“มันคือการอยู่อาศัยแล้วไม่เคอะเขิน อยู่ได้จริง อยู่ได้ยาว ทำความสะอาดง่าย ดูแลสะดวก และนอนหลับสบาย”
นั่นคือความหมายง่ายๆ ของคำว่า ‘บ้าน’ ในแบบสถาปนิกหนุ่ม ชัชวาล สุวรรณสวัสดิ์ เจ้าของโฮมสตูดิโอชื่อ Everyday Architect & Design Studio สตูดิโอซึ่งรีโนเวทขึ้นมาจากตึกแถวเก่าย่านคลองสานที่กลมกลืนไปกับสภาพแวดล้อมของเพื่อนบ้านในซอยแคบของกรุงเทพมหานคร และสะท้อนความเป็นกรุงเทพฯ ในแบบที่ผู้คนใช้ชีวิตกันจริงๆ ผ่านองค์ประกอบ เช่น ประตูเหล็กยืด กรงเหล็กดัด และอื่นๆ ซึ่งเราอาจเรียกมันได้ว่า ‘อินโนเวชั่น’ อันเกิดขึ้นมาจากความคิดสร้างสรรค์ของบางกอกเกี้ยน (Bangkokians) ผู้ใช้ชีวิตอยู่ในมหานครแห่งนี้—และหากพูดกันอย่างสัตย์ซื่ออีกที ทั้งเรื่องรถติด ผังเมืองแออัด ทางเท้าที่พังพินาศ น้ำท่วมขังรอการระบายเมื่อฝนตก ก็ต้องบอกว่า มันเป็นมหานครที่ล้มเหลวทางด้านการออกแบบอย่างสิ้นเชิง
กระนั้นด้วยความเป็นคนกรุงเทพโดยกำเนิด บวกกับความเป็นคนขี้สงสัยและมีแบ็กกราวน์การศึกษาด้านสถาปัตยกรรมศาสตร์เป็นทุนเดิม จึงทำให้ชัชวาลสนใจความเป็นไปของสิ่งปลูกสร้างและนวัตกรรมในชีวิตประจำวันของผู้คนในกรุงเทพ และเขียนออกมาเป็นบทความในชื่อคอลัมน์ ‘อาคิเต็ก-เจอ’ เล่าเรื่องวัฒนธรรมที่สะท้อนอยู่ในงานสถาปัตย์แบบบ้านๆ ที่กระจายอยู่ทั่วกรุง ถึงแนวความคิด ที่มาที่ไป ว่าสิ่งเหล่านี้ตอบโจทย์พฤติกรรมของบางกอกเกี้ยนอย่างไร ซึ่งเพิ่งรวมเล่มตีพิมพ์ออกมาเป็นหนังสือจำหน่ายในมหกรรมหนังสือระดับชาติครั้งนี้
ต่อเมื่อต้องรีโนเวทบ้านและสตูดิโอขึ้นมาเป็นของตัวเอง ชัชวาลจึงไม่ลังเลที่จะหยิบความสนใจของตนมาใช้ แม้นวัตกรรมเหล่านั้นบางครั้งอาจสะท้อนความล้มเหลวในระบบบริหารจัดการเมืองของภาครัฐเอาไว้ เพื่อบอกว่า ภายใต้สิ่งที่ดูเหมือนเกิดขึ้นมาแบบด้นสดเพราะสถานการณ์บังคับ มันก็กลับซ่อน ‘ความเป็นไปได้ใหม่ๆ’ ทางด้านสถาปัตยกรรมไว้ภายใน โดยเขาบอกว่า ตัวเองจะไม่พยายามโรแมนติไซส์ และไม่ลืมว่าเรากำลังใช้ชีวิตประจำวันอยู่ในเมืองแบบไหนกันแน่
บ้านอันเปี่ยมด้วยชีวิต สะท้อนความเป็นกรุงเทพแบบบ้านๆ ที่พยายามกลมกลืนกับชุมชน
ก่อนหน้านี้ Everyday Architect & Design Studio คือตึกแถวเก่าของครอบครัวซึ่งประกอบอาชีพช่างทำทองที่ตกทอดมาตั้งแต่ยุคคุณพ่อ (อากงและน้องอากงร่วมกันสร้าง) โดยพื้นที่ตรงนี้เคยเป็นที่พักอาศัยของคนงานราวสิบคน ผ่านกาลเวลาจนเหลืออยู่สองคน โจทย์แรกของชัชวาลจึงเป็นการทำสตูดิโอบนพื้นที่ชั้นบน และให้พื้นที่ชั้นล่างเป็นห้องพักสำหรับคนงานสองคน โดยเขาก็มีข้อจำกัดด้านงบประมาณว่า ต้องไม่เกิน 3 แสนบาท (ที่สุดท้ายก็เกินมาเล็กน้อย)
“เราพยายามปรับปรุงให้พี่คนงานสองคนอยู่ได้อย่างไม่เคอะเขินในอาคารเดิม ส่วนการออกแบบ เราค่อนข้างใช้สัญชาตญาณเยอะ มันเลยออกมาเป็นตัวเอง ข้อแม้อีกอย่างคือฟังก์ชั่นต้องได้ คือเป็นสตูดิโอที่เป็นที่ทำงานของเราได้ ประชุมงานได้ ใช้ชีวิตได้จบในตัวภายในหนึ่งชั้น”
โดยการออกแบบในส่วนของห้องสตูดิโอชั้นบนนั้น ชัชวาลเลือกใช้สีขาวและพื้นผิวไม้ ผสมรวมกับข้าวของที่เขามีอยู่เดิม เช่น โคมไฟห้อยเพดานลวดลายดวงดาว ที่เขาแค่จับมันมาทาสีใหม่และห้อยลงมาเพื่อเป็นโคมไฟสำหรับโต๊ะประชุมในสไตล์โมเดิร์น
“ผมเป็นคนสนใจชีวิตประจำวันแบบไทยๆ อยู่แล้ว และคิดว่าไอ้ความไทยๆ มันประหยัด (หัวเราะ) เพราะเรางบน้อย” ชัชวาลเล่า “เราจะเจอบ้านตามนิตยสาร หรือช่องทางออนไลน์ ที่บ้านใหญ่มาก และเราจะสงสัยว่าเขากวาดพื้นกันยังไงวะ ผมรู้สึกว่าสถาปัตยกรรมทั้งหมด สุดท้ายแล้ว องค์ประกอบมันต้องกลมกลืนกับชีวิตจริง” ชัชวาลพูดขณะชี้ให้เห็นว่า ชั้นวางของถูกๆ ที่เรามักเห็นตามโกดังเก็บของ เมื่อนำมาทาสี และจัดพื้นที่ใส่ของเสียใหม่ มันก็กลมกลืนไปกับพื้นที่ของห้องและฟังก์ชั่นการใช้งานได้อย่างลงตัว
นอกจากนี้ Everyday Architect & Design Studio ยังถูกออกแบบมาด้วยแนวคิดที่คำนึงถึงสภาพแวดล้อมโดยรอบ เป็นท่วงทำนองและจังหวะการหายใจซึ่งดำเนินไปพร้อมๆ กันกับทั้งซอยของมัน โดยทำให้คนในชุมชนที่ใช้ชีวิตของตัวเองมาอย่างยาวนานนั้นไม่รู้สึกเคอะเขินกับเพื่อนบ้านที่หน้าตาเปลี่ยนไปมากนัก
“เขาต้องทำงานหาเงิน แต่เขาก็ต้องใช้ชีวิต เขาโดนบีบด้วยการบริหารจัดการที่ไม่ดีของรัฐ แต่เขาก็ต้องใช้งานสิ่งของเหล่านี้ ดังนั้นมันก็เหมือนเขาโดนบีบให้ต้องสร้างสรรค์อะไรขึ้นมาเอง”
นวัตกรรมของปัจเจก (ในเมืองพังๆ) ที่อาจนำไปสู่ความเป็นไปได้ใหม่ๆ
“ความหมายของความเป็นไทยมันค่อนข้างกว้าง บ้านเราก็คุยกันมาเป็นสิบปีแล้วว่าสถาปัตยกรรมไทยคืออะไร ซึ่งส่วนใหญ่แล้วก็จะเป็นจั่วที่ส่งไปตามงานเอ็กซ์โป (หัวเราะ) แต่ผมจะสนใจมันในแง่ของชีวิตประจำวันที่มักสะท้อนอยู่ในวัฒนธรรมใกล้ตัว เช่น รถเข็น การใช้สีป๊อปๆ ดูเซอร์เรียล แต่กลับใช้งานได้ และคนก็อยู่กับมันได้จริง แล้วมันอาจเป็นเรื่องพหุวัฒนธรรมที่มีการผสมปนเปกัน แต่สุดท้ายแล้ว มันเป็นรูปแบบของชีวิตประจำวันของคนไทยที่เราเห็นกันทุกวัน”
ซึ่งสิ่งที่สะท้อนความเป็นไทย หรือความเป็นกรุงเทพที่ชัชวาลกล่าวถึง ก็มีให้เห็นตั้งแต่ทางเข้า เช่น ประตูเหล็กยืดสีน้ำเงินที่ชัชวาลเอามาวางซ้อนกับผนัง เพื่อตั้งใจให้เป็นกรงและที่บังแสงของช่องหน้าต่าง หรือเหล็กดัดที่เราเห็นกันได้ทั่วไป ซึ่งเขานำมันมาทาสีฟ้าแสบสันล้อกลืนไปกับสีฟ้าสว่างของบ้านข้างๆ
“ลูกกรงเหล็กดัดก็ไทย และมันสะท้อนถึงเรื่องความปลอดภัยในเมืองของคนที่อยู่ในกรุงเทพ และอาจรู้สึกว่าชีวิตไม่ปลอดภัย ซึ่งองค์ประกอบเล็กๆ พวกนี้มันฟังก์ชั่นกับชีวิตประจำวันมาก เพียงแต่มันอาจเป็นสิ่งที่คนปัจจุบันไม่เห็นความสำคัญ ด้วยซอฟต์พาวเวอร์อะไรบางอย่างที่ชี้นำให้คนกระโดดข้ามไปเป็นสไตล์ลอฟต์ เป็นมูจิ มินิมอล เกาหลี ญี่ปุ่น แต่ผมสนใจสถาปัตยกรรมชุดนี้ เพราะคิดว่ามันมีความเป็นไปได้ใหม่ๆ ที่ยังสามารถไปต่อได้ ผมเลยอยากพิสูจน์เหมือนกันว่า สิ่งที่ผมเขียนถึง หรือสิ่งที่ผมคิด น่าจะนำมาปรับใช้กับยุคสมัยปัจจุบันได้”
Everyday Architect & Design Studio จึงคล้ายเป็นงานทดลองของชัชวาลกลายๆ—การทดลองในแบบสถานที่ทำงานและที่อยู่อาศัย ซึ่งนำสิ่งเดิมแบบไทยๆ มาผสมผสานกับรสนิยมจริงๆ ของเขาที่มีความมินิมอลนิดๆ อย่างคนร่วมสมัย ดังจะเห็นได้จากห้องทำงานภายในตัวตึกสีขาวสว่างและแสงไฟวอร์มไลต์ที่ผสมผสานกลมกลืนไปอย่างลงตัวกับโครงสร้างเดิม ด้วยการบริหารจัดการพื้นที่ และองค์ประกอบในแบบสมัยใหม่
ไม่ใช่การโรแมนติไซส์ แต่คือความหลงใหล และเพื่อย้ำว่าเราจะไม่ลืม
“มันจะมียุคหนึ่งที่ผมตื่นเต้นกับนวัตกรรมไทยๆ เหล่านี้จนโรแมนติไซส์มันมาก กระทั่งตระหนักว่าไอ้การที่เราโรแมนติไซส์เนี่ยมันเป็นวิธีคิดที่ผิด และไม่เกิดประโยชน์ต่อเมือง หรือต่อประเทศชาติเลย เราอาจมองเห็นวิธีการแก้ไขปัญหาของผู้คนและชอบมัน แต่เราก็ต้องระวังอย่างถึงที่สุดเช่นกัน และต้องตระหนักว่าสิ่งเหล่านี้มันเกิดจากปัญหา เราอาจนำสิ่งเหล่านี้มาใช้ แต่เราก็ต้องสะท้อนปัญหากลับไป ไม่ใช่แค่เอามาใช้ และบอกว่า โอ้โห มันเจ๋งมาก หน้าบ้านแคบๆ ใช้พื้นที่แค่นี้ โห น่ารักจังเลย แต่ไม่ใช่ไง แค่บ้านเขาไม่มีตังค์ เขามีแค่นั้น
“คือเราอาจจะทำอะไรกับกรุงเทพฯ ไม่ได้หรอก ด้วยวิชาชีพที่เราก็ไม่ใช่นักผังเมือง หรือเป็นคนจัดการการเมืองและเข้าไปนำเสนอความเป็นไปได้ตรงนั้น แต่เรารู้สึกว่า ไหนๆ มันก็มีสิ่งเหล่านี้ที่แสดงให้เห็นว่าปัญหาคืออะไร เราก็น่าจะนำเอาปัญหาพวกนี้ ที่ถูกแก้ปัญหา (โดยปัจเจก) มาแล้วระดับหนึ่งมาพัฒนาต่อให้มันอยู่อาศัยต่อไปได้ และอยู่ในเมืองนี้อย่างดีขึ้น”
การแก้ปัญหานั้นแน่นอนอยู่แล้วว่าเกิดขึ้นได้จาก 2 ระนาบ คือหนึ่ง—ระนาบในระดับมหภาคจากโครงสร้างการบริหารจัดการของภาครัฐ และสอง—ในระดับจุลภาคจากปัจเจกที่ต้องดิ้นรนหาทางออกเพื่อแก้ไขปัญหาตรงหน้าด้วยสิ่งที่เรียกว่า ‘ความคิดสร้างสรรค์’
“คนอาจจะบอกว่าถ้าอยากมีความคิดสร้างสรรค์ต้องอ่านหนังสือเยอะๆ หรือต้องออกไปเห็นโลกกว้าง แต่สำหรับคนทั่วไปที่เขาไม่มีโอกาส หรือคนที่เขาขายของข้างทาง เขาจะทำอย่างไร ซึ่งส่วนใหญ่แล้วความคิดสร้างสรรค์ของคนกลุ่มนี้จะเริ่มต้นจากปัญหามาก่อนเลย” ชัชวาลแสดงความคิดเห็น “คือเขาต้องทำงานหาเงิน แต่เขาก็ต้องใช้ชีวิต เขาโดนบีบด้วยการบริหารจัดการที่ไม่ดีของรัฐ แต่เขาก็ต้องใช้งานสิ่งของเหล่านี้ ดังนั้นมันก็เหมือนเขาโดนบีบให้ต้องสร้างสรรค์อะไรขึ้นมาเอง เหมือนเวลานักเขียนเขียนงานแล้วเดตไลน์มันใกล้เข้ามา (หัวเราะ) มันจะเกิดภาวะที่เราต้องรีดทักษะอะไรบางอย่างขึ้นมาแก้ปัญหา”
‘Everyday Life exists in the streets, cities, on holidays and weekends, on days we decide that we aren’t going to do anything’ – ‘ชีวิตประจำวันดำรงอยู่บนถนน ในเมือง ในวันพักผ่อน และวันหยุดสุดสัปดาห์ ในช่วงเวลาที่เราตัดสินใจว่าเราจะไม่ทำอะไรเลย’
นี่คือข้อความที่ชัชวาลเลือกมาติดไว้บนประตูทางเข้าโฮมสตูดิโอของเขา ซึ่งเมื่อมองมันอย่างพิจารณา เราก็สัมผัสได้ถึงชีวิตสามัญอันมีชีวาที่เปล่งประกาย—ชีวิตที่เราทุกคนต่างกำลังใช้ และสตูดิโอของเขานอกจากมีฟังก์ชั่นในการอยู่อาศัย มันก็ประดุจนิทรรศการที่กำลังแสดงความเป็นไปของมหานครชื่อกรุงเทพฯ แห่งนี้ผ่านข้าวของเครื่องใช้ งานออกแบบ และสถาปัตยกรรม
สำหรับ Everyday Architect & Design Studio แล้ว ถึงจุดหนึ่ง มันอาจกลายเป็นการเริ่มต้นของสิ่งที่ชัชวาลเรียกว่า Architecture Effect ที่จะกระจายแนวคิด ความเป็นไปได้ และทางออกใหม่ๆ ออกไป ซึ่งพอจะทำให้เรามองเห็นความหวังขึ้นมาได้บ้างไม่มากก็น้อย
อาคิเต็กเจอ
- อาคิเต็กเจอ คือหนังสือเล่มแรกของ ชัชวาล สุวรรณสวัสดิ์ รวม 24 บทความจากคอลัมน์ ‘อาคิเต็ก-เจอ’ ที่ลงเผยแพร่ในเว็บไซต์ readthecloud.co ที่พยายามค้นหาคำตอบสิ่งใกล้ตัว เช่น ทำไมเพิงของวินมอเตอร์ไซค์จึงดูตอบโจทย์ในเรื่องการใช้งาน หรือทำไมเวลาแดดออก เราถึงต้องไปตากผ้ากันที่หน้าบ้าน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนสะท้อนทั้งความสร้างสรรค์และปัญหาที่แทรกตัวอยู่ในชีวิตประจำวันของเราทุกคน โดยชัชวาล สุวรรณสวัสดิ์จัดพิมพ์หนังสือเล่มนี้ภายใต้การดูแลของสำนักพิมพ์ที่มักหยิบคอนเทนต์ดีๆ ทวนกระแสมานำเสนออย่าง SALMON.