©ulture

“การไม่ต้องกังวลถึงคุณภาพในขั้นแรก คือสิ่งสำคัญในงานสร้างสรรค์”

ชอว์น แทน (Shaun Tan) นักสร้างสรรค์นิยายภาพชื่อดังชาวออสเตรเลียผู้มีผลงานลายสุดเนี้ยบกล่าวไว้แบบนั้น ซึ่งคงทำให้ใครหลายคนที่ชอบหยิบปากกาขึ้นมาขีดเขียนลงในกระดาษเปล่าด้วยลายเส้นขยุกขยิกไร้ความหมายยามเบื่อหน่ายกับการประชุมอันยาวนาน คลายใจลงได้บ้างว่าสิ่งที่กำลังทำไม่ใช่เรื่องไร้ค่า

ภาพสเก็ตช์ของชอว์น แทน

ชอว์น แทนเป็นเจ้าผลงานนิยายภาพ The Lost Thing ซึ่งถูกนำไปสร้างเป็นแอนิเมชั่นขนาดสั้นและคว้ารางวัลออสการ์ได้ในปี 2010 เขามีผลงานแนวแฟนตาซีที่มีตัวละครและสถาปัตกรรมหลุดโลก ซึ่งเกิดมาจากความคิดสร้างสรรรค์สุดบรรเจิด เช่น The Arrival, Rules of Summer, Tales from the Inner City ฯลฯ ที่ส่วนใหญ่มักเล่าเรื่องด้วยภาพ ใช้ตัวอักษรบรรยายให้น้อยที่สุด เพราะเพียงแค่ภาพภาพเดียวของเขา ก็สามารถส่งต่อความหมายออกมาได้มากมายโดยไม่จำเป็นต้องพูด

ชอว์น แทน

ทว่านอกไปจากการใส่ใจในรายระเอียดยิบย่อยชนิดไม่ยอมปล่อยให้ความไม่สมบูรณ์แบบหลุดรอดออกมา ชอว์น แทนยังบอกว่าเขาให้ความใส่ใจกับความกักขฬะเป็นอันดับแรกๆ ด้วยเช่นกัน

ในสตูดิโอซึ่งเป็นห้องเช่าเล็กๆ ในประเทศออสเตรเลียบ้านเกิด ชอว์น แทนมักเริ่มต้นจากการละเลงบางอย่างลงไปในสมุดสเก็ตช์

“อะไรก็ตามที่ผมวาดลงไปในสมุดเล่มนี้ให้ความรู้สึกว่ามันไม่ค่อยสำคัญเท่าไหร่ ลายเส้นเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องเอาไปขาย หรือจัดแสดงในแกลลอรี่ เพราะไอเดียที่ดีมักเริ่มจากเส้นขยุกขยิก มันเริ่มจากรูปดรอว์อิ้งห่วยๆ”

ภาพจากนิยายภาพเรื่อง The Arrival

ชอว์น แทนมักเริ่มต้นจากการร่างเส้นขยุกขยิกในกระดาษแผ่นเล็กๆ ก่อนจะสเก็ตช์ภาพด้วยการลงสีรวมๆ อย่างหยาบๆ เพื่อให้ไอเดียที่ฟุ้งกระจายอยู่ในอากาศชัดเจนขึ้น โดยไม่สนใจว่ามันจะเป็นภาพวาดที่สวยหรือไม่ ก่อนที่เขาจะค่อยๆ คัดลายเส้นเหล่านั้นขึ้นมา ลงรายละเอียด แล้วเริ่มทำให้ภาพที่เขาจะนำไปใช้จริงสมบูรณ์พร้อมในกระบวนการสุดท้าย

“ตราบเท่าที่คุณทำอะไรบางอย่าง” แทนกล่าว “แม้มันจะดูไม่ได้เรื่องก็ตาม คุณไม่ได้กำลังทำเรื่องเสียเวลา”

ภาพสเก็ตช์ของนิยายภาพเรื่อง The Arrival

ซึ่งนั่นก็ตรงกับแนวคิดทางจิตวิทยาที่เชื่อว่า การวาดลายเส้นขยุกขยิก (doodling) มีผลทำให้ความคิดชัดเจนขึ้น ช่วยคลายความเครียดและกังวล รวมถึงยังส่งผลต่อความคิดสร้างสรรค์

“เมื่อคุณวาดวัตถุบางอย่าง ความคิดคำนึงของคุณจะลึกซึ้งและโฟกัสได้ง่ายขึ้น” นักออกแบบอย่าง มิลตัน เกลเซอร์ (Milton Glaser) เจ้าของหนังสือ Drawing Is Thinking แสดงความคิดเห็น “และลักษณะของการเพ่งความสนใจเช่นนั้น ก็จะทำให้คุณยึดจับบางสิ่งได้ กระทั่งช่วยทำให้คุณมีสติสัมปชัญญะอย่างเต็มที่”

ภาพจากสมุดสเก็ตช์ของชอว์น แทน

ทั้งนี้ การวาดเส้นขยุกขยิกบนกระดาษไม่ได้มีไว้แค่สำหรับนักวาดรูปเท่านั้น แต่มันยังเหมาะอย่างยิ่งสำหรับใครก็ตามที่ต้องการให้สมองของตัวเองได้ออกกำลังกาย เมื่อลายเส้นขยุกขยิกและการลงมือขีดเขียนลงไปมักทำให้ไอเดียที่พร่ามัวของเราชัดเจนขึ้นได้ ลองนึกถึงเรื่องเล่าของคนดังจำนวนมากเกี่ยวกับการขีดเขียนอย่างรวดเร็วลงบนกระดาษเช็ดปาก หรือ post-it ที่ทำให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ในโลกนี้ตามมา

วารสารทางจิตวิทยาอย่าง Journal of Applied Cognitive Psychology ตีพิมพ์ผลการวิจัยที่ว่า ผู้ที่วาดลายเส้นขยุกขยิกลงบนกระดาษเป็นประจำ จะมีความทรงจำที่ดีกว่าคนที่ไม่เคยวาดเลยถึง 29 เปอร์เซ็นต์ แม้กระบวนการของ doodling จะดูไร้ความหมาย เป็นการวาดสุ่มๆ อย่างไร้ทิศทาง และไม่จำเป็นต้องซีเรียสกับความสวยงามมากนักก็ตาม

หน้าปกผลงาน Rules of Summer

ซันนี่ บราวน์ (Sunni Brown) ผู้เขียนหนังสือ The Doodle Revolution หนังสือว่าด้วยการพัฒนาความคิดผ่านภาพวาด บอกว่า “ฉันไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องคุณภาพทางสุนทรียศาสตร์เลยด้วยซ้ำ เพราะทักษะที่แม่นยำไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกันกับการเรียนรู้ประสบการณ์ในการวาดรูปอย่างเรื่อยเปื่อยเหล่านี้”

สำหรับซันนิ บราวน์ ผู้เคยขึ้นพูดบนเวทีบนเวที TED Talk ในหัวข้อนี้มาแล้ว เธอนิยามการวาดรูปขยุกขยิกไปเรื่อยเปื่อยเหล่านี้ว่ามันคือ ‘พฤติการณ์ที่ก่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้’ ที่เราสามารถนำไปปรับใช้ได้ในทุกเรื่องของชีวิต 

การอยู่เฉยๆ และไม่ยอมลงมือทำอะไรเลย เพราะกลัวว่าความคิดที่ยังไม่ชัดเจนตกผลึกจะนำมาซึ่งความสกปรกกักขฬะมักไม่ช่วยทำให้กระบวนการคิดขยับไปข้างหน้า

ภาพจากนิยายภาพเรื่อง The Arrival

การลงมือทำแม้มันจะเป็นแค่เส้นขยุกขยิกเบลอๆ เลือนๆ จึงเป็นสิ่งจำเป็น เพราะอย่างน้อยนั่นก็หมายถึงการกล้าจะริเริ่มอะไรสักอย่าง

“ตราบเท่าที่คุณทำอะไรบางอย่าง แม้มันจะดูไม่ได้เรื่องก็ตาม คุณไม่ได้กำลังทำเรื่องเสียเวลา

“ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ของงานที่เต็มไปด้วยความสร้างสรรค์นั้นแสนเรียบง่าย มันคือการค้นหาเวลาที่เราจะอุทิศให้แก่การลงมือทำ โดยเฉพาะในเวลาที่มันดูเหมือนจะเป็นเรื่องยากลำบาก และดูไม่น่าสนุกเอาเสียเลย …ความคิดจะไม่สามารถเป็นความคิดที่แท้จริงได้ตราบใดก็ตามที่มันไม่ถูกเปลี่ยนให้กลายเป็นกระทำ ความล้มเหลวคือเงื่อนไขพื้นฐานของความสำเร็จ

“คุณไม่อาจรอแรงบันดาลใจ หรือเอาแต่คาดหวังว่าจะมีบางสิ่งปรากฏขึ้น แต่เมื่อคุณทำมันทีละเล็กทีละน้อย หลังจากนั้น บางครั้ง สิ่งมหัศจรรย์จะเกิดขึ้น จิตใต้สำนึกจะเริ่มทำงาน นั่นเป็นความรู้สึกที่เยี่ยมยอดเสมอ”

ชอว์น แทนเชื่อเช่นนั้นมาโดยตลอด

หนึ่งในผลงานของชอว์น แทน

อ้างอิง