ยอมรับมาเถอะว่า คุณเองก็เป็นหนึ่งคนที่ ‘พูดโกหก’ และ ‘ตั้งใจปกปิดความจริง’
หากปฏิเสธเสียงแข็ง แสดงว่าคุณกำลัง ‘โกหก’ อย่างไม่ต้องสงสัย เพราะการโกหกคือธรรมชาติอย่างหนึ่งของมนุษย์ นั่นจึงหมายความว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมา (ไม่ใช่แค่ขณะกำลังอ่านบทความนี้เท่านั้น) ทุกคนต่างเคยโกหก หลอกล่อ และปิดบังความจริงต่อใครบางคนมาแล้วด้วยกันทั้งนั้น
แม้การโกหกเป็นเรื่องธรรมชาติ แต่ไม่นับว่าเป็นพฤติกรรมที่ทำได้ปกติ เพราะทุกๆ คำโกหกย่อมมีผู้ได้รับผลกระทบเสมอ ต่อให้เป็นการโกหกเพื่อถนอมน้ำใจหรือทำให้ผู้ฟังสบายใจ (white lies) ก็ไม่ควรถูกใช้เป็นเหตุผลหรือข้อยกเว้นสำหรับเปิดโอกาสให้พูดโกหกได้โดยไม่ต้องคำนึงผลที่ตามมา
ถึงอย่างนั้น ทั้งๆ ที่รู้อยู่เต็มอกว่าการโกหกเป็นสิ่งไม่ถูกไม่ควร แต่เหตุผลด้านศีลธรรมก็ไม่อาจอยู่เหนือหรือเอาชนะสัญชาตญาณเพื่อเอาตัวรอดและความต้องการผลประโยชน์บางอย่างไปได้ ทุกคนจึงเลือกพูดโกหกราวกับเป็นเรื่องปกติของชีวิต
ความท้าทายจึงอยู่ตรงที่ จะรู้ได้อย่างไรว่าใครพูดความจริงและใครกำลังโกหก เพราะคำโกหกมักเท่ากับการประสงค์ร้าย ดังนั้น การรู้ทันคำโกหกจึงเป็นข้อได้เปรียบสำคัญที่ช่วยให้ระแวดระวังคำพูดหลอกลวงของคนไม่หวังดี ซึ่งความรู้ทางวิทยาศาสตร์และจิตวิทยาที่พยายามค้นหาสารพัดวิธีจับโกหก ให้คำตอบในเรื่องนี้ได้
ถ้าพร้อมแล้ว ตั้งใจอ่านคำถามแต่ละข้อ เพื่อเลือกคำตอบที่คิดว่าใช่ เมื่อทำเสร็จให้อ่านคำเฉลยอย่างละเอียด คุณจะพบความจริงที่คาดไม่ถึงเกี่ยวกับการจับโกหกและเบื้องหลังพฤติกรรมโป้ปดมดเท็จ
‘ถูก’ หรือ ‘ผิด’ กับคำกล่าวที่ว่า:
ข้อ 1. ผู้หญิงจับโกหกได้เก่งกว่าผู้ชาย
ข้อ 2. เด็กผู้หญิงจับโกหกเพื่อนเด็กผู้หญิงด้วยกันได้แม่นยำกว่าเด็กผู้ชายจับโกหกเพื่อนเด็กผู้ชายด้วยกัน
ข้อ 3. คนที่อาศัยอยู่ในประเทศตะวันตกจับโกหกได้ดีกว่าคนที่อาศัยอยู่ในประเทศตะวันออก
ข้อ 4. คนที่มีอายุมากกว่าย่อมจับคนโกหกได้เก่งกว่าคนที่ยังมีอายุน้อย
ข้อ 5. ยิ่งมีระดับการศึกษาสูงมากเท่าไหร่ ยิ่งจับโกหกได้เก่งกว่ามากเท่านั้น
ข้อ 6. เจ้าหน้าที่สอบปากคำจับโกหกได้เก่งกว่าคนทั่วไป (ผู้ไม่ได้รับการฝึกฝนให้จับโกหก)
ข้อ 7. สอดส่องสายตาวอกแวกจนผิดสังเกตหรือไม่กล้าสบตาระหว่างพูดคุยคือภาษากายของคนโกหก
ข้อ 8. อาการกระสับกระส่าย หรือลุกลี้ลุกลน เท่ากับพิรุธของคนโกหก
ข้อ 9. ข้อมูลการทำงานของร่ายกายที่ได้จากเครื่องจับเท็จ (Polygraph) ชี้ชัดได้ว่าใครกำลังพูดโกหก
ข้อ 10. ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ใช้ตรวจจับคนโกหกได้จริง และแม่นยำกว่าใช้ผู้เชี่ยวชาญสังเกต
คำเฉลย:
คำกล่าวทุกข้อ ‘ผิด’ ทั้งหมด ไม่มีข้อใดถูกต้อง เพราะการโกหกเป็นพฤติกรรมซับซ้อนและซ่อนอยู่ภายในความคิดเบื้องลึกเกินกว่าที่จะมีหลักการหรือกฏเกณฑ์ทางวิทยาศาสตร์และจิตวิทยาใดมาใช้จับคนโกหกได้ชัดเจนเด็ดขาด
เมื่อมนุษย์เรียนรู้การโกหกและการอำพรางความจริงมาตั้งแต่ยังเป็นเด็กก่อนพูดได้ด้วยซ้ำ เช่น เด็กทารกอายุไม่ถึงขวบ เลือกส่งเสียงร้องงอแง ทั้งๆ ที่ไม่มีอะไรผิดปกติ เพราะต้องการเรียกร้องความสนใจจากผู้เลี้ยงดู หรือ เด็กวัย 11 เดือนรู้จักเบียนเบนความสนใจให้แม่ไม่ทันได้สังเกตเห็นว่าเขาแอบทิ้งอาหารที่ไม่อยากกินลงพื้น แม้ว่าบางครั้งการโกหกจะส่อแสดงผ่านพฤติกรรมทางกายบางอย่าง แต่ไม่ได้หมายความว่าลักษณะอาการที่แสดงออกมาเท่ากับการโกหกทุกกรณี
โจ นาวาร์โร (Joe Navarro) ผู้เชี่ยวชาญภาษากาย อดีตเจ้าหน้าที่ FBI เจ้าของหนังสือ What Every Body is Saying (2008) ได้อธิบายถึงการแปลความหมายภาษากายไว้ว่า เป็นเพียงความพยายามทำความเข้าใจการสื่อสารที่ใช้ท่าทาง ซึ่งไม่สามารถตีความเป็นคำพูดหรือสิ่งที่ยืนยันอย่างตรงไปตรงมาว่าคนคนนี้กำลังโกหก ดังนั้น ภาษากายใดๆ ทั้งการใช้สายตา ลักษณะการใช้มือ สีหน้า พฤติกรรมลุกลี้ลุกลน รวมถึงน้ำเสียง ทั้งหมดเป็นลักษณะเฉพาะตัวซึ่งแตกต่างกันไปตามแต่ละคน เป็นท่าทีที่คนตอบสนองต่อสถานการณ์หนึ่งๆ อาจมีประเด็นน่าสงสัยที่ต้องพิจารณาร่วมกับข้อมูลอื่นๆ เพิ่มเติม
ผลการศึกษาเกี่ยวกับการจับโกหกในปี 2006 ที่ได้รับการตีพิมพ์ลงในวารสารด้านการพิสูจน์หลักฐานทางนิติเวช The Forensic Examiner โดยวิเคราะห์การศึกษาและทดลองก่อนหน้านี้ทั้งสิ้น 108 ครั้ง เผยความจริงให้เห็นว่า ไม่มีใครจับโกหกเก่งกว่าใคร เพราะความแม่นยำของการจับโกหกอยู่ในระดับใกล้เคียงกัน ‘กลุ่มคนทั่วไป’ (ส่วนใหญ่คือนักศึกษา) ซึ่งไม่ได้รับการฝึกฝนให้จับโกหก มีระดับความแม่นยำอยู่ที่ 54% ส่วนอาชีพที่ได้รับการฝึกฝนให้รู้ทันคำโกหกอย่าง ‘กลุ่มเจ้าหน้าที่ตำรวจ’ กลับมีระดับความแม่นยำอยู่ที่ 55% (มากกว่าคนทั่วไปเพียง 1%) หรือ ‘กลุ่มเจ้าหน้าที่รับสืบคดี’ (detective) มีระดับความแม่นยำอยู่ที่ 51% เท่านั้น
นอกจากนี้ยังพบด้วยว่า เพศ การศึกษา อายุ ช่วงวัย ประสบการณ์ ความแตกต่างด้านเชื้อชาติ และความมั่นใจว่าตัวเองจับโกหกเก่ง แทบจะไม่มีผลใดๆ กับความแม่นยำของการจับโกหกเลย
ส่วนเครื่องจับเท็จ ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันว่าสามารถจับโกหกได้จริงหรือไม่ เพราะเป็นเพียงเครื่องมือตรวจจับและรายงานผลเกี่ยวกับปฏิกิริยาทางสรีรศาสตร์หรือการทำงานของร่างกาย เช่น การเต้นของหัวใจ ความชุ่มชื้นของผิวหนังและปริมาณเหงื่อที่ไหลออกมา หรือคลื่นสมอง ไม่ได้บ่งบอกว่าใครกำลังโกหก ทำให้ข้อมูลทั้งหมดยังขาดความหนักแน่น จึงไม่ถูกนำมาพิจารณาเป็นหลักฐานในชั้นศาล แต่ในกระบวนการยุติธรรมหลายประเทศยังคงเลือกใช้เครื่องจับเท็จ เพราะเหตุผลทางจิตวิทยาเพื่อต้องการกดดันผู้ต้องสงสัย และเป็นข้อมูลประกอบการสอบสวน
เช่นเดียวกันกับปัญญาประดิษฐ์ที่ได้รับการออกแบบมาให้ตรวจจับการโกหก แต่ยังมีข้อจำกัดอยู่มาก เพราะวิเคราะห์ผลได้ในขอบเขตที่จำกัด เช่น ใช้คัดกรองคนเข้าเมืองโดยพิจารณาจากชุดคำตอบที่กำหนดไว้เท่านั้น ซึ่งยังไม่สามารถระบุได้อย่างแม่นยำว่าใครโกหกได้อย่างเที่ยงตรง
แล้วใครกันจับโกหกได้เก่งที่สุด?
คำตอบคือ ‘กลุ่มอาชญากร’ ด้วยระดับความแม่นยำอยู่ที่ 65% เพราะยิ่งเป็นคนโกหกเก่ง ก็จะยิ่งจับโกหกได้เก่งตามไปด้วย
แต่สำหรับคนทั่วไป เงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้จับโกหกได้มากกว่าเล็กน้อยคือ ‘ความไม่เชื่อใจ’ เพราะคนที่ไม่เชื่อถือคำพูดคนอื่น หรือตั้งข้อสังเกตว่าคำพูดของใครบางคนน่าสงสัยเสมอ มีความเป็นไปได้ว่าจะรู้ทันคำโกหก ซึ่งไม่ได้หมายความว่ามีทักษะจับโกหกได้เก่งกว่า เพราะความแม่นยำก็ยังไม่ต่างจากคนกลุ่มอื่นๆ อยู่ดี
อ้างอิง
- Aamodt, M. G., & Custer, H. (2006). Who can best catch a liar?: A meta-analysis of individual differences in detecting deception. The Forensic Examiner, 15(1), 6–11.
- American Psychological Association. The Truth About Lie Detectors (aka Polygraph Tests). https://bit.ly/3u3ruao
- Ben Ambridge (2015). Psy-Q: Test Your Psychological Intelligence. London : Profile Books.
- Joe Navarro. The End of Detecting Deception. https://bit.ly/3cxiF2M
- WIRED. Tradecraft: Former FBI Agent Explains How to Read Body Language. https://bit.ly/3szINiV