ตามความเชื่อโบราณของชาวตะวันตก ดวงจันทร์มักผูกโยงอยู่กับอำนาจลึกลับและความชั่วร้าย โดยเฉพาะตำนานเกี่ยวกับมนุษย์หมาป่า (werewolf)
ว่ากันว่า หากมนุษย์ผู้อับโชคถูกสัตว์ปีศาจคล้ายหมาป่าขย้ำจนปางตาย แต่กลับรอดชีวิตราวปาฏิหาริย์ เพราะบาดแผลฉกรรจ์บนร่างรักษาตัวเองได้จนผิดสังเกต แม้จะหายดีและใช้ชีวิตเฉกเช่นคนปกติ จนกระทั่งคืนพระจันทร์เต็มดวงมาถึง มันจะคืนร่างที่แท้จริงเป็นมนุษย์หมาป่า นี่คือคำสาปที่ไม่อาจถอดถอนได้ เว้นแต่จะใช้กระสุนเงินสังหาร ต้องยิงทะลุหัวใจ แล้วความสยดสยองทุกอย่างจะสิ้นสุดลงพร้อมกับชีวิตของมนุษย์ผู้นั้น
เดิมที่มนุษย์ปักใจเชื่อไปแล้วว่า ดวงจันทร์มีพลังวิปลาสบางอย่างทำให้คนคลุ้มคลั่ง และเสียสติ จนทำร้ายตัวเองและผู้อื่นได้ เป็นอิทธิพลจากการบูชาเทพของชาวโรมันโบราณ ซึ่งนับถือดวงจันทร์เป็นเทพี โดยตั้งชื่อด้วยรากศัพท์ภาษาละตินว่า Luna หมายถึง moon หรือ ดวงจันทร์ ก่อนจะแผลงเป็นคำว่า lunatic หมายถึง วิกลจริต ในเวลาต่อมา
สมมติฐานแรกเริ่มเกิดขึ้นจากความคิดของ อริสโตเติล (Aristotle) นักปราชญ์ชาวกรีก และ พลินีผู้อาวุโส (Pliny the Elder) นักปราชญ์ชาวโรมัน ทั้งคู่เห็นตรงกันว่า ในกะโหลกของมนุษย์มีสมองเป็นอวัยวะชุ่มน้ำ เมื่อดวงจันทร์มีผลต่อการขึ้นลงของระดับน้ำบนโลก ย่อมต้องมีผลต่อน้ำในร่างกายของมนุษย์ด้วย โดยเฉพาะน้ำในสมอง พวกเขาจึงสรุปว่า ดวงจันทร์ทำให้น้ำในสมองไม่สมดุลจึงเป็นเหตุให้จิตของคนวิปริตผิดแผกไป
ความเชื่อนี้ตกทอดมาถึงยุคกลาง หรือราวคริสต์ศตวรรษที่ 5 ถึง 15 และแพร่หลายไปทั่วทวีปยุโรปอย่างรวดเร็ว กลายเป็นปรากฏการณ์ที่เรียกว่า lunar lunacy effect หรือ Transylvania effect เพราะผู้คนในยุคนั้นต่างหวาดกลัวปีศาจและอสุรกายอย่างมนุษย์หมาป่าและผีดูดเลือดในคืนจันทร์เต็มดวง แต่ทั้งหมดเป็นเพียงความเข้าใจผิดและคิดไปเองของคนสมัยก่อน เพราะความรู้ทางการแพทย์สมัยใหม่พิสูจน์ได้แล้วว่า มนุษย์หมาป่า (Hypertrichosis หรือ Werewolf Syndrome) และผีดูดเลือด (Porphyria หรือ Vampire Disease) เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของร่างกาย และไม่เกี่ยวข้องกับดวงจันทร์เลยสักนิดเดียว
แม้ว่าวิทยาศาสตร์จะไม่ให้การยอมรับความเชื่อถือทางไสยศาสตร์ใดๆ แต่เรื่องราวที่ไม่สมเหตุสมผลเรื่องการกลายร่างของมนุษย์หมาป่ากลับเป็นแรงบันดาลใจให้นักวิทยาศาสตร์จำนวนไม่น้อยพยายามศึกษาหาความสัมพันธ์ระหว่างดวงจันทร์กับอารมณ์และความรู้สึกของมนุษย์ว่า ในคืนที่จันทร์เต็มดวง จิตใจของคนเราจะเปลี่ยนแปลงไปทำสิ่งมิดีมิร้ายได้หรือไม่
สมมติฐานคร่ำครึถูกหักล้างอย่างไม่ไยดีด้วยความรู้ด้านดาราศาสตร์ ซึ่งยืนยันได้ว่าแรงดึงดูดของดวงจันทร์ต่อปรากฏการณ์น้ำขึ้นน้ำลงส่งผลเฉพาะแหล่งน้ำธรรมชาติบนพื้นผิวโลกเท่านั้น เช่น มหาสมุทร แม่น้ำ ไม่มีผลต่อน้ำในสระ รวมถึงน้ำในร่างกายด้วย หากยังเห็นภาพไม่ชัดเจน ให้มองดูถ้วยซุปตรงหน้า แล้วเปรียบเทียบถ้วยเป็นตัวเรา ส่วนซุปเป็นน้ำในร่างกาย เมื่อดวงจันทร์ไม่มีผลต่อระดับซุปในถ้วยฉันใด ก็ไม่มีผลต่อน้ำในร่างกายฉันนั้น
นอกจากนี้ จอร์จ อาเบล (George Abell) นักดาราศาสตร์ของ University of California สหรัฐอเมริกาเคยเผยความจริงที่ยิ่งทำให้ความเชื่อโบราณในคืนจันทร์เต็มดวงกลายเป็นเรื่องไร้สาระขึ้นมาทันที อาเบลบอกว่า แรงดึงดูดจากดวงจันทร์ที่กระทำต่อพื้นผิวโลกมีผลเท่ากันทุกคืน จึงเป็นไปไม่ได้ที่คนเราจะคลุ้มคลั่งจนลุกขึ้นมาทำอะไรบ้าๆ เฉพาะแค่คืนที่จันทร์เต็มดวง
แวดวงจิตวิทยาก็พยายามหาคำตอบให้เรื่องนี้เช่นเดียวกัน หนึ่งในการศึกษาที่บุกเบิกหาคำอธิบายระหว่างดวงจันทร์กับพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง เกิดขึ้นในปี 1986 นำโดย อิวาน เคลลี (Ivan Kelly) ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาของ University of Saskatchewan ประเทศแคนาดา
เคลลีและคณะวิจัยเฝ้าดูพฤติกรรมหมาเพื่อสังเกตการณ์ตอบสนองต่อข้างขึ้นข้างแรมของมันเป็นเวลาหนึ่งเดือนเต็ม รวมทั้งวิเคราะห์ผลการศึกษาก่อนหน้าอย่างละเอียดอีก 37 งานวิจัย เกี่ยวกับดวงจันทร์และพฤติกรรมเสี่ยง ผลที่ได้เท่ากับคว้าน้ำเหลว เพราะไม่พบความสัมพันธ์ใดๆ
การศึกษาหลังจากนั้นจนถึงปัจจุบัน ก็ยังยืนยันได้ว่า คืนจันทร์เต็มดวงไม่มีผลต่อการเกิดของเด็กทารก การทำร้ายร่างกาย การจูงใจให้ฆ่าตัวตาย การก่ออาชญากรรม การเจ็บไข้ได้ป่วย การเกิดอุบัติเหตุทุกรูปแบบ และการตาย ยกเว้นการนอนหลับ
เลอันโดร กาซิรากี (Leandro Casiraghi) นักวิจัยด้านชีววิทยาและการเปลี่ยนแปลงระดับเซลล์ตามกรอบเวลา (Chronobiology) จาก University of Washington สหรัฐอเมริกา พบว่า แสงสว่างจากดวงจันทร์กลับมีผลต่อการนอนหลับของเราอย่างลับๆ โดยมนุษย์ไม่ทันได้รู้ตัวด้วยซ้ำ
กาซิรากีและคณะวิจัยลงพื้นที่เก็บข้อมูลการเข้านอนของคนชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศอาร์เจนตินา จำนวน 98 คน โดยให้ทุกคนสวมเครื่องวัดการนอนหลับที่ข้อมือเพื่อบันทึกระยะเวลาการนอนตลอดเดือน ผลที่ได้คือ ยิ่งใกล้คืนที่จันทร์เต็มดวงมากขึ้นเท่าไหร่ คนจะยิ่งเข้านอนช้าลงและใช้เวลานอนหลับน้อยกว่าปกติ
แต่กาซิรากียังไม่รีบร้อนสรุปผล เขาทดลองด้วยวิธีเดียวกันกับนักศึกษาในมหาวิทยาลัยรวม 464 คน ปรากฏว่า ผลที่ได้ออกมาตรงกัน คืนก่อนที่จันทร์จะเต็มดวง นักศึกษามีแนวโน้มเข้านอนช้า และใช้เวลานอนหลับสั้นลง
คืนที่จันทร์เต็มดวงทำให้คนเกิดพฤติกรรมเสี่ยงไม่น่าไว้วางใจจึงเป็น myth หรือความเชื่อผิดๆ ที่ไม่เป็นความจริง แต่สาเหตุที่คนยังคงหลงเชื่ออยู่เป็นผลกระทบจากการปลูกฝังระดับจิตใต้สำนึก
อีริค ชูดเลอร์ (Eric Chudler) ศาสตราจารย์ด้านประสาทวิทยาศาสตร์จาก University of Washington อธิบายว่า สมองของเรารับรู้เรื่องจันทร์เต็มดวงกับมนุษย์หมาป่ามาตั้งแต่ไหนแต่ไรจนกลายเป็นคนคิดฝังหัว แม้จะรู้ว่าไม่ใช่ความจริง แต่การเสพสื่อที่ผลิตประเด็นนี้ซ้ำไปมา จะทำหน้าที่ตอกย้ำในสำนึกไปเรื่อยๆ
ที่สำคัญ ความสว่างในคืนที่จันทร์เต็มดวงทำให้เรามองเห็นในความมืดได้ชัดเจนมากกว่าคืนแรม เราจึงจดจำสิ่งที่เกิดขึ้นในคืนจันทร์เต็มดวงได้ดีกว่า หมายความว่า หากค่ำคืนนั้นเกิดเหตุอันตรายหรือภัยคุกคามเราย่อมเลือกจำเหตุการณ์ในคืนนั้นได้โดยปริยาย ทำให้หลงเชื่อว่าเรื่องไม่ดีมักจะเกิดขึ้นในคืนที่จันทร์เต็มดวง
แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม ดวงจันทร์เปลี่ยนแปลงจิตใจและการกระทำของมนุษย์ไม่ได้อยู่ดี
อ้างอิง
- Hal Arkowitz, Scott O. Lilienfeld. Lunacy and the Full Moon: Does a full moon really trigger strange behavior?. https://bit.ly/3qLF6GK
- I. W. Kelly, James Rotton, Roger Culver. The Moon Was Full and Nothing Happened. https://bit.ly/3jFfABx
- James Urton. On nights before a full moon, people go to bed later and sleep less, study shows. https://bit.ly/3xiK5kU
- Margot J. L. (2015). No evidence of purported lunar effect on hospital admission rates or birth rates. Nursing research, 64(3), 168–175. https://doi.org/10.1097/NNR.0000000000000086
- Robert Roy Britt. It’s Just a Phase: The Supermoon Won’t Drive You Mad. https://bit.ly/3qLnYkA