life

เหนื่อยกายไม่เท่าเหนื่อยใจ

ต่อให้กายจะเหนื่อยสักแค่ไหน หากได้หยุดพัก ความเมื่อยล้าทั้งหมดย่อมบรรเทาและหายไป ต่างจากอาการเหนื่อยใจ โดยเฉพาะเมื่อเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ชีวิตต้องเผชิญกับความท้าทายครั้งใหม่หรือสถานการณ์วิกฤตครั้งใหญ่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้หลายคนไม่อาจคาดเดาผลกระทบที่ตามมาได้ เท่ากับไม่รู้ด้วยซ้ำว่าความวุ่นวายทั้งหมดที่กำลังสร้างความลำบากใจอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันจะสิ้นสุดลงเมื่อไหร่

เมื่อรู้สึกว่าทุกสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัวอยู่เหนือการควบคุม นอกจากจะไม่ได้ดั่งใจสักอย่างแล้ว ยังอาจกลายเป็นสิ่งบั่นทอนใจจนเบื่อหน่ายกับชีวิต เสมือนจิตวิญญาณภายในเนือยนิ่งไร้พลัง ที่หยัดยืนอยู่ได้เพราะกายหยาบทำงานเพียงลำพัง

จะว่าเป็นอาการหมดไฟก็ไม่ใช่เสียทีเดียว เพราะยังทำงานต่อไปได้แม้สมาธิอาจหลุดลอยบ้างเป็นครั้งคราว จะว่าเป็นอาการซึมเศร้าหรือภาวะสิ้นยินดีก็ไม่เชิง เพราะยังประครองสติให้มีความรู้สึกร่วมไปกับสิ่งต่างๆ ที่พบเจอในชีวิตประจำวันได้ เพียงแต่ไม่ถึงขั้นตื่นเต้น ไม่ได้สุขล้นตื้นตันใจ

ความเหนื่อยหน่ายที่ชวนให้รู้สึกว่าชีวิตนี้ช่างน่าอิดโรย คือภัยเงียบที่กำลังคุกคามผู้คนยุคสมัยใหม่ เพราะคนจำนวนไม่น้อยต้องประสบกับสารพัดเรื่องรบกวนจิตใจที่ยังคิดไม่ตกว่าจะหาทางออกอย่างไร จนชีวิตค่อยๆ ถูกลดทอนสีสันให้จืดชืด ยิ่งปล่อยทิ้งไว้นาน ยิ่งมีความเป็นไปได้สูงว่าจะก่อให้เกิดความทุกข์ใจเรื้อรังหรือไม่ก็เกิดปัญหาสุขภาพจิตอื่นๆ ตามมา แล้วอาการเหนื่อยใจทำนองนี้เรียกว่าอะไรกันแน่?

อดัม แกรนท์ (Adam Grant) นักจิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การ ศาสตราจารย์ผู้ศึกษาเกี่ยวกับการค้นหาแรงจูงใจและความหมายของชีวิต เลือกใช้คำว่า languishing เป็นคำจำกัดความให้กับอาการเหนื่อยหน่ายดังกล่าว ตามความหมายที่สมาคมจิตวิทยาอเมริกันให้ไว้ว่า สภาวะทางอารมณ์และความรู้สึกซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับความเจ็บป่วยทางจิต มีลักษณะเด่นคือ เบื่อระอา เมยเฉย ไม่มีแรงจูงใจ ไม่อยากกระตือรือร้น และรู้สึกว่าไม่มีสิ่งใดในชีวิตชวนให้ตื่นตะลึงหรือสนใจเป็นพิเศษ

เดิมทีคำว่า languishing ถูกใช้นิยามสภาวะทางอารมรณ์และความรู้สึกครั้งแรกเมื่อปี 2002 โดย โครีย์ คีเยส (Corey Keyes) นักจิตวิทยาและนักสังคมวิทยาชาวอเมริกันผู้ริเริ่มศึกษา languishing ในทฤษฎีจิตวิทยาเชิงบวก (Positive Psychology) และตีพิมพ์ผลการศึกษาในปี 2003 เพื่อนำเสนอประเด็นสุขภาพจิตในศตวรรษที่ 21

คีเยสให้คำจำกัดความ languishing ว่า เป็นสภาวะก่ำกึ่งที่ไม่ใช่ทั้งสุขภาพจิตดีและเสีย ปราศจากอารมณ์เชิงบวกที่จะขับเคลื่อนชีวิตให้เติบโตไปข้างหน้า แต่ก็ไม่ได้ทุกข์ตรมจมอยู่กับอดีต คีเยสยังตั้งสมมติฐานไว้ว่า เมื่อสังคมและผู้คนเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา แสดงว่าในอนาคตย่อมเกิดปัญหาและโรคทางสุขภาพจิตใหม่ๆ ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดา รวมถึง languishing ก็นับเป็นประเด็นหนึ่งที่จะเกิดมากขึ้นด้วย

แม่นราวกับจับวาง เพราะสมมติฐานของคีเยสเป็นจริงในปัจจุบัน ถ้าอย่างนั้นแล้ว languishing เกิดขึ้นได้อย่างไร?

โดยธรมชาติ กลไกสำคัญที่ทำให้เรามีชีวิตรอด คือการตอบสนองสู้หรือหนี (Fight-or-Flight Response) ทุกครั้งที่เจอเรื่องท้าทายหรือเป็นเหตุการณ์ไม่คาดฝัน สมองส่วนอมิกดาลา (Amygdala) ซึ่งเกี่ยวข้องกับอารมณ์เชิงลบ เช่น ความกลัวและความวิตกกังวล จะสั่งการร่างกายให้ตื่นตระหนกเตรียมพร้อมรับมือ แต่การระบาดของโควิด-19 คงอยู่ยาวนานเป็นปี จากความตื่นตัวตลอดเวลาจึงกลายเป็นความอ่อนล้า ใจเริ่มเหนื่อยหน่ายกับการต่อสู้เพราะไม่จบไม่สิ้นสักที ความเอาแน่เอานอนไม่ได้ของเหตุการณ์ที่ชีวิตประสบเป็นเวลานาน จึงทำให้เกิดสภาวะ languishing ในที่สุด

แกรนท์อธิบายความแตกต่างเพิ่มเติมว่า languishing อยู่ระหว่าง flourishing หรือสภาวะเปี่ยมสุข กับ depression หรือสภาวะซึมเศร้า คือไม่ถึงขนาดกระวนกระวายใจจนกินไม่ได้นอนไม่หลับ แต่ก็ไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองมีความสุขหรือมีชีวิตที่ดี รวมทั้งมองเห็นเป้าหมายและความฝันในชีวิตเป็นภาพจางที่พร่าเลือน

เพื่อความชัดเจนยิ่งขึ้น อาจเปรียบเทียบแต่ละสภาวะกับลักษณะของต้นไม้ได้ดังนี้

  • flourishing คือ ต้นไม้ใหญ่ที่เจริญงอกงามออกดอก ออกผล แผ่กิ่งก้านสาขาคอยให้ร่มเงา เป็นชีวิตที่ดีพร้อม สมบูรณ์พูนสุข
  • depression คือ ต้นไม้ที่กำลังป่วย ราก ลำต้น กิ่ง และใบอ่อนแอเต็มที ต้องรีบเลี้ยงดูแลรักษาให้กลับมาแข็งแรงดังเดิม
  • languishing คือ ต้นไม้ยืนต้นแคระแกร็น ไม่ตายแต่ก็ไม่เติบโตไปมากกว่านี้ เหมือนต้นไม้ที่ได้รับแต่น้ำ ขาดการบำรุงด้วยสารอาหารอื่นๆ

หากเรากำลังหมดอาลัยตายอยาก เพราะติดหล่มความรู้สึกว่าชีวิตช่างว่างเปล่าและแสนจะน่าเบื่อ หรือกำลังเป็นต้นไม้แบบ languishing ซึ่งอีกไม่นานอาจเฉาตาย นำไปสู่คำถามสำคัญว่าควรทำอย่างไรดี? เพื่อดูแลใจของตัวเองให้กลับมาเบิกบานและรู้สึกถึงพลังบวกมากชึ้น

สิ่งที่ควรทำทันที คือตั้งชื่อให้ความรู้สึกต่างๆ โดยเฉพาะกับอารมณ์เชิงลบ อาจเป็นชื่อตามความเข้าใจส่วนตัวก็ได้ แล้วทุกครั้งที่รู้สึกถึงอารมณ์นั้นซึ่งมีชื่อเรียก จะทำให้รู้เท่าทันใจตัวเอง

ต่อมากำหนดช่วงเวลาที่เป็นของเราคนเดียว ไม่มีใครเข้ามารบกวนหรือขัดจังหวะ เพื่อเปิดโอกาสให้ตัวเองมีสมาธิจดจ่อกับบางสิ่งบางอย่าง อาจเริ่มต้นด้วยการตั้งเป้าหมายเล็กๆ ที่มั่นใจว่าทำสำเร็จได้ เพื่อสร้างความภูมิใจในชีวิต แล้วค่อยขยายเป็นเป้าหมายที่ใหญ่ขึ้น โดยไม่ลืมรักษาระดับความตั้งใจเพื่อให้เกิด flow หรือ ภาวะลื่นไหลที่จะทำให้เรารู้สึกเพลิดเพลิน และทำสิ่งนั้นไปเรื่อยๆ ไม่กดดันหรือบังคับทั้งความรู้สึกและการกระทำของตัวเอง

สาเหตุที่ต้องจัดการกับ languishing เพราะเป็นสภาวะที่พบได้บ่อยมากกว่าโรคซึมเศร้า และเกิดขึ้นได้ง่าย ด้วยความไม่รุนแรงของอาการจึงทำให้คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยใส่ใจความรู้สึกที่เปลี่ยนแปลงไป เพราะหลงคิดว่าเป็นความเบื่อหน่ายปกติ แล้วปล่อยตัวเองให้ใช้ชีวิตต่อไป โดยไม่รู้ว่า ความอิดโรยและเหนื่อยหน่ายของสภาวะ languishing กำลังกัดกินใจอย่างเงียบเชียบ

อ้างอิง

  • Adam Grant. There’s a Name for the Blah You’re Feeling: It’s Called Languishing. https://nyti.ms/2PasZVr
  • Tanner Garrity. Feeling Aimless Lately? You’re Probably “Languishing.”. https://bit.ly/3dBAz4O
  • Keyes, C. L. M. (2003). Complete mental health: An agenda for the 21st century. In C. L. M. Keyes & J. Haidt (Eds.), Flourishing: Positive psychology and the life well-lived (p. 293–312). American Psychological Association. https://doi.org/10.1037/10594-013