pe©ple

โซฟีโบยบินอยู่ในอากาศเป็นครั้งแรกโดยมีฮาวล์คอยประคองเธออยู่ด้านหลัง

เมืองที่คุ้นเคยดูแปลกตาไปเมื่อมองจากด้านบนนี้ โดยที่ไม่จำเป็นต้องมีบทสนทนายืดยาว เพลง Merry-Go-Round of Life ได้เล่าความรู้สึกของของเช้าวันนั้นไว้หมดแล้ว

เบื้องหลังของเพลงวอลทซ์ที่ฟังเมื่อไหร่ก็นึกถึงจังหวะเดินของปราสาทเคลื่อนที่ในเรื่อง How’s Moving Castle นั้น ประพันธ์ขึ้นโดย โจ ฮิซาอิชิ (Joe Hisaishi) ศิลปินชาวญี่ปุ่นผู้อยู่เบื้องหลังเพลงประกอบภาพยนตร์แทบทุกเรื่องของสตูดิโอจิบลิ (Studio Ghibli)

ก่อนอื่นเราขอชวนมามาเปิดเพลงนี้ แล้วค่อยทำความรู้จักกับโจไปพร้อมๆ กันนะ 

เรื่องราวของโจทำให้เรานึกถึง เซอิจิ ตัวละครจากภาพยนตร์เรื่อง Whisper of the Heart อยู่เหมือนกัน เพราะเซอิจิชอบเล่นไวโอลินเป็นชีวิตจิตใจและยังใฝ่ฝันอยากจะไปเรียนไวโอลินที่อิตาลี เหมือนกับโจที่เล่นไวโอลินและรักดนตรีมาตั้งแต่อายุ ขวบ แต่สิ่งที่ต่างกันคือคุณตาของพระเอกในเรื่องเป็นช่างทำไวโอลินในร้านเก่าแก่ แต่ครอบครัวของเด็กชาย โจ ฮิซาอิชิ หรือ มาโมรุ ฟูจิซาวะ นั้นไม่มีใครเกี่ยวข้องกับดนตรีเลยแม้แต่คนเดียว 

โจ ฮิซาอิชิ (Photo : www.zoneout.com)

โจเป็นสมาชิกคนเดียวในบ้านที่มีความสามารถด้านดนตรี เขาเลือกเข้าชมรมเครื่องเป่าของโรงเรียน และที่นั่นก็ทำให้เขาได้ลองเล่นเครื่องดนตรีอื่นๆ นอกจากไวโอลิน ทั้งทรอมโบน แซ็กโซโฟน และทรัมเป็ต ความสุขในการเล่นดนตรีของเขาตอนนั้นคือการได้แกะโน้ตเพลงดังๆ เพื่อมาเล่นกับเพื่อนๆ 

ชีวิตช่วงมัธยมปลายของโจมีเพลงแจ๊ซเป็นดนตรีประกอบ นี่เป็นแนวเพลงที่เขาฟังเยอะที่สุดตอนเป็นวัยรุ่น โตขึ้นมาอีกหน่อยโจก็ตัดสินใจออกจากจังหวัดนากาโนะบ้านเกิดมาเรียนดนตรีที่วิทยาลัยดนตรีคุนิทาชิ (Kunitachi College of Music) อันเลื่องชื่อในโตเกียว ตอนนั้นเขาได้ฝึกเล่นเปียโนเป็นครั้งแรก และเริ่มฟังดนตรีที่หลากหลาย ก่อนจะพบว่าแนวเพลงที่เขาชอบที่สุดคือมินิมอลและอิเล็กทรอนิกป๊อบ

โจเริ่มเริ่มงานแรกในฐานะนักดนตรีด้วยการแต่งเพลงประกอบอนิเมะที่ฉายทางโทรทัศน์เรื่อง Gyatoruzu และมีอัลบั้มเดี่ยวอัลบั้มแรกคือ MKWaju (1981) ซึ่งเป็นดนตรีแนวอิเล็กทรอนิกป๊อบ-มินิมอลแบบที่เขาชอบมาเสมอ ตอนนั้นโจไม่ได้ทำเพลงในนามฟูจิซาวะอีกต่อไป แต่เป็นน้องใหม่ที่รู้จักกันในนาม โจ ฮิซาอิชิ ที่จดจำได้ง่ายกว่าเดิม เขาหยิบชื่อนี้มาจาก ควินซี โจนส์ (Quincy Jones) นักประพันธ์เพลงและคอนดักเตอร์ชาวอเมริกันที่เขาชื่นชอบ โดยคำว่า ‘โจ’ มาจาก โจนส์’ ส่วน ‘ฮิซาอิชิ’ มาจาก ‘ควินซี’ ซึ่งในภาษาญี่ปุ่นเขียนว่า ‘คุอินชิ’ ที่ใช้อักษรคันจิตัวเดียวกับคำว่า ‘ฮิซาอิชิ’ 

โจและมิยาซากิ ในปี 1988 (Photo : My Neighbor Totoro – Soundtrack Vinyl LP)

เขาก้าวเข้ามาแต่งเพลงประกอบภาพยนตร์ให้กับสตูดิโอจิบลิจากคำชักชวนของ อิซาโอะ ทากาฮาตะ (Isao Takahata) ผู้ชื่นชอบดนตรีคลาสสิกเป็นทุนเดิม ในตอนนั้นอิซาโอะเป็นโปรดิวเซอร์ภาพยนตร์เรื่อง Nausicaä of the Wind Valley (1984) ซึ่งเป็นเรื่องแรกของสตูดิโอจิบลิที่กำกับและวาดโดย ฮายาโอะ มิยาซากิ (Hayao Miyazaki) ผู้ก่อตั้งค่ายภาพยนตร์ดังกล่าวขึ้นในปี 1985 การโคจรมาพบกันของโจและมิยาซากิครั้งนั้นเป็นจุดเริ่มต้นของประวัติศาสตร์เพลงอันอบอุ่นหัวใจในภาพยนตร์อีกหลายเรื่องของสตูดิโอจิบลิ และโจเองก็กลายเป็นนักแต่งเพลงให้กับภาพยนตร์ทุกเรื่องที่มิยาซากิกำกับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา 

เพลงของเขาเป็นที่จดจำแทบทุกเรื่องไม่ว่าจะเป็น My Neigbour Totoro ที่เลือกใช้เมโลดี้ง่ายๆ กับเครื่องเคาะที่ซุกซนเหมือนสองพี่น้องเมและซัทสึกิ ที่จะไม่พูดถึงไม่ได้เลยคือเพลง One Summer’s Day ประกอบภาพยนตร์เรื่อง Spirited Away (2003) ซึ่งเป็นเพลงบรรเลงจังหวะเนิบช้าที่บอกเล่าความรู้สึกอ้างว้างและมีหวังไปพร้อมๆ กันของจิฮิโระ เด็กหญิงผู้ติดอยู่ในโลกของวิญญาณ ภาพยนตร์เรื่องนี้คว้ารางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์อนิเมชันยอดเยี่ยม ทำให้เพลงของโจยิ่งเป็นที่รู้จักมากขึ้นไปอีก เพราะเมื่อพูดถึง Spirited Away นอกจากภาพเด็กหญิงในชุดสีแดงกับมังกรตัวสีฟ้าที่บินฉวัดเฉวียนบนท้องฟ้าแล้ว ผู้ที่เคยชมภาพยนตร์เรื่องนี้ย่อมต้องนึกถึงเมโลดี้ในบทเพลงของโจที่คลอไปกับฉากเหล่านั้นด้วยเสมอ 

(Photo : Spirited Away, 2003)

ก่อนจะลงมือเขียนเพลงประกอบภาพยนตร์สักเรื่อง โจจะทำความเข้าใจเรื่องราวด้วยการอ่านบทจนจบ ก่อนจะเล่าเรื่องออกมาเป็นเพลง แม้แต่อนิเมชันที่ไม่มีบทภาพยนตร์เป็นชิ้นเป็นอัน เขาก็อ่านสตอรี่บอร์ดทั้งหมดจนจบก่อนเขียนเพลงเสมอ กล่าวได้ว่าเพลงจากปลายปากกาของโจทุกเพลงได้ผสมผสานทั้งตัวเขา ความคิดของผู้กำกับ และความรู้สึกนึกคิดของตัวละครเอาไว้ในนั้นทั้งหมด 

“ผมจำเป็นต้องเข้าใจไอเดียหลักของเรื่องราวอย่างถ่องแท้ ผมจึงไปพบกับผู้กำกับและเรียนรู้ว่าความคิดของเขาคืออะไร ที่มาของอารมณ์เหล่านั้นเป็นอย่างไร จากนั้นผมก็จะดูการเคลื่อนไหวของตัวละคร เพราะผมต้องเอามาคิดจังหวะเพลง” 

“ผลงานหลายเรื่องของมิยาซากิมีฉากโบยบิน และการบินก็เป็นความฝันอย่างหนึ่งของมนุษย์มาเนิ่นนาน ผมเลยพยายามเชื่อมโยงเพลงกับความรู้สึกที่เปี่ยมไปด้วยความหวัง เชื่อมโยงกับจิตวิญญาณของฉากนั้นๆ” 

(Photo : Howl’s moving Castle)

หลังจากซึมซับเรื่องราวทั้งหมดแล้ว โจจะลงมือเขียนเพลงด้วยสองมือกับเปียโน ซึ่งเป็นวิธีที่เขาใช้มาตลอดชีวิตนักแต่งเพลง ใครสักคนกล่าวไว้ว่าถ้าเรากำลังรู้สึกทรมานกับการทำงานบางอย่าง นั่นอาจหมายความว่าเรากำลังทะยานขึ้นไปเรื่อยๆ สำหรับโจก็เช่นเดียวกัน เขาทะยานขึ้นจนกลายเป็นตำนานและสร้างผลงานเพลงอันเป็นที่จดจำมากมาย โดยที่เบื้องหลังของเพลงอบอุ่นเหล่านั้นเต็มไปด้วยความเจ็บปวด 

“สิ่งที่เจ็บปวดที่สุดในชีวิตของผมคือการแต่งเพลง เพราะบางครั้งไม่มีอะไรเข้ามาในหัวผมเลย มันยากเย็นแสนเข็ญมาก มีบ้างเหมือนกันที่ผลลัพธ์กลายเป็นศูนย์ แต่เมื่อเข้านอน ผมก็มักรู้สึกถึงอะไรบางอย่าง แล้วไอเดียก็จะบังเกิด บทเพลงจึงถูกแต่งขึ้นในท้ายที่สุด อย่างไรก็ตาม ช่วงเวลาเหล่านั้นคือช่วงที่น่าเจ็บปวดเสมอ” โจบอกไว้แบบนั้น

ปกอัลบัมรวมเพลง Joe Hisaishi meets Kitano Films

นอกจากสตูดิโอจิบลิแล้ว ในปี 1991 โจยังทำเพลงให้กับภาพยนตร์หลายเรื่องทั้งในญี่ปุ่น เกาหลีและจีน อีกหนึ่งผู้กำกับที่โจแต่งเพลงประกอบภาพยนตร์ให้แทบทุกเรื่องคือ ทาเคชิ คิทาโนะ (Takeshi Kitano) เรื่องที่ตราตรึงที่สุดเห็นจะเป็น Kikujiro (1999) ที่แม้ว่าภาพยนตร์จะหาดูได้ยากแล้ว แต่เพลง Summer ซึ่งเป็นเพลงประกอบยังคงบรรเลงไปกับยุคสมัย เป็นหนึ่งในเพลงคลาสสิกยอดฮิตที่เด็กๆ ฝึกเล่นในคลาสเรียนดนตรี แถมยังเป็นเพลงที่มียอดเข้าชมสูงสุดในช่องของ Joe Hisaishi Official ในยูทูบอีกด้วย

ตลอดระยะเวลาของการเป็นนักดนตรี โจได้เขียนเพลงให้แก่ภาพยนตร์ที่ทำรายได้สูงสุดตลอดกาลของญี่ปุ่นไปทั้งหมด เรื่อง จากทั้งหมด 11 เรื่อง คือ Spirited AwayHowl’s Moving CastlePrincess Mononoke และ Ponyo ซึ่งทั้งหมดนี้อยู่ใน อันดับแรกของภาพยนตร์อนิเมะที่ทำรายได้สูงสุดในญี่ปุ่นอีกด้วย 

โจแต่งเพลงให้ภาพยนตร์จิบลิครั้งล่าสุดคือเรื่อง The Tale of the Princess Kaguya (2013) ซึ่งเป็นภาพยนตร์เรื่องสุดท้ายของทากาฮาตะ ผู้ชักชวนเขาเข้ามายังจักรวาลจิบลิ ผู้กำกับคนเดียวในจิบลินอกเหนือจากมิยาซากิที่โจแต่งเพลงประกอบให้ 

มิยาซากิ และ ทากาฮาตะ (Photo : www.warspot.livejournal.com

ในปี 2018 ทากาฮาตะจากโลกนี้ไปด้วยวัย 82 ปี สตูดิโอจิบลิเองก็หยุดผลิตอนิเมชันไปอย่างไม่มีกำหนด บทบาทนักแต่งเพลงประจำจิบลิของโจก็สิ้นสุดลงไปพร้อมกับการเกษียณอายุของมิยาซากิ 

โจในวัย 70 ปี ได้ร่วมงานกับผู้กำกับมากหน้าหลายตา และรังสรรค์เพลงที่ฟังเมื่อไรก็ยังรู้สึกว่าตัวละครในภาพยนตร์เหล่านั้นยังมีชีวิตชีวาอยู่เสมอ ทำให้เขาได้เรียนรู้บทเรียนหนึ่ง ในฐานะนักทำเพลงประกอบภาพยนตร์ที่ทำเพลงมานานกว่า 46 ปี

“ประสบการณ์นี้ช่วยให้ผมเข้าใจว่าการกำกับเป็นงานหนัก เดี๋ยวนี้ผมไม่ได้ดูหนังผ่านสายตาของนักดนตรีเพียงเท่านั้น แต่ยังดูผ่านสายตาของผู้กำกับด้วย ผมไม่อยากทำงานกับผู้กำกับที่ใช้ดนตรีเพียงเพื่อเป็นเสียงประกอบ แต่อยากทำงานกับผู้คนที่ให้คุณค่ากับดนตรีอย่างที่ควรจะเป็น” 

“ในโลกแห่งความจริงคุณไม่มีทางได้ยินเสียงดนตรีขณะที่คุณกำลังพูดเรื่องความรัก หรือตอนคุณกำลังโศกเศร้าและร้องไห้ แต่คุณจะได้ยินเสียงเพลงเหล่านั้นในภาพยนตร์ ดนตรีจึงเป็นสิ่งสมมุติที่สมจริงที่สุดในโลกของภาพยนตร์” 

 

อ้างอิง 

  • Mark Schilling. Interview with Joe Hisaishihttps://bit.ly/3xyeifD 
  • James Balmont. Joe Hisaishi: the genius composer who gave Studio Ghibli its sound. https://bit.ly/3gtCPwy 
  • Brady Gerber. The John Williams of Japan: Joe Hisaishi in 9 Songs. https://bit.ly/2U3Jogq 
  • Brian Ashcraft. Composer Joe Hisaishi Describes His Creative Processhttps://bit.ly/2S1Ln4g 
  • Mathew Scott. Interview: Joe Hisaishi, who wrote music for Hayao Miyazaki’s films. https://bit.ly/3gE0UPZ