w©rld

ใครๆ ก็อยากอาศัยในบ้านเมืองที่ดี ดินแดนที่อยู่ได้อย่างสบายใจ มอบความหวัง ความฝัน และคุณภาพชีวิตยอดเยี่ยมให้ กระแสการย้ายถิ่นฐานเพื่อชีวิตที่ดีกว่าจากผู้คนในประเทศหนึ่งสู่อีกประเทศจึงเกิดขึ้นมาตลอดประวัติศาสตร์

แน่นอน มีคำกล่าวที่ว่า ‘หญ้าของอีกฝั่งรั้วมักเขียวกว่าหญ้าในรั้วบ้านตนเสมอ’ – ‘The grass is always greener on the other side of the fence’ ซึ่งก็อาจมองได้ว่าคนที่เอาแต่เปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นตลอดเวลา คือพวกไม่เคยพอใจในสิ่งที่ตัวเองมี แต่ใช่หรือไม่ว่า การเปรียบเทียบ และพยายามมองให้เห็นความแตกต่าง ว่าสิ่งใดที่ตนขาด และสิ่งไหนที่คนอื่นทำได้ดี คือวิธีทรงประสิทธิภาพในการมองเห็นโลกให้ชัดเจนยิ่งขึ้น เพื่อนำสิ่งดีเหล่านั้นมาปรับใช้ให้เข้ากับบริบทสังคมและวัฒนธรรมในพื้นที่ที่ตัวเองกำลังใช้ชีวิตอยู่ได้

ใครๆ ก็รู้ว่าบ้านเมืองสมบูรณ์ในอุดมคติแบบยูโทเปียนั้นอาจยังไม่มีจริง และภายใต้สิ่งดีงามของอีกดินแดน มันก็อาจแฝงความไม่ดีไม่งามอยู่ภายใน แต่ก็อย่างที่นักทำสารคดีชื่อดังนาม ไมเคิล มัวร์ (Michael Moore) บอกไว้ในสารคดีเรื่องเยี่ยมของเขาชื่อ Where to Invade Next (2015) ที่พาเราไปสำรวจนโยบายเพื่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของผู้คนจากประเทศต่างๆ ทั่วโลกว่า “ภารกิจของผมคือการเก็บดอกไม้ ไม่ใช่วัชพืช” นั่นแหละ

ไมเคิล มัวร์

ในสถานการณ์ที่กระแสการโหยหาถึงชีวิตที่ดีกว่าถูกจุดขึ้นให้เห็นอย่างชัดเจนอีกครั้ง becommon จึงอยากพาทุกท่านไปสำรวจนโยบายน่าอิจฉาที่ให้ค่ากับคุณภาพชีวิตจากหลากหลายประเทศทั่วโลก

ฟินแลนด์

“พวกเขาควรมีเวลาที่จะเป็นเด็ก และสนุกกับชีวิตมากกว่านี้” ครูชาวฟินแลนด์คนหนึ่งบอกเช่นนั้น และมันก็สะท้อนให้เห็นถึงแก่นแกนของนโยบายการศึกษาในประเทศที่ได้ชื่อว่ามีระบบการศึกษาดีที่สุดในโลกประเทศนี้

ข้อเท็จจริงคือ เด็กๆ ชาวฟินแลนด์จะใช้เวลาอยู่ที่โรงเรียนน้อยเป็นอันดับต้นๆ ของโลก  พวกเขาไม่มีการบ้านให้ต้องกลับไปทำ แม้กระนั้น พวกเขาก็ยังถูกจัดให้อยู่ในประเทศที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษายอดเยี่ยมเป็นอันดับที่ 3 ของโลกในปี 2021 โดยเป็นรองเพียงจีน และฮ่องกงเท่านั้น

นอกจากนั้น คุณภาพของแต่ละโรงเรียนที่บริหารจัดการโดยภาครัฐของฟินแลนด์ก็อยู่ในระดับใกล้เคียงกัน เด็กๆ จึงไม่จำเป็นต้องเคร่งเครียดอ่านหนังสือเตรียมสอบคัดเลือกเข้าโรงเรียนที่มีคุณภาพทางการศึกษาดีกว่าแบบที่หลายประเทศกำลังเผชิญปัญหาการกระจุกตัวของโอกาสและความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาอยู่ในขณะนี้

เราจึงพบโรงเรียนเอกชนน้อยมากในฟินแลนด์ ส่วนมหาวิทยาลัยเอกชนนั้นเรียกได้ว่าไม่มีเลย แถมทุกสถาบันการศึกษายังไม่ได้รับอนุญาตให้เก็บค่าเล่าเรียนใดๆ กับพลเมืองชาวฟินแลนด์อีกด้วย

 

นิวซีแลนด์

นับตั้งแต่ปี 2003 ชาวนิวซีแลนด์ที่มีอายุเกิน 18 ปีบริบูรณ์สามารถทำงานให้บริการทางเพศได้อย่างถูกกฎหมาย นโยบายที่ให้ความสำคัญของทุกอาชีพนี้ยังรวมถึงการรับประกันสิทธิของการทำงานผ่านนายจ้าง และกฎหมายสิทธิมนุษยชน

นอกไปจากนั้น ประเทศที่ใครหลายคนอยากย้ายไปใช้ชีวิตอยู่ที่สุดประเทศหนึ่งแห่งนี้ ยังมีกฎหมายเกี่ยวกับความเท่าเทียมทางเพศ เช่น ‘สมรสเท่าเทียม’ ที่ปรับปรุงแก้ไขไปเมื่อปี 2013 อนุญาตให้กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศแต่งงานได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย แถมยังอนุญาตให้คู่รักผู้มีความหลากหลายทางเพศรับเลี้ยงบุตรบุญธรรมได้อีกด้วย ซึ่งนั่นทำให้นิวซีแลนด์เป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และเป็นประเทศที่ 13 ของโลกที่มีกฎหมายซึ่งแสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้า และความใส่ใจในความหลากหลายของมนุษย์ฉบับนี้

 

เยอรมนี

การเรียนรู้ความผิดพลาดในอดีตเพื่อการสร้างอนาคตที่ดีกว่าเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะถ้าความผิดพลาดนั้นถูกก่อขึ้นโดยบรรพบุรุษของตัวเอง ซึ่งกลายภาระผูกพันในฐานะพลเมืองมาตั้งแต่กำเนิด

ในเยอรมนีประเทศที่เคยก่อสงครามและฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว (Holocaust) จึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่พวกเขาจะกำหนดลงไปในนโยบายการศึกษาให้เด็กชาวเยอรมันทุกคนเรียนรู้ความผิดพลาดเหล่านั้น เพื่อสร้างกล้าหาญที่จะเผชิญหน้ากับความจริง และเห็นคุณค่าในเพื่อนมนุษย์คนอื่น

วิชาประวัติศาสตร์ว่าด้วยเรื่อง Holocaust จึงถูกบรรจุอยู่ในหลักสูตร เด็กๆ จะได้เรียนรู้ความโหดเหี้ยมในการฆ่าล้างเผ่าพันธ์ุชาวยิวโดยบรรพบุรุษของตนตั้งแต่เกรด 3-4 ในวัยเพียง 9-10 ปี เด็กนักเรียนทุกคนถูกกำหนดให้ไปเยี่ยมชม ‘ค่ายกักกัน’ และพิพิธภัณฑ์ หรืออนุสรณ์สถานที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ นอกจากเรื่องการศึกษา เยอรมนียังได้รับความชื่มชมอย่างมากในเรื่องนโยบายการทำงานที่เอื้อให้เกิด Work-Life Balance กล่าวคือ หากผู้ว่าจ้างทำการติดต่อพนักงานของตนในช่วงวันหยุดจะถือว่าเป็นการละเมิดกฎหมาย  แถมยังมีนโยบายเกี่ยวกับสุขภาพจิตว้าวๆ ที่ให้พนักงานสามารถลาไปพักร้อนยังสปาเพื่อผ่อนคลาย ซึ่งรัฐบาลจะเป็นผู้ออกทุนสนับสนุนให้อีกด้วย

ฝรั่งเศส

การสร้างความเชื่อมั่นระหว่างรัฐกับประชาชนเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะมนุษย์วัยทำงานที่ถูกหักภาษีจากค่าแรงของตนไปทุกๆ เดือน พวกเขาย่อมอยากรู้ว่าภาษีที่ตนจ่ายไปนั้นถูกนำไปใช้ประโยชน์ด้านใดบ้าง ในฝรั่งเศสจึงกำหนดให้สลิปค่าแรงแสดงให้เห็นเส้นทางของภาษีที่ถูกหักไปทั้งหมด

ไม่เพียงเท่านั้น ประเทศที่ว่ากันว่าเป็นสรวงสรรค์ของคนคลั่งรัก เพราะผู้คนต่างแสดงความรักกันได้อย่างเปิดเผยประเทศนี้ ยังให้ความสำคัญกับเรื่อง ‘เพศศึกษา’ ที่ถูกต้องและตรงไปตรงมา โดยไม่กระมิดกระเมี้ยนเขินอายเมื่อต้องพูดกับเด็กๆ ทุกคน

วิชาเพศศึกษาของฝรั่งเศสมักจะเริ่มต้นด้วยการตั้งคำถามที่มาจากความสนใจของนักเรียนเป็นสำคัญ 

โดยโรงเรียนทุกโรงเรียนในฝรั่งเศสจำเป็นต้องสอนวิชาเพศศึกษา ตั้งแต่ปี 1996 เป็นต้นมา ฝรั่งเศสกำหนดให้นักเรียนในวัยตั้งแต่ 12-14 ปีมีเวลาเรียนวิชาเพศศึกษาอย่างน้อยคนละ 2 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ นักเรียนตั้งแต่อายุ 13 ปีต้องเข้าร่วมเวิร์กชอปเกี่ยวกับเพศศึกษา 20-40 ชั่วโมงตลอดระยะเวลา 4 ปี ซึ่งนั่นส่งผลต่อสุขภาวะทางเพศมวลรวมอย่างชัดเจน ตั้งเรื่องอัตราท้องก่อนวัยอันควร โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น หนองใน หรือการทำแท้งที่อยู่ในระดับต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับชาติตะวันตกชาติอื่น

นอร์เวย์

นอร์เวย์ขึ้นชื่อว่าเป็นรัฐสวัสดิการที่แข็งแกร่ง การใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นทำให้มองเห็นความหวังได้ทุกวัน ยกตัวอย่างเช่น พวกเขามีแผนการระยะยาวที่จะเพิ่มเงินบำนาญให้แก่ผู้สูงอายุมากถึง 2 เท่าภายในปี 2050

นอกจากนั้น สำหรับมนุษย์ที่อาจเคยผิดพลั้งจนติดคุกติดตะราง ในกรณีนี้ นอร์เวย์บอกว่า การให้อภัยคือสิ่งสำคัญมากกว่าการสร้างความเกลียดชังระหว่างเพื่อนมนุษย์ ประเทศแห่งนี้จึงกลายเป็นสถานที่สำหรับการบำบัดสู่ชีวิตที่ดีกว่า ซึ่งปูทางให้เห็นความหวัง มากไปกว่าการแก้แค้น หรือการจับใครคุมขังไปตลอดกาล

ผลการสำรวจพบว่า การกระทำผิดซ้ำของเหล่าผู้เคยโดนดำเนินคดีต่างๆ ในนอร์เวย์ต่ำสุดเป็นอันดับหนึ่งของโลก เนื่องด้วยการไม่ชี้หน้าด่าทอให้ผู้เคยกระทำผิดกลายเป็นปีศาจ ตัวอย่างเป็นรูปธรรมก็เช่น นักโทษชาวนอร์เวย์มีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกผู้แทนของตน การดีเบตของเหล่าผู้สมัครจะถูกฉายให้พวกเขาดูในห้องขังเสมอ

ด้วยแนวคิดที่ว่าทุกคนคือมนุษย์ที่สามารถปรับปรุงตัวให้ดีขึ้นได้ อัตราโทษคุมขังของนอร์เวย์จึงกำหนดไว้สูงสุดเพียง 21 ปี ซึ่งนั่นดูเหมือนจะตรงข้ามกับความเชื่อเดิมๆ ที่เชื่อว่ายิ่งโทษหนักเท่าไหร่ ผู้คนก็จะยิ่งกลัวการกระทำความผิดมากเท่านั้น เพราะอัตราการฆาตกรรม หรือการก่ออาชญากรรมของนอร์เวย์นั้นต่ำสุดติดอันดับต้นๆ ของโลกเลยทีเดียว ดังที่เราอาจเคยได้ยินข่าวของการไล่ปิดคุก เพราะแทบไม่มีผู้กระทำผิดให้คุมขังในประเทศแห่งนี้กันมาแล้ว

 

ตูนิเซีย

“ตั้งแต่การโค่นล้มเผด็จการ ไปจนถึงการสร้างประเทศขึ้นมาใหม่ ผู้หญิงคือหัวใจสำคัญในการต่อสู้เพื่อเสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของตูนิเซีย

สำหรับผู้หญิง ตูนิเซียดูจะเป็นอีกประเทศหนึ่งที่มีความก้าวหน้าในเรื่องกฎหมายสิทธิสตรีและการเจริญพันธ์ุ พวกเขามีคลินิกสำหรับสุขภาวะของเพศหญิงที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ซึ่งได้รับเงินทุนจากรัฐบาล

การทำแท้งในตูนิเซียถูกกฎหมายมาตั้งแต่ปี 1973 และทั้งการทำแท้ง การวางแผนครอบครัว รวมถึงสุขภาวะอื่นๆ ทั้งหมดนี้ล้วนฟรีไม่มีค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น

 

โปรตุเกส

ในภาพยนตร์สารคดีเรื่อง Where to Invade Next นายตำรวจชาวลิสบอนบอกกับไมเคิล มัวร์ว่า “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์คือกระดูกสันหลังของสังคมโปรตุเกส

อันจะสังเกตได้จากแนวคิดของกฎหมายที่ไม่มองผู้ใช้สารเสพติดเป็นอาชญากร แต่คือมนุษย์ที่สามารถกอบกู้กลับคืนให้สามารถใช้ชีวิตอย่างปกติสุขได้อีกครั้ง

ตั้งแต่ปี 2000 โปรตุเกสออกกฎหมายที่จะไม่นับว่าการเสพยาเป็นอาชญากรรม โดยแทนที่จะใช้งบประมาณมากมายไปกับการจับกุม คุมขัง พวกเขาได้เปลี่ยนงบประมาณส่วนนั้นมาเชื่อมต่อผู้ใช้สารเสพติดเข้ากับสังคมอีกครั้ง ผ่านโปรแกรมการฟื้นฟูต่างๆ 

นับแต่นั้น อัตราความผิดร้ายแรงที่เกิดจากยาเสพติดจึงลดลงมากกว่าครึ่งในระยะเวลา 15-20 ปีที่ผ่านมา

 

สิงคโปร์

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2021 ที่ผ่านมา รัฐบาลสิงคโปร์เพิ่งประกาศว่า “เราจะปรับปรุงและพัฒนาความน่าไว้วางใจของระบบขนส่งมวลชนของเราเพื่อให้แน่ใจว่าการเดินทางจะราบรื่นยิ่งขึ้น”

และนี่คือประเทศที่ได้ชื่อว่ามีระบบขนส่งมวลชนดีที่สุดประเทศหนึ่งในโลก โดยตั้งแต่ปี 2012 จนถึงปัจจุบันประเทศเล็กๆ ประเทศนี้ได้ทำการเพิ่มรถบัสมากกว่า 1,000 คัน รถไฟฟ้าอีกมากกว่า 200 ขบวน และวางแผนจะมีรถไฟฟ้าใต้ดินสายใหม่ภายในปี 2030 ซึ่งจะทำให้ที่พักอาศัย 8 จาก 10 ครัวเรือนอยู่ในแนวสถานีรถไฟฟ้าด้วยการเดินไม่เกิน 10 นาที

McKinsey Global Surveys เคยทำการสำรวจ และพบว่าผู้คนมากถึง 86% ต่างพอใจในระบบขนส่งมวลชนของสิงคโปร์ ทั้งในเรื่องของการออกแบบที่เป็นสากล เอื้อให้ผู้พิการและคนชราใช้งานได้อย่างสะดวกสบาย เช่น การที่รถเมล์ หรือรถไฟฟ้าสามารถจอดเทียบชานชาลาได้อย่างแนบสนิทไร้รอยต่อ รวมถึงอัตราค่าโดยสารที่ถูกแสนถูกเมื่อเทียบกับค่าครองชีพ เพราะทุกการเดินทางจะได้รับการช่วยเหลือจากรัฐบาลมากกว่า 1 ดอลลาร์นั่นเอง

 

เบลเยี่ยม

ความตาย โดยเฉพาะการเลือกที่จะจากโลกนี้ไปด้วยตัวเอง ดูจะเป็นเรื่องเปราะบาง และอาจถึงขนาดผิดบาปในบางสังคม แต่สำหรับบางคน ผู้ที่กำลังใช้ชีวิตและมีลมหายใจอยู่อย่างทุกข์ทรมานเกินทานทน พวกเขาก็อาจมองว่า แม้เลือกเกิดไม่ได้ แต่อย่างน้อย ก็อยากขอเลือกกำหนดความตายให้แก่ตัวเอง

ในโลกนี้มีหลายประเทศที่การทำ ‘การุณยฆาต’  (euthanasia) ได้รับการรับรองทางกฎหมาย และเบลเยี่ยมก็เป็นหนึ่งในนั้น

เบลเยี่ยมอนุญาตการุณยฆาตและการช่วยฆ่าตัวตายสำหรับผู้ป่วยที่ทุกข์ทรมานกับโรคที่เป็นอยู่จนยากจะทนไหว และไม่มีแนวโน้มจะดีขึ้นได้มาตั้งแต่ปี 2002 โดยกำหนดว่าหากไม่ใช่ผู้ป่วยในระยะสุดท้าย จะต้องรอหนึ่งเดือนเพื่อพิสูจน์ว่าเข้าหลักเกณฑ์ ก่อนจะทำการุณยฆาตได้

ทั้งนี้กฎหมายการุณยฆาตในแต่ละประเทศจะมีรายละเอียดของหลักเกณฑ์แตกต่างกันออกไป ทั้งเรื่องของโรคที่เป็น และอายุของผู้ประสงค์จะจากไป ส่วนในเบลเยี่ยมนั้น ไม่ได้กำหนดอายุของผู้ต้องการทำการุณยฆาตเอาไว้ ทว่าหลักเกณฑ์สำคัญของผู้เยาว์คือต้องเป็นผู้ป่วยในระยะสุดท้ายเท่านั้น

โดยพวกเขามองว่าการเลือกความตายด้วยตัวเองได้ อย่างน้อยจะสามารถรักษาศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ป่วยเอาไว้ และเป็นการปลดเปลื้องภาระของผู้ดูแลออกจากความรับผิดชอบที่มองไม่เห็นแสงสว่างปลายทาง นอกจากการเสียเวลายื้อชีวิต ที่สุดท้ายก็ต้องสิ้นสุดด้วยความตาย (ตามธรรมชาติ) อยู่ดี

 

อ้างอิง