สำหรับคนที่ทำงานอยู่ต่างถิ่น การไม่ได้กลับบ้านในช่วงเทศกาลถือเป็นโศกนาฏกรรมอย่างหนึ่ง
มันเป็นทั้งความโหยหาไออุ่น เป็นความรู้สึกผิดกับคนที่กำลังเฝ้ารอให้เรากลับไปหาอย่างมีหวัง อังคาร จันทาทิพย์ กวีดับเบิ้ลซีไรต์ เขียนบทกวีบรรยายภาพของช่วงวันหยุดยาวไว้อย่างสะเทือนอารมณ์ในบทกวีชื่อ ‘ไม่ร้างก็แต่ถนนมุ่งกลับบ้าน’ ว่า “ไม่ร้างก็แต่ถนนมุ่งกลับบ้าน… / เทศกาลของคุณกรุ่นความเศร้า / ทางบางสายคล้ายร้างเพียงบางเงา / ขาดเพียงเขา และอาจขาดเพียงคุณ”
ในขณะที่หลายคนกำลังกลับบ้านไปเยี่ยมคนรัก มหานครอย่างกรุงเทพกลับร้างไร้ มีเพียงถนนสู่ต่างจังหวัดเท่านั้นที่คราคร่ำไปด้วยผู้คน รถรา และความคิดถึง การโดดเดี่ยวลำพังอยู่กลางเมืองกรุงจึงไม่ใช่เรื่องน่าอภิรมย์นัก ยิ่งกับการจะโทรบอกคนรอว่า “ช่วงหยุดยาวนี้ผม/ฉันจะไม่ได้กลับบ้าน” ยิ่งเป็นเรื่องทำได้อย่างลำบาก ในกวีท่อนหนึ่งอังคารเขียนไว้ว่า “ชีวิตอาจกลับไม่ได้ ไปไม่ถึง / กลางกึ่ง กับดัก ลักลั่น / หวังทุกวันทุกวี่ มีสักวัน / โอ้ ความจริง สิ่งฝัน ชวนหวั่นใจ”
หากช่วงหยุดยาวในปีนี้ คุณกำลังติดภาระกิจบางอย่าง จนไม่สามารถหาทางกลับบ้านได้ เรามีวิธีดีๆ ในการพูดคุยทำความเข้าใจระหว่างคนไกลและคนรอที่อาจช่วยให้การไม่ได้กลับบ้านหนนี้ไม่เป็นโศกนาฏกรรมน่าเศร้าเกินไปนัก
1.อย่าเพิ่งรู้สึกผิด: อย่างแรกเลยคือการรู้จักให้อภัยตัวเอง ในเมื่อข้อจำกัดในชีวิตของคนเราไม่เหมือนกัน และคุณไม่มีตัวเลือกมากนัก เราก็ควรหัดใจดีกับตัวเองเสียบ้าง ขั้นแรกก่อนที่จะเปิดปากบอกครอบครัว จึงควรเป็นการลองคุยกับตัวเองดู ว่าเหตุผลที่ทำให้คุณไม่ได้กลับบ้านมีน้ำหนักพอหรือไม่ และหากมันหนักแน่นพอ เราก็ควรอนุญาตให้ตัวเองตัดสินใจสร้างตัวเลือกที่ดีที่สุดโดยปราศจากความรู้สึกผิด
2.บอกความรู้สึกต่อคนรอให้เร็วที่สุด: เพื่อตัดความกังวลออกไปอย่างเร็วที่สุด ยิ่งคุณกล้าหาญจะเอ่ยปากบอกคนรอเร็วเท่าไหร่มันก็ยิ่งเป็นผลดีเท่านั้น นักจิตบำบัดอย่าง ซาร่า กรีนเบิร์ก (Sarah Greenberg) บอกว่า จงบอกความรู้สึกของคุณออกไป ว่าการไม่ได้กลับบ้านนั้นมันก็เป็นการตัดสินใจอันยากลำบากของคุณเช่นกัน “จำไว้ว่า หนึ่งในฟังก์ชันของอารมณ์ความรู้สึกคือ การแสดงออกให้คนอื่นรับรู้ถึงความต้องการของคุณ แถมมันยังช่วยเชื่อมต่อมนุษย์กับมนุษย์เข้าหากัน คุณจึงสามารถแสดงความชัดเจนที่ไม่แข็งทื่อเป็นหุ่นยนต์ได้”
3.ให้เวลาช่วยเยียวยาความผิดหวัง: นักจิตวิทยาอย่าง จูลี่ ไพค์ (Julie Pike) บอกว่า “โดยทั่วไป ผู้คนต้องการเวลาเล็กน้อยในการทำความเข้าใจความผิดหวังหรือความเศร้าของพวกเขา” และ “ทุกคนมีความรู้สึกต่างๆ เป็นของตัวเอง ซึ่งเราไม่จำเป็นต้องพยายามซ่อมแซมมัน” ดังนั้น จงเตรียมพร้อมรับมือปฏิกริยาตอบรับของคนรอที่อาจเต็มไปด้วยความผิดหวัง แต่จงพยายามใจเย็นกับการโต้ตอบเหล่านั้น การรู้สึกหงุดหงิดและตอบกลับด้วยอารมณ์มักไม่ทำอะไรดีขึ้น ให้เวลาแก่พวกเขาทำความเข้าใจความจำเป็นของคุณ และให้เวลาตัวเองทำความเข้าใจความผิดหวังของพวกเขาด้วย empathy และค่อยๆ พูดคุยกันด้วยเหตุและผล
4.มั่นคงและซื่อสัตย์: ราเชล มิลเลอร์ (Rachel Miller) รองบรรณาธิการจาก VICE Life เขียนแสดงความคิดเห็นของเธอไว้ในบทความ How to Tell Your Family You’re Not Coming Home for the Holidays ว่า น้ำเสียงในบทสนทนาระหว่างเราและคนรอก็เป็นสิ่งสำคัญ ยิ่งครอบครัวซึ่งเป็นคนรอตื่นเต้นกับการที่เราจะได้กลับบ้านในช่วงหยุดยาวมากเท่าไหร่ เราก็ต้องพูดคุยกับพวกเขาด้วยน้ำเสียงจริงจังมากเท่านั้น จงทำให้แน่ใจว่าเหตุผลที่เราบอกไปผ่านการพิจารณามาแล้วเป็นอย่างดี และรักษาความซื่อสัตย์ในทุกๆ คำพูดโดยปราศจากเหตุผลข้างๆ คูๆ เอาไว้ให้มั่น โดยอาจเริ่มด้วยคำกริยาที่มีน้ำหนักอย่าง “ผม/ฉัน ‘ตัดสินใจ’ ว่า…” เป็นต้น
5.ใช้เทคโนโลยีช่วยลดความคิดถึง: ในช่วงล็อกดาวน์จากโควิด-19 หลายคนคงคุ้นเคยกับเทคโนโลยีในการประชุมผ่าน Zoom หรือ Microsoft Teams เป็นอย่างดี ในเมื่อการไม่ได้กลับบ้านในช่วงหยุดยาวนี้อาจไม่ต่างอะไรกับช่วงล็อกดาวน์ ก็จงใช้เทคโนโลยีเหล่านั้นเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการกลับไปหาครอบครัว และฉลองปีใหม่ผ่านช่องทางออนไลน์แทน แม้มันอาจไม่เหมือนการได้พบเจอหน้า หรือโอบกอดกันจริงๆ แต่ก็คงช่วยขจัดความคิดถึงได้บ้างไม่มากก็น้อย
อ้างอิง
- Rachel Miller. How to Tell Your Family You’re Not Coming Home for the Holidays. https://bit.ly/3ot86Rf
- Dara Katz. The Simplest Way to Tell Your Family You’re Not Coming to Thanksgiving (Without a Blow-Out Fight). https://bit.ly/3mQ9Kwb
- Julia Naftulin, Anna Medaris Miller . How to tell your family you’re not coming home for Thanksgiving. https://bit.ly/3mPbANC