life

ถ้าความโดดเดี่ยวเปลี่ยวเหงาเพราะขาดใครสักคนมาคอยดูแลและอบอุ่นหัวใจ ทำให้ใครบางคนละเมอเพ้อพกถึงขั้นระบายออกมาว่า ‘อยากเขียนคำว่าเหงาตัวเท่าบ้าน’ เขาและเธอผู้นั้นอาจต้องคิดทบทวนใหม่

เพราะอากาศยิ่งหนาวเย็นเท่าไหร่ จะทำให้ยิ่งรู้สึกเหงามากขึ้นตามไปด้วย นั่นจึงหมายความว่า ขนาดของบ้านอาจเล็กเกินกว่าจะใช้เทียบเคียงความเหงาใจที่เกิดขึ้นในช่วงหน้าหนาวได้ เมื่อเวลานั้นมาถึง คำว่าเหงาอาจโตขึ้น รู้ตัวอีกทีขนาดความเหงาคงใหญ่เท่าตึกไปแล้ว

เหตุใดขนาดของความเหงากลับแปรผันตามระดับความหนาวที่เรารับรู้สึก

ด้านการแพทย์ได้อธิบายว่า อุณหภูมิภายนอกส่งผลต่อการทำงานของระบบอวัยวะภายในร่างกายได้ โดยเฉพาะช่วงเปลี่ยนผ่านของอุณหภูมิที่ลดต่ำลง รวมทั้งความสั้นยาวระหว่างกลางวันและกลางคืนของฤดูหนาวจะทำให้นาฬิกาชีวิต (biological clock) แปรปรวน เพราะไม่สามารถปรับกลไกการทำงานของร่างกายและสมดุลของสารเคมีในระบบประสาทและสมองให้สอดคล้องกับสภาพอากาศได้ทันท่วงที นำไปสู่อาการทางจิตเวชที่เรียกว่า ภาวะเหงาเศร้าจากการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล หรือ Seasonal Affective Disorder (SAD)

ภาวะนี้เกี่ยวข้องกับสารสื่อประสาทในสมอง 2 ตัว ตัวแรกเรียกว่า เซโรโทนิน (Serotonin) ซึ่งมีบทบาทในการควบคุมอารมณ์ เมื่อเข้าสู่ฤดูหนาวระดับเซโรโทนินจะลดลง จึงทำให้เหงาเศร้า ไม่ร่าเริงใจ ตระหนกและกังวลง่าย ตัวที่สองเรียกว่า เมลาโทนิน (Melatonin) มีบทบาทในการควบคุมการนอน ในช่วงอากาศหน้าร่างกายจะหลั่งสารนี้ในปริมาณมาก ทำให้ง่วงซึม ไม่กระปรี้กระเปร่า

ผลที่เกิดตามมาคือ คนจะรู้สึกเหงามากขึ้นเมื่ออากาศหนาวเย็นมาเยือน บางคนรู้สึกว่าตัวเองเฉื่อยชาลงจนไม่อยากทำอะไรมากไปกว่าการนอนขลุกตัวอยู่ในผ้าห่มหนาๆ บนเตียง คนที่ใช้ชีวิตอยู่คนเดียวจะยิ่งรู้สึกโดดเดี่ยว เพราะความหนาวทำให้ทุกอย่างรอบตัวดูน่าเบื่อหน่ายไร้ชีวิตชีวา

ส่วนด้านจิตวิทยาสังคมอธิบายว่า ร่างกายและสภาพแวดล้อมสามารถสร้างผลกระทบเป็นแรงสั่นสะเทือนต่อใจและความรู้สึกนึกคิดได้ อากาศหนาวเย็นจึงเป็นเสมือนภัยพิบัติสำหรับคนขี้เหงาและคนที่มีอาการซึมเศร้าเพราะมีความเป็นไปได้สูงว่าทุกอย่างจะแย่และเลวร้ายลงกว่าเดิม

หนึ่งในผลศึกษาที่น่าสนใจ ระหว่าง State University of New York และ Florida State University สหรัฐอเมริกา ซึ่งเผยแพร่ปี 2019 เกี่ยวกับเรื่องนี้ พบว่า อุณหภูมิในสภาพแวดล้อมหรือพื้นที่ที่เราอาศัยหรือใช้ชีวิตอยู่ส่งผลต่อการตัดสินทางสังคมของเราได้ ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงของระดับอุณหภูมิจึงมีผลเชิงจิตวิทยาต่อการเข้าสังคมของแต่ละคน

การศึกษานี้มีกลุ่มตัวอย่างที่ใช้เก็บข้อมูลจำนวน 78 คน ซึ่งอยู่อาศัยในพื้นที่ที่มีอุณหภูมิแตกต่างกันตั้งแต่อบอุ่นถึงหนาวเย็น คนจำนวนครึ่งหนึ่งจะได้รับเข็มขัดพันไว้รอบเอว ซึ่งเข็มขัดนี้จะคอยให้ความอบอุ่นกับผู้คาดตลอดเวลา ปรากฏว่า คนที่ไม่ได้คาดเข็ดขัดกลับสนใจเข้าสังคมไปหาผู้คนมากกว่า สรุปได้ว่า ความรู้สึกหนาวทางกายจะทำให้เหงาทางใจหรืออารมณ์ตามไปด้วยจนต้องหาวิธีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นๆ เพื่อไม่ให้ตัวเองเหงาไปมากกว่านี้

ความเหงายังคลายได้หากเรายอมรับว่าตัวเองเหงาแล้วมองหาโอกาสพบปะคนอื่นๆ หรือแบ่งเวลาไปทำกิจกรรมสังคมตามความสนใจ ซึ่งเป็นทางเลือกหนึ่งที่ทำให้เราหายเหงาและรู้สึกว่าตัวเองไม่ได้อยู่อย่างโดดเดี่ยว ขนาดของความเหงาคงเล็กลงกว่าขนาดของใจ

แต่ถ้าเป็นความเหงาเพราะไม่มีแฟน อันนี้ก็คงตอบแทนกันอย่างเด็ดขาดไม่ได้ว่าขนาดความเหงาจะใหญ่กว่าตึกหรือเล็กกว่าบ้าน แต่ขอเป็นกำลังใจให้คนที่ยังไม่มีแฟนว่า พยายามเข้า

อ้างอิง