life

ถ้าต้องเขียนนิยายสักเรื่อง คุณจะบอกเล่าเรื่องราวแบบไหน…?

อิตาโล คัลวีโน (Italo Calvino) นักเขียนชาวอิตาเลียนเขียนหนังสือชื่อ Invisible Cities ตีพิมพ์ในปี 1972 ภายในเล่มมีเรื่องเล่าและบทสนทนาของ มาร์โค โปโล (Marco Polo) พ่อค้าชาวตะวันตกผู้เดินทางไปตามเส้นทางสายไหมสู่ประเทศจีนในช่วงปลายศตวรรษที่ 13 ขณะที่จีนถูกปกครองโดย จักรพรรดิ กุบไล ข่าน (Kublai Khan) แห่งราชวงศ์หยวน

ในบทสนทนา มาร์โค โปโลพรรณนาถึงสะพานแห่งหนึ่งด้วยการเล่าถึงหินแต่ละก้อนที่นำมาสร้างเป็นสะพานให้กุบไล ข่านฟัง

“ว่าแต่หินก้อนไหนกันคือก้อนที่พยุงสะพานเอาไว้” กุบไล ข่านถาม

“สะพานไม่ได้ถูกพยุงด้วยหินก้อนใดก่อนหนึ่ง” มาร์โค โปโลตอบ “แต่มันถูกพยุงไว้ด้วยส่วนโค้งที่หินเหล่านั้นก่อขึ้น”

กุบไล ข่านนิ่งเงียบ ครุ่นคิด จากนั้นจึงพูด “เหตุใดท่านถึงพรรณนาถึงหินให้ข้าพเจ้าฟัง ในเมื่อส่วนโค้งเท่านั้นที่สำคัญสำหรับข้าฯ”

มาร์โค โปโลตอบ “โดยปราศจากก้อนหิน ส่วนโค้งก็ไม่อาจเกิดขึ้นได้”

ครั้งหนึ่งระหว่างการสนทนาหัวข้อการขีดๆ เขียนๆ ผมเคยใช้บทสนทนาเรื่องสะพานของมาร์โค โปโลกับกุบ ไลข่านมาเป็นอุปมาอธิบายถึงวิธีการเขียนเรื่องเล่า (fiction) ของตัวเองให้แก่ผู้ร่วมวงกลุ่มเล็กๆ ฟัง

“คุณมันแค่ไอ้ระยำที่แยกโลกความจริง และนิยายออกจากกันไม่ได้”

รูปถ่ายส่วนโค้งของสะพานบางแห่งในกรุงปราก สาธารณรัฐเช็ก พฤศจิกายน 2019

ระหว่างการพูดคุย ผมหยิบถ้อยคำข้างต้นขึ้นมาจากเรื่องสั้นเรื่องหนึ่งในหนังสือรวมเรื่องสั้นของตัวเอง—กลุ่มประโยคที่ในระหว่างเตรียมจัดพิมพ์ เหล่ากองบรรณาธิการผู้จัดทำ มักหยิบมันมาพูดล้อเลียนระหว่างกันเสมอ บางครั้งพูดออกไปตรงๆ บางคราวเปลี่ยนบางคำในประโยค เป็นนัยประมาณว่า การทำงานปิดเล่มหนักหนาสาหัสข้ามวันข้ามคืนเพื่อแข่งกับเวลา ไม่ควรเพ้อพกเป็นนิยาย และควรทำงานตามเป้าหมายให้ได้ในโลกของความจริง

“คุณมันแค่ไอ้ระยำที่แยกโลกความจริง และนิยายออกจากกันไม่ได้” ผมพูดประโยคนี้ ก่อนจะเล่าเรื่องสะพานของมาร์โค โปโล และกุบไล ข่าน… 

นานหลายปีแล้วที่ผมเขียนมัน และเรื่องราวของเรื่องสั้นก็ดูจะค่อยๆ เลือนลางไปจากความทรงจำมากขึ้นทุกที แต่สิ่งที่พอนึกออก ณ ตอนนี้ คือนอกจากมันจะเป็นประโยคที่ตัวละครตัวหนึ่งพูดกับตัวละครอีกตัว อีกนัยหนึ่ง ผมก็เขียนมันขึ้นเพื่อจะเสียดสีงานเขียน หรือแม้กระทั่งประชดประชันชีวิตของตัวเอง 

สารภาพตามตรง ผมเป็นนักเขียนอ่อนหัดที่ไม่อาจแยกโลกความจริงและนิยายออกจากการกันได้ แม้จะเขียนเรื่องโกหกที่ประดิษฐ์ขึ้นมาใหม่ แต่บ่อยครั้งเหลือเกินที่ผมรู้ดีว่า ไม่มากก็น้อยมันมักมีร่องรอยของความจริงแฝงอยู่ และการบอกเล่าเรื่องราวเหล่านั้นออกมา บางครั้ง ก็เป็นการฉกฉวยลมหายใจของคนอื่นเพื่อมาต่อลมหายใจของตัวเองอย่างเห็นแก่ตัวด้วยเช่นกัน

หากนิยายหรือเรื่องสั้นสักเรื่องเป็นสะพานที่ก่อตัวขึ้นจากหิน เส้นโค้งที่มักถูกละเลยเพราะดูคล้ายจะล่องหนตลอดเวลาเหลือเกินนี้ จึงน่าจะหมายถึงวัตถุดิบที่มาจากการใช้ ‘ชีวิตจริง’

ในหนังเรื่อง Closer (2004) ตัวละครชื่อ แอนนา ถามตัวละครอีกตัวนาม อลิซ ว่า เธอรู้สึกอย่างไรที่ถูกคนรักเอาเศษเสี้ยวในชีวิตไปเป็นวัตถุดิบของนิยาย 

“มันไม่ใช่กงการอะไรของคุณ” เธอตอบ แววตาสั่นไหว พยายามจะเข้มแข็ง เธอคงเจ็บปวดอยู่บ้าง เมื่อต้องกลายเป็นเส้นโค้งที่มองไม่เห็นของนักเขียนหนุ่ม เพื่อช่วยพยุงให้เรื่องเล่า หรือพูดให้ชัดคือเรื่องโกหกของเขาดูจริงจังขรึมขลังขึ้นมา

ทว่าถึงที่สุดแล้ว นิยายสักเรื่องก็มีสถานะเป็นได้แค่สะพาน มันเป็นเพียงสื่อกลางเพื่อแชร์ความรู้สึกบางอย่าง บอกเล่าบางประสบการณ์ เปิดประตูต้อนรับผู้อ่านให้ก้าวเดินเข้ามา กระทั่งเรื่องแต่งนั้นๆ จะถูกทำให้กลายสภาพไปสู่สภาวะไร้เจ้าของ เป็น ‘มรณกรรมของประพันธกร’ (The Death of the Author—อ่านความเรียงในชื่อเดียวกันนี้โดย รอล็อง บาร์ธสฺ [Roland Barthes] เพิ่มเติม) โดยการตีความของผู้อ่าน ผ่านประสบการณ์ที่แตกต่างออกไปของแต่ละคน เพราะมนุษย์ต่างมีความรัก บาดแผล ความเจ็บปวด หรือกระทั่งความแค้นเคือง และเรื่องเล่าเป็นของตัวเอง

นานหลายเดือนแล้วที่ผมเขียนนิยายเรื่องใหม่ที่วางแผนจะเขียนไว้ไม่ได้ ภาวะอึดอัดชวนให้หมดหวังของสภาพเศรษฐกิจ สังคม การเมือง โรคระบาด และชีวิตคงเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้อาการ Writer’s  Block หวนกลับมาอีกครั้ง และอีกส่วนหนึ่ง คือการที่ผมเริ่มตระหนักว่า หากเปรียบชีวิตจริงในสังคมหนึ่งๆ เป็นสะพาน ซึ่งพวกเราต่างเป็นทั้งผู้ร่วมกันสร้าง พร้อมๆ กับเป็นผู้ใช้งานที่ก้าวเดินไปบนมันในเวลาเดียวกัน ผมกลับพานพบและรู้สึกสะทกสะท้านกับเรื่องราวของก้อนหินบางก้อนในสะพานแห่งนี้ ซึ่งกำลังถูกกดทับด้วยน้ำหนักของความอยุติธรรมมหาศาล หลายคนถูกกักขัง เสียงพร่ำร้องถูกทำให้เงียบงัน เพราะเพียงพวกเขาอยากสร้างสะพานที่งดงามและแข็งแรงกว่าเดิม

มองอย่างคนที่ไม่อาจแยก ‘นิยาย’ และ ‘ความจริง’ ออกจากกันได้ ช่วงนี้ ผมจึงมักมีจินตนภาพถึงก้อนหิน—ที่อาจหมายถึงความฝันและความหวังของผู้คน ซึ่งกำลังค่อยๆ ร่วงหล่นจมหายไปในแม่น้ำเชี่ยวกรากเบื้องล่าง ขณะที่ก้อนหินหลายก้อนยังคงต่อสู้แข็งขัน เขียนท่วงทำนองของพวกตนได้ทรงพลัง ใช้การกระทำเป็นหมึกพิมพ์ ก่อเกิดเป็นชีวิตจริงที่สะเทือนใจ สั่นไหวถึงจิตวิญญาณยิ่งกว่านิยายหรือบทกวีชิ้นใด

เรื่องเล่าในแง่นั้นจึงทำให้ผมเกิดความละอายใจ เมื่อตระหนักได้ว่าผมจะไม่มีวันประดิษฐ์เรื่องแต่งที่สามารถสร้างแสงสว่างเจิดจ้าได้ทัดเทียมกับเรื่องเล่าในชีวิตจริงของพวกเขา

รูปถ่ายส่วนโค้งของสะพานบางแห่งในกรุงปราก สาธารณรัฐเช็ก พฤศจิกายน 2019

ในศาสตร์ของการประพันธ์ หรือกระทั่งการทำงานศิลปะ มีสำนวนหนึ่งที่น่าสนใจ นั่นคือ ‘gild the lily’ ที่แปลตรงตัวได้ว่า ‘ฉาบทองบนดอกลิลลี่’ หรือถ้าพยายามอธิบายให้เข้าใจง่ายอีกที มันก็คือ ‘การยกระดับสิ่งที่งดงามอยู่แล้วให้งดงามยิ่งขึ้น’ ซึ่งอาจเทียบได้กับอีกคำอย่าง ‘exaggeration’ หรือ ‘การขยายความเกินกว่าระดับปกติ’ กล่าวคือการนำเสนอสารบางอย่างเพื่อสร้างความสะเทือนใจ จำต้องบิดดัดมันให้ใหญ่ขึ้นหรือเล็กลง สูงขึ้นหรือสั้นลงกว่าความเป็นจริงเสียบ้าง เพื่อให้การสื่อสารเกิดรสชาติของความเป็นจริง (reality) รูปแบบใหม่ บางครั้งเราจึงเห็นจิตรกรทำการเบลอรูปวาดบางส่วน เมื่ออยากแสดงให้เห็นถึงความเคลื่อนไหว หรือคัดเส้นบางเส้นในวัตถุบางชิ้นให้ชัดเจนขึ้นเพื่อโชว์ความนิ่งงันอันอำไพ 

ศิลปินบางคนเชื่อว่าการทำเช่นนั้นจะช่วยสร้าง ‘ฮุก’ (hook) ต่อผู้เสพงาน

แต่ในเรื่องสะพานที่ก่อสร้างมาจากเลือดเนื้อของมนุษย์ผู้มีลมหายใจจริงๆ แล้ว เมื่อมองดูก้อนหิน ที่ในเรื่องเล่าเรื่องนี้คืออุปลักษณ์ของชีวิตหนุ่ม-สาว ผู้ควรได้มีเวลาเรียนรู้จะรักใครสักคนอย่างสุดจิตใจสุดใจ มีฝันหวานเพ้อพกถึงอนาคตข้างหน้ามากเท่าที่คนคนหนึ่งจะทะยานอยาก แต่กลับต้องเอาความเจ็บปวด อิสรภาพ ความหิวโหย หรือกระทั่งชีวิตเข้าแลก เพื่อสร้างสะพานที่สวยงามให้ใครจำนวนมากได้ก้าวเดินขึ้นไป ผมกลับพบว่าเรื่องจริงเหล่านี้ช่างมลังเมลืองเปล่งปลั่งยิ่งกว่าเรื่องเล่าเรื่องไหน โดยไม่จำเป็นต้องฉาบทาสีทองใดๆ ลงไปอีกแล้ว

มันน่าหดหู่ และแสนเศร้า และเป็นงานศิลปะสมบูรณ์พร้อมในตัวเอง เขียนหรือวาดขึ้นมาจากชีวิต และส่วนโค้งที่ถูกก่อขึ้นจากก้อนหินที่ยอมเสียสละตนเหล่านี้ก็ไม่ควรถูกลืมเลือน—เส้นโค้งซึ่งในจินตนภาพของคนชอบเพ้อฝันเช่นผม มีลักษณะเช่นเดียวกับโค้งของขอบ ‘รุ้ง’ ณ ปลายขอบฟ้า

“สะพานไม่ได้ถูกพยุงด้วยหินก้อนใดก่อนหนึ่ง แต่มันถูกพยุงไว้ด้วยส่วนโค้งที่หินเหล่านั้นก่อขึ้น” มาโค โปโลบอก

“เหตุใดท่านถึงพรรณนาถึงหินให้ข้าพเจ้าฟัง ในเมื่อส่วนโค้งเท่านั้นที่สำคัญสำหรับข้า” กุบไล ข่านถาม

“โดยปราศจากก้อนหิน ส่วนโค้งก็ไม่อาจเกิดขึ้นได้”

ผมเพียงอยากถาม ว่าถ้าต้องเขียนนิยายสักเรื่องในช่วงเวลาเช่นนี้ คุณอยากบอกเล่าเรื่องราวแบบไหน หรือสำหรับคุณ อะไรคือก้อนหิน สิ่งใดคือสะพาน และส่วนโค้งล่องหนที่มองไม่เห็นเหล่านั้น ซึ่งช่วยพยุงบางอย่างในชีวิตไม่ให้ล่มสลาย ก่อขึ้นมาจากความเจ็บปวดทรมานของใครกัน?