life

เคยเป็นไหม? ขณะทำอะไรสักอย่างอยู่เพลินๆ เพลินถึงขนาดที่ไม่ทันรู้ตัวว่า กำลังนั่งกัดเล็บ แกะริมฝีปาก ถอนขนจมูก หรือดึงเส้นผมตัวเองมาได้พักใหญ่ กว่าจะรู้สึกตัวอีกที ตรงหน้าก็มีผมร่วงเป็นกอง ปากแตกจนเลือดซึมออกมา หรือไม่ก็ฟันกำลังขบเล็บจนสั้นทู่แล้ว

ทั้งๆ ที่รู้อยู่เต็มอกว่าไม่ใช่สิ่งที่ควรทำ เพราะไม่ถูกสุขลักษณะ เป็นภาพไม่น่ามองที่ใครเห็นแล้วต้องเบือนหน้าหนี แถมยังทำให้ร่างกายเสี่ยงบาดเจ็บเป็นแผลบานปลาย แต่ทุกครั้งที่เผอเรอ ตัวเราย่อมหักห้ามใจไม่ไหว ต้องยื่นมือไปล้วง แคะ แกะ เกา ดึง ถอน ขูด หรือจิกส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย โดยเฉพาะส่วนเกินที่เห็นแล้วรู้สึกว่าไม่เรียบร้อย ไม่เข้าที่เข้าทาง และไม่ใช่สิ่งที่ควรจะปล่อยให้ค้างคาอยู่บนร่างกายต่อไป อย่างเล็บที่ยาว ขนที่ยื่นโผล่พ้นรูจมูก ริมฝีปากที่แห้งเป็นแผ่นแข็ง ผิวหนังโคนเล็บที่หลุดลอกเป็นเส้น รวมถึงผมหงอก ผมคัน และผมแตกปลาย

ราวกับว่า หากตาสังเกตเห็น แล้วเกิดเป็นความรู้สึกรำคาญจนรบกวนใจเมื่อไหร่ มือและนิ้วจะอยู่ไม่สุขเมื่อนั้น ต้องขยับไปทำอะไรสักอย่างเพื่อกำจัดทันที บางคนอาจมือไวกว่าที่คิด ต่อให้บนร่างกายไม่มีส่วนเกินที่ว่ามาเลย หรือไม่จำเป็นต้องมองเห็นชัดเจนก่อนด้วยซ้ำ แต่มือมันไปของมันเองเหมืองตั้งโปรแกรมอัตโนมัติไว้ ซึ่งเป็นผลมาจากความเคยชิน

ในทางจิตวิทยา เรียกอาการเหล่านี้รวมกันว่า Body-Focused Repetitive Behaviors หรือ BFRBs ปัจจุบัน ยังไม่มีศัพท์บัญญัติเป็นภาษาไทย ผู้เขียนขอเสนอให้เรียกด้วยคำที่เข้าใจง่ายว่า พฤติกรรมย้ำทำ(กับร่างกาย) เพราะสื่อถึงลักษณะเด่นของอาการได้ครบความ นั่นคือ พฤติกรรมใดก็ตามที่คนเรามักจะทำซ้ำๆ กับเนื้อตัวและอวัยวะบนร่างกาย แม้จะดูไม่งามในสายตาผู้อื่นแค่ไหน แต่คนส่วนใหญ่ที่มีพฤติกรรมนี้ กลับเข้าใจว่าเป็นวิธีดูแลตัวเองแบบลวกๆ ที่ใครก็ทำกัน

เมื่อทำบ่อยจนติดเป็นพฤติกรรมเคยตัว คนแรกๆ ที่มักจะมองเห็นอากัปกิริยาล้วง แคะ แกะ เกาด้วยความเป็นห่วงเป็นใย จึงเป็นคนรอบข้างที่อยู่ใกล้ชิด ซึ่งในตอนนั้นพวกเขาอาจไม่ได้สนใจหรือยังไม่รู้ว่าเป็นอาการของ BFRBs เพราะตีความภาพที่เห็นตรงหน้าว่าเป็นพฤติกรรมมักง่ายที่ไม่ควรปล่อยผ่านไปโดยไม่ทักท้วงมากกว่า

ถึงอย่างนั้น แค่คำพูดเชิงตำหนิจากคนใกล้ตัวที่ต้องการห้ามปรามให้หยุดทำ เพราะไม่อยากให้เสียบุคลิกและเกรงว่าจะเกิดปัญหาเลยเถิดในภายหลัง ก็ดูเหมือนจะไม่ได้ผล ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่า สาเหตุที่ทำให้เกิดพฤติกรรมย้ำทำ มีต้นตอมาจากความเครียดและความคับข้องที่สั่งสมอยู่ภายในใจ ซึ่งเจ้าตัวรู้สึกว่ายังสะสางหรือจัดการไม่ได้ในทันที เพื่อระบายความอัดอั้นให้ผ่อนคลายลงไปบ้าง จึงเลือกแสดงออกด้วยพฤติกรรมจัดระเบียบร่างกายตัวเองอย่างไม่รู้สึกตะขิดตะขวงใจใดๆ แทน

แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่า พฤติกรรมแบบไหนเข้าข่าย BFRBs

จุดสำคัญที่แนะนำให้สังเกตก็คือ บริเวณร่างกายและอวัยวะที่มักจะเกิดพฤติกรรมย้ำทำ ซึ่งบ่งชี้ถึงอาการ BFRBs ได้ โดยแบ่งออกเป็นกลุ่มโรคที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

(1) ผิวหนัง: จิก แกะ บีบ เกาผิวหนังตำแหน่งเดิม ติดต่อกันเป็นเวลานานนับเดือนหรือนับปี จนผิวถลอกเป็นแผลตกสะเก็ดเรื้อรัง มักเกิดขึ้นเฉพาะจุดที่มีสิว ตุ่ม ผื่น หรือหนังด้าน เช่น ใบหน้า แผ่นหลัง ปาก แขน ขา ฝ่ามือ ฝ่าเท้า และหนังศีรษะ ทางการแพทย์เรียกอาการนี้ว่า โรคแกะผิวหนัง (Excoriation Disorder, Dermatillomania, Skin Picking Disorder) เป็นโรคที่พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย

(2) ขน: ดึงและถอนขนตามส่วนต่างๆ ทั่วร่างกายซ้ำๆ ทำให้ขนบริเวณนั้นบางลงหรือแหว่งเป็นหย่อมโดยเฉพาะเส้นผม ซึ่งเป็นจุดที่เกิดขึ้นบ่อยกว่าตำแหน่งอื่น ช่วงอายุที่โรคดึงผมตัวเอง (Trichotillomania, Hair Pulling Disorder) มักจะเริ่มแสดงอาการให้เห็น คือ วัยรุ่น บางคนอาจใช้กรรไกร มีดโกน หรือปัตตาเลี่ยนตัดและเล็มผมจนสั้นเกรียน (Trichotemnomania)

(3) นิ้วมือและเล็บ: พฤติกรรมกัดเล็บและขบนิ้ว (Onychophagia, Nail Biting) ในผู้ใหญ่ส่วนมากเป็นอาการต่อเนื่องที่แก้ไม่หายตั้งแต่เด็ก มักจะเกิดร่วมกับอาการอื่นๆ อย่างนอนกัดฟัน (Bruxism) บางรายรุนแรงถึงขั้นแทะผิวรอบเล็บและมือ (Dermatophagia) จนฉีกขาดและมีเลือดออก

(4) ปาก: พฤติกรรมกัดกระพุ้งแก้ม (Morsicatio Buccarum, Cheek Biting, Cheek Chewing) กัดเคี้ยวลิ้น (Tongue Chewing) และกัดริมฝีปากด้านใน (Morsicatio Labiorum) ต่างจากพฤติกรรมลอกริมฝีปากแห้งแตกและกัดริมฝีปากด้านนอก (Lip Bite Keratosis) ตรงที่ ตำแหน่งของแผล เพราะแผลร้อนในหลบซ่อนอยู่ภายในช่องปาก จึงสังเกตได้ยากกว่า

(5) จมูก: ไชและแคะจมูก (Rhinotillexomania, Compulsive Nose Picking) พฤติกรรมนี้ไม่ได้เกิดขึ้นตอนที่มีขี้มูกติดค้างอยู่ภายในรูจมูกเท่านั้น แม้รูจมูกจะสะอาดดี ไม่มีทั้งขี้มูกและน้ำมูก ก็ห้ามตัวเองไม่ได้ ต้องล้วงแคะรูจมูกเพื่อความสบายใจ กลายเป็นสร้างความระคายเคืองให้เยื่อบุรูจมูกโดยใช่เหตุ

(6) ตา: จะส่องกระจกทุกครั้งที่รู้สึกระคายตา พอเห็นว่ามีขี้ตาลักษณะยาวเป็นเส้นสีขาวขุ่นอมเหลืองติดอยู่ตัวตา จึงใช้นิ้วเปล่าหรือคอตตอนบัดพยายามเขี่ยออกมา เป็นอาการของพฤติกรรมเขี่ยเมือกในตา (Mucus Fishing Syndrome) หลังจากได้ทำก็รู้สึกว่าสบายตาขึ้นมาก แต่หารู้ไม่ว่า จะยิ่งทำให้ตาผลิตเมือกเพื่อป้องกันสิ่งสกปรก และเพิ่มความเสี่ยงทำให้ตาแห้งและติดเชื้อได้

จิตแพทย์และนักจิตวิทยาคลินิกเคยเชื่อว่า BFRBs หรือ พฤติกรรมย้ำทำ เป็นอาการของกลุ่มโรควิตกกังวล พฤติกรรมหุนหันพลันแล่น ขาดความยับยั้งชั่งใจ คล้ายกับคนที่เสพติดอะไรบางอย่าง เช่น การพนัน และโรคย้ำคิดย้ำทำ (Obsessive Compulsive Disorder) ทำให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนว่า คนที่มีพฤติกรรมย้ำทำเท่ากับเป็นโรคย้ำคิดย้ำทำเสมอ ซึ่งไม่ถูกต้อง เพราะปัจจุบัน แต่ละโรคมีเกณฑ์วินิจฉัยเป็นของตัวเอง แม้จะมีลักษณะอาการคล้ายคลึงกันไปบ้าง แต่ไม่นับว่าเป็นโรคเดียวกัน

ในหมู่คนที่รู้ตัวเองว่ามีพฤติกรรมย้ำทำ พวกเขาจะพยายามลด ละ เลิกพฤติกรรมเหล่านั้นเองก่อน แต่มักไม่สำเร็จ เพราะทุกครั้งที่เครียดหรือกังวล จะย้อยนึกถึงแต่ความรู้สึกดีเมื่อได้แคะ แกะ เการ่างกาย จนเกิดเป็นความโหยหา แล้วกลับมาทำพฤติกรรมเดิม ซึ่งเป็นผลจากการเรียนรู้วางเงื่อนไขพฤติกรรมของสมองด้วย เมื่อทำแล้วรู้สึกคลายเครียด ยิ่งเครียดก็จะยิ่งทำ หากไม่ทำจะยิ่งเครียด

หนทางเดียวที่จะช่วยรักษาพฤติกรรมย้ำทำให้หายขาด คือ เข้ารับการบำบัดและวางแผนเรื่องการปรับพฤติกรรมกับจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาคลินิก ร่วมกับการให้ยาคลายกังวลในบางรายซึ่งขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์

 

อ้างอิง

  • Najera D. B. (2022). Body-focused repetitive behaviors: Beyond bad habits. JAAPA : official journal of the American Academy of Physician Assistants, 35(2), 28–33. https://doi.org/10.1097/01.JAA.0000817812.38558.1a
  • นันทวัช สิทธิรักษ์, และ มหาวิทยาลัยมหิดล. (2558). จิตเวชศิริราช DSM-5. (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ : ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
  • The TLC Foundation for Body-Focused Repetitive Behaviors. What is a BFRB?. https://bit.ly/3PgBWr6