เหนื่อยหน่ายขนาดไหนกับ ‘งาน’ ที่ทำอยู่?
ในเมื่อตั้งใจทำงานตัวเป็นเกลียว เพราะคาดหวังหรืออาจถึงขั้นวาดฝันไว้ว่า งานที่ทำจะสร้างความหมายใหม่ให้ชีวิต อย่างน้อยที่สุด เงินตอบแทนรายเดือนที่ควรปรับขึ้นรายปี และตำแหน่งแห่งที่ในสายงานซึ่งควรได้รับการปรับเลื่อนตามวาระ ก็น่าจะนำพาชีวิตไปในทิศทางที่ดีขึ้นและมั่นคง
ใช่ แต่ไม่เสมอไป เพราะความเป็นจริงที่ชีวิตคนทำงานต้องเผชิญ ย่อมแตกต่างจากความฝันที่เคยหวังไว้อย่างสิ้นเชิง นอกจากงานที่ทำจะไม่เคยสร้างความหมายใหม่ที่ดีให้ชีวิตแล้ว ยังอาจฉุดรั้งไม่ให้เติบโตในหน้าที่การงาน กลายเป็นบทเรียนราคาแพงที่ต้องจ่ายด้วยสิ่งมีค่าด้วยความไม่เต็มใจ ซึ่งไม่อาจเรียกคืนกลับหรือหามาชดเชยแทนได้อีก นั่นคือเวลาที่เสียไป
โลกของการทำงานนั้นกว้างใหญ่ในแง่การเติบโตบนเส้นทางอาชีพ แต่ทำไมสำหรับบางคนกลับรู้สึกว่าคับแคบเหลือทน ไม่ว่าอายุงานจะล่วงผ่านนานแค่ไหน ก็ไม่ได้ทำให้ก้าวพ้นจุดเดิมที่เคยเริ่มต้นทำงาน แปลว่า ความก้าวหน้าในหน้าที่การงานเท่ากับศูนย์
การย่ำอยู่กับที่ไม่เปลี่ยนแปลงจะยิ่งทำให้ใจห่อเหี่ยว เพราะขัดแย้งกับภาพและแผนชีวิตที่หมุดหมายไว้ แต่ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไร ขณะทำงานใดๆ คำถามที่ทุกคนควรใช้สำรวจตัวเองเรื่อยๆ คือ เราทำงานไปเพื่ออะไร หากคำตอบเป็นความก้าวหน้า ให้สำรวจต่ออีกว่า ด้วยเงื่อนไขและข้อจำกัดที่เกี่ยวข้อง เรามีโอกาสก้าวหน้าขนาดไหน แล้วจะแน่ใจได้อย่างไรว่า องค์กรที่ทำงานอยู่มอบโอกาสนั้นให้เราได้
ความจริงข้อหนึ่งที่คนทำงานต้องทำใจยอมรับคือ ความเป็นไปได้ของการตกอยู่ในสถานะเลี้ยงไว้ไม่ให้โต หมายความว่า ที่ทำงานบางแห่งอาจไม่ต่างจากกระถางบอนไซ ทำให้ความพยายามและความสามารถจึงไม่มีประโยชน์มากไปกว่าใช้ทำงานให้จบไปวันๆ เท่านั้น
ทำไมความก้าวหน้าในอาชีพจึงเป็นสิ่งที่ควรให้ความสำคัญ
เพราะว่าการเติบโตเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเติมเต็มชีวิตให้สมบูรณ์และรู้สึกได้ถึงคุณค่าของตัวตนที่ดำรงอยู่ หน้าที่การงานจึงไม่ใช่แค่หนทางหาเลี้ยงชีพ แต่ยังต้องสนองความพึงพอใจบางอย่างร่วมด้วย เนื่องจากเหตุผลพื้นฐานของการทำงานเกิดจากแรงขับที่ต้องการหล่อเลี้ยงชีวิตให้อยู่รอด (hunger drive) และแรงจูงใจที่เหนี่ยวนำให้ทำสิ่งปรารถนาเพื่อสร้างการยอมรับนับถือให้ตัวเอง
บอนไซที่มีลำตันสวยงาม เป็นผลลัพธ์ของความใส่ใจเลี้ยงดูแลอย่างทะนุถนอม แต่คนเราไม่ใช่ต้นไม้ที่ใครจะมาบังคับฝืนธรรมชาติเพียงเพื่อเลี้ยงไว้อยู่รอดแต่ไม่ให้เติบโตอย่างที่ควรเป็น
เมื่อทุกคนมีศักยภาพที่พัฒนาและต่อยอดความสามารถเป็นไปสู่ความเชี่ยวชาญได้ตามสิ่งที่ตนถนัดหรือทำได้ดี คงไม่มีเหตุผลใดที่เราจะปล่อยตัวเองให้ยืนอยู่นิ่งๆ ในกระถางดินที่กรอบชีวิตไว้ไม่ให้เติบโต เพราะคำว่าโอกาสที่จะทำให้เราเติบโต ไม่ได้เกิดจากการรอคอยใครหยิบยืนให้เสมอไป แต่ยังเกิดได้จากการสร้างโอกาสนั้นให้ตัวเอง
ถึงตรงนี้ คุณตอบตัวเองได้ชัดเจนไหมว่า องค์กรที่กำลังทำงาน ใช่ ‘ที่ทำงาน’ หรือ ‘กระถางบอนไซ’
อ้างอิง
- Deborah A. Olson. Success The Psychology of Achievement : A practical guide to unlocking the potential in every area of life. (London : Dorling Kindersley Ltd, 2017)