life

นี่นับเป็นอีกครั้งที่ becommon ต้องเปลี่ยนแผนการสัมภาษณ์จากการเจอหน้ากันปกติสู่ช่องทางออนไลน์ หลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ที่ก่อตัวในปลายปี 2020

บรรยากาศของเมืองเงียบเหงาและชวนหดหู่ ตัวเลขของผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นชนิดวันต่อวัน ไวรัสโควิด-19 อยู่รอบตัวโดยที่เราก็ไม่รู้ว่าจะกลายเป็นผู้ป่วยเมื่อไหร่ ความหวังหนึ่งเดียวในตอนนี้จึงคือ ‘วัคซีน’ ที่จะสามารถพาชีวิตทุกคนกลับสู่โหมดปกติได้อีกครั้ง

ทว่าขณะที่อ่านข่าวและเห็นผู้คนในบางประเทศได้รับวัคซีนไปแล้ว ทำไมความหวังที่คนไทยจะได้รับวัคซีนจึงยังดูห่างไกล เราจึงไม่ลังเลใจที่จะขอสัมภาษณ์ อ.แป้ง – รศ.ดร.วรัญญู พูลเจริญ และ อ.บิ๊บ – ผศ.ภญ.ดร.สุธีรา เตชคุณวุฒิ  สองผู้ก่อตั้งบริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม บริษัทที่กำลังมุ่งมั่นผลิตวัคซีนต้านโควิด-19 โดยคนไทยเพื่อคนไทยตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เพื่อให้องค์ความรู้และกระบวนต่างๆ ของวัคซีนเริ่มต้นได้จากเมืองไทยอย่างแท้จริง

Photo: Baiya Phytopharm Co., Ltd.

ซึ่งบทสนทนานี้ไม่ได้เป็นเพียงการตอบคำถามเรื่องวัคซีนเท่านั้น แต่มันยังเผยให้เห็นถึงปัญหาเชิงโครงสร้างของนิเวศการทำงานวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ในประเทศไทย รวมถึงชี้ช่องให้เห็นถึงความหวังที่แม้จะเริ่มจากจุดเล็กๆ แต่อาจสามารถขยับขยายไปสู่การเปลี่ยนแปลงของระบบความมั่นคงทางสุขภาพในสเกลที่ใหญ่ขึ้น เมื่อโควิด-19 ไม่ได้นำมาแค่ภาระและความทุกข์ แต่อีกแง่หนึ่งมันยังนำองค์ความรู้และความหวังมาให้เราได้เรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน

เมื่อไหร่โควิด-19 จะจบเสียที

อ.บิ๊บ: ตอบในมุมเภสัชกร โดยไม่เกี่ยวกับบริษัทใบยา ไฟโตฟาร์มนะคะ โดยส่วนตัวคิดว่าโควิด-19 คงไม่มีวันหายไปจากโลกใบนี้ อีกหน่อยมันคงจะอยู่กับเราเหมือนไข้หวัดใหญ่ และมันคงจะกลายเป็นโรคที่ระบาดเป็นระลอก คนอาจจะคิดว่า เดี๋ยวได้รับวัคซีนกันหมดทุกคนแล้วมันจะหายไป แต่วันนี้วัคซีนมันก็ไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็น

อ.แป้ง: มันก็คงอยู่กับเรา ไวรัสต่างๆ มันก็อยู่กับโลกใบนี้มาเยอะแล้ว ซึ่งจริงๆ แล้วส่วนใหญ่ ไม่มีโรคไหนหายไปจากโลกนี้ เพราะฉะนั้นเราน่าจะต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับมันให้ได้มากกว่า และถึงไม่มีโควิด-19 มันก็มีโรคอื่นตลอดอยู่แล้ว

ในมุมมองนักวิทยาศาสตร์ หรือเภสัชกร เราจะมีโอกาสกลับไปใช้ชีวิตอย่างปกติเหมือนก่อนจะมีไวรัสชนิดนี้ได้ไหม

อ.แป้ง: ส่วนตัวคิดว่าวันหนึ่งมันน่าจะเหมือนเดิมได้ แต่จะใช้เวลาแค่ไหนไม่มีใครรู้ เช่น ต่อไปคนมีภูมิคุ้มกันต่อโรคนี้เยอะขึ้น ไม่ว่าจะมาจาก herd immunity หรือวัคซีน มันก็คงกลับมาเหมือนเดิมได้ ประเด็นคือมันอาจจะนาน

ในเรื่องของวัคซีน บางประเทศเขาเริ่มใช้วัคซีนไปแล้ว ในไทยเราติดปัญหาอะไร ทำไมถึงตามการพัฒนาวิจัยของประเทศอื่นไม่ทัน

อ.บิ๊บ: ประเทศที่ได้ฉีดแล้วส่วนใหญ่จะเป็นประเทศมหาอำนาจที่มีเทคโนโลยีของตัวเอง โรงงานอยู่ในประเทศเขา และที่สำคัญเขาลงทุนในการวิจัยและพัฒนา อย่างบริษัท Moderna หรือบริษัทอื่นๆ เขาได้เงินไปเป็นหมื่นๆ ล้าน มันคือ ‘วาร์ปสปีด’ เขาต้องการวาร์ป เขามาถึงตรงนี้ได้เพราะโครงสร้างพื้นฐานของเขาที่ไปไกลกว่าเราเยอะ ถ้าบอกว่าลาวฉีดแล้ว ก็ต้องไปดูว่าลาวได้มาแค่ 500 โดสนะ คือเข้าใจว่าทุกคนอยากได้รับวัคซีนเร็วๆ แต่วันนี้ต้องมองความเป็นจริง ว่าประชากรทั่วโลกราว 7 พันล้านคน คนที่ได้ฉีดวัคซีนมีเป็นจำนวนเท่าไหร่ เราควรจะมองทุกอย่างบนหลักฐานและความจริง ถ้าทุกอย่างดำเนินไปด้วยอารมณ์ เราจะหาทางตัดสินใจแก้ปัญหาไม่ถูกต้อง

และวัคซีนมันก็อาจไม่ใช่เรื่องง่าย ในแง่รัฐบาลเอง มันคือเรื่อง G2G (ภาครัฐสู่ภาครัฐด้วยกัน —Government to Government) คำถามคือรัฐบาลในประเทศที่ผลิตวัคซีนได้แล้ว เขาจะขายให้ใคร มันมีเหตุผลทางการเมืองอยู่ มันเป็น politically ไม่ใช่ scientifically รัฐบาลไทยเขาอาจพยายามในแบบของเขา พยายามให้เกิดโรงงานผลิตในประเทศไทย ไปดีลกับบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ สยามไบโอไซเอนซ์ไปดีลกับมหาวิทยาลัย Oxford และ AstraZeneca ซึ่งเขาก็คงคิดว่าเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้

Photo: Baiya Phytopharm Co., Ltd.

อ.แป้ง: ขอตอบในแง่ของการวิจัยนะคะ ต่อให้ไม่มีโควิด-19 ถามว่าเราวิจัยสู้เยอรมนี จีน สหรัฐฯ ได้ไหม มันคือคำตอบที่เห็นกันชัดๆ อยู่แล้ว เราตามเขามาเป็น 20 ปี คือคนจะถามว่าทำไมเรายังทำวัคซีนไม่ได้ แต่คือในประเทศนี้ ที่ให้เงินเดือนนักวิทยาศาสตร์ต่ำขนาดนี้ มันเป็นไปไม่ได้ เพราะคุณไม่ได้เริ่มสร้างพื้นฐานมาก่อน ถามว่าคนของเราเก่งสู้เขาไม่ได้เหรอ อันนี้ไม่แน่ใจ แต่ในเรื่องระบบนิเวศของการทำงานมันเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว ซึ่งการทำวัคซีนมันไม่ใช่แค่การทำวิจัยเรื่องเดียวด้วย มันเป็นกระบวนการที่ใช้หลายสาขามาก และประเทศเราไม่มีการทำงานที่เริ่มจากต้นน้ำมาก่อน มันเลยยาก

การทำวิจัยวัคซีนต้านโควิด-19 และบริษัทใบยา ไฟโตฟาร์มเริ่มต้นได้อย่างไร ตอนนี้อยู่ขั้นไหนแล้ว

อ.บิ๊บ: บิ๊บกับพี่แป้งเป็นอาจารย์อยู่ที่คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรามีเด็กที่มาเรียนปริญญาโทหรือเอกกับเรา แต่จบออกไปบางคนก็ไปขายกางเกงยีนส์ เพราะเงินเดือนการเป็นนักวิทยาศาสตร์ในไทยมันน้อยมาก จบปริญาเอกมาเป็นอาจารย์ เงินเดือนเริ่มต้น 37,500 บาทนะคะ เพราะฉะนั้น pain point ก็คือเราสอนเด็กจนจบปริญญาเอก แต่จบไปกลับไม่มีงานทำ 

เราเลยมามองว่า การพัฒนาและวิจัยต่างๆ ในประเทศเกือบทั้งหมดมันไม่ได้เกิดในภาครัฐ มันเกิดในเอกชน และเราเห็นโมเดลในต่างประเทศว่า อาจารย์ในมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ที่อยู่ใน MIT หรือ Harvard มักจะออกมาทำ spin-off company ซึ่งทางจุฬาฯ ก็มีโมเดลแบบนั้น เพราะเขาไม่อยากให้อาจารย์ขึ้นหิ้ง ขอทุน ทำวิจัย ตีพิมพ์ แล้วก็จบ จุฬาฯ บอกว่ามหาวิทยาลัยต้องเป็นคนสร้างองค์ความรู้ สังเกตได้จาก Oxford หรือ Moderna ก็เกิดมาจากมหาวิทยาลัย ดังนั้นการพัฒนาองค์ความรู้ต่างๆ มันเกิดผ่านเอกชนในลักษณะแบบนี้ 

เราเลยออกมาตั้งสตาร์อัพกัน และทำมาได้ 3 ปีแล้ว โดยพยายามให้เกิดแพลตฟอร์มในการผลิตที่เป็นของเราเอง ทำได้เองตั้งแต่ต้นน้ำ ซึ่งก่อนหน้านี้ อ.แป้งก็มียาและวัคซีนอื่นๆ ที่เตรียมเข้าสู่กระบวนวิจัยเชิงทดลองทางคลินิก (clinical trials) อยู่แล้ว แต่ไม่มีเงินไปต่อ มันก็เหมือนมูฟออนเป็นวงกลม ไปขอทุนจากเอกชนเขาก็ไม่ให้ เพราะคิดว่านาน ไม่อยากลงทุนวิจัย ซึ่งก็มาจากหลายสาเหตุ เช่น ประเทศไทยเองก็ไม่เคยประสบความสำเร็จในการทำยาและวัคซีนเป็นของตัวเอง เอกชนเลยไม่เชื่อ ทั้งๆ ที่ VC (ธุรกิจเงินร่วมลงทุน — Venture Capital) ในประเทศไทยก็เอาเงินไปลงทุนในธุรกิจ biotech แบบนี้ในต่างประเทศ แต่ไม่เชื่อในการทำในประเทศ เพราะระบบนิเวศของการทำงานหลายอย่างไม่พร้อม 

แต่เราคิดว่า ถ้าไม่ทำตอนนี้เมื่อไหร่จะเกิด เลยออกมาทำเอง แรกๆ ก็เริ่มจากการทำให้โมเดลธุรกิจมันไปได้ โดยเริ่มจากผลิตสารที่ใช้ในเครื่องสำอาง ที่สามารถเข้าสู่ตลาดได้เร็ว เพื่อหาเงินมาพัฒนาวิจัยยาและวัคซีนตัวอื่น จนกระทั่งต้นปี 2020 เกิดโรคระบาด เราคิดว่านั่นคืออีกหนึ่งโอกาสของเราที่จะพิสูจน์ว่าเราก็ทำได้เหมือนกัน ช่วงต้นปีเลยทำชุดตรวจโควิด-19 เลยได้เงินสนับสนุนจากเอกชนที่ให้เราทำชุดตรวจส่งไปหลายๆ ที่ ซึ่งก่อนหน้านี้เมื่อความต้องการของชุดตรวจน้อยลงเพราะการระบาดลดลง เราเลยเอาเงินที่เหลือจากตรงนั้นมาทำวัคซีนต่อ และตอนนี้ก็เดินทางมาถึงขั้นทดสอบในหนูในลิงแล้ว

 

“คนจะถามว่าทำไมเรายังทำวัคซีนไม่ได้ แต่คือในประเทศนี้ ที่ให้เงินเดือนนักวิทยาศาสตร์ต่ำขนาดนี้ มันเป็นไปไม่ได้ เพราะคุณไม่ได้เริ่มสร้างพื้นฐานมาก่อน ถามว่าคนของเราเก่งสู้เขาไม่ได้เหรอ อันนี้ไม่แน่ใจ แต่ในเรื่องระบบนิเวศของการทำงานมันเป็นไปไม่ได้”

 

จริงๆ เป็นอาจารย์ ทำวิจัย ตีพิมพ์ไปก็น่าจะโอเคอยู่แล้ว ทำไมต้องมาเหนื่อยทำสตาร์อัพ

อ.แป้ง: เป็นคำถามที่ถามตัวเองตลอด (หัวเราะ) แต่คำตอบก็คือเราเป็นอาจารย์มาจะ 10 ปีแล้ว เราสอนเด็กทำวิจัยมา 5 ปี และพบว่าเด็กที่เรียนสายวิทย์ใช้เงินทำแลปกันแพงมากๆ เป็นแสน เป็นล้าน แต่เด็กที่จบมากลับไม่ได้ทำงานวิจัย เพราะมันไม่มีเส้นทางของอาชีพให้เขา เราเลยมีคำถามต่อตัวเองว่า แล้วเราจะปล่อยให้เป็นแบบนี้ต่อไปเหรอ ดังนั้นถ้าอยากจะเปลี่ยน มันคงเริ่มจากคนอื่นไม่ได้ เลยเริ่มจากเราเอง การไปนั่งพูดว่ารัฐต้องสร้างอาชีพให้เด็กของเรา พูดไปไม่รู้เมื่อไหร่จะได้ ดังนั้นถ้าทำอะไรได้ก็ควรจะทำ 

เราเลยเริ่มจากโมเดลสตาร์อัพแบบนี้ เอาเด็กของเรามาทำงาน แล้วค่อยๆ ขยับ ซึ่งเราก็เห็นว่ามันค่อยๆ มีความเปลี่ยนแปลง อย่างเด็กในคลาสก็ค่อนข้างอยากมาทำกับเรา คือเด็กที่จบเภสัชฯ เขาจะมีทางของเขาที่จะได้เงินเดือนเยอะอยู่แล้ว มันเลยมีน้อยมากที่จะหาคนมาทำเรื่องพัฒนายาที่เงินเดือนต่ำเตี้ย ซึ่งพอมาทำบริษัทไบยาฯ มันทำให้เห็นว่ามีคนอยากทำ อาจจะไม่ใช่เรื่องเงินเรื่องเดียวหรอก แต่มันทำให้เขาเห็นว่างานวิจัยที่เราทำ มันไม่ได้จบแค่ตีพิมพ์ แต่มันเอาไปใช้จริงได้ มันทำให้เขาเห็นความเป็นไปได้ 

อย่างที่พูดกันว่านักวิจัยในไทยเก่งๆ ไม่มีเหรอ มีนะคะ แต่ประเด็นคือคนเก่งๆ เขาก็ต้องหาโอกาสที่ดีให้ตัวเอง ในเมื่อประเทศไทยไม่มีโอกาสให้เขา เขาก็ต้องไปหาจากต่างประเทศ แต่วันนี้เมื่อมันมีบริษัทอย่างใบยาฯ เราก็สามารถดึงคนมาทำงานกับเราได้มากขึ้น อันนี้เป็นความเปลี่ยนแปลง อาจจะเป็นแค่ก้าวแรกๆ แต่มันก็ยังพอเห็นความเปลี่ยนแปลงได้ นี่คือเหตุผลว่าทำไมเราสองคนไม่นั่งทำวิจัยสบายๆ สอนหนังสือสบายๆ ต่อไป คือจริงๆ มันก็ลำบาก แต่เราแค่คิดว่าถ้าต่อไประบบทั้งหมดมันดีขึ้น มันก็น่าจะทำให้ชีวิตของเราในอนาคตดีขึ้นด้วย

อ.บิ๊บ: อีกส่วนที่บิ๊บมาทำใบยา ไฟโตฟาร์ม เพราะตั้งใจอยากแก้ปัญหาการเข้าถึงยาของประชาชนด้วย เพราะรู้สึกว่าคนไทยเข้าถึงยาไม่ค่อยได้ เช่น ยารักษามะเร็งราคาแพงๆ คือเราเป็นคนชนชั้นกลาง เราเก็บเงิน มีเงิน และรู้สึกว่าชีวิตของเราโอเค แต่พอถึงเวลาที่เราเป็นมะเร็งปุ๊บ กลายเป็นว่าคนในบ้านต้องเอาเงินทั้งหมดมาซื้อยารักษามะเร็งราคาแพงๆ ซึ่งพอเราทำเรื่องนโยบายการเข้าถึงยา เราจะรู้เลยว่ารัฐไม่มีทางซื้อยาโดสละ 2-3 แสนพวกนี้ให้คนไทยได้ ต่อให้เป็นรัฐที่ไหนก็ลำบาก เพราะมันแพง เอาง่ายๆ เลยคือ เราเป็นทาสบริษัทยาต่างชาติ เขาขายเท่าไหร่เราก็ต้องซื้อ จนกระทั่งสุดท้าย เราคิดว่าสิ่งเดียวที่จะแก้ปัญหานี้ได้ คือการผลิตยาได้ด้วยตัวเอง แน่นอนว่าต้นทุนการผลิตยาบางอย่างมันแพงอยู่แล้ว แต่อย่างน้อย เงินจะได้ไม่ต้องออกนอกประเทศ ให้เงินมันหมุนเวียนอยู่ในประเทศเรา

อ.แป้ง – รศ.ดร.วรัญญู พูลเจริญ / Photo: Baiya Phytopharm Co., Ltd.

จุดแข็งและจุดอ่อนของใบยา ไฟโตฟาร์มคืออะไร

อ.บิ๊บ: เราอยากจะดิสรัปบริษัทยาข้ามชาติ ซึ่งถ้าประเทศของเราสามารถขับเคลื่อนได้ด้วยงานวิจัยและพัฒนาของตัวเอง เราจะได้ไม่พึ่งพาคนอื่นเขา เลยรู้สึกว่าจุดแข็งเราคือการเป็นสตาร์อัพขนาดเล็กที่ปรับตัวได้ง่าย เราจะมาถึงจุดนี้ไม่ได้เลยถ้าเป็นบริษัทขนาดใหญ่ 

ถ้าไปดูเรื่องวัคซีนที่เกิดขึ้นวันนี้ มันไม่ได้เกิดขึ้นในบริษัทยาใหญ่ๆ แต่มันเกิดขึ้นในสตาร์อัพหมดเลย Moderna มาจากสตาร์อัพ Pfizer เกิดจาก BioNTech ในเยอรมนีที่เป็นสตาร์อัพ เพราะฉะนั้นเหล่านี้เกิดจากงานวิจัยในองค์กรขนาดเล็ก นั่นคือข้อดีของมัน คำถามคืออาจารย์จะไม่ขายบริษัทตัวเองให้บริษัทยาข้ามชาติขนาดใหญ่ใช่ไหม เพราะ BioNTech ที่เป็นสตาร์อัพในเยอรมนีก็ขายตัวเองให้ Pfizer คำตอบคือเราไม่อยาก เราอยากให้มันเกิดในประเทศ เราอยากให้มันเป็นของคนไทย มีเทคโนโลยีเป็นของตัวเอง โดยไม่ต้องพึ่งพาคนอื่น เราไม่อยากเป็นทาส ดังนั้นข้อดีคือเรา lean

ส่วนข้อเสียคือเราใหม่มาก เพราะฉะนั้นหลายๆ อย่างเราต้องเรียนรู้ระหว่างทาง แต่นั่นอาจเป็นข้อดีอีก เพราะพนักงานของเราเป็นเด็กรุ่นใหม่ที่พร้อมจะเปิดรับและเรียนรู้

ในเรื่องของการผลิตวัคซีนต้านโควิด-19 ช่วงนี้ดูเหมือนใบยา ไฟโตฟาร์มจะเป็นหนึ่งในความหวังของคนไทยเช่นกัน มีความกดดันบ้างไหม

อ.แป้ง: ไม่กดดันคะ เพราะก่อนหน้านี้เราไม่เคยทำอะไรได้อยู่แล้ว ดังนั้นแย่ที่สุดคือเหมือนเดิม คือทำไม่ได้ ดังนั้นวันนี้มันคงมีแค่ดีขึ้น ต่อให้ไม่ได้อะไรเลย เราก็ได้เรียนรู้ เราสร้างคนที่มีองค์ความรู้มากขึ้น เพราะการจะสร้างวัคซีนมันไม่ใช่แค่ทดลองครั้งเดียวแล้วได้ มันมีหลายๆ  ปัจจัย ตัวเราก็ได้เรียนรู้เหมือนกัน ต้องทดสอบสารพัดสิ่ง ส่วนวัคซีนจะได้ผลหรือไม่มันคงเป็นเรื่องทางวิทยาศาสตร์ สิ่งที่เราทำได้คือทำให้ดีที่สุด แก้ปัญหา ตั้งคำถามว่ามันเป็นวัคซีนที่ดีไหม และเราก็ทดสอบมัน นี่คือหน้าที่ของเรา

อ.บิ๊บ – ผศ.ภญ.ดร.สุธีรา เตชคุณวุฒิ / Photo: Baiya Phytopharm Co., Ltd.

อ.บิ๊บ: เวลาเราทำงานใหญ่ๆ มันมีความเครียดอยู่แล้ว แต่ในความรู้สึก ณ วันนี้ เราคิดว่าสิ่งที่เราได้มา มันเกินจากสิ่งที่เราฝันไว้เยอะ เพราะประเทศไทยไม่เคยมียาและวัคซีนที่ทำได้เองตั้งแต่ต้นน้ำแม้แต่อย่างเดียว เพราะฉะนั้นวันนี้ถ้าเราได้เอายาเราเข้า clinical trial ขั้นที่ 1 ที่ 2 มันก็เหมือนกับที่คนอื่นบอกว่าเขาจะไปดาวอังคาร แต่ในเมื่อเรายังไม่เคยไปถึงดวงจันทร์ แค่เราไปถึงดวงจันทร์บิ๊บก็โอเคแล้ว มันถือเป็นการเริ่มต้นที่ดี คือต่อในเราล้มเหลว มันก็จะมีคนที่ตามมาหลังจากนี้ เรารู้สึกว่าเราเป็นกระสุนนัดแรก

เราสามารถคาดหวังกับวัคซีนของใบยา ไฟโตฟาร์มได้แค่ไหน

อ.บิ๊บ: ทุกอย่างมันเป็นวิทยาศาสตร์ ทุกอย่างอยู่บนพื้นฐานของหลักฐาน ถ้าถามวันนี้ ในแง่ของการวิจัยและพัฒนา เราคิดว่าเราก้าวหน้าและไม่ช้าไปกว่าใครในประเทศไทย แต่ให้ไปเทียบ Moderna หรือ Pfizer คงเทียบไม่ได้ ตอนนี้เรามาไกลที่สุดเท่าที่มาได้ ด้วยผลที่เห็น เราก็คิดว่ามันมีหวัง ถามว่าคาดหวังได้ไหม คงคาดหวังได้ แต่เราไม่ได้ตั้งเป้าไว้ว่าจะเป็นวัคซีนเจ้าแรกที่จะฉีดให้คนไทย เพราะมันคงเป็นไปไม่ได้ แต่ถ้าคาดหวังว่าสิ้นปีนี้ หรือต้นปีหน้า จะได้มีวัคซีนของใบยาฯ ที่ช่วยให้ผู้คนเข้าถึงวัคซีนได้ครบถ้วนมากขึ้น เราคิดว่ามันก็พอลุ้น เพิ่งคุยกับทีมว่าปีนี้เราจะต้องวิ่ง 4×100 ทั้งปี เราไม่ได้วิ่งมาราธอน ซึ่งเราจะวิ่งให้เร็วที่สุดเท่าที่เจะวิ่งได้

 

“เราเป็นทาสบริษัทยาต่างชาติ เขาขายเท่าไหร่เราก็ต้องซื้อ จนกระทั่งสุดท้าย เราคิดว่าสิ่งเดียวที่จะแก้ปัญหานี้ได้ คือการผลิตยาได้ด้วยตัวเอง” 

 

ทำไมถึงเลือกวิธีการระดมทุนด้วยแคมเปญการขอรับบริจาคจากประชาชนคนละ 500 บาท 

อ.บิ๊บ: จริงๆ โมเดลการรับบริจาคแบบนี้ในต่างประเทศมีมานานแล้ว แม้กระทั่งการทำวัคซีน ก็มีไบโอเทคสตาร์อัพทำแบบใบยาฯ เยอะมาก ซึ่งการบริจาคแบบนี้เขาเรียกว่า crowdfunding แบบเดียวกับ kickstarter.com แต่เนื่องด้วยเราทำยาและวัคซีน เราเลยทำแบบ kickstarter ไม่ได้ เราไม่สามารถบอกได้ว่าเดี๋ยวเราจะให้ยาและวัคซีน สิ่งที่เราทำได้คือให้สิทธิในการจองซื้อวัคซีน 

จริงๆ เราพยายามหาทุนมาหลายแบบแล้วก่อนหน้านี้ แต่เป้าของเราคือการทำให้วัคซีนเกิดขึ้น การจะมัวมานั่งต่อว่า โวยวายมันจะทำให้เราไปไม่ถึงเป้า แล้วคนก็จะถามอีกว่าทำไมไม่ให้นักลงทุนมาลงทุน คือถ้าคนทำสตาร์อัพจะรู้ว่าการระดมทุนรอบหนึ่งมันใช้ระยะเวลาอย่างต่ำราวหกเดือน ดังนั้นเราจึงต้องเรียลลิสติก และทำอย่างไรก็ได้ให้ได้เงินเร็วที่สุด ส่วนเรื่องของนักลงทุน ก็ต้องใช้เวลา ไม่ใช่เราไม่ระดมทุน เงินที่ขอรับบริจาค 500 ล้านจริงๆ แล้วมันไม่เพียงพอสำหรับการทำวัคซีนหรอกค่ะ เพราะคนอื่นเขาใช้เป็นหมื่นล้าน แต่เงินจำนวนนี้จะเป็นสิ่งที่ทำให้เราไปต่อได้เร็วขึ้น เราเลยอยากขอบริจาคจากคน 1 ล้านคนที่ยังพอมีเงินอยู่ ไม่ได้บอกว่าคนที่ไม่มีเงินต้องมาช่วยเรา เราเข้าใจ แค่ส่งกำลังใจเราก็ดีใจแล้ว

Photo: Baiya Phytopharm Co., Ltd.

ทำไมประชาชนต้องบริจาค

อ.บิ๊บ: อยากให้คิดว่านี่คือการบริจาคเพื่อการศึกษา อย่างเวลาเราบริจาคทุนการศึกษาให้เด็กสักคน เราคงไม่มานั่งคิดว่าเด็กคนนี้ถ้าเติบโตไปมีหน้าที่การงานที่ดีแล้วจะเอาเงินกลับมาให้เรา เรารู้สึกว่านี่คือการบริจาคเพื่อการวิจัยและพัฒนา มันคือการสร้างโครงสร้างพื้นฐานให้แก่ประเทศ ถามว่าทำไมรัฐไม่ให้… คือถ้าคิดว่านี่เป็นสิ่งสำคัญสำหรับประเทศเรา เราก็มาช่วยกัน วันนี้ประเทศเรากำลังเป็นแบบนี้ ถ้ามัวแต่นั่งหาคนผิด สุดท้ายเราคงล่มจมไปด้วยกัน สำหรับบิ๊บตอนนี้คือใครทำอะไรได้ก็ควรจะต้องทำ ใบยาฯ ไม่ได้ทำแค่วัคซีนโควิด แต่เรามองว่ามันคงเป็นหนึ่งในส่วนหนึ่งที่สร้างความมั่นคงทางด้านสุขภาพให้แก่ประเทศไทย และถ้าไม่อยากให้เราเป็นทาสในการผลิตยาหรือวัคซีนของต่างชาติ นี่ก็น่าจะเป็นหนึ่งในวิธีการ คือใบยาฯ เองก็มีบริษัทที่ใหญ่มากๆ ในประเทศไทยมาขอซื้อ แต่โดยส่วนตัว เราเชื่อในการแข่งขัน และถ้าเรามีผู้เล่นเล็กๆ แบบใบยาฯ เยอะๆ ประเทศชาติจะพัฒนาโดยไม่ถูกควบคุมโดยใครคนใดคนหนึ่ง

กระบวนการเมื่อได้เงินทุนจนถึงผลิตเสร็จสิ้นจะเป็นอย่างไร

อ.บิ๊บ: เมื่อกระบวนการวิจัยและพัฒนาวัคซีนเสร็จสิ้น ซึ่งเงินที่เราขอรับบริจาค 500 ล้านบาทจะเป็นส่วนหนึ่งในนั้น สิ่งที่เราคุยกับทาง CU Enterprise คือ เราจะขายให้รัฐในราคาต้นทุน ทีนี้รัฐจะซื้อเท่าไหร่ เราตัดสินใจแทนรัฐไม่ได้ ถ้ารัฐไม่ซื้อ และมีโรงพยายาบาลเอกชนมาซื้อ เราก็จะขายในราคาต้นทุนให้ แต่โรงพยาบาลเอกชนก็ต้องสัญญานะว่าจะขายให้ประชาชนในราคาที่เหมาะสม ไม่ใช่ซื้อ 100 บาทไปขายต่อ 1,000 บาท ดังนั้นในกระบวนการเราเป็นแค่ผู้ผลิต

ในฐานะที่เราต่างเป็นผู้ประสบภัยจากไวรัส ระหว่างที่ต้องรอวัคซีนกันอยู่เราควรทำอย่างไรดี

อ.บิ๊บ: วันนี้เราเห็นหลักฐานบางอย่างจากการลงไปใช้ชุดตรวจตรวจภูมิคุมกัน คือโรคต่างๆ มันมีอยู่แล้ว ไม่ได้หายไป และเราก็อยู่กันมา เมื่อเดือนที่แล้วเรายังออกไปกินข้าวกันปกติ แล้วมันก็เกิดขึ้น แต่ไม่ได้แปลว่าจะละเลยหรือไม่ระวังนะคะ ควรระวังเหมือนเดิม แต่ต้องไม่แพนิก เพราะความแพนิกมันคือความโกลาหล และความโกลาหลจะทำให้เราตัดสินใจได้ไม่ถูกต้อง 

ถอยห่างจากความเป็นนักวิทยาศาสตร์ โควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างไรต่อชีวิตอาจารย์บ้าง

อ.บิ๊บ: เราโดนผลกระทบไม่ต่างจากคนอื่น แต่สำหรับเรา เมื่อก่อนเราจะคิดว่าวัคซีนมันใช้เวลาเป็นสิบปีกว่าจะเสร็จ แต่เมื่อถึงเวลาที่เกิดวิกฤตแบบนี้ มันทำให้เราเห็นว่า เราทำมาได้ไกลขนาดนี้แล้วในระยะเวลาไม่ถึงปี แน่นอนเราโดนผลกระทบเหมือนคนอื่น แต่วิกฤตมันก็เป็นตัวขับเคลื่อนเราเหมือนกัน คือถ้าเราไม่ยอมแพ้ เราก็จะไปต่อได้ และมันน่าจะเป็นโอกาสให้เราเลิกเป็นทาสคนอื่นเขาได้

อ.แป้ง: สำหรับตัวเองมันก็ส่งผลหลายอย่าง ทั้งเรื่องการเดินทาง หรือความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ที่เห็นได้ชัดจากครอบครัว ผู้คนที่ต้องห่างไกลกัน ทุกคนต้องปรับตัวในรูปแบบต่างๆ เช่น การเรียนการสอน ดังนั้น ณ วันนี้ เราไม่สามารถเลือกทางที่สมบูรณ์แบบได้ แต่เราต้องอยู่รอดให้ได้ ซึ่งมันก็ทำให้เราเห็นความเป็นไปได้ใหม่ๆ เหมือนกัน

แต่เอาจริงๆ สำหรับตัวเอง ก็คิดว่าเราอาจจะได้รับผลกระทบน้อยเมื่อเทียบกับคนอื่น เรายังเป็นอาจารย์ มีเงินเดือน แต่วันนี้มีคนที่เขาลำบากกว่าเราเยอะมากๆ มันเลยเป็นสิ่งที่ทำให้เรารู้สึกว่า ถ้าเราทำอะไรเพื่อช่วยเหลือคนอื่นได้ เราก็อยากจะทำ สิ่งที่อยากจะฝากคือ การให้กำลังใจกันและกันในช่วงเวลานี้มันสำคัญมาก

Photo: Baiya Phytopharm Co., Ltd.

วัคซีนถ้าเทียบกับยารักษาโรคทางจิตใจอย่างซึมเศร้า เผลอๆ ยารักษาซึมเศร้าอาจราคาแพงกว่า และนี่คือผลกระทบที่เกิดขึ้นจากโควิด-19 เช่นกัน สำหรับอาจารย์ทั้งสองแล้ว วัคซีนสำหรับดูแลจิตใจคืออะไร

อ.บิ๊บ: มีคนถามเราเยอะว่าทำไมไม่เลิกทำวัคซีนไปเลย โดนวิจารณ์ก็เยอะ แต่เรารู้สึกว่ามีคนที่ชีวิตเขาลำบากกว่าเราเยอะ ดังนั้นเราอยากเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือ

สิ่งที่เรากำลังเจอกันอยู่ตอนนี้มันยังไม่แย่พออีกเหรอ เราต้องการความคิดเชิงลบที่จะทำให้มันแย่ลงไปอีกเหรอ เรารู้ว่าคงไม่มีใครทำอะไรถูกใจเราทุกอย่าง แต่เมื่อมันแย่ ถ้าเราพาตัวเองไปอยู่กับเรื่องแย่ๆ อีก มันก็ไม่น่าจะทำให้เราดีขึ้น เราเลยรู้สึกว่าส่งพลังบวกให้กันดีกว่า ช่วยอะไรได้ก็ช่วย ใครทำอะไรได้ก็ทำ วันนี้เราต้องรอดไปด้วยกัน

อ.แป้ง: เอาตรงๆ วันนี้คนฆ่าตัวตายกันเยอะนะ เพราะเจอภาวะกดดันหลายอย่าง ดังนั้นในสภาวะแบบนี้ เราคงต้องช่วยกัน เราเองช่วยตรงไหนได้ก็จะช่วย โควิด-19 มันเกิดขึ้นโดยที่ไม่มีใครคาดคิดว่ามันจะเกิด ดังนั้นเราเลยไม่มีแผนเตรียมรับ สิ่งที่ทำได้เฉพาะหน้าเราก็อาจต้องช่วยกันเองก่อน แบ่งปันอะไรได้ก็ช่วยแบ่งปัน มันอาจไม่ใช่นโยบายในภาพใหญ่ อันนั้นน่าจะเป็นหน้าที่ของรัฐ แต่ในแง่ของตัวเอง เจอใครลำบาก ช่วยอะไรได้ก็จะช่วย ช่วยซัพพอร์ตกันและกันทั้งด้านกำลังใจและกำลังทรัพย์

 

หมายเหตุ

ผู้ที่สนใจร่วมบริจาคกับใบยา ไฟโตฟาร์ม สามารถเข้ามาลงทะเบียนบริจาคใน www.CUEnterprise.co.th โดยเลือกช่องทางการบริจาคได้ 2 ช่องทาง ได้แก่ 

1.ใช้ Mobile Banking Application ของธนาคารใดก็ได้ สแกนหรืออัพโหลด QR Code เพื่อใช้บริจาค โอนเงินเข้าบัญชีธนาคารกรุงไทย ชื่อบัญชี มูลนิธิซียูเอ็นเทอร์ไพรส์ เมื่อเสร็จสิ้นการทำรายการจะได้รับหลักฐานการชำระเงิน

2.ทำรายการที่หน้าเคาน์เตอร์ธนาคารกรุงไทยได้ทุกสาขาทั่วประเทศ จะได้ Pay-in Slip เป็นหลักฐาน

และสามารถบริจาคได้โดยตรงผ่านหมายเลขบัญชี 

162-6-01946-0

ธนาคารกรุงไทย สาขาจามจุรีสแควร์