ทั้งๆ ที่รู้ว่าละเมิดลิขสิทธิ์ แต่คุณเป็นคนหนึ่งหรือเปล่าที่เลือกอ่านหรือซื้อการ์ตูนเถื่อน
การ์ตูนเถื่อนในความหมายนี้ คือมังงะหรือการ์ตูนญี่ปุ่นที่ลักลอบตีพิมพ์เป็นเล่มโดยไม่ได้ขออนุญาตจัดพิมพ์อย่างถูกกฎหมายจากบริษัทต้นสังกัดในประเทศญี่ปุ่นซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ รวมถึงมังงะที่เผยแพร่ให้อ่านฟรีบนเว็บไซต์ผิดกฎหมาย ยิ่งไปกว่านั้น มังงะละเมิดลิขสิทธิ์บางเรื่อง โดยเฉพาะมังงะยอดนิยมที่มีผู้ติดตามอ่านทั่วโลกส่วนใหญ่มักจะเปิดให้ดาวน์โหลดในรูปแบบดิจิทัลไฟล์ได้ด้วย
คำถามสำคัญจึงอยู่ที่ว่า ทำไมผู้คนถึงเต็มใจทำผิดกฎหมายเพื่อให้ตัวเองได้เสพมังงะที่เขาชื่นชอบ อะไรคือเหตุผลที่อยู่เบื้องหลังการจงใจละเมิดลิขสิทธิ์ หัวใจหลักของลิขสิทธิ์หรือข้อกำหนดเกี่ยวกับการคุ้มครองผลงานสร้างสรรค์มีบทบาทอย่างไรในอุตสาหกรรมการ์ตูนญี่ปุ่น และทางออกของปัญหาละเมิดลิขสิทธิ์มังงะในปัจจุบันอยู่ตรงไหน
เพื่อตอบคำถามทั้งหมดนี้ จำเป็นต้องเริ่มต้นทำความเข้าใจตั้งแต่ที่มาของ ‘ลิขสิทธิ์’ ในแง่มุมที่เกี่ยวข้องกับมังงะ เพราะเป็นเงื่อนไขเดียวที่ยึดโยงความสัมพันธ์ทั้งรักทั้งชังระหว่างผู้อ่าน และค่ายการ์ตูน ซึ่งหมายรวมถึงบริษัทที่ซื้อลิขสิทธิ์จากประเทศญี่ปุ่นมาถือครองด้วย
ลิขสิทธิ์
เมื่อศิลปินเปลี่ยนความคิดสร้างสรรค์ (idea) ออกมาเป็นผลงานมังงะที่จับต้องได้ ทางกฎหมายจะถือว่าผลงานนั้นเป็นทรัพย์สินทางปัญญา (intellectual property) และได้รับการคุ้มครองทันทีในฐานะ ผลงานมีลิขสิทธิ์ (copyright) ซึ่งมีโอกาสก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจเป็นจำนวนเงินไม่ว่าจะเท่าไหร่ก็ตามในอนาคต
แม้ว่าไม่ได้จดทะเบียนใดๆ แต่ลิขสิทธิ์จะคงอยู่ตลอดชีวิตของผู้สร้างสรรค์ และจะคุ้มครองต่อไปอีกเป็นระยะเวลาหนึ่ง (50-100 ปี) หลังจากผู้สร้างสรรค์เสียชีวิตลง ส่วนจะเป็นเวลานานเท่าไหร่นั้นขึ้นอยู่กับกฎหมายของแต่ละประเทศที่บังคับใช้ อย่างประเทศญี่ปุ่นคุ้มครองต่ออีก 70 ปี ส่วนประเทศไทยคุ้มครองต่ออีก 50 ปี
สาเหตุสำคัญที่ต้องมีลิขสิทธิ์ ก็เพื่อรักษาผลประโยชน์ให้เจ้าของผู้สร้างสรรค์ผลงานมีสิทธิ์ขาดต่อผลงาน และป้องกันไม่ให้ผู้ใดขโมยผลงานไปใช้ประโยชน์ได้ หมายความว่าเจ้าของลิขสิทธิ์มีสิทธิ์กระทำใดๆ ก็ได้ต่อผลงานเพียงผู้เดียว เว้นแต่จะอนุญาตสิทธิ์ให้ผู้อื่นทำได้ ภายใต้ขอบเขตตามที่ตกลงกันเป็นลายลักษณ์อักษร
ดังนั้น การนำผลงานลิขสิทธิ์มาทำซ้ำ ดัดแปลง และเผยแพร่โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ เท่ากับเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ซึ่งมีความผิดทางกฎหมาย แต่การลงโทษผู้กระทำผิดกลับขึ้นอยู่กับผู้ถือลิขสิทธิ์ว่าจะตัดสินใจดำเนินคดีและฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายหรือไม่ ขั้นตอนทางกฎหมายนี้เองกลายเป็นช่องโหวที่เปิดโอกาสให้เกิดการลักลอบนำการ์ตูนที่ไม่มีตัวแทนภายในประเทศถือครองลิขสิทธิ์อย่างถูกต้องมาจัดพิมพ์และขายให้กับกลุ่มผู้อ่านที่สนใจ
แต่ถ้าหากมีสำนักพิมพ์ในประเทศประกาศว่าได้รับลิขสิทธิ์ของการ์ตูนญี่ปุ่นเรื่องนั้น สิทธิ์ทั้งหมดก็จะตกเป็นของสำนักพิมพ์ทันที รวมถึงสิทธิ์ในการดำเนินดคีทางกฎหมายกับผู้ละเมิดลิขสิทธิ์ในอนาคตด้วย ทั้งนี้ ไม่สามารถเอาผิดย้อนหลังได้ แม้ว่ามังงะเรื่องนั้นจะเคยตีพิมพ์แบบเถื่อนมาก่อนแล้ว
ละเมิดลิขสิทธิ์
เดิมทีประเทศญี่ปุ่นเองค่อนข้างผ่อนปรนต่อประเด็นละเมิดลิขสิทธิ์ในต่างประเทศมากพอสมควร จนกระทั่งเกิดการละเมิดลิขสิทธิ์ในระดับที่รุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ จนสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจและธุรกิจเป็นมูลค่ามหาศาล อย่างกรณีเว็บไซต์อ่านการ์ตูนเถื่อน Mangamura ที่เปิดตัวขึ้นในปี 2017 โดยใช้วิธีสแกนมังงะแต่ละหน้าแล้วอัปโหลดเป็นตอนให้ติดตามอ่านแบบฟรีๆ รวมแล้วไม่ต่ำกว่า 500 เล่ม
แต่ทางการของญี่ปุ่นไม่ได้นิ่งนอนใจ เพราะกระทรวงสารนิเทศและการสื่อสารและ Content Overseas Distribution Association (CODA) หรือองค์กรที่ดูแลการเผยแพร่เนื้อหาและผลงานจากบริษัทในอุตสาหกรรมบันเทิงในประเทศญี่ปุ่นที่เข้าร่วมเป็นสมาชิก ได้ติดตามความเคลื่อนไหวของเว็บไซต์ Mangamura พบว่าในช่วงเวลาไม่ถึงปี มีการเข้าถึงเว็บไซต์มากกว่า 600 ล้านครั้ง คาดว่าเป็นผู้ติดตามอ่านมังงะจากทั่วโลก ซึ่งประเมินค่าความเสียหายได้ราว 3 แสนล้านเยน (ประมาณ 9 หมื่นล้านบาท)
เมื่อการละเมิดลิขสิทธิ์ไม่ต่างจากอาชญกรรม (crime) ทางการญี่ปุ่นจึงเข้าจับกุมโฮะชิโนะ โระมิ (Hoshino Romi) และวะตะรุ อะดะชิ (Wataru Adachi) ผู้อยู่เบื้องหลังการเผยแพร่ผลงานละเมิดลิขสิทธิ์บนเว็บไซต์ Mangamura และตัดสินโทษสูงสุด เพราะถือว่าเป็นการกระทำที่ทำลายวัฒนธรรมและอุตสาหกรรมมังงะ รวมถึงสร้างความเสียหายให้กับผู้สร้างสรรค์ทุกคน โดยทางการญี่ปุ่นได้ประณามว่าเป็นการกระทำที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ และจะปราบปรามทุกวิถีทางไม่ให้มีเว็บไซต์เถื่อนแบบนี้เกิดขึ้นอีก
ด้านสำนักพิมพ์แต่ละค่ายต่างทราบดีว่า สาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดเว็บไซต์ละเมิดลิขสิทธิ์ คือความยากลำบากของการเข้าถึงมังงะ ปกติมังงะจะได้รับการตีพิมพ์เป็นตอนๆ ในนิตยสารการ์ตูนรายสัปดาห์ รายปัก หรือรายเดือน เมื่อมีจำนวนตอนมากพอจึงค่อยตีพิมพ์แบบรวมเล่ม หรือไม่ก็ตีพิมพ์เป็นเล่มอย่างเดียว
ดังนั้น กว่ามังงะภาษาญี่ปุ่นจะได้รับอนุญาตให้ซื้อลิขสิทธิ์ไปแปลเป็นภาษาต่างๆ จึงต้องใช้เวลา เพราะสำนักพิมพ์ในแต่ละประเทศต้องศึกษาตลาดผู้อ่านว่าสนใจมังงะเรื่องนั้นๆ มากน้อยแค่ไหน คุ้มหรือไม่หากซื้อมาแปลและพิมพ์ขาย เมื่อตัดสินใจซื้อลิขสิทธิ์มาแล้ว ยังต้องใช้เวลาแปลและตรวจสอบกระบวนการพิมพ์ให้เป็นไปตามข้อกำหนดจากเจ้าของลิขสิทธิ์
มังงะเถื่อน
มังงะเถื่อน หรือเรียกอย่างเข้าใจกันภายในกลุ่มผู้สนับสนุนว่า ไพเรท (pirate มาจากคำว่า piracy หมายถึง การละเมิดลิขสิทธิ์) ซึ่งแตกต่างจากมังงะถูกลิขสิทธิ์อย่างชัดเจน เพราะการละเมิดลิขสิทธิ์เป็นการลดทอนความเป็นขั้นเป็นตอนลงในแง่การทำงานและประสานงาน โดยค่ายมังงะเถื่อนจะเริ่มต้นสำรวจว่ามีมังงะเรื่องไหนบ้างที่ไม่มีตัวแทนถือครองลิขสิทธิ์ในประเทศ ส่วนมากเป็นผลงานเก่าหรือเป็นที่สนใจเฉพาะกลุ่มมากๆ จากนั้นจึงกระจ่ายข่าวไปยังผู้อ่านเพื่อดูความต้องการของตลาด (เช่น กลุ่มในเฟซบุ๊ก) แล้วค่อยเริ่มจัดทำด้วยจำนวนจำกัด
แม้ขายในราคาที่สูง แต่ผู้อ่านมักจะยอมจ่ายเพราะถือว่าเป็นผลงานที่หาไม่ได้ตามร้านหนังสือ อาจมีขายบ้างตามร้านการ์ตูนเล็กๆ ขึ้นอยู่กับเรื่องและค่ายการ์ตูนเถื่อน ดังนั้น มังงะเถื่อนจึงอยู่ได้ด้วยการสนับสนุนของผู้อ่านอีกทีหนึ่ง และจะยุติพิมพ์ ขาย และเลิกข้องเกี่ยวกับมังงะเรื่องนั้นทันที เมื่อมีสำนักพิมพ์ประกาศว่าได้ลิขสิทธิ์ให้พิมพ์อย่างถูกต้อง
อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผู้อ่านเลือกสนับสนุนมังงะเถื่อน คือ การเซ็นเซอร์ เพราะสำนักพิมพ์ที่ได้ลิขสิทธิ์ส่วนใหญ่จะหลีกเลี่ยงมังงะที่มีเนื้อหาและภาพรุนแรงอาจก่อให้เกิดความไม่สบายใจกับผู้อ่าน หรือหากจำเป็นต้องตีพิมพ์ อาจลดทอนภาพวาดให้รุนแรงน้อยลงโดยการเซ็นเซอร์ไม่ให้เหมือนกับภาพต้นฉบับ เท่ากับทดทอนอรรถรสการอ่านไปด้วย
ต่างจากมังงะเถื่อน เมื่อไม่อยู่ภายใต้กรอบกฎหมายจึงที่มีอิสระเปิดเผยเนื้อหาได้เต็มที่ โดยไม่ต้องสนใจว่าเนื้อเรื่องและภาพจะขัดต่อศีลธรรมที่สังคมส่วนใหญ่มองว่าไม่ดี เหมือนเป็นข้อตกลงร่วมกันในตลาดมืด ซึ่งทุกฝ่ายยอมรับความรุนแรงทุกรูปแบบที่ปรากฎในมังงะ เพราะเป็นสิ่งที่พวกเขาต้องการเสพ
ที่ผ่านมามังงะเถื่อนอยู่ภายใต้การจับจ้องของทางการญี่ปุ่นเสมอ เพราะมังงะคือวัฒนธรรมสมัยนิยม (Pop Culture) ซึ่งเป็นอำนาจอ่อน (Soft Power) อย่างหนึ่งที่ทำให้ผู้อ่านทุกรุ่นทุกวัยเข้าถึงและชื่นชมความเป็นญี่ปุ่น แม้ว่ามังงะเถื่อนจะช่วยให้คนรู้จักญี่ปุ่นมากขึ้น แต่เป็นวิธีที่ผิดกฎหมายและเป็นช่องบ่อนทำลายการสร้างสรรค์ผลงานที่ไม่อาจปล่อยปะละเลยได้ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำให้สำเร็จได้ด้วยทางการญี่ปุ่นเพียงฝ่ายเดียว
ทางออก
วงการมังงะในประเทศญี่ปุ่นจึงพยายามคิดหาวิธีการแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืนและป้องกันไม่ให้เกิดการละเมิดลิขสิทธิ์ขึ้นแต่แรก มากกว่าใช้วิธีไล่จับแบบวัวหายล้อมคอก
ส่วนใหญ่ค่ายการ์ตูนยักษ์ใหญ่มักจะใช้วิธีกระจายความรับผิดชอบ โดยมอบอำนาจให้ตัวแทนในแต่ละประเทศที่ซื้อลิขสิทธิ์ไป เป็นผู้ดำเนินการเอาผิดตามข้อกฎหมายของประเทศต่างๆ ไม่ก็ใช้วิธีร่วมลงทุนกับสำนักพิมพ์หรืออาจถึงขั้นเข้าซื้อกิจการต่อ เพื่อขยายธุรกิจและรักษาผลประโยชน์ที่บริษัทต้นสังกัดในประเทศญี่ปุ่นสมควรได้รับ เป็นวิธีการที่สื่อว่าเจ้าของลิขสิทธิ์เริ่มเข้มงวดและเอาจริงกับผู้ละเมิดลิขสิทธิ์ เพราะ ถือสิทธิ์ขาดดูแลลิขสิทธิ์เพียงผู้เดียวในประเทศนั้นๆ
ในระดับความร่วมมือระหว่างประเทศ หรือกลุ่มประเทศระดับภูมิภาค นอกจากการปรับปรุงบทลงโทษทางกฎหมายให้รุนแรงมากขึ้น ทางการญี่ปุ่นเลือกแสดงออกโดยใช้ความประนีประนอมคือ เสนอการร่วมมือกับรัฐบาลของแต่ละประเทศเพื่อกระตุ้นให้เห็นความสำคัญของลิขสิทธิ์เพื่อหาทางแก้ไขปัญหาละเมิดลิขสิทธิ์ ผ่านการให้ความรู้ แลกเปลี่ยนแนวทางที่เกี่ยวข้องกับการติดตาม ปราบปราม และตรวจสอบการละเมิดลิขสิทธิ์ของญี่ปุ่น
และทางออกที่เป็นรูปเป็นร่างที่ผู้อ่านจับต้องได้มากที่สุดคือ วิธีการของค่ายมังงะในประเทศญี่ปุ่นเอง เพราะปัญหาละเมิดลิขสิทธิ์กระทบต่อรายได้โดยตรง จึงไม่อาจนิ่งนอนใจ หลายค่ายพยายามหาทางออกที่คิดว่าดีที่สุดกับทุกฝ่าย คือให้ผู้อ่านเข้าถึงผลงานที่พวกเขาชื่นชอบและติดตามอ่านแบบฟรีๆ ในเวลาที่รวดเร็วที่สุด โดยไม่เอาเปรียบผู้อ่านที่เสียเงินซื้ออมังงะเป็นเล่มๆ ที่วางขายหน้าร้าน และต้องไม่ลดโอกาสสร้างรายได้ให้ศิลปินผู้สร้างสรรค์การ์ตูนด้วย จนสำเร็จเป็นทางออกที่น่าจะดีที่สุดในเวลานี้ นั่นคือเผยแพร่มังงะให้อ่านฟรีบนเงื่อนไขบางอย่าง
ค่ายการ์ตูนในญี่ปุ่นเริ่มปรับเปลี่ยนวิธีการเผยแพร่มังงะให้ตรงกับพฤติกรรมของผู้อ่านมากขึ้น โดยสร้างพื้นที่ออนไลน์คล้ายกับห้องสมุดที่รวบรวมมังงะของค่ายไว้ให้ผู้อ่านเข้าถึงมังงะแต่ละตอนได้อย่างรวดเร็วที่สุด ร่วมมือกับค่ายการ์ตูนในประเทศต่างๆ ที่ซื้อลิขสิทธิ์ไปให้แปลมังงะหลังจากต้นฉบับภาษาญี่ปุ่นเสร็จสมบูรณ์ เพื่อลงเผยแพร่ให้อ่านแบบฟรีๆ ในเวลาไล่เลี่ยกัน หลังจากตัวเล่มวางจำหน่าย โดยจำกัดระยะเวลาและจำนวนตอน ซึ่งจะหมุนเวียนไปตามความเหมาะสม
เงื่อนไขที่ค่ายมังงะ ‘ให้ได้’ เหล่านี้ จึงตั้งอยู่บนวิธีคิดที่ชั่งน้ำหนักระหว่าง ‘ผลประโยชน์ทางธุรกิจ’ และ ‘การประชาสัมพันธ์’ เพื่อให้ผู้อ่านมีโอกาสชิมลางว่าถูกใจมังงะแต่ละเรื่องแค่ไหน ก่อนจะตัดสินใจติดตามอ่านเป็นตอนๆ หรือชอบถึงขนาดตามซื้อเป็นเล่มๆ ท้ายที่สุดแล้วคงไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหาละเมิดลิขสิทธิ์ได้อย่างครอบคลุม แต่ถือเป็นวิธีผ่อนหนักเป็นเบา เพราะวิธีเดียวที่แก้ไขปัญหานี้ได้เด็ดขาดอาจเป็นการบังคับใช้กฎหมายลงโทษ
การมีอยู่และการสนับสนุนให้มีมังงะเถื่อนไม่ว่าจะด้วยวิธีการใดบนเหตุผลใดก็ตาม จึงเป็นพื้นที่เทาๆ ค่อนดำที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องรู้อยู่เต็มอกและเห็นพ้องต้องกันว่าไม่ใช่เรื่องถูกต้อง ทั้งทางกฎหมายและทางสามัญสำนัก
อ้างอิง
- กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์. ลิขสิทธิ์. https://bit.ly/3qpER3t
- The Japan Times. Man arrested for allegedly illegally uploading popular ‘One Piece’ on manga-viewing website. https://bit.ly/3u4AnBd
- Kenji Tosaki. Japan: Copyright Laws and Regulations 2021. https://bit.ly/3ak5bGu
- Simone Schroff. An alternative universe? Authors as copyright owners- the case of the Japanese Manga Industry. https://bit.ly/3rXM3E3