ทำไม เหม เวชกร ถึงกลายเป็นช่างเขียนแห่งยุคหลัง พ.ศ.๒๔๗๕?
นอกจากฝีมือเชิงศิลปะ มีคนเคยวิเคราะห์ว่า เทคโนโลยีการพิมพ์สี และตลาดสิ่งพิมพ์ที่ขยายตัวในช่วงเวลานั้น คือปัจจัยที่ส่งให้นักวาดภาพอย่าง เหม เวชกร มีงานเข้าไม่ขาดมือ
ผลงานของ เหม เวชกร ส่วนใหญ่เป็น ‘ภาพประดับ’ หรือ illustration บ้างเป็นภาพปกหนังสือ บ้างเป็นภาพประกอบเรื่อง
ภาพวาดของเขาอยู่ตั้งแต่หน้าปกจนถึงเนื้อใน นิยายประโลมโลกย์ หนังสือเรียน นิตยสาร นิทาน จนถึงหนังสือพุทธประวัติ
ว่ากันว่า ในวงการหนังสือช่วง พ.ศ.๒๔๗๕ จนถึงหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ศิลปินช่างเขียนปกและภาพประกอบระดับแนวหน้ามีเพียง ๒ คน หนึ่งในนั้นคือ เหม เวชกร (อีกคนคือ เฉลิม วุฒิโฆษิต)
นอกจากที่กล่าวมา ช่วงเวลาหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง สามัญชนเริ่มเข้ามามีบทบาททางสังคมในมิติต่างๆ ภาพเขียนของ เหม เวชกร ซึ่งฉายภาพของสามัญชนคนธรรมดา ได้สร้าง ‘ทาง’ ใหม่ให้ภาพเขียนของไทย ซึ่งเป็นภาพที่สะท้อนจิตวิญญาณแห่งยุคสมัย เป็นภาพที่คนส่วนใหญ่เข้าถึงได้โดยไม่ต้องปีนบันได
ศ.ดร.สันติ เล็กสุขุม นักวิชาการภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร เคยให้สัมภาษณ์ นิตยสาร สารคดี ปีที่ ๑๖ ฉบับที่ ๑๘๘ ตุลาคม ๒๕๔๓ ว่า
“ผมถือว่า เหม เวชกร เป็นปรากฏการณ์ทางสังคมอันหนึ่งที่สำคัญ ช่างเขียนรุ่นก่อนเหม อย่างเช่นพระเทวาภินิมมิต เขียนพุทธประวัติ ชาดก ถ่ายแบบจากสมเด็จฯ กรมพระยานริศฯ มา เป็นแบบช่างหลวง เขียนมีแบบมีแผน มีมงกุฎ ชฎา เป็นแบบโบราณ
“แต่เหมเขียนเป็นคนสามัญ เหมไม่ได้ให้ความสำคัญกับความวิจิตรพิสดาร ของเครื่องแต่งตัว หรือฉากประกอบอย่างคุณพระเทวาฯ
“ความเป็นไทยของเหม จึงไม่ได้อยู่ที่ figure หรือเครื่องแต่งตัว… ไม่ใช่เขียนปราสาทแล้วเป็นไทย แต่คือกิริยาท่าทางที่เขาวาง ความรู้สึก ทีท่าของตัวละคร…
“ซึ่งอันนั้นเป็นไทย มันมีความรู้สึกที่แฝงอยู่ในภาพด้วย แม้แต่การเอียงหน้า ชะม้อยชม้ายตาของตัวละคร ทั้งผู้หญิงผู้ชาย มันมีอันนั้นอยู่ด้วย”
ชีวิตของ เหม เวชกร ที่กล่าวมา เป็นส่วนหนึ่งที่เราเรียบเรียงจากฉากชีวิตในบทความ จิตรกรไร้สำนักเรียน ช่างเขียนนอกสถาบัน ซึ่ง ศรันย์ ทองปาน ผู้เขียนได้สืบค้นข้อมูลและเรียบเรียงไว้อย่างละเอียด และชีวประวัติ เหม เวชกร ที่ตีพิมพ์ในคู่มือชมนิทรรศการ จุฬาฯ สรรศิลป์: เหม เวชกร ศิลปินแห่งสยาม
ส่วนชีวิตของ เหม เวชกร หลังจากมีชื่อเสียง เงินทอง ก็ใช่ว่าจะมีชีวิตที่ราบเรียบ เหมือนเช่นทุกชีวิตที่ล้วนอยู่ภายใต้สายลมแห่งโชคชะตา
เหม เคยออกมาตั้งสำนักพิมพ์ชื่อ “คณะเหม” แต่ก็เจ๊งด้วยเหตุผลที่เขาบอกว่า “ขาดทุนชิบหาย…”
ในช่วงสงครามต้นมหาเอเชียบูรพา เหม ต้องตกงาน หลังครื่องบินฝ่ายสัมพันธมิตรทิ้งระเบิด สำนักงานประมวญวัน ในพระราชวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ (น.ม.ส.) ที่เขาทำงานเขียนภาพประกอบ
สงครามอันยืดเยื้อส่งผลให้ตลาดหนังสือซบเซา ทุกสิ่งกลายเป็นของขาดแคลน เหมต้องหาอาชีพใหม่ ไปรับราชการในกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งในช่วงนี้ เหม ได้เขียนภาพประกอบหนังสือเรียนสำหรับเด็ก เช่น อุดมเด็กดี, เรณู-ปัญญา
เมื่อสงครามสงบ เหมลาออกจากราชการ แล้วกลับมาใช้ชีวิตเป็นช่างเขียนเต็มตัวอีกครั้งในสำนักพิมพ์อุดม เขียนภาพให้นิตยสารรายสัปดาห์ชื่อ โบว์แดง จนกระทั่งก่อตั้งสำนักงานช่าง เหม เวชกร รับทำบล็อกและตรายาง แถวเชิงสะพานพุทธ ในพ.ศ.๒๔๙๐ ซึ่งต่อมาภายหลังถูกทุบทำลายเพื่อสร้างเป็นสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา
นอกจากที่เล่ามา เหม เวชกร ยังมีอีกบทบาทที่ควรบันทึกไว้เพื่อระลึกถึง
เหม เป็น “ครูเหม” ของเด็กและคนที่สนใจวาดภาพหลายคนที่ฝากตัวเป็นลูกศิษย์
ใจกว้าง มีเมตตา รับเด็กทุกคนที่เข้าไป คือคำอธิบายถึง เหม ในบทบาทความเป็นครู
เพราะแม้จะมีงานล้นมือ แต่ถ้าใครอยากเรียนรู้ เขายินดีเจียดเวลา ทั้งบอกสอนกับตัว และส่งวิชาไปหาทางไปรษณีย์
“…(ข้าพเจ้า) ได้เขียนจดหมายติดต่อผ่านทางหนังสือนิตยสาร โบว์แดง ขอเรียนวาดเขียนกับ เหม เวชกร ทั้งๆ ที่ไม่เคยรู้จักหน้าค่าตากันเลย ครูเหมตอบจดหมายข้าพเจ้าพร้อมกับให้คำแนะนำ และส่งแบบเรียนแบบฝึกหัดให้ข้าพเจ้า ส่งไปมาโดยทางไปรษณีย์
“ครูเหม ยินดีและเอาใจใส่สอนให้โดยไม่คิดเงินทองแต่อย่างใดเลย แม้ข้าพเจ้าจะส่งค่าแสตมป์มาให้ก็ไม่นำพา…”
ปยุต เงากระจ่าง บรมครูผู้สร้าง สุดสาคร หนังการ์ตูนยาวเรื่องแรกของไทย ระลึกถึงความหลังในหนังสืองานศพ ครูเหม
เหม ยังเคยเขียนเรื่องพร้อมภาพประกอบ ‘จากย่ามความทรงจำของ เหม เวชกร’ ในนิตยสาร ฟ้าเมืองไทย ซึ่งเกี่ยวกับประวัตินักเขียนที่มีชื่อเสียงที่เป็นเพื่อนสนิท เช่น ไม้ เมืองเดิม ยาขอบ
เขียนเรื่องผีและภาพประกอบชุด “ผีไทย” กว่าร้อยเรื่อง ซึ่ง เหม เขียนตั้งแต่สมัยอยู่คณะเพลินจิตต์ จนกระทั่งถึง พ.ศ.๒๕๑๐
ส่วนการเขียนภาพ เหม ไม่เคยหยุดเขียน แม้ในขณะที่นอนป่วย
“ควรเขียนอย่างนี้…ไม่ใช่อย่างนั้น” เหมพึมพำและยกมือขึ้นวาดรูปในอากาศ แช่มชื่น เวชกร ผู้เป็นภรรยาย้อนความทรงจำก่อน เหม จะสิ้นใจ
๑๖ เมษายน ๒๕๑๒ เหม เวชกร หยุดวาดรูปและหยุดหายใจ ขณะมีอายุ ๖๖ ปี
๕๐ ปีผ่านไป
เราพบ เหม เวชกร อีกครั้งในนิทรรศการ จุฬาฯ สรรศิลป์: เหม เวชกร ศิลปินแห่งสยาม ที่จัดขึ้นในช่วงเดือนมีนาคมถึงมิถุนายน พ.ศ.๒๕๖๑ ที่ผ่านมา ณ นิทรรศสถาน อาคารศิลปวัฒนธรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เหม เวชกร ไม่ได้ฟื้นจากความตาย แต่เราพบภาพวาดของเขา
ภาพวาดที่ไม่ได้บอกเล่าว่า เหม เวชกร คือใคร? แต่ทำให้เราสนใจ สงสัย และอยากรู้จัก จนนำมาสู่ข้อเขียนชิ้นนี้ และ เหม เวชกร : ภาพวาดและคำถาม “ใครคือ เหม เวชกร?”
รวมถึงบทสรุปถึงตัวตนของ เหม เวชกร
เปล่า, เราไม่ได้สรุปเอาเอง แต่เป็นข้อความไว้อาลัยของ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ ตำนานนักเขียนไทยผู้มีสายตาอันแหลมคมเขียนไว้ในหนังสืองานศพ ครูเหม
‘…ข้าพเจ้ารู้เพียงว่า บุคคลที่ข้าพเจ้ามีบุญตาได้บันทึกไว้บนแผ่นฟิล์ม เป็นคนดี เป็นครู และเป็นจิตรกรผู้สูงส่ง’
อ่านต้นฉบับของ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ ที่เขียนถึง เหม เวชกร ได้ที่ เหม เวชกร :ในสายตา ’รงค์ วงษ์สวรรค์
FACTBOX:
“Hem Vejakorn Will Thailand ever find another Hem?”
คือ คำถามที่ สุทธิชัย หยุ่น เมื่อครั้งเป็นนักหนังสือพิมพ์หนุ่มเขียนทิ้งไว้ในบทความ ‘Elegy for an artist’ ที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ บางกอกโพสต์ ฉบับวันอาทิตย์ที่ 20 เมษายน พ.ศ.2512 (หลังจาก เหม เวชกร เสียชีวิต 4 วัน) ว่ากันว่าบทความชิ้นนี้เป็นข้อเขียนที่ถูกอ้างถึงมากที่สุดชิ้นหนึ่งของสุทธิชัย หยุ่น