life

คุณต้องการมีความสุข คุณคิดกับตัวเอง “ฉันต้องการมีความสุข” คุณย้ำ แต่แล้วคุณก็ตระหนักได้ว่า คุณมักตั้งคำถามนี้ทุกครั้งเวลาที่คุณ ‘ไม่มีความสุข’ และโดยเฉพาะเมื่อทนทุกข์กับอะไรบางอย่างและความต้องการจะมีความสุขชนิดเอาเป็นเอาตาผุดขึ้นมา มันก็กลับทำให้คุณไม่มีความสุขหนักข้อเข้าไปอีก 

ทำไม?

งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารชื่อ ​Emotion ชิ้นหนึ่งพบว่า การหมกมุ่นกับเรื่องความสุขจนเกินไปจะทำให้เราถูกครอบงำด้วยเรื่องความล้มเหลว และอารมณ์ด้านลบ ซึ่งจะยิ่งทำให้เราไร้สุข

“ความสุขคือสิ่งที่ดี แต่การกำหนดให้มันเป็นเป้าของความสำเร็จก็มักทำให้เราผิดหวัง” บร็อก บาสเตียน (Brock Bastian) นักจิตวิทยาสังคมจาก University of Melbourne, School of Psychological Sciences ผู้ทำการวิจัยนี้อธิบาย

ณ ปัจจุบัน ในกูเกิลปรากฏผลลัพธ์มากถึง 1,480,000,000 เมื่อเราลองเสริชคำว่า Happiness

แม้ยากจะบอกว่าแนวคิดที่กำหนดให้ความสุขเป็นเป้าหมายของชีวิตนั้นเกิดขึ้นเมื่อไร แต่นักประวัติศาสตร์ ซึ่งก็มีจำนวนไม่มากนัก ผู้ศึกษาเรื่องที่มาของแนวคิดเรื่องความสุข เชื่อว่าความสุขเริ่มกลายเป็น ‘ความหมกมุ่นเชิงวัฒนธรรม’ ในสังคมมนุษย์ในระยะประมาณ 250 ปีที่ผ่านมานี้เอง และการกำหนดให้ความสุขเป็นเป้าหมายหนึ่งของชีวิตทั้งในแง่ของแนวคิดเชิงปรัญญา หรือการกำหนดตัวชี้วัดและแทนค่ามันเป็นคะแนน เป็นตัวเลข เช่น การรายงานผล World Happiness Report ในทุกๆ ปี ก็ดูเหมือนจะทำให้ผู้คนเคร่งเครียดจนเกินไป

ฟริดริค นิตเช่

นักปรัชญาชาวเยอรมันผู้โด่ง ฟริดริค นิตเช่ (Friedrich Nietzsche) เคยวิพากษ์กลุ่มนักปรัชญาชาวอังกฤษ ‘ลัทธิประโยชน์นิยม’ (Utilitarianism) หรืออีกชื่อ ‘หลักมหสุข’  (The Greatest Happiness Principle) ที่เป็นแนวคิดซึ่งยึดความสุขเป็นเป้าหมายหลักในชีวิตไว้อย่างแสบสันต์ว่า

“มนุษยชาติไม่ได้ดิ้นรนเพื่อมีความสุข พวกคนอังกฤษ (ที่หมายถึงนักปรัชญากลุ่มดังกล่าว) แค่นั้นแหละที่เป็นแบบนั้น” และแทนที่จะโฟกัสที่ความสุข นิตเช่เสนอให้เราโฟกัสในการค้นหาความหมายของการมีชีวิตอยู่—นักฟุตบอลอาจเล่นฟุตบอลอย่างไร้สุขด้วยตารางซ้อมอันทรหด แต่พวกเขายิมยอมที่จะทำมัน เพราะนั่นคือสิ่งที่พวกเขาสนใจ คลั่งไคล้ และอยากทำ ส่วนความสุขในบางขณะระหว่างเตะฟุตบอลนั้นอาจเป็นเพียงผลข้างเคียง

ส่วนบาสเตียนก็บอกว่าการเผชิญหน้ากับอารมณ์ด้านลบเสียบ้างสุดท้ายมันจะนำมาซึ่งความสุขที่มากขึ้นได้ในอนาคต

และถึงตรงนี้คุณอาจจะถามตัวเองอีกสักครั้งด้วยอีกหนึ่งคำถาม ว่าสิ่งที่คุณจะทำเพื่อให้ได้มาซึ่งความสุขที่คุณคาดหวัง เป็นสิ่งที่คุณสนใจจะทำจริงๆ หรือไม่ และอารมณ์สุขจะกลายเป็นผลพลอยได้จากการตัดสินใจได้จริงๆ หรือเปล่า

 

อ้างอิง