตลอด ตราบใดที่เรายังหาหนทางจัดการความเครียดไม่ได้ ย่อมส่งผลต่อชีวิตประจำวัน อาจทำงานขาดตกบกพร่อง และความสัมพันธ์กับคนรอบตัวจะเริ่มสั่นคลอน

ในปี 1987 ฟรานซิส ชาปิโร (Francine Shapiro) นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน พัฒนาวิธีลบความทรงจำจากเหตุการณ์ที่สร้าง trauma หรือบาดแผลทางใจซึ่งเรียกว่า Eye Movement Desensitization and Reprocessing Therapy หรือ EMDR เป็นการบำบัดจิตโดยอาศัยการเคลื่อนไหวของดวงตา เพื่อบรรเทาความคับข้องในใจและคลี่คลายปัญหาในระดับความทรงจำ เพิ่มความสามารถควบคุมและกำกับอารมณ์ของตน สู่ผลลัพธ์สุดท้ายคือกลับมาใช้ชีวิตได้ปกติ ไม่ถูกรบกวนจากประสบการณ์สะเทือนใจเหมือนก่อนหน้านี้

ซาปิโร พบว่า สาเหตุที่เรื่องฝังใจยังคอยหลอกหลอนชีวิตของผู้คนได้ทุกครั้งเมื่อนึกถึง เพราะความทรงจำนั้นถูกแช่แข็งเอาไว้กลางคัน โดยกระบวนการทำงานของสมองยังไม่ได้ประมวลผลเพื่อตัดสินว่าเป็นเหตุการณ์ที่จบลงและผ่านไปแล้ว ความทรงจำนี้จึงฟื้นคืนกลับมาสร้างความหวั่นวิตกได้อย่างง่ายดาย ทำให้คนที่กำลังประสบปัญหานี้ รู้สึกตื่นตระหนกตลอดเวลา อาจเศร้า โมโหร้าย และโทษตัวเองร่วมด้วย เป็นผลจากความเครียดที่สะสมมานานนับตั้งแต่ชีวิตประสบเหตุการณ์ไม่สบายใจ

EMDR จึงทำหน้าที่ช่วยจัดระเบียบความทรงจำให้เข้าที่เข้าทางและฟื้นฟูสภาพจิตใจ ผ่านการฝึกเคลื่อนไหวดวงตาทั้งสองข้างด้วยสติรู้ตัว ทำให้สมองประมวลผลความทรงจำที่เคยถูกแช่แข็งเอาไว้ใหม่ ก่อเกิดความเข้าใจว่า ประสบการณ์และความทรงจำในอดีตจะไม่กลับมารบกวนใจให้ทุกข์หรือเป็นอุปสรรคในชีวิตอีก ภายใต้การดูแลของจิตแพทย์และนักจิตวิทยาอย่างใกล้ชิด

หนึ่งในเทคนิคสำคัญที่ใช้ประกอบการบำบัดใน EMDR คือ (inner) safe place บางครั้งเรียกว่า calm place เพราะอ้างอิงถึงสถานที่เพื่อสร้างความผ่อนคลายและความมั่นคงทางใจ สถานที่นั้นเป็นได้ทั้งสถานที่ที่มีอยู่จริงๆ หรือสถานที่ทิพย์ที่สมมติขึ้นในจินตนาการ และไม่บังคับว่าต้องหลับตาเมื่อคิดถึง safe place แต่ภายในที่แห่งนั้นต้องเป็นสถานที่ของเราเพียงคนเดียว คือ มีเราอยู่โดยลำพัง เวลาไม่สบายใจ จะได้เข้าไปอยู่ตรงนั้น โอบกอดตัวเองได้เต็มแขนทำให้กลับมารู้สึกดีอีกครั้ง

ชาปิโรได้แนะนำขั้นตอนก่อร่างสร้าง safe place ไว้ว่า ให้เริ่มต้นด้วยการวาดภาพในความคิดถึงสถานที่ที่ทำให้สบายใจและสงบจิตสงบใจ ไม่สำคัญว่าจะอยู่ใกล้หรือไกล อยู่ในหรือนอกโลก เมื่อพบแล้วให้มุ่งความสนใจทั้งหมดไปที่ประสาทรับสัมผัสที่กำลังเกิดขึ้นกับร่างกาย ทั้งผิวสัมผัส เสียง กลิ่น และห้วงอารมณ์ขณะนึกถึงสถานที่นั้น หากยังไม่พอใจ เพราะมีสิ่งที่ไม่ชอบ ให้ปรับเปลี่ยนได้ตลอด คิดว่าเรามีเวทมนตร์สามารถเสกทุกอย่างจนกว่าจะพึงพอใจ และกลายเป็นสถานที่ที่ปลอดภัยสำหรับเราที่สุด

จากนั้นเลือกการเคลื่อนไหว เช่น หายใจเข้าออกเป็นจังหวะ ขยับมือ กลอกตาอย่างช้าๆ เพื่อเชื่อมโยงความรู้สึกสบายใจเข้ากับตัวกระตุ้นใหม่ที่เราสร้างขึ้น ระหว่างนี้หากมีบางสิ่งที่ต้องการเปลี่ยนใน safe place ให้ทำได้เลย เราเปลี่ยนได้เสมอตามที่ต้องการ safe place จึงเป็นที่ไม่มีใครรู้จักและเข้าถึงได้ยกเว้นเรา ทุกครั้งที่เครียดหรือต้องการทำใจให้สบาย เราจะนึกถึงที่แห่งนั้นและกลับเข้าไปพักใจ เพื่อปรับสมดุลในใจให้รู้สึกผ่อนคลายลง

จำเป็นต้องฝึกการจินตนาการถึง safe place ตลอดกระบวนการบำบัดใน EMDR เพื่อจัดระเบียบความคิดให้สมองจดจำความรู้สึกดีแทนที่ความทรงจำเลวร้าย ปรับมุมมอง ความคิด อารมณ์ให้สอดคล้องกับปัจจุบันขณะ ปล่อยวางว่าสิ่งที่เคยเกิดขึ้นแล้วไม่มีอิทธิพลหรือส่งผลใดๆ ต่อชีวิตในวันข้างหน้า

 

อ้างอิง