life

ชีวิตเป็นเรื่องซับซ้อนที่ไม่อาจสรุปรวบรัดด้วยประโยคสั้นๆ ไม่กี่ประโยค ม็อตโต้เป็นแค่กลุ่มคำหรือกลุ่มประโยคที่จำๆ ตามกันมา เปลี่ยนแปลงบางวรรคบางตอน เพื่อใช้เขียนในหน้าประวัติส่วนตัวพื้นที่จำกัดของหนังสือรุ่นที่เราแทบจะไม่ได้กลับไปเปิดอ่านตั้งแต่เรียนจบมา

แต่รู้ไหมว่า แท้จริงแล้วถ้อยคำสั้นๆ กลับมีพลังมากกว่าที่คิด และมันอาจเป็นแผนที่นำทางในการใช้ชีวิตของเราได้อย่างแม่นยำ

โดยพื้นฐาน ‘ถ้อยคำ’ คือ ‘สะพาน’ ที่เชื่อมต่อจิตใต้สำนึกของเรากับโลกเชิงกายภาพเข้าหากัน 

อีฟ คลาร์ก (Eve Clark) ศาสตร์จารย์ด้านนิรุกติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดบอกว่า “ภาษาทำให้ข้อมูลต่างๆ กลายมาเป็นความทรงจำที่เราจะสามารถเรียกย้อนกลับมาได้โดยง่าย”

ผลการศึกษาชิ้นหนึ่งแสดงให้เห็นว่า การพูดคุยกับตัวเองระหว่างการทำงานจะช่วยให้เราทำงานสำเร็จได้ดีขึ้น การศึกษานี้ทดลองให้ผู้เข้าร่วมค้นหาสิ่งของบางอย่างในรูปภาพ ซึ่งมีสิ่งของมากมายกระจัดกระจายอยู่ภายใน และเมื่อพวกเขาพูดชื่อสิ่งที่ตัวเองต้องการค้นหาออกมาดังๆ พวกเขาก็จะสามารถเจอสิ่งของชิ้นนั้นได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น 

“สิ่งที่ผู้คนจำนวนมากคิดเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างความคิดและภาษาก็คือเราคิดเป็นภาพ แต่จริงๆ แล้วส่วนใหญ่ เราคิดเป็นถ้อยคำของภาพเหล่านั้นต่างหาก” เดโบราห์ แทนเนน (Deborah Tannen) ศาสตร์จารย์ด้านนิรุกติศาสตร์จากมหาลัยจอร์จทาวน์กล่าว “ถ้อยคำและมโนภาพผูกติดกันอย่างไม่อาจแยกขาด เมื่อเรามีถ้อยคำสำหรับบางสิ่ง การวาดภาพในหัวขึ้นก็เป็นเรื่องง่าย”

ลุดวิก วิตต์เกนสไตน์

ลุดวิก วิตต์เกนสไตน์ (Ludwig Wittgenstein) นักปรัชญาออสเตรีย-อังกฤษผู้โด่งดังจากทฤษฎีเกี่ยวกับภาษาเคยกล่าวเกี่ยวกับพลังของถ้อยคำไว้ว่า “ภาษาอันจำกัดหมายถึงโลกอันจำเขี่ย”

แม้สำนวนประมาณว่า ‘The pen is mightier than the sword’ หรือ ‘ปากกา (ถ้อยคำ) มีพลังมากกว่าดาบ (อาวุธ)’ จะเป็นคำพูดเกร่อๆ ที่ถูกหยิบยกมาใช้บ่อยจนเกินไป แต่ในสังคมมนุษย์ที่ใช้ ‘การสื่อสาร’ เป็นตัวขับเคลื่อน เราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าถ้อยคำนั้นมีพลังจริงๆ ไม่เชื่อลองดูสโลแกน หรือก๊อปปี้สั้นๆ ที่เป็นองค์ประกอบสำคัญในทุกแคมเปญโฆษณาบนแผ่นป้ายข้างถนน หรือบน ad ที่โผล่มาให้เห็นในโลกออนไลน์ก็ได้ บางครั้งนอกจากคุณภาพสินค้า เราก็ตัดสินใจซื้อมันเพราะคำโฆษณาเพียงไม่กี่คำ หรือกระทั่งการเคลื่อนไหวทางการเมืองในปัจจุบัน ก็จำเป็นต้องมีถ้อยคำที่เป็นเหมือนแผนที่นำทาง ว่าเราจะไปสู่จุดหมายบางประการ และหวังว่า ‘มันจะจบที่รุ่นเรา’ ไปด้วยกัน

จอร์จ ออร์เวลล์ (George Orwell) เคยพูดเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของความคิดและภาษาเกี่ยวกับการเขียนไว้ในความเรียงชื่อ Politics and the English Language ประมาณว่า ความคิดอันอัปลักษณ์ส่งผลให้เกิดถ้อยคำที่ผิดเพี้ยน และในทางกลับกัน ถ้อยคำที่ผิดเพี้ยนก็จะทำให้เรามีความคิดที่อัปลักษณ์และไม่ชัดเจน — “ถ้าความคิดกัดกร่อนภาษา ภาษาก็สามารถกัดกร่อนความคิดได้เช่นกัน”

จึงไม่แปลกที่ผู้คนจะจดจำถ้อยคำบางถ้อยคำของคนดังมาใช้เป็นเครื่องมือในการกำหนดความคิดและชีวิตตามวิถีแบบไลฟ์โค้ชที่ใครหลายคนตั้งแง่ ป๊อปหน่อยก็เช่นประโยคอันโด่งดังของผู้ก่อตั้งบริษัท Apple อย่าง สตีฟ จ็อบ (Steve Jobs) ที่ว่า “Stay Hungry, Stay Foolish” หรือ “จงหิวโหยและโง่เขลาอยู่เสมอ” หรือใครแอดวานซ์ขึ้นมาอีกนิดก็อาจสร้าง ‘ถ้อยคำประจำใจ’ เท่ๆ ของตัวเองขึ้นมา

แต่สิ่งสำคัญที่เราควรตระหนักก็คือ ถ้อยคำนั้นอย่างไรก็เป็นแค่ถ้อยคำ มันยังไม่ใช่ความจริง ตราบใดที่เรายังไม่ลงมือกระทำ และถ้อยคำบางครั้งก็สามารถบิดพลิ้วและผิดเพี้ยนได้โดยง่ายจากการตีความในมุมมองที่แตกต่างกันออกไป สิ่งสำคัญของภาษาจึงไม่ใช่เพื่อ ‘การสื่อสาร’ (communication) ทั้งกับเพื่อนมนุษย์คนอื่นและตัวเองเพียงเท่านั้น แต่มันยังจำเป็นต้องถูก ‘ทำความเข้าใจอย่างท่องแท้’ (comprehesion) ว่าสิ่งที่เราพูดโพล่งออกมานั้นแท้จริงแล้วคืออะไร—ประโยคสั้นๆ ไม่กี่ประโยคจะเปี่ยมความหมายได้ก็ต่อเมื่อเราพินิจพิจารณามันอย่างตั้งใจมากพอ และความหมายจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อถ้อยคำเหล่านั้นถูกทำให้กลายเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นบนโลกแห่งความเป็นจริง

ฮาฟิซ

ส่วนตัว ผู้เขียนชอบวรรคหนึ่งเกี่ยวกับถ้อยคำของกวีชาวเปอร์เซียชื่อ ฮาฟิซ หรือในชื่อเต็ม คาวาจา ชามซู ดิน มูฮัมหมัด ฮาฟิซ ชิราซิ (Khwāja Shams-ud-Dīn Muḥammad Ḥāfeẓ-e Shīrāzī) ที่จำต่อๆ มา ประมาณว่า “ถ้อยคำที่เราพูดออกไปจะกลายเป็นนิวาสสถานที่เราอยู่อาศัย”  ซึ่งการสื่อสารของเขาผ่านประโยคที่มีสำเนียงกวีเช่นนี้ก็ยิ่งจำเป็นต้องตีความและทำความเข้าใจ

เราจึงอยากชวนคุณช่วยบอก (สื่อสาร) สักนิดว่า ‘ถ้อยคำประจำใจ’ ที่เป็นประหนึ่ง ‘แผนที่นำทางในชีวิต’ ของคุณคืออะไร เผื่อคนที่ผ่านมาผ่านไปจะสามารถหยิบจับ (ทำความเข้าใจ) และนำไปไปปรับใช้กับชีวิตของตนเอง

 

อ้างอิง