pe©ple

ชื่อของ มะริยะ ทะเคะอุชิ (Mariya Takeuchi) ศิลปินและนักแต่งเพลงชาวญี่ปุ่นช่วงยุค 80 กลับมาเป็นที่กล่าวถึงอีกครั้ง โดยเฉพาะในหมู่คนฟังหน้าใหม่ที่เพิ่งรู้จักเธอครั้งแรกด้วยความบังเอิญผ่านเพลง Plastic Love

แต่ความบังเอิญที่ว่าส่งผลดีเกินคาด เพราะช่วยจุดกระแสแนวเพลงที่ถือกำเนิดขึ้นในประเทศญี่ปุ่นอย่าง City pop ให้ตื่นจากการหลับใหลมาทวงคืนความนิยมกับผู้ฟังทั่วโลก ถึงขนาดสลัดภาพจำที่คนญี่ปุ่นเคยมองว่าเป็นแนวเพลงเฉิ่มเชยไปจนหมดสิ้น กลายเป็นอีกแนวเพลงหนึ่งที่อยู่ในความสนใจของผู้ฟังตลอดเวลา

หากเปรียบเทียบระหว่างชื่อเพลงและชื่อศิลปิน Plastic Love ย่อมเป็นที่รู้จักและคุ้นหูคนส่วนใหญ่ที่ไม่ใช่ชาวญี่ปุ่นมากกว่า แต่ถ้าวงการเพลงของญี่ปุ่นขาดมะริยะไปสักคน แนวเพลง City pop คงหมดเสน่ห์และไม่ชวนให้รู้สึกว่าน่าหลงใหลมากเท่านี้

Photo: Courtesy of Warner Music Japan

แม้การกลับมานิยมอีกครั้งของ Plastic Love จะเป็นเรื่องบังเอิญ แต่จากจุดเริ่มต้นและตลอดเส้นทางในฐานะศิลปินของมะริยะที่ได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในบุคคลผู้ทรงอิทธิพลของแนวเพลง City pop ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ เพราะทั้งหมดเป็นผลลัพธ์จากพรสวรรค์และความตั้งใจจริงของเธอ

 

นักฟังเพลงตัวยง

มะริยะเกิดและเติบโตขึ้นท่ามกลางธรรมชาติและความเงียบสงบของจังหวัดชิมะเนะ ครอบครัวของเธอดำเนินกิจการเรียวกังหรือที่พักแรมแบบนอนฟูกตามวิถีพื้นบ้านในอดีตของญี่ปุ่นมาตั้งแต่ปี 1877

แต่สิ่งสำคัญที่มะริยะจดจำได้แม่นคือชีวิตวัยเด็ก เพราะเป็นช่วงเวลาที่ทำให้เธอเริ่มรู้จักและหลงรักเสียงดนตรีเข้าอย่างจัง ครอบครัวของเธอฟังเพลงหลากหลายแนวทั้งป็อป แจ๊ส และแทงโก้จากสหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส และอิตาลี

จนกระทั่งมารู้จักกับเพลงของ วงเดอะบีเทิลส์ (The Beatles) ซึ่งมะริยะได้ยินครั้งแรกจากโฆษณาช็อกโกแลตทางโทรทัศน์ นั่นคือแนวเพลงใหม่ที่ไม่เคยฟังมาก่อน ทำให้เธอหัดเล่นดนตรีทั้งเปียโนและกีตาร์ตั้งแต่ชั้น ป.3 รวมถึงเป็นแรงบันดาลใจให้เธอเข้าร่วมโครงการ AFS ในปี 1972 เป็นนักเรียนเปลี่ยนวัฒนธรรมที่เมืองร็อกฟอลส์ รัฐอิลลินอยส์ สหรัฐอเมริกา เพราะอยากเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศ

Photo: Courtesy of Rock Falls High School, AFS Intercultural Programs

เพื่อนๆ ชาวอเมริกันเรียกมะริยะว่า มะโกะ (Mako) เธอค่อยๆ ซึมซับและเก็บเกี่ยวประสบการณ์จากเพื่อนวัยมัธยมปลายซึ่งทุกคนต่างมีอิสระได้ใช้ชีวิตในแบบที่เป็นตัวเอง นักเรียนไม่ต้องสวมเครื่องแบบ เด็กผู้ชายไว้ผมยาวถึงไหล่โดยไม่มีใครคอยตัดสิน หนุ่มสาวที่นั่นมักจะขับรถเล่นไปในที่ที่พวกเขาอยากไป มะริยะรู้สึกว่าชีวิตนักเรียนแลกเปลี่ยนตลอด 1 ปีของเธอ สนุกเหมือนกับภาพยนตร์ American Graffiti (1973)

หลังจากกลับมา มะริยะลงแข่งขันการประกวดท่องบทกวีภาษาอังกฤษระดับชาติประจำปี 1974 และคว้าที่หนึ่งมาครอง ซึ่งรางวัลใหญ่ของผู้ชนะคือได้เดินทางไปเที่ยวที่ฮาวาย เปิดโอกาสให้เธอออกเดินทางอีกครั้ง ท้ายที่สุด มะริยะตัดสินใจเรียนต่อด้านวรรณคดีอังกฤษที่มหาวิทยาลัยเคโอในกรุงโตเกียว หวังเรียนรู้และพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษของตัวเอง

มะริยะเคยถ่ายทอดความทรงจำดีๆ ที่มีต่อประสบการณ์ฟังเพลงในวัยเด็ก โดยคัดเลือกเพลงต่างประเทศที่เธอชื่นชอบอย่าง The End of the World ของ สกีเตอร์ เดวิส (Skeeter Davis) และ Something Stupid ของ คอนนี่ ฟรานซิส (Connie Francis) รวมกับเพลงอื่นๆ อีก 12 เพลง มาขับร้องใหม่แต่ยังคงกลิ่นอายของดนตรีตะวันตกไม่ผิดเพี้ยนไว้ในอัลบั้ม Longtime Favorites ซึ่งวางขายครั้งแรกปี 2003

Photo: Courtesy of Bertelsmann Music Group

 

ก้าวแรกในวงการ

เมื่อมะริยะเริ่มต้นบทชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย นอกเหนือจากเวลาเรียน เธอได้เข้าร่วมกลุ่มดนตรี Real McCoy’s ซึ่งเกิดจากการรวมตัวของนักศึกษาที่อยากเล่นดนตรีด้วยกัน ทำให้เธอได้พบปะและรู้จักกับเหล่านักดนตรีคนเก่ง

ในสายตาของมะริยะ พวกเขาเป็นนักดนตรีระดับมืออาชีพต่างจากเธอที่เล่นดนตรีเป็นงานอดิเรก แต่นั่นไม่ใช่ปัญหา เพราะทุกคนเล่นเข้าขากันได้ดีมาก ทำให้มะริยะคิดทบทวนว่าหรือต้องจริงจังกับเส้นทางดนตรีระดับที่ทำเป็นอาชีพหาเลี้ยงตัวเองได้

วันหนึ่ง สุกิ มะสะมิชิ (Sugi Masamichi) รุ่นพี่ในกลุ่มที่มะริยะรู้จักมานานกำลังจะได้ออกอัลบั้มเป็นศิลปินเต็มตัว เขาจึงชวนเธอไปร้องคอรัสให้ ระหว่างอัดเสียง ค่ายเพลงและคนในห้องอัดเห็นแววของมะริยะว่าแจ้งเกิดเป็นศิลปินได้ จึงสนับสนุนให้เธอทำเพลงของตัวเอง ซึ่งตอนนั้นมะริยะกำลังเรียนอยู่ชั้นปี 3 เธอยังไม่รู้ว่าจะทำอะไรหลังเรียนจบ จึงตอบตกลง แล้ว Beginning อัลบั้มแรกในชีวิตของเธอก็ออกวางขายในเดือนพฤศจิกายน ปี 1978

Photo: Courtesy of Ariola Japan

แม้จะได้รับการตอบรับอย่างดีในฐานะศิลปินหน้าใหม่ แต่มีบางอย่างไม่เป็นไปตามที่มะริยะคาดหวังไว้ เพราะเธอต้องเดินสายร่วมรายการโทรทัศน์ไม่ต่างจากนักแสดง ทั้งๆ ที่อยากร้องเพลงและทัวร์คอนเสิร์ตมากกว่า เธอจึงรู้สึกเหนื่อยหน่ายทุกครั้งหากต้องทำงานอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับเพลง

สิ่งเดียวที่ทำให้มะริยะมุ่งมั่นอยู่ในวงการต่อไปคือเสียงเพลงและดนตรีที่เธอรัก หลังจากนั้นเธอออกอัลบั้มอย่างต่อเนื่อง รวมถึงเดินทางไปบันทึกเสียงและถ่ายภาพเตรียมใช้โปรโมทเพลงใหม่ไกลถึงเมืองลอสแอนเจลิสและฮอลลีวูด ซึ่งเป็นการทำงานต่างสถานที่เท่านั้น เพราะเธอตั้งใจนำเพลงและภาพกลับมาทำอัลบั้มขายในญี่ปุ่นเหมือนเดิม ทุกคนที่เคยร่วมงานกับเธอ เช่น เจย์ เกรย์ดอน (Jay Graydon) และ เดวิด ฟอสเตอร์ (David Foster) ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า มะริยะอัธยาศัยดี เธอเป็นศิลปินมืออาชีพที่ทำงานด้วยง่ายและราบรื่นมาก

Photo: Courtesy of Alan Levenson

ในที่สุด Love Songs อัลบั้มที่ 3 ของมะริยะ ซึ่งเปิดตัวในปี 1980 ก็ครองอันดับหนึ่งของ Oricon Charts ได้สำเร็จ ซึ่งเป็นการจัดอันดับความนิยมของสื่อรูปแบบต่างๆ เฉพาะในญี่ปุ่น เวลาเดียวกันนั้นความสัมพันธ์ระหว่างมะริยะและ ทัตสึโระ ยะมะชิตะ (Tatsuro Yamashita) แฟนหนุ่มในวงการที่คอยเป็นที่ปรึกษาและช่วยดูแลงานเพลงให้เธอตั้งแต่เริ่มเข้าวงการก็กำลังสุกงอมเต็มที ทั้งสองจึงประกาศแต่งงานในปี 1982 ส่วนมะริยะก็พักงานเพลงไปชั่วคราว

 

เบ่งบานในยุค City pop

ต้นทศวรรษ 1980 คือยุคทองของแนวเพลง City pop ซึ่งเกิดจากการผสมผสานหลายแนวดนตรี ทั้งป็อป แจ๊ซ โซล ฟังค์ ดิสโก้ และอิเล็กทรอนิกส์ ฟังแล้วให้ความรู้สึกอบอุ่นใจ สะท้อนภาพความหวังของผู้คนในสังคมเมืองที่กำลังเติบโตและมีชีวิตใหม่อีกครั้ง หลังก้าวผ่านความทุกข์ยากจากสงครามโลกครั้งที่สองและสงครามเย็นมาได้ ท่ามกลางกระแสวัฒนธรรมและเทคโนโลยีตะวันตกที่หลั่งไหลเข้ามาในญี่ปุ่น

ขณะที่มะริยะพักงานเบื้องหน้า เธอยังเขียนเพลงและทำงานดนตรีเบื้องหลังให้ศิลปินคนอื่นอยู่ตลอด เช่น นักร้องที่โด่งดังที่สุดในขณะนั้นอย่าง อะกินะ นะกะโมะริ (Akina Nakamori) ก่อนจะกลับมาออกอัลบั้มที่ 6 เป็นของตัวเองชื่อ Variety ต้อนรับกระแส City pop ในปี 1984 ซึ่งได้รับการตอบรับจากแฟนเพลงอย่างล้มหลาม กลายเป็นศิลปินที่มียอดขายอัลบั้มสูงสุด

Photo: Courtesy of Warner Music Japan

หนึ่งในเพลงที่ผู้ฟังให้ความสนใจคือ プラスティック・ラヴ หรือ Plastic Love ทั้งๆ ที่เป็นเพลงลำดับ 2 ของอัลบั้ม ปีถัดมามะริยะจึงนำเพลงนี้มาทำใหม่แล้ววางขายเป็นเพลงเดี่ยว หมายความว่าทั้งแผ่นมีเพลงนี้เพลงเดียว แต่แบ่งเป็น 2 เวอร์ชัน คือ เวอร์ชันรีมิกซ์แต่ยาวเท่าเดิม 4:51 นาที กับเวอร์ชันพิเศษยาว 9:15 นาที หวังสร้างเซอร์ไพรส์ให้ผู้ฟัง

แต่กระแสตอบรับกลับเป็นหลังมือ เพราะต่ำกว่าที่คาดหวังไว้มาก ติด Oricon chart อันดับที่ 84 เกือบรั้งท้ายตาราง ถือเป็นอันดับแย่ที่สุดตลอดกาลของมะริยะ ไม่นาน เพลงนี้จึงเสื่อมความนิยมและหายไปจากกระแสอย่างเงียบๆ ไม่มีการกล่าวถึงอีก และไม่ถูกจดจำใดๆ

ยังดีที่ความสำเร็จจากอัลบั้ม Variety ทำให้มะริยะเป็นศิลปินที่มีชื่อเสียงและเป็นรู้จักอย่างกว้างขว้าง เส้นทางอาชีพของเธอทอดยาวออกไปและมีอนาคตไกลนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ปลายปี 90 แม้แนวเพลง City pop เสื่อมความนิยมไปแล้ว กลายเป็นความล้าหลังที่ตกยุคพ้นสมัย โดยมีแนวเพลง J-Rock และวงไอดอลเข้ามารับช่วงต่อตีตลาดผู้ฟังแทน แต่นั่นไม่ใช่ปัญหาสำหรับมะริยะ เพราะเธอกลับไปทำเพลง J-pop ตามเดิม และผลิตผลงานออกมาเรื่อยๆ อัลบั้มใหม่ของเธอขายดีสูงสุดทุกอัลบั้ม ควบคู่ไปกับรับหน้าที่แต่งเพลงให้ศิลปิน J-pop ทั้งเดี่ยวและกลุ่มมากมาย รวมถึงฝากผลงานสำคัญที่เป็นเสมือนเพลงบังคับประจำเทศกาลคริสต์มาสของญี่ปุ่นที่ต้องเปิดทุกปีคือเพลง Suteki na Holiday (2001) มะริยะคือคนที่อยู่เบื้องหลังเพลงดังและความสำเร็จของศิลปินจำนวนมากอย่างลับๆ

Photo: Courtesy of Warner Music Japan

นับตั้งแต่ก้าวแรกที่เข้าสู่วงการ มะริยะไม่เคยห่างหายหรือมีเรื่องราวเสื่อมเสียชื่อเสียงใดๆ ตรงกันข้ามเธอกลับทำงานเพลงได้อย่างไม่ขาดตกบกพร่องทั้งงานเบื้องหน้าและเบื้องหลัง เป็นที่รักของเพื่อนศิลปินและคนร่วมง่าน และได้รับความนิยมในวงการเพลงญี่ปุ่นต่อเนื่อง เป็นหนึ่งในศิลปินที่มียอดขายดีที่สุดตลอดกาลของประเทศญี่ปุ่น ด้วยยอดขายสะสมมากกว่า 16 ล้านแผ่น แต่แล้วก็มีเหตุทำให้เธอกลับมาดังเป็นพลุแตกอีกครั้ง และดังไปไกลถึงต่างประเทศ

 

ปรากฏการณ์ Plastic Love

ในปี 2017 บัญชีผู้ใช้ยูทูบรายหนึ่งบนยูทูบ นำเพลง Plastic Love มาลงไว้แบบละเมิดลิขสิทธิ์ แล้วใช้ภาพปกอัลบั้มเพลงเดี่ยว Sweetest Music (1980) มาใส่แทนปกอัลบั้มจริง ไม่รู้เป็นเพราะความบังเอิญหรือระบบอัลกอริทึมของยูทูบที่ทำงานคลาดเคลื่อน ทำให้เพลงนี้ปรากฏอยู่ในแถบวิดีโอแนะนำ เมื่อคนอื่นๆ เห็นภาพใบหน้าเปื้อนยิ้มของสาววัยสดใส กับชื่อวิดีโอที่ชวนสงสัยว่า Plastic Love คืออะไร คนส่วนใหญ่จึงกดเข้าไปฟัง เกิดเป็นเพลงดังนอกกระแส

เควิน ล็อคคา (Kevin Allocca) หัวหน้าฝ่ายวัฒนธรรมและเทรนด์ของยูทูบเคยออกมายืนยันเรื่องนี้ว่า ไม่ใช่ความผิดพลาดของอัลกอริทึมแต่อย่างใด เป็นเพราะคนแห่กดเข้าไปฟังจำนวนมาก ทำให้อัลกอริทึมเรียนรู้ว่าเพลง Plastic Love เหมาะกับคนชอบฟังเพลงแนวนี้ จึงขึ้นแนะนำ ทั้งหมดเกิดจากความชอบและความสนใจของผู้ใช้ยูทูบล้วนๆ

ไม่ว่าเหตุผลที่แท้จริงจะเป็นอะไรก็คงไม่ใช่เรื่องสำคัญแล้ว เพราะเพลง Plastic Love ได้สร้างปรากฏการณ์ทางดนตรี ทำให้คนฟังหันมาสนใจแนวเพลง City pop ของญี่ปุ่นอีกครั้ง หลังล้มหายตายจากไปตอนสิ้นยุค 90

กระแสความนิยมชมชอบเพลง Plastic Love ลุกลามจากประเทศแถบตะวันตกไปยังประเทศอื่นๆ ทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย คนรุ่นใหม่ต่างนำเพลงนี้มาร้องอีกครั้ง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความรู้สึกโหยหาชีวิตในวันวาน แม้แต่บริษัทต้นสังกัดเจ้าของลิขสิทธิ์เพลงก็ตัดสินใจทำ MV ครั้งแรกในปี 2019 หรือผ่านมาแล้ว 35 ปี เพื่อเฉลิมฉลองครบรอบ 40 ปี บนเส้นทางดนตรีของมะริยะ ซึ่งทำเป็น 2 เวอร์ชัน คือ เวอร์ชันขนาดสั้นสำหรับลงให้ดูฟรีบนยูทูบ และเวอร์ชันเต็มขนาดยาวโดยรวมอยู่ใน Turntable อัลบั้มพิเศษรวม 62 เพลงตลอดช่วงชีวิตในวงการของมะริยะ

แต่วันที่ 12 พฤศจิกายน 2021 ทางค่าย Warner Music Japan ได้ปล่อย MV เวอร์ชันเต็มบนยูทูบ หลังเวลาผ่านไปนานถึง 2 ปี

เนื้อหาหลักของเพลง Plastic Love บอกเล่าความรู้สึกและมุมมองความรักของผู้หญิงคนหนึ่งที่เคยเจ็บปวดจากรักครั้งก่อน จนกลายเป็นคนชินชากับความสัมพันธ์ ภายนอกดูเป็นสาวมากประสบการณ์ที่เต็มใจหลับนอนกับผู้ชายอย่างไม่สงวนท่าที ทั้งที่จริงแล้วภายในยังเป็นคนอ่อนไหวและไม่เคยลืมความเจ็บปวดเพราะความรัก จึงเป็นคนปิดกั้นหัวใจไม่คิดผูกพันกับใครอีก เหมือนกับท่อนสุดท้ายของเพลงที่บอกบทสรุปว่า

I’m just playing games
I know that’s plastic love
Dance to the plastic beat
Another morning comes

หลังจากได้ฟัง คนส่วนใหญ่รู้สึกไปในทิศทางเดียวกันว่า เพลงนี้ฉายภาพวิถีชีวิตในเมืองใหญ่ที่รายล้อมไปด้วยผู้คนรอบตัวแต่กลับเปลี่ยวเหงา และค่านิยมใช้พลาสติกของคนญี่ปุ่นในยุคนั้น จึงเปรียบเทียบรักปลอมๆ เป็น Plastic Love ทางมะริยะผู้เขียนเนื้อเพลงเองทั้งหมดเปิดเผยภายหลังว่า ไม่ได้ตั้งใจให้เป็นเพลงสะท้อนความรักลึกซึ้ง แค่อยากเขียนเพลงที่ฟังง่ายแล้วชวนให้ลุกขึ้นมาโยกตัวไปตามจังหวะเท่านั้น

มะริยะไม่เคยคิดว่าของเพลงเธอจะกลับมาดังได้มากถึงเพียงนี้ แม้จะมีท่อนร้องภาษาอังกฤษแทรกอยู่ แต่ความคิดปล่อยเพลง Plastic Love เข้าไปตีตลาดประเทศฝั่งตะวันตกไม่เคยอยู่ในหัวของเธอ มะริยะคิดว่า ต่อให้มีภาษาอังกฤษแทรกอยู่ ก็ถือเป็นส่วนน้อย เพราะเนื้อร้องส่วนใหญ่ที่เป็นใจความสำคัญคือเป็นภาษาญี่ปุ่น จึงเป็นไปไม่ได้ที่เพลงนี้จะดังหรือได้รับความนิยมในต่างประเทศในอดีต

ต่างกับตอนนี้ ดูเหมือนว่าโลกของเพลงและเสียงดนตรีจะไม่ถูกจำกัดด้วยภาษาอีกต่อไป มะริยะเข้าไปอ่านคอมเมนต์ในยูทูบแล้วพบว่า คนฟังจำนวนมากไม่ได้สนใจด้วยซ้ำว่าเพลงนี้ร้องด้วยภาษาญี่ปุ่น พวกเขาแค่สนุกไปตามจังหวะ

Photo: https://lmusic.tokyo/news/119695

ไม่มีเพลงไหนจากศิลปินชาวญี่ปุ่นจะทำอย่างที่เพลง Plastic Love ทำได้ คือ ทำให้คนต่างประเทศสนใจเปิดฟังเพลงเก่า ทั้งๆ ที่บันทึกเสียงไว้ตั้งแต่ยุค 80 จนแนวเพลง City pop กลายเป็นแนวเพลงกระแสหลัก และทำให้ いのちの歌 เพลงแรกในอัลบั้ม Variety กลับมาติด Oricon Charts อันดับ 1 อีกครั้ง ในปี 2020

ทุกวันนี้มะริยะยังคงสร้างสรรค์ผลงานต่อไป เธอให้เหตุผลว่า “มีเพลงอีกมากมายที่ฉันอยากทำ อย่างเขียนเนื้อ อยากอัดเสียง ฉันมีนิสัยติดตัวคือชอบหาคำที่น่าสนใจ แล้วพยายามคิดต่อดูว่าจะใช้คำนั้นในเนื้อเพลงใหม่ๆ ได้ไหม”

มะริยะไม่ได้ขีดเส้นเวลาหรือบีบบังคับตัวเองว่าต้องรีบทำเพลงออกมาทุกปี นั่นไม่ใช่วิถีของศิลปินที่รักดนตรีในนิยามของเธอ แต่เธออาศัยการยืนระยะและรักษาความสม่ำเสมอไว้ โดยไม่เคยห่างหายไปจากวงการแบบดื้อๆ มะริยะตั้งใจออกอัลบั้มใหม่ทุกๆ 5 หรือ 6 ปี นี่คือเวลาที่พอเหมาะพอเจาะสำหรับเธอในวัยนี้

Photo: Courtesy of Warner Music Japan

และตลอดเวลาที่อยู่ในวงการ มะริยะไม่เคยรู้สึกหมดไฟเลยสักครั้ง เพราะเหตุผลสำคัญที่เธอทดไว้ในใจเสมอ คือ ผู้ฟังและแฟนเพลงที่ติดตามผลงานเธอ มะริยะเชื่อว่ามีใครบางคนรอฟังเพลงของเธอเสมอ เธอเชื่ออย่างนั้นตลอดมาและจะเชื่อเช่นนี้ตลอดไป

 

อ้างอิง

  • Cat Zhang. Talking to the anonymous YouTuber and the Photographer who helped Mariya Takeuchi’s “Plastic Love” go viral. https://bit.ly/3mbyem3
  • Patrick St. Michel. Mariya Takeuchi: The pop genius behind 2018’s surprise online smash hit from Japan. https://bit.ly/3g72ydo
  • Smile Company Ltd. Biography: 竹内 まりや MARIYA TAKEUCHI. https://bit.ly/3iXfN2u