ทำจิตใจให้สงบ ผ่อนคลาย ลืมความกังวลเกี่ยวกับกฎหรือไวยกรณ์ไปก่อน…
นั่นคือ คำแนะนำข้อแรก ของการเขียนแบบ Freewriting — การเขียนไปเรื่อยเปื่อย โดยไม่ต้องหยุดทบทวน
จะเป็นอะไรก็ได้ ไร้ความหมายอย่างไรก็ตาม ไม่จำเป็นต้องมีสาระ ไม่ต้องคิดว่าจะสื่อสารกับใคร อย่าเพิ่งไปแก้การสะกดคำผิด การเขียนเริ่มต้นที่คำแรก… และต่อเนื่องไปข้างหน้า
‘คำแรก’ ให้ความรู้สึกของการเริ่มต้น แต่บ่อยครั้ง เมื่อลงมือเขียน มันก็มักพาอดีตไกลโพ้นที่จบไปแล้วกลับมาด้วย
ผมคิดถึงการเดินทาง นึกถึงตอนที่ตัวเองยังเป็นคนเร่ร่อน รำลึกถึงเมืองสุดท้ายที่แวะพักระหว่างการพเนจร ซึ่งผ่านพ้นมาแล้วหนึ่งปีครึ่ง นึกถึงปูดาเปสต์ ประเทศฮังการี แต่ผมไม่ได้นึกถึงความงดงามของเมืองแห่งนี้ เอาเข้าจริง ถ้าไม่ได้ถ่ายภาพเอาไว้ และย้อนกลับมาดูอีกครั้ง ภาพในความทรงจำก็ค่อนข้างรางเลือนอยู่เหมือนกัน
ผมนึกถึงไข่ต้มเหม็นหืนของโฮสเทลที่ผมพักอยู่ราวสองสัปดาห์มากกว่า นึกถึงนมสดในเหยือกแก้วบนโต๊ะอาหารเช้า ที่ต้องรีบตื่นมารับ เพราะมันมักหมดก่อนสิ่งใด คิดถึงน้ำส้มจืดๆ ผสมน้ำเปล่าเพื่อเพิ่มปริมาณให้เพียงพอกับผู้เข้าพักอาศัย …นึกถึงภาพความทรงจำมากมายที่ไม่ได้ถ่ายเก็บเอาไว้
นึกถึงเพราะมันมีเรื่องเล่า
คำแนะนำที่สอง—ตั้งเวลาในการเขียน และเขียนต่อเนื่องไปโดยไม่หยุด อย่างต่ำสักสิบนาที
ผมคิดถึงรสชาติของ ‘ราตาตูย’ (ratatouille) สตูผักอัดแน่นด้วยมะเขือเทศ ที่ผมเพิ่งได้กินเป็นครั้งแรกในชีวิตในโฮสเทลแห่งนั้น แม้ไม่รู้ว่านั่นเป็นสูตรดั้งเดิมถูกต้องหรือไม่
ทุกค่ำวันพุธและศุกร์ โปรโมชั่นซื้อเบียร์หนึ่งแก้ว แลกคูปองอาหารค่ำฟรี ผมจำอาหารมื้อนี้ได้ดีที่สุด จำได้เพราะมันมีเรื่องเล่าซ่อนอยู่ ไม่ใช่สักแต่ยัดเข้าปากเพื่อให้เต็มท้องอย่างนักเดินทางทุนต่ำผู้หิวโหย
ชายชราชาวตุรกีนั่งอยู่ข้างหน้า เขายิ้มให้ ผมค่อยๆ ตักราตาตูยกิน หญิงสาวชาวฝรั่งเศสนั่งลงข้างๆ เราพูดคุยเล็กน้อย ถามไถ่เรื่องราวระหว่างกัน
ผมถามเพื่อนร่วมโต๊ะชาวฝรั่งเศสถึงวิธีการออกเสียงของอาหารที่มีต้นกำเนิดมาจากบ้านเกิดของเธอ “You’re good” เธอชม อาจเป็นแค่ประโยครักษามารยาท พูดผ่านๆ ตัดบทให้จบไป แต่ฉากนี้ก็มีเรื่องเล่าอยู่ข้างในด้วย
ผมนึกถึงคุณลุงชาวตุรกีผู้เดินทางลำพังเช่นเดียวกับผม ผมคุยกับเขาเป็นภาษาอังกฤษ เขาตอบกลับเป็นภาษาเยอรมัน โดยมีสาวชาวฝรั่งเศสผู้ปักหลักทำงานอยู่ที่เบอร์ลินและพูดภาษาเยอรมันได้ดีเป็นผู้แปล
ผมนึกถึงฉากง่ายๆ แบบนี้ …อาจนึกถึงมิตรภาพ นึกถึงบทสนทนากับคนแปลกหน้า ที่จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อผมต้องพาตัวเองไปอยู่ในพื้นที่จำกัดซึ่งบังคับให้คนขี้อายอย่างผมต้องพูดอะไรออกไปบ้าง
อาจมองว่าเป็นการโรแมนติไซส์ โหยหาอดีตเกินจริง เวิ่นเว้อเกินควร หรือจะตั้งคำถามว่าบทบรรณาธิการนี้จะพาคนอ่านไปไหน แต่ผมไม่มีคำตอบให้ในตอนนี้ เพราะสิ่งที่ผมกำลังทำ คือการเขียนอย่าง Freewriting
ไม่มีนัยอะไรซ่อนเร้น อาจไม่ปะติดปะต่อ ไม่มีเรื่องเล่าทรงคุณค่าใดที่ควรบอกกล่าว แค่เคาะแป้นพิมพ์ ปล่อยให้จิตใต้สำนึกทำงาน
แต่ก็เพราะหมกหมุ่น …ถูกบังคับด้วยหน้าที่การงานให้หมกหมุ่นกับเรื่องราวแบบนั้น เพราะคิดถึงเรื่องคุณค่าอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน คิดว่าการทำงานเขียนแต่ละครั้งจะต้องบอกกล่าวสาระแก่ผู้อ่าน ต้องเป็นเรื่องราวเปี่ยมความหมาย หรือกระทั่งเรียกยอด enganement ได้
เพราะคิดแบบนี้ บางครั้งการเขียน หรือการสร้างคอนเทนต์สักชิ้นจึงเป็นความกดดันทรมาน ชีวิตการทำงานภายใต้การระบาดของโรคโควิด-19 ที่ทำให้วิตกกังวลตลอดเวลาอยู่แล้วจึงยิ่งแล้งไร้ และผมเพียงหวังว่าการเขียนแบบ Freewriting จะช่วยมอบความชุ่มชื่นให้ชีวิตได้บ้าง
จะหาว่าโรแมนติไซส์ก็ได้ โหยหาอดีตแสนหวาน บ่นบ้าเพ้อพกก็เชิญ แต่ผมเพียงนึกถึงหลายฉากหลายตอนของชีวิตที่ผ่านมาก่อนที่ทั้งโลกจะถูกทำให้หยุดชะงักด้วยโรคระบาด นึกถึงการเดินทางที่คงไม่ต่างอะไรกับการเขียน Freewriting การเดินทางที่เมื่อมองย้อนกลับไปจากตรงนี้ ผมน่าจะตั้งชื่อให้มันแบบ ‘เบียวๆ’ ได้ว่า Freejouneying
บางทีมันเหนื่อย ผมรู้หลายคนก็เป็น เหนื่อยกับการควานหาว่าสิ่งที่ตัวเองทำอยู่มีความหมายใด เหนื่อยกับการใช้ชีวิตไปวันต่อวันทั้งๆ ที่ยังไม่แน่ใจในคุณค่าของการมีชีวิต เพียงเพื่อจะพบว่าพรุ่งนี้เป็นแค่การใช้ชีวิตไปแบบวันต่อวันอีกรอบ
อะไรที่ไร้แก่นสารและเสียเวลาชีวิตจึงมักถูกขจัดทิ้ง ไม่มีพื้นที่ให้ดำรงอยู่ เปรียบเทียบให้เห็นภาพก็อาจเป็นอุปมาถึงฉากที่นักเขียนยุคโบราณสักคนขยำกระดาษที่ตัวเองเขียนและโยนทิ้งใส่ถังขยะจนล้นครั้งแล้วครั้งเล่า
งานเขียนชิ้นนี้อาจเป็นแบบนั้นด้วย เสียเวลาเขียน เสียเวลาอ่าน แต่บางคราว หากจะปลอบใจตัวเอง และปลอบใจกันและกัน ผมก็แค่อยากคิดว่าชีวิตบางครั้งมันต้องมีช่วงขณะที่เราหยุดเก็ก ทำอะไรที่หาสาระไม่ได้เสียบ้าง
ใกล้ครบสิบนาที…
ผมคิดถึงการเดินทางนั้น การเดินทางที่ผมไม่เคยคาดหวังจะค้นพบคุณค่าหรือสาระใด การเดินทางไร้ความหมายที่ใช้ตัวเองเป็นแป้นพิมพ์ และลอง Freewriting กับชีวิต
ผมคิดถึงกลิ่นไข่ต้มเหม็นหืน นึกถึงกลิ่นกลิ่นบุหรี่ในจุดสูบบุหรี่ใต้ตึกของโฮสเทลที่เต็มด้วยน้ำขังและกองขยะ นึกถึงกลิ่นแปลกแปร่งของผู้คนมากมายจากหลากหลายถิ่นฐาน คิดถึงรสชาติของน้ำส้มจืดๆ คิดถึงรสชาติของราตาตูย เหล่านี้ไม่มีความหมายและคุณค่าใดมากไปกว่าความคิดถึง
ว่ากันว่าบ้างครั้งโควิด-19 จะทำให้เราสูญเสียการรับกลิ่นและรส ผมยังไม่เคยติดโควิด และจะหาว่าโรแมติไซส์ก็ได้ โหยหาอดีตแสนหวานก็เชิญ
ผมแค่โหยหารสชาติชีวิตแบบนั้นแทบขาดใจ
และถ้าไม่ได้คิดจะเขียน Freewriting แบบนี้ขึ้นมา ผมคงลืมรสชาติของการมีชีวิตเช่นนั้นไปแล้ว
คำแนะนำสุดท้าย—เมื่อเวลาที่ตั้งไว้หมดลง จงหยุดเขียนอย่างเด็ดขาด ไม่มีอะไรอีกแล้วหลังจากนี้
_______________
หมายเหตุ: บทความข้างต้นเขียนขึ้นโดยวิธี Freewriting ก่อนจะได้รับการแก้ไขและเรียบเรียงใหม่เพื่อเผยแพร่
Fun Fact
- Freewriting เป็นวิธีการเขียนที่มีมาอย่างยาวนาน แต่ถูกบัญญัติศัพท์เพื่อใช้เรียกครั้งแรกในปี 1973 โดย ปีเตอร์ เอลโบว์ (Peter Elbow) อดีตศาสตราจารย์ด้านการเขียนแห่งมหาวิทยาลัยแมสซาชูเซตส์แอมเฮิร์สต์ แนวคิดของ Freewriting คือการพยายามขจัดความกังวลต่างๆ เกี่ยวกับการเขียน เช่น เทคนิค ไวยกรณ์ ความเชื่อมโยงของเรื่องราว หรือคุณค่าและความหมายเชิงวรรณกรรม ออกไป
- หลักการง่ายๆ คือ ‘แค่เขียน’ โดยปราศจากการตีกรอบของเงื่อนไขข้างต้น และการเขียนเช่นนี้ก็จะทำให้ไอเดียมากมายหลั่งใหลจากความคิดอันล่องลอยสู่หน้ากระดาษ มันจึงถูกจัดให้อยู่ในหมวดเดียวกับวิธีคิดแบบ brainstorming ที่เป็นการเขียนไอเดียต่างๆ ลงไปโดยไม่ต้องคำนึงว่าข้อความของเราจะไร้สาระเพียงใดในขั้นแรก เพื่อป้องกันไม่ให้ไอเดียดีๆ ที่อาจผุดมาอย่าง ‘บังเอิญ’ ระหว่างละเลงความคิดหลุดหายกลายเป็นอากาศธาตุ
- ปีเตอร์ เอลโบว์บอกว่า “ผลลัพธ์ของการเขียนย่อมมาจากการที่คุณต้องเริ่มเขียน แม้มันมีจะมีความหมายผิดๆ จากการใช้คำผิดๆ แต่คุณต้องเขียนต่อไปจนกว่าคุณจะเจอความหมายที่ถูกต้องในถ้อยคำที่คู่ควร ซึ่งมีเพียงแค่ในตอนจบเท่านั้นที่คุณจะทราบได้ว่าคุณกำลังพูดเรื่องอะไรอยู่”
- คุณค่าและความหมายของการเขียนแบบ Freewriting จึงไม่ได้โฟกัสที่ตัวชิ้นงาน ทว่ากลับอยู่ในกระบวนการขณะผู้เขียนกำลังจดจ่ออยู่กับการจรดปากกา หรือเคาะแป้นพิมพ์โดยไม่หยุดพัก
- แน่นอนว่า การเขียนเช่นนี้ไม่นิยมนำมาเผยแพร่ เพราะมันมักไม่ได้รับการพิจารณาให้เป็นงานเขียนที่มีคุณภาพ ทว่าสำหรับผู้เขียนแล้ว การเขียนแบบ Freewriting อาจทำให้พวกเขาตระหนักอะไรบางอย่างที่แอบซ่อนอยู่ลึกๆ ภายในจิตใต้สำนึกของตัวเอง แม้ท้ายที่สุดงานเขียนนั้นจะถูกมองว่าเป็นงานขยะจากผู้อ่านก็ตาม
- หากพอมีเวลาว่าง becommon จึงอยากชวนคุณผู้อ่านมาลองเขียน Freewriting ดูสักครั้ง